จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (17)

จรัญ มะลูลีม

การเดินทางออกนอกประเทศไปยังตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกและยุโรปตะวันตกของทรัมป์ได้ทิ้งร่องรอยของนโยบายที่กลับไปกลับมาหลายครั้งของเขาไว้ให้

ในเอเชียตะวันตก เขาเลือกเยือนสองประเทศได้แก่ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ย้อนกลับไปตอนที่เขาหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว (2017) เขาได้เรียกร้องให้ “ปิดกั้นมิให้มุสลิมทั้งหมดเข้าประเทศ”

แต่ทรัมป์เปลี่ยนไป 180 องศา เมื่อเขาพูดในกรุงริยาฎ เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียด้วยการกล่าวว่า “ไม่มีการต่อสู้ระหว่างศรัทธาที่ต่างกัน”

พร้อมกับยอมรับว่าร้อยละ 95 ของเหยื่อจากการก่อการร้ายเป็นชาวมุสลิมเสียเอง

เขามิได้วิจารณ์ซาอุดีอาระเบียแม้แต่คำเดียว ทั้งๆ ที่นโยบายต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียทำให้ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยความปั่นป่วนโกลาหลอันเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองในเยเมน และการสนับสนุนฝ่ายกบฏให้โค่นล้มรัฐบาลซีเรียร่วมกับพันธมิตรอาหรับ โดยสหรัฐในสมัยโอบามาเป็นหัวหอกในเรื่องนี้

 

แต่เป้าหมายหลักในการพูดของเขามุ่งไปที่การโจมตีอิหร่าน

โดยวาดภาพอิหร่านให้เป็นหัวหน้าลัทธิก่อการร้าย ทั้งๆ ที่อิหร่านเองเป็นประเทศที่ต่อต้านกองกำลังฏอลิบาน อัล-กออิดะฮ์ และไอเอสมาโดยตลอด

จนในที่สุดอิหร่านเองก็ถูกไอเอสเข้าถล่มทั้งในรัฐสภาและสุสานของอิมามโคมัยนีจนได้ แม้หลายฝ่ายคาดว่าไอเอสจะไม่สามารถเข้าถึงประเทศอย่างอิสราเอลและอิหร่านได้ก็ตาม

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเข้ามาปลุกเร้าเรื่องความแตกแยกว่าด้วยสำนักคิดซุนนี-ชีอะฮ์ให้ร้าวหนักเข้าไปอีก

ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้กันมาว่าความขัดแย้งซุนนี-ชีอะฮ์ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าศาสนาก็ตาม

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าโลกมุสลิมในปัจจุบันมีชาวชีอะฮ์อยู่ถึง 140 ล้านคน

แม้แต่ในซาอุดีอาระเบียเอง อย่างเช่น ในเมืองฮาซาซึ่งอยู่ทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบียก็มีชาวชีอะฮ์ไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านคน

โดยประเทศหลักที่มีชาวชีอะฮ์จำนวนมากก็ล้วนแต่อยู่ในตะวันออกกลาง และเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ทั้งสิ้น

พวกเขามีสิทธิที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้เสมอ โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่มีสิทธิห้ามชาวมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะถูกตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียก็ตาม

เพราะนครมักกะฮ์และมะดีนะฮ์เป็นบ้านของพระเจ้าที่มุสลิมทุกคนมีสิทธิจะไปประกอบพิธีฮัจญ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 แล้ว

ทรัมป์พยายามจะโยนให้อิหร่านเป็นผู้จุดประกายความขัดแย้งระหว่างสำนักคิด ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้กันว่าความคิดนี้มาจากประเทศที่อยู่แถบอ่าวเปอร์เซียทั้งสิ้น

 

ในการมาของทรัมป์ที่ซาอุดีอาระเบีย ซาอุดีอาระเบียได้เลือกเชิญเฉพาะผู้นำประเทศที่เป็นซุนนีมาเข้าร่วมพบปะกับทรัมป์ที่วิพากษ์ชาวมุสลิมและศาสนาอิสลามมาตลอด

ทั้งนี้ ผู้นำประเทศมุสลิมมากกว่า 50 ประเทศได้เดินทางมาเข้าร่วมพบปะกับผู้นำที่วิพากษ์ศาสนาของพวกเขาอย่างพร้อมหน้า รวมทั้งประธานาธิบดี นาวาซ ชารีฟ ของปากีสถานที่ครั้งหนึ่งเคยมาลี้ภัยการเมืองในประเทศนี้มาก่อน

ในคำพูดของเขากับบรรดาผู้นำจากโลกมุสลิมที่มารวมตัวกัน ทรัมป์โยนความผิดว่าด้วยลัทธิการก่อการร้ายและความไม่มั่นคงในภูมิภาคว่ามาจากประเทศที่มีคนชีอะฮ์เป็นคนส่วนใหญ่อย่างอิหร่าน

ทรัมป์พูดถึงอิหร่านว่าเป็นรัฐรวบอำนาจทั้งๆ ที่โลกต่างชื่นชมอิหร่านที่มีการเลือกตั้งอย่างเสรีมาอย่างต่อเนื่อง และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้คนเก่ามาเป็นอีกวาระหนึ่ง ท่ามกลางคนมาลงคะแนนเสียงหลายล้านคน

และเหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดก่อนการเดินทางมาถึงแผ่นดินซาอุดีอาระเบียของทรัมป์ได้ไม่กี่วัน

 

ประธานาธิบดี ฮัซซัน โรฮานี ของอิหร่านให้ข้อสังเกตว่าทรัมป์มาเยือนภูมิภาคนี้ในช่วงเวลาที่ชาวอิหร่าน 45 ล้านคนกำลังเลือกตั้งประธานาธิบดีของพวกเขา

เขากล่าวถึงทรัมป์ที่มาเยือนซาอุดีอาระเบีย ว่า “และแล้วเขาก็มาเยือนประเทศที่ข้าพเจ้าสงสัยว่ารู้จักนิยามของคำว่าเลือกตั้งหรือไม่” โรฮานีให้ข้อสังเกต

ในการพูดถึงประเทศมุสลิมทรัมป์ได้ประณามขบวนการฮิสบุลลอฮ์ (Hizbollah) ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชของเลบานอน อันเป็นขบวนการที่ทรัมป์มองว่าเป็นอุปสรรคในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในซีเรียและอิรัก

ปัจจุบันฮิสบุลลอฮ์เป็นกองกำลังเดียวที่ยังคงต่อสู้กับอิสราเอลและเคยชนะอิสราเอลมาแล้วถึงสองครั้ง ในขณะที่ประเทศอาหรับบางประเทศได้กลายเป็นพันธมิตรของรัฐไซออนนิสต์ โดยทางอ้อมไปเรียบร้อยแล้ว

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอิหร่านและการทำลายล้างขบวนการฮิสบุลลอฮ์เป็นจุดหมายของสหรัฐ อิสราเอลและซาอุดีอาระเบียมายาวนาน โดยกองกำลังดาอิชห์หรือไอเอสและอัลนุสเราะฮ์กำลังตกอยู่ในภาวะถูกกวาดต้อนอยู่ในภูมิภาค

สหรัฐและพันธมิตรกำลังเตรียมการที่จะเผชิญหน้ากับกองกำลังฮิสบุลลอฮ์และผู้สนับสนุนกองกำลังนี้ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านหรือซีเรีย

ภายใต้การนำของทรัมป์อำนาจทางทหารของเขาจะมุ่งไปที่กองกำลังทางทหารของซีเรียและกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย

การซื้ออาวุธจากสหรัฐด้วยเงินจำนวนมหาศาลของซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ถือเป็นการซื้ออาวุธครั้งเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐยืนกรานว่าการตกลงซื้อขายอาวุธเป็นความจำเป็นสำหรับ “ความมั่นคงระยะยาว” ของซาอุดีอาระเบีย

 


กระทรวงต่างประเทศสหรัฐมิได้ปิดบังแม้แต่น้อยว่าจุดมุ่งหมายในการขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียเป็นการหางานให้ชาวสหรัฐทำ และในกระบวนการดังกล่าวอย่างน้อยก็ทำให้การรณรงค์ในเรื่องนี้ของทรัมป์ประสบความสำเร็จ

รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านกล่าวว่าครั้งก่อนซาอุดีอาระเบียก็หมดเงินไปกับการซื้อขายอาวุธมหาศาลหลังจากการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามของอิหร่านในปี 1979 ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียได้ใช้เงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยเหลือกองทัพอิรักในสงครามที่ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักอยู่ในเวลานั้น

สงครามดังกล่าวใช้เวลาถึง 8 ปี (1980-1988) ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งล้านคน (เป็นทหารอิหร่าน 3 แสนคน ทหารอิรัก 3 แสนคน ที่เหลือเป็นพลเรือน) มีประเทศสนับสนุนอิรักถึง 62 ประเทศแต่ไม่สามารถเอาชนะอิหร่านได้ และทำให้อิรักต้องหมดตัวและหันไปรุกรานคูเวตในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (1990-1991) ในขณะที่อิหร่านยากจนลงแต่มิได้เป็นหนี้ประเทศใด

และยังคงประคองการปฏิวัติตามแนวอิสลามมาได้จนถึงเวลานี้