เสียงก้อง ขอตอบคำถาม 4 ข้อของนายกฯ : ขอคารวะ หมื่นจอก

คําถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรี คือ

1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

ก่อนที่จะตอบคำถามข้อ 1 ต้องขอถามท่านนายกฯ กลับไปก่อนว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นจริงหรือไม่ / ถ้ามี การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

การตั้งคำถามของท่านนายกฯ ในลักษณะที่ให้เลือกคำตอบเพียงแค่ว่าได้หรือไม่ได้ เหมือนเป็นการบังคับจำกัดคำตอบยังไงก็ไม่รู้ ท่านน่าจะถามว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนอยากได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลแบบไหน น่าจะดีกว่า จะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันนิยาม ช่วยกันหาคำกำจัดความของคำว่า “รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” ก่อน

เพราะคำนิยามของ “รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” ก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนกันทุกคนทั้งประเทศหรือทั้งโลก ขึ้นอยู่กับว่า ใครได้ ใครเสีย ผลประโยชน์อะไรบ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลนั้นๆ

ถ้าคนที่ได้รับการจัดสรรผลแบ่งปันผลประโยชน์จากรัฐบาล ก็จะบอกว่าได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลแล้ว

แต่ถ้าคนไม่ได้ประโยชน์หรือสูญเสียผลประโยชน์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ก็จะมองว่าได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดเดียวกันก็ตาม

ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา บ้านเราน่าจะคุ้นๆ กันอยู่บ้างนะ

ดังนั้น ข้อนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ คงต้องให้ถึงเวลาหลังเลือกตั้งครั้งต่อไปก่อน เพื่อรอดูว่าใครจะได้มาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์และทรัพยากรของชาติ ให้กับประชาชนส่วนใหญ่หรือพรรคพวกเพื่อนพ้องอย่างไรบ้าง

จึงจะตอบได้ว่าได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

ข้อนี้ค่อยน่าตอบหน่อย ก็จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามครรลองประชาธิปไตยแบบชาวโลก

ดูอย่างอเมริกาสิยังได้ทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี หรืออย่างฟิลิปปินส์ก็ได้คนอย่างดูแตร์เตมาเป็นประธานาธิบดี หรืออย่างฝรั่งเศสได้ก็คนอย่างมาครงเป็นประธานาธิบดี หรืออย่างเกาหลีใต้ที่ประธานาธิบดีหญิงถูกเข้าสู่กระบวนการถอดถอน และจัดให้มีการเลือกตั้งจนได้ประธานาธิบดีคนใหม่ไปแล้ว

อันนี้ นานาจิตตัง แต่ประเทศของพวกเขาก็ยังรักษากฎ กติกา มารยาท ของพวกเขาไว้อย่างเคร่งครัด ไม่เห็นมีใครออกมาทำตัวเป็นซูเปอร์ฮีโร่สักคน

กฎหมายต่างๆ ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญยันกฎหมายลูกที่ท่านนายกฯ ให้ทีมงานร่างออกมาบังคับใช้จนจำแทบไม่หวาดไม่ไหว ทำไมท่านคิดว่าท่านจะไม่เดินตามนั้นเหรอ หรือท่านนายกฯ ก็ไม่ไว้ใจในสิ่งที่ตัวเองทำ

ข้อนี้ไม่น่าถามเลยนะท่านนายกฯ ก็ท่านและหมู่คณะเป็นฝ่ายออกแบบ กฎ กติกา ของบ้านเมืองกับมือตัวเอง แล้วจะต้องมาถามทำไม ว่าจะให้ทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่

การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย อันนี้ถูกต้องแน่นอน เพราะถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างภาคภูมิใจหรอก

จำได้ว่า กฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ต้องมีนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งด้วย

หลายครั้งที่บรรดาพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย เช่น รถไฟรางคู่ การขนส่งทางราง แม้กระทั่งรถไฟความเร็วสูง การดูแลพี่น้องเกษตรกร การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน การแก้ปัญหารถติด ฯลฯ

นโยบายทั้งหลายเหล่านี้ คงพอจะเรียกได้ว่าคำนึงถึงอนาคตประเทศอยู่แล้วนะ แต่บางนโยบายกลับถูกสกัดขัดขวางต่อต้านอย่างแข็งขัน จนไม่สามารถดำเนินการได้

ที่ถูกต้อง ท่านนายกฯ น่าจะถามว่า พรรคการเมืองจะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมและเห็นด้วยกับนโยบายที่คำนึงถึงอนาคตประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป ที่พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอ

ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายนั้นแล้ว ทำอย่างไรที่จะช่วยกันผลักดันนโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผล และจะทำอย่างไรกับพวกที่คอยคัดค้านขัดขวางนโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยแล้ว จนไม่สามารถนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติให้เป็นจริงได้

ถ้าถามแบบนี้น่าจะตรงประเด็นกว่านะ

4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรจะมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ที่ว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น ไม่แน่ใจว่าท่านนายกฯ มองเรื่องความไม่เหมาะในแง่ไหนบ้าง

ถ้านักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเรื่องที่มีความผิดตามกฎหมายบัญญัติไว้ทุกกรณี แม้คดีความจะยังไม่ถึงที่สุด ก็ไม่สมควรที่จะให้โอกาสในการเข้าสู่การเลือกตั้ง ควรให้ไปชำระสะสางคดีความของตัวเองให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเปิดโอกาสให้เข้าสู่การเลือกตั้งได้

เมื่อสะสางคดีความของตัวเองเรียบร้อยแล้ว พอมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประชาชนแล้วละ ว่าจะไว้ใจเลือกนักการเมืองคนนั้นอยู่หรือเปล่า

ถ้านักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อันนี้น่าจะชี้วัดกันยากอยู่สักหน่อย ขึ้นอยู่ใครเป็นคนประเมินนะครับ เพราะต่อมคุณธรรม จริยธรรม ของแต่ละคนแต่ละหมู่คณะอาจไม่เท่ากัน

น่าจะปล่อยให้นักการเมืองประเภทนี้มีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งได้ แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่ายอมรับนักการเมืองแบบนี้หรือเปล่า ถ้าประชาชนเสียงส่วนมากเห็นว่านักการเมืองคนนั้นมีปัญหาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ก็คงไม่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากพอที่จะมีโอกาสเข้าสู่สารบบการเมืองได้

แต่ถ้าประชาชนเสียงส่วนมากยังเลือกที่จะลงคะแนนให้นักการเมืองคนนั้น อันนี้ก็ต้องเคารพเสียงข้างมากของประชาชนด้วย

อีกคำถามที่ตามมาว่า หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร คำตอบก็คือ ประชาชนเป็นคนแก้ไขยังไงล่ะ เป็นการฝึกฝนประชาชนให้เรียนรู้การทำหน้าที่แก้ไขในสิ่งที่ตัวเองเลือกผิดพลาดไป เพราะไม่ใช่ว่าประชาชนจะหมดภาระหน้าที่หรือจบการทำงาน หลังจากเลือกนักการเมืองเข้าสู่สาระบบไปแล้วเท่านั้น

ประชาชนยังมีหน้าที่ต้องคอยกำกับดูแลพฤติกรรมของนักการเมืองอยู่ต่อไป ถ้าวันข้างหน้าเกิดนักการเมืองที่มีปัญหาพฤติกรรมเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนเดิมที่เคยเลือกหรือคนใหม่ที่มีปัญหาในภายหลัง ประชาชนก็จะตัดสินใจกับอนาคตของนักการเมืองคนนั้นได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั่นเอง

วิถีประชาธิปไตยมักเป็นเช่นนี้แล…