วิกฤติศตวรรษที่21 : เรื่องของสงครามลูกผสมหรือสงครามพันทาง

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (22)

เรื่องของสงครามลูกผสมหรือสงครามพันทาง

การสงครามลูกผสมหรือสงครามพันทาง เป็นที่กล่าวถึงมากในระยะหลัง (ศัพท์นี้สร้างขึ้นในปี 2007) โดยการทหาร-ความมั่นคงของสหรัฐให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในการรับมือกับการสงครามแบบใหม่นี้ เป็นสงครามในท่ามกลางการพัฒนาของยุคสารสนเทศ ที่สหรัฐเห็นว่ารัสเซียและจีนกำลังปฏิบัติอยู่อย่างได้ผล

ทางหน่วยงานการทหาร-ความมั่นคงของไทย ก็ได้กล่าวถึงสงครามลูกผสมนี้เช่นกัน ใช้ศัพท์ว่า “สงครามพันทาง” (ในที่นี้ต่อไปจะใช้ศัพท์สงครามพันทางที่แพร่หลายแล้ว) ชี้ว่า สงครามพันทางเป็นสงครามที่มีการผสมผสานกำลังทั้งตามแบบและนอกแบบ เป็นปฏิบัติการทางทหารร่วมกันอย่างแยกไม่ออก

ตัวอย่างของสงครามในลักษณะนี้ได้แก่ สงครามอิสราเอล-เลบานอนครั้งที่สอง (2006) นักวิชาการสหรัฐบางคนเห็นว่ากลุ่มฮิสบุลเลาะห์ที่ทำสงครามต่อต้านอิสราเอลในเลบานอน เป็นผู้ก่อต้นแบบของสงครามพันทาง

และเตือนว่าความสำเร็จของการสงครามแบบนี้ จะทำให้มันขยายตัวและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง และเข้าโจมตีโดยอาศัยจุดอ่อนของสหรัฐเอง (ดูบทความของ Frank G. Hoffman ชื่อ Conflict in the 21st Century : The Rise of Hybrid Wars ธันวาคม 2007 ใน potomacinstitute.org)

คำจำกัดความของสงครามพันทางตามทัศนะของนักทฤษฎีและนักการทหารสหรัฐในช่วงแรกๆ กล่าวคือ “สงครามพันทางเป็นสงครามที่มีความผสมผสานระหว่างลักษณะต่างๆ ของการดำเนินสงครามที่ใช้ทั้งขีดความสามารถของสงครามตามแบบ ยุทธวิธีนอกแบบ และการก่อการร้ายที่ใช้ความรุนแรง การบีบบังคับขู่เข็ญ และการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ”

และ “สงครามพันทางเป็นการผสมผสานระหว่างสงครามสมมาตรและสงครามอสมมาตร ที่มีการใช้กำลังทหารในรูปแบบทั่วไปในการต่อสู้กับข้าศึก ในขณะเดียวกันก็จะพยายามควบคุมพื้นที่การสู้รบของกลุ่มชนท้องถิ่นดั้งเดิม ด้วยการรักษาความมั่นคงและการสร้างเสถียรภาพขึ้น”

สงครามพันทางนี้เป็นสิ่งที่หน่วยทหาร-ความมั่นคงของไทยควรให้ความสนใจ เพราะว่าสงครามไม่ได้เป็นเรื่องทางอาวุธยุทโธปกรณ์ทางวัตถุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของจิตใจและขวัญการสู้รบด้วย (ดูเอกสารชื่อ “คู่มือใช้เป็นแนวทางในการศึกษาตามหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร” ใน thaindc.ort เอกสาร วปอ. หมายเลข 013 คู่มือด้านการทหาร)

สงครามพันทางได้มีการพัฒนาไป ซึ่งในทัศนะของนักวิชานักการทหารสหรัฐ เห็นว่าเป็นสิ่งคุกคามต่อผลประโยชน์ของอเมริกาอย่างมาก ได้แก่ สงครามพันทางที่รัสเซียใช้ในความขัดแย้งไครเมีย

จึงได้มีการปรับปรุงคำจำกัดความของสงครามพันทางให้ตรงกับสถานการณ์และการคุกคามมากขึ้นว่า

เป็น “การรณรงค์อันลึกล้ำที่รวมปฏิบัติการทางทหารตามแบบในระดับต่ำเข้ากับปฏิบัติการพิเศษ การโจมตีทางไซเบอร์และปฏิบัติการในอวกาศ ร่วมกับปฏิบัติการจิตวิทยาที่ใช้สื่อทั้งแบบดั้งเดิมและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนและมติระหว่างประเทศ” (ดูบทความของ Eve Hunter with Piret Pernik ชื่อ The Challenges of Hybrid Warfare เมษายน 2015 ใน icds.ee)

สงครามพันทางจึงเป็นลูกผสมของสงครามหลายรูปแบบ ได้แก่ สงครามตามแบบในระดับต่ำ ปฏิบัติการพิเศษ สงครามไซเบอร์ สงครามอวกาศ และสงครามจิตวิทยา

กล่าวได้ว่าสงครามแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่มีความรุนแรงถึงตาย ที่สำคัญไม่เพียงแต่สหรัฐที่สามารถทำสงครามเช่นนี้ได้เท่านั้น แต่รัสเซียและจีนก็มีศักยภาพที่จะทำสงครามพันทางได้เช่นเดียวกัน โดยอาศัยจุดอ่อนหลายอย่างของสหรัฐ

ได้แก่ ความอ่อนล้าทางการทหารที่กรำศึกมานานหลายสิบปี

วิกฤติทางเศรษฐกิจ ช่องว่างและความแตกแยกภายในสังคมอเมริกา ทำให้รัสเซียสามารถเปิดสงครามไซเบอร์และปฏิบัติการทางจิตวิทยาได้อย่างมีประสิทธิผล ขณะที่มีการพัฒนากำลังรบตามแบบไปอย่างรวดเร็ว

ยังมีนักการทหารสหรัฐบางคนเห็นว่า จีนกำลังทำสงครามพันทางอย่างซึมลึกเป็นแบบสันติ แต่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ได้เหมือนกับชนะสงคราม สงครามพันทางจึงเป็นการนำให้สหรัฐเผชิญกับรัสเซียและจีนโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงของมหาสงครามขึ้นอีก

สำหรับสงครามพันทางที่สหรัฐทำอยู่ในปัจจุบัน ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ของมหาตะวันออกกลาง และตัวอย่างชัดเจนได้แก่การเข้าไปก่อสงครามเพื่อล้มระบบอัสซาดในซีเรีย (2011 ถึงปัจจุบัน โดยถลำลึกเข้าไปมาก นับแต่ปี 2014) มีปฏิบัติการทุกอย่างคล้ายกับที่รัสเซียทำ

เพียงแต่ว่าจนถึงขณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

สงครามพันทางของรัสเซีย

จากการให้ปากคำของ คริสโตเฟอร์ ชิวีซ แห่งบรรษัทแรนด์ สำนักคิดใหญ่ของกองทัพสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการกิจการทหารสภาคองเกรส เห็นว่าสงครามพันทางของรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยปฏิบัติตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต เพียงแต่ปรับให้ทันสมัยเข้ากับศตวรรษที่ 21

และได้สรุปประเด็นเกี่ยวกับสงครามพันทางของรัสเซียไว้ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่

(1) ลักษณะเด่นของสงครามพันทางของรัสเซีย มีสามประการคือ

ก) การใช้กำลังอย่างประหยัด เนื่องจากมีกำลังและงบประมาณทางทหารน้อยกว่ากลุ่มนาโต้อย่างเทียบไม่ได้ จึงหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหารตามแบบ แต่ก็ยังสามารถใช้การรบตามแบบ และการคุกคามว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามพันทางได้ และหันไปใช้เครื่องมืออื่น เช่น การทำสงครามทางไซเบอร์

ข) มีลักษณะต่อเนื่อง ในสงครามตามแบบจะมีช่วงคั่นเป็นสงครามกับสันติภาพ แต่ในสงครามพันทางนั้นจะสร้างความขัดแย้งต่อเนื่องกันไป หนักบ้าง เบาบ้าง ช่วงที่หนักอาจมีความเข้มข้นถึงขั้นใช้ปฏิบัติการทางทหารตามแบบ

ค) ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เห็นได้จากว่านักการทหารรัสเซียได้จับตาดูสหรัฐ-นาโต้ ที่เข้าไปรบในคาบสมุทรบอลข่าน ตะวันออกกลาง และที่อื่นๆ เป็นเวลาราวหนึ่งในสี่ของศตวรรษ และฉวยโอกาสนี้เพื่อสร้างอิทธิพลเหนือประชากรในพื้นที่เป้าหมาย โดยการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร การจัดตั้งกลุ่มตัวแทน และปฏิบัติการเพื่อสร้างอิทธิพลอื่นๆ ภายใต้กรอบทางสังคมและการเมืองในที่นั้นๆ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของรัสเซีย

(2) จุดมุ่งหมายหลักของสงครามพันทางของรัสเซีย มีสามประการดังนี้คือ

ก) การยึดดินแดนโดยไม่ต้องใช้กำลังทหารตามแบบอย่างโจ่งแจ้ง ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ การผนวกดินแดนที่แหลมไครเมียจากยูเครนในปี 2014

การผนวกดินแดนดังกล่าวอาศัยกำลังและเครื่องมือดังนี้คือ การใช้ “กลุ่มชายชุดเขียวเล็ก” ซึ่งก็คือหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ที่รัสเซียเพิ่งตั้งขึ้น แต่ว่าไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นทหารรัสเซีย ปูตินเรียกว่าเป็น “กลุ่มป้องกันตนเอง” สื่อรัสเซียบางรายเรียกว่า “กลุ่มสุภาพชนติดอาวุธ” (ดูรายงานข่าวของ Vitaly Shevchenko ชื่อ “Little green men” or “Russia invaders”? ใน bbc.com 11.03.2014)

ผสานกับปฏิบัติการสงครามข่าวสารและการใช้กลุ่มตัวแทนที่เป็นชาวรัสเซียที่พำนักที่นั่นสร้างสถานการณ์ขึ้น

จนกระทั่งสามารถผนวกไครเมียได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

รัสเซียได้ใช้สงครามพันทางแบบนี้ในการรุกรานจอร์เจียมาแล้วในปี 2008 ส่งผลให้ทั้งยูเครนและจอร์เจียไม่สามารถเข้ามากลมกลืนกับโลกตะวันตกได้ นักยุทธศาสตร์การทหารรัสเซียได้กล่าวว่าในสงครามสมัยใหม่ ควรใช้เครื่องมือที่ไม่ใช่ทางทหารมากเป็นสี่เท่าของมาตรการทางทหารแบบธรรมดา

ข) สร้างเงื่อนไขในการใช้กำลังทางทหารแบบธรรมดาได้ การผนวกดินแดนไครเมียนั้น เป็นสัญญาณว่ารัสเซียสามารถใช้สงครามพันทางแบบนี้เพื่อการผนวกดินแดนในที่อื่นได้ เช่น ในกลุ่มประเทศบอลติก

ค) ใช้สงครามพันทางเพื่อส่งอิทธิพลทางการเมืองและนโยบายต่อประเทศตะวันตกและในที่อื่น จุดมุ่งหมายของรัสเซียข้อนี้เป็นการท้าทายใหญ่ต่อรัฐบาลตะวันตกและสหรัฐ

(3) เครื่องมือในการทำสงครามพันทางของรัสเซียได้แก่

ก) ปฏิบัติการข่าวสาร ใช้สื่อ เช่น รัสเซียทูเดย์ หรืออาร์ที และข่าวสปุตนิกในการสร้างโลกทรรศน์ทางการเมือง-เศรษฐกิจแบบรัสเซีย นอกจากนี้ ยังใช้โปรแกรมทางโทรทัศน์ การให้ทุนแก่สำนักคิดในยุโรปเพื่อส่งเสริมทัศนะของรัสเซีย ไปจนถึงการสร้างข่าวปลอมขึ้น (แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็กล่าวหาว่า สื่อกระแสหลักในสหรัฐเองเป็นผู้สร้างข่าวปลอม)

ข) สงครามไซเบอร์ รัสเซียสร้างนักรบไซเบอร์ขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อล้วงความลับจากระบบข่าวสารตะวันตก รวมทั้งการเข้ามาแทกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016

ค) กลุ่มตัวแทนซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจในจุดมุ่งหมายของรัสเซีย เช่น กลุ่ม “หมาป่ากลางคืน” ซึ่งเป็นสโมสรนักขับมอเตอร์ไซค์และความบันเทิง ที่มีแนวคิดชาตินิยมจัด ต่อต้านอเมริกัน ผู้นำของกลุ่มนี้เป็นเพื่อนสนิทของประธานาธิบดีปูติน สมาชิกของกลุ่มนี้ได้ร่วมต่อสู้กับกลุ่มนักรบนิยมรัสเซียในการผนวกดินแดนไครเมียและสงครามที่ดอนบาสส์

ง) อิทธิพลทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญได้แก่ การใช้พลังงานเป็นเครื่องมือทางนโยบายการต่างประเทศ ในหลายประเทศในยุโรปที่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ รัสเซียยังมีเครือข่ายระบบท่อก๊าซ และน้ำมันขนาดใหญ่ ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าของพลังงานฟอสซิล

จ) มาตรการลับต่างๆ มีทั้งการติดสินบน การกรรโชก และความพยายามอื่นในการชักใยนักการเมืองที่มีแผล ให้สนับสนุนนโยบายของรัสเซีย เช่น เชื่อว่ารัสเซียมีส่วนในการวางแผนล้มรัฐบาลมอนเตเนโกรที่สนับสนุนนาโตในปี 2016

ฉ) อิทธิพลทางการเมือง ใช้งานทางการทูต ธรรมดา เพื่อสนับสนุนบุคคลและพรรคการเมืองที่นิยมหรือเห็นอกเห็นใจรัสเซีย มีการเชิญให้ไปเยือนรัสเซียในฐานะบุคคลสำคัญและอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว ไม่สามารถนำมากล่าวในรายละเอียดได้

(4) กรณีหรือประเทศเป้าหมายในปัจจุบัน ได้แก่

ก) การเลือกตั้งทั่วไปในยุโรป เช่น ในฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ

ข) กลุ่มประเทศที่คาบสมุทรบอลข่าน ได้แก่ เซอร์เบีย และบัลแกเรีย เป็นต้น

ค) ยุโรปกลางและประเทศแถบทะเลบอลติก ยุโรปกลาง ได้แก่ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก และสโลวะเกีย ส่วนที่บอลติกได้แก่ เอสโทเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนีย

ง) ยูเครนและที่อื่นๆ

(5) ยุทธศาสตร์สหรัฐในการต่อต้านสงครามพันทางของรัสเซีย เช่น

ก) สร้างการปฏิบัติรวมและความร่วมมือที่แข็งขันระหว่างองค์กรของสหรัฐ เช่น กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานข่าวกรองความมั่นคง (ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์กลับเกิดความระส่ำระสายใหญ่ เกิดความระหองระแหงระหว่างหน่วยงานข่าวกรองความมั่นคงกับทำเนียบขาว-ผู้เขียน)

ข) การใช้ทรัพยากรเพื่อรวบรวมการวิเคราะห์ข่าวกรองในภูมิภาคยุโรป โดยสหรัฐต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในการใช้ข่าวกรองร่วมกับพันธมิตรในยุโรป (แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรยุโรปมึนตึงยิ่งกว่าครั้งใด ผู้นำของเยอรมนีประกาศว่ายุโรปต้องพึ่งตนเอง กุมชะตากรรมไว้ในมือของตน)

ค) สนับสนุนความโปร่งใสและความพยายามต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น ประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งจะเปิดช่องให้รัสเซียแทรกเข้ามา (แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าชนชั้นนำสหรัฐเองฉ้อฉล ระบบในสหรัฐรวมทั้งการเลือกตั้งมีการปั้นแต่ง ชักใย)

ง) ยุทธศาสตร์ในการต่อต้านปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของรัสเซีย โดยเน้นการทำให้ชื่อเสียงของหน่วยข่าวรัสเซีย อย่างเช่น รัสเซียทูเดย์เสื่อมเสีย และใช้องค์กรเอ็นจีโอในการต่อต้าน (แต่ปรากฏว่า อิทธิพลรัสเซียยังคงซึมลึกถึงขั้นเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน) (ดูบทความของ Christopher S. Chivvis ชื่อ Understanding Russian “Hybrid Warfare” – And What Can Be Done About It เอกสารนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการกิจการทหารสภาคองเกรส 22.03.2017 ใน rand.org)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามพันทางยามสันติของจีน สถานการณ์สงครามทั่วโลกในปี 2017 และมหาสงคราม