การศึกษา/เปิด…คำสั่งศาลปกครอง ทำไม?? ‘ไม่เลื่อนสอบ’ ทีแคส ปี ’64

การศึกษา

เปิด…คำสั่งศาลปกครอง

ทำไม?? ‘ไม่เลื่อนสอบ’ ทีแคส ปี ’64

หลังจากศาลปกครอง “ยกคำร้อง” ไม่เลื่อนวันสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2564

ทำให้การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ที่จะสอบในวันที่ 20-23 มีนาคม ประกาศผลวันที่ 23 เมษายน การทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ หรือโอเน็ต วันที่ 27 และ 29 มีนาคม ประกาศผลวันที่ 27 เมษายน และการสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3-4 เมษายน ประกาศผลวันที่ 29 เมษายน ยังคงเดินหน้าต่อไป

สืบเนื่องจากนักเรียนชั้น ม.6 ที่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทำให้การเปิด-ปิดภาคเรียนถูกเลื่อนออกไป ซึ่งกระทบกับตารางสอบต่างๆ ในระบบทีแคส ที่ต้องสอบติดๆ กัน จากเดิมที่ใช้เวลาจัดสอบประมาณเดือนครึ่งถึง 2 เดือน เหลือเวลาจัดสอบเพียง 27 วันเท่านั้น ทำให้นักเรียนเครียด และเตรียมตัวไม่ทัน

อีกทั้งการเรียนการสอนในโรงเรียนถูกปรับให้เรียนผ่านออนไลน์แทบทั้งหมด ทำให้บางคนเรียนไม่รู้เรื่อง และไม่มั่นใจว่าจะมีความรู้เพียงพอกับการสอบหรือไม่

นอกจากนี้ การสอบบางวิชายังตรงกับวันสอบปลายภาคของบางโรงเรียน หรือตรงกับวันเลือกตั้งท้องถิ่น และตรงกับวันเกณฑ์ทหาร

ที่ผ่านมานักเรียนออกมาเรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดียให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลื่อนสอบ จนทำให้แฮชแท็ก #เลื่อนสอบ #ฟ้องศาลเลื่อนสอบ ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย!!

 

ปัญหาที่นักเรียนประสบอยู่ในเวลานี้ หลายฝ่ายมองว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

ถ้าจัดสอบช่วงนี้ อาจส่งผลให้นักเรียนเครียด กดดัน มีปัญหาสุขภาพจิต ร้ายที่สุดอาจจะส่งผลให้นักเรียนมีพฤติกรรมความรุนแรงก็ได้

ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เร่งประชุม เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ซึ่งที่ประชุมมีมติ “ไม่เลื่อนสอบ”

พร้อมออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า กระบวนการคัดเลือกในระบบทีแคส ปีการศึกษา 2564 ได้ประกาศปฏิทินการดำเนินงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 เดือนแล้ว

ซึ่งผู้เรียนได้ศึกษาข้อมูล วางแผน และเตรียมพร้อมมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

อีกทั้งนักเรียนชั้น ม.4-6 ทุกคนได้รับข้อมูล และต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้สมัครทุกคนทั่วประเทศรับทราบข้อมูลการสอบที่ได้กำหนดไปก่อนหน้านี้แล้ว และการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงวันสอบเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงสนามสอบ เลขที่นั่งสอบอีกด้วย

ที่สำคัญ การเลื่อนสอบอาจส่งผลกระทบกับผู้ที่มีความพร้อม และต้องการสอบในวันและเวลาที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ หากเลื่อนสอบ อาจกระทบกับปฏิทินการดำเนินงานของทีแคส ซึ่งจะส่งผลให้หลายๆ มหาวิทยาลัยต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป

หลังจากที่ ศธ.ออกแถลงการณ์ไม่นาน นักเรียนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก พร้อมติดแฮชแท็กว่า #dak64 กำลังถูกทิ้ง โดยนักเรียนรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ฟังเสียงของเด็ก ไม่ได้รับความเป็นธรรม

และคิดว่าการสอบท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นอันตรายอย่างมาก!!

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตอบสนอง นักเรียน 6 คนจึงรวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเลื่อนการสอบทีแคสออกไป พร้อมกับขอศาลให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

  1. ให้เพิกถอนกำหนดการสอบทีแคส และให้ผู้ถูกฟ้อง คือ ศธ., สพฐ., ทปอ., สทศ. และ กสพท. กำหนดวันสอบคัดเลือกใหม่ ตามวันที่เห็นว่าเหมาะสม
  2. ให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องชะลอการจัดสอบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2564 ออกไปไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์จากกำหนดการเดิม

แต่นักเรียนทั้ง 6 รายก็ต้องผิดหวัง เมื่อศาลปกครองมีคำสั่ง “ยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี” ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องขอให้เลื่อนการสอบรายวิชาที่ใช้เข้ารับการคัดเลือกในระบบทีแคส ไม่ว่าจะเป็นการสอบ GAT/PAT การสอบโอเน็ต และการสอบ 9 วิชาสามัญ

เนื่องจากศาลปกครองกลางเห็นว่า เมื่อมีผู้สมัครสอบรายวิชา GAT/PAT จำนวน 257,274 คน สอบโอเน็ต จำนวน 387,139 คน และสอบ 9 วิชาสามัญ จำนวน 175,003 คน มีจังหวัดสนามสอบ 77 จังหวัด หน่วยสนามสอบสูงสุด 397 หน่วย และมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบอีกไม่น้อยกว่า 20,000 คน ซึ่งบุคคลดังกล่าวต้องเตรียมตัว ต้องเดินทาง และต้องหาที่พัก หากเลื่อนสอบ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังได้ส่ง “ข้อสอบ” ไปยังศูนย์สอบต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ประกอบกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมระบบทีแคส 80 สถาบัน จาก 156 มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เข้าร่วมระบบทีแคสก็ได้กำหนดการคัดเลือกต่อจากการคัดเลือกของระบบทีแคส ซึ่งจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

รวมทั้งการแจ้งเลื่อนการสอบอย่างกระชั้นชิดนั้น ไม่สามารถแจ้งได้อย่างทั่วถึง ครบถ้วน ภายในระยะเวลาที่จำกัด เป็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐ และแก่การบริการสาธารณะ

ดังนั้น เมื่อคำขอของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคู่มือระบบทีแคส ปีการศึกษา 2564 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543

จึงมีคำสั่งยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี!!

 

แม้หลายคนมองว่าการต่อสู้ของนักเรียนครั้งนี้ล้มเหลว ทำให้นักเรียนหลายคนผิดหวัง และเครียด แต่เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งออกมาแล้ว นักเรียนและผู้เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าทำ “หน้าที่” ของตัวเองให้ดีที่สุด

ขณะที่ “หน่วยงาน” ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีหน้าที่ “จัดสอบ” ในระบบทีแคส ให้เกิดความเรียบร้อย และปลอดภัยที่สุด…

ส่วน “นักเรียน” ก็มีหน้าที่ “ทำข้อสอบ” ให้ดีที่สุด…

ทั้งนี้ หวังว่าปัญหา อุปสรรค หรือความไม่เข้าใจกัน ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและนักเรียนทั้ง 2 ฝ่ายคงต้องมาพูดคุย และรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน

เพื่อให้ได้ “ทางออก” ที่ดีที่สุดร่วมกัน!!