วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : ไทยจะรอดจากโควิดระลอกสามหรือไม่ขึ้นกับฝีมือทางการทูต ไม่ใช่ฝีมือสาธารณสุข

เมื่อวานท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกของประเทศที่ได้รับวัคซีนอย่างเป็นทางการในขณะที่การติดเชื้อใหม่ในประเทศเหลือเพียงเลขสองหลักต่อวัน การฉีดวัคซีนในไทยจะทะยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คงราวปีหน้าคนไทยทั้งประเทศก็จะมีภูมิคุ้มกันหมู่พอที่จะเปิดประเทศได้อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องโควิดมากเกินไป ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของเราคงจะกลับไปปรกติเสียที

แต่เหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมาซึ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ สิครับ จะทำให้เกิดโควิดระลอกสามในไทยที่อาจจะรุนแรงกว่าสองระลอกที่ผ่านมาก่อนที่วัคซีนจะฉีดได้ถ้วนหน้า ทีนี้ก็จะทำลายความฝันของเราที่จะฟื้นเศรษฐกิจให้ยืดยาวออกไป

 

ความรุนแรงในเมียนมาจึงเป็นภาวะคุกคามต่อความมั่นคงด้านการควบคุมโรคของไทยมากกว่าที่คนส่วนใหญ่ตระหนัก เรื่องนี้ต้องผนวกประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเมียนมาเข้ากับสถานการณ์ระบาดวิทยาของโควิด แค่คนไม่มากรอดผ่านชายแดนเข้ามายังทำให้เกิดระลอกสองที่สมุทรสาครได้ ถ้ามีผู้อพยพลี้ภัยเข้ามานับแสนพร้อมกับเชื้อโควิด เราจะรับไหวหรือครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศพม่า(ชื่อในขณะนั้น) ได้รับเอกราชจากอังกฤษได้ไม่นานก็เผชิญกับความรุนแรงภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งระหว่างผู้มีอำนาจในกองทัพและระหว่างชาติพันธุ์ นโยบายปิดประเทศพึ่งตัวเองแบบสังคมนิยมและการปิดล้อมทางเศรษฐกิจของนานาชาติในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทำให้พม่าซึ่งเริ่มต้นหลังสงครามโลกได้ใกล้เคียงกับประเทศไทย กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก (least developed country) ภายในเวลาเพียงสองสามทศวรรษ

เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว (พ.ศ. 2531) มีการปะทะระหว่างพลเรือนที่ต้องการประชาธิปไตยและทหารผู้ยึดอำนาจ นอกจากนี้ยังมีการแข็งข้อของชนชาติส่วนน้อยตามชายแดน ทำให้มีผู้อพยพทั้งจากเมืองใหญ่และชายแดนหลั่งไหลเข้าประเทศไทยหลายแสนคน การมีผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาพร้อมกันเป็นภาระต่อประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลานานในการปรับตัว แม้ในขณะนี้ผ่านมาสามสิบปีแล้วก็ยังมีประชาชนที่มีฐานะผู้อพยพจากพม่าทั้งในบริเวณชายแดน และในเมืองใหญ่ของไทย

เหตุการณ์ดีขึ้นเมื่อปี 2555 ประเทศพม่า (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเมียนมา) เปิดประเทศเป็นประชาธิปไตย และนานาชาติเลิกปิดล้อมทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็ค่อยคลายความเครียดในเรื่องนี้ เศรษฐกิจชายแดนก็คึกคัก นานาชาติเข้าไปลงทุนในเมียนมา แต่เวลานี้ตะวันตกรวมทั้งญี่ปุ่นยกเลิกหมดแล้ว เพราะปี 2564 ประวัติศาสตร์กำลังจะกลับไปซ้ำรอยเดิมอีก

 

คราวที่แล้วกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้นำการรณรงค์ประชาธิปไตยและมีพลเรือนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่คราวนี้ซับซ้อนกว่าเดิมมาก บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้นำประชาชนในการปฏิเสธรัฐบาลทหาร ในสถานการณ์ที่มีโควิดระบาด และทหารก็กดดันในคุณหมอทั้งหลายกลับมาทำงานภายใต้การนำของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง และรัฐบาลจะใช้หมอทหารเข้าดำเนินการฉีดวัคซีนแทนหมอพลเรือน แต่ก็มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนชาติส่วนน้อยซึ่งไม่เป็นมิตรกับทหารอยู่แล้ว ฝ่ายบุคลากรสาธารณสุขก็ยื่นคำขาดให้รัฐบาลยอมออกจากอำนาจเสียก่อน เพราะปัจจุบันมีการจับกุมคุมขังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา การฉีดวัคซีนซึ่งดำเนินการมาได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ต้องชงักงัน สภาวะนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งกับการควบคุมโควิดของประเทศและของภูมิภาค

ที่จะแย่ไปกว่านั้น คือ ฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งยอมตามเพื่อประชาธิปไตย อีกส่วนหนึ่งก็จะหันไปใช้วิธีทำลายที่ทำการรัฐบาลแก้แค้นที่รัฐบาลใช้ความรุนแรง ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องใช้ความรุนแรงเพิ่มชึ้น ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ปี 2531 แล้ว ฝ่ายพลเรือนอ้างว่าได้เสียชีวิตเป็นหมื่นสูญหายไปอีกจำนวนหนึ่งในปีนั้น และยังมีการกวาดล้างหนีภัยในเวลาต่อมาอีกหลายปี ฝ่ายทหารบอกว่าตายไปในราวสามร้อยกว่าคนเท่านั้นเอง ทั้งหมดนี้ไม่มีกระบวนการสืบค้นความจริง ไม่มีการเยียวยาปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปจนมาเริ่มกันใหม่ในปีนี้

ถ้าไม่มีใครช่วยอะไร มีแต่คนเฝ้าดู ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยแน่นอน ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น คนจะตายและสูญหายมากขึ้น ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่แล้วอาจจะลามออกไปยังชนชาติส่วนน้อยซึ่งพลเรือนจากในเมืองหนีตายไปพึ่งพิง สงครามย่อย ๆ ระหว่างทหารกับชาติพันธุ์ทางชายแดนที่สงบไปก็จะปะทุขึ้น ที่สำคัญสำหรับไทยก็คือ ในไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีผู้อพยพหนีตายทะลักเข้าประเทศไทยนับหมื่นนับแสนอย่างที่ประวัติศาสตร์เมื่อสามสิบปีที่แล้วแสดงให้เราดู แค่คราวนี้มีเรื่องโควิดเข้ามาด้วยโดยที่ไทยยังฉีดวัคซีนไม่แล้วเสร็จ เราจึงจะเห็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประเทศเมียนมาลุกลามเข้าประเทศไทย

 

ถ้าไทยเราจะรอดจากระลอกสาม รัฐบาลและนักการเมืองไทยต้องเริ่มต้นทำงานหนักตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่เตรียมสร้างค่ายผู้อพยพผู้ลี้ภัยและเจรจากับยูเอ็นเอชซีอาร์ แต่เป็นการทูตเชิงรุก ที่ต้องการทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายประชาธิปไตยสามนิ้วของเราทำงานด้วยกัน นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังต้องขอร้องให้จีนลูกพี่ใหญ่เสริมแรงทางการทูตด้วย

ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับเจนเนอเรชั่นแซดเป็นสถานการณ์ทั่วไปฮ่องกง ไทย และเมียนมา ฝ่ายสามนิ้วมีสโลแกนว่าอยู่หรือตายก็ได้เพื่อประชาธิปไตย ฝ่ายรัฐบาลมีคำอธิบายว่าทั้งหมดนี้เกิดจากการยุแหย่ของชาติตะวันตก ถูกผิดอย่างไรผมไม่รู้ แต่เมืองไทยแต่ละฝ่ายของไทยเราก็รู้จักกาลเทศะของโควิด เวลาโควิดมาแรง เราก็หยุดกันก่อน เวลาโควิดหย่อนเราก็ค่อยว่ากัน ถ้าเราทุกฝ่ายชักชวนให้คู่ขัดแย้งในเมียนมาได้จับจังหวะโควิดดี ๆ อย่างที่เราจับ แตะเบรคการแตกหักไปก่อน รอให้คุมโควิดด้วยวัคซีนได้แล้วค่อยว่ากัน ประชาชนภายในชาติเมียนมา ไทย และ จีนซึ่งมีพรมแดนติดเมียนมารวมแล้วสามพันกิโลเมตรก็จะไม่ต้องรับภาระโควิดที่มาพร้อมกับผู้ลี้ภัยนับแสน

ความอยู่รอดของเราจากระลอกสามของโควิดจะอยู่ที่ความสามารถทางการทูตของรัฐบาลไทยและจีน อย่าได้หวังตะวันตกเพราะรัฐบาลทหารพม่าถือว่าเป็นศัตรู และรัฐบาลเหล่านั้นก็ปิดล้อมเมียนมาทางเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว เราจะขอประเทศอาเซียนอื่น ๆ เข้ามาช่วยเจรจาก็ได้แต่เขาไม่มีชายแดนติดเมียนมาเหมือนเรา เขาคงไม่ต้องเร่งร้อนมาก อินเดียผู้บริจาควัคซีนให้เมียนมาก็ต้องคงมีส่วน เพราะคงไม่อยากให้วัคซีนส่งไปแล้วหมดอายุโดยไม่ได้ฉีด

 

แต่ใครจะรู้ใจทหารพม่าเท่ากับทหารไทย ในทำนองเดียวกัน ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเค้าไม่มีเจ้าหนูสามนิ้วกับนักการเมืองฝ่ายค้าน ดังนั้นจะไม่มีใครจะไปเจรจากับฝ่ายสามนิ้วของเมียนมาได้ดีเท่ากับสามนิ้วไทย

ถ้าไทยและจีนจะรอดได้ ทหารและสามนิ้วของเมียนมาต้องสงบศึกกันชั่วคราว จัดการเรื่องวัคซีนในลุล่วงไปซะก่อนเพื่อให้ชาวเมียนมามีภูมิคุ้มกันหมู่ที่มากพอ ซึ่งคงใช้เวลาอีกเป็นปี ระหว่างนี้ให้รบกันเฉพาะบนโต๊ะเจรจา แล้วค่อย ๆ ลุ้นกันว่าผลจะออกมาอย่างไร เมื่อเมียนมาเขาได้วัคซีนครบแล้วและไทยเราได้วัคซีนครบแล้ว เราก็พอจะได้หายใจหายคอ ต่อไปจะคุยกันยูเอ็นเอชซีอาร์เตรียมรับผู้อพยพชั่วคราว แล้วจะส่งกลับโดยสมัครใจหรือส่งไปอยู่ประเทศที่สามเหมือนเมื่อสามสิบปีที่แล้วก็ยังพอจะว่ากันไหว

พณฯ ท่านนายพลและนักการทูตไทย ตลอดจนนักการเมืองฝ่ายค้านที่เคารพครับ การควบคุมภาวะคุกคามของโควิดระลอกสามในกรณีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขแล้วนะครับ