สนช.กดปุ่มรีเซ็ต ไม่ปล่อยปลา 2 น้ำ กกต.อยู่ไม่ติด ถูกโละทั้งแผง : ในประเทศ

ทั้งๆ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า กรธ. ไม่มีแนวคิดที่จะเซ็ตซีโร่ใคร

ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือแม้แต่กรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ ใดเลยแม้แต่องค์กรเดียว

และยังได้ยืนยันมาโดยตลอดแถบทุกครั้งที่ถูกซักถามว่า กรรมการในองค์กรอิสระคนไหนจะหลุดจากเก้าอี้หรือได้ไปต่อนั้น ต้องดูที่ “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม” ถ้าคนไหนมีไม่ครบตามรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องรับสภาพ

และยังได้ยืนยันด้วยว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ กรธ. ในการชี้ขาดในกรณีนี้ว่า ใครจะได้อยู่ต่อหรือพ้นไป

แต่เป็นเรื่องของ “คณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ” ที่จะต้องเป็นผู้ชี้ขาดเองหลังจากที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรนั้นๆ มีผลบังคับใช้

ทั้งๆ ที่ในเนื้อหาจากรายงานสรุปผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” เป็นประธาน ยังปรากฏคำตอบของ กรธ. อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่า การเซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งชุดเพื่อให้เริ่มต้นทำหน้าที่ใหม่พร้อมกัน ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ตามมาตรา 70 ของร่างกฎหมายว่าด้วย กกต.

อีกทั้งยังได้ยืนยันในคำตอบเดิมของตัวเองในรายงานสรุปเล่มเดียวกันด้วยว่า คนที่จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และดำรงตำแหน่งต่อไป โดยมีวาระ 7 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 กำหนดด้วย

แต่ทันทีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ของ สนช. ที่มี “ตวง อันตะไชย” เป็นประธาน มีมติให้เซ็ตซีโร่โละ กกต.ยกชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กลับลำบอกว่า “เห็นด้วย”

โดยนายมีชัย ระบุว่า สนช. เด็ดขาดกว่า กรธ. เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหากังวลใจ กรธ. มาก เพราะ กรธ. ปรับคุณสมบัติและโครงสร้างให้สูงขึ้น การเซ็ตซีโร่ กกต. ถือว่าดีขึ้น ตนเห็นด้วย โดย กรธ. ไม่เห็นแย้งเพื่อให้มีการตั้ง กมธ.ร่วม ยืนยันว่า เซ็ตซีโร่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า กรรมการองค์กรอิสระจะอยู่หรือไปขึ้นกับกฎหมายลูก ซึ่ง กรธ. เห็นว่า องค์กรอิสระแต่ละองค์กรแตกต่างกันไปตามโครงสร้าง ต้องขึ้นกับกฎหมายลูกขององค์กรนั้น

และยังยืนยันด้วยว่า การเซ็ตซีโร่ กกต. ไม่เป็นบรรทัดฐานให้กับการเซ็ตซีโร่กรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ โดยต้องดูเป็นองค์กรๆ ไป เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน อำนาจหน้าที่ไม่ได้ปรับอะไรมาก แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อาจมีเหตุ เนื่องจากที่มาของ กสม. มีปัญหา ไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส เป็นไปได้ที่ต้องมีการเซ็ตซีโร่ทั้งหมด

ทั้งหมดนี้ จึงเป็น “ข้อสงสัย” จนเกิด “คำถาม” กระทั่งกลายเป็นปมวิวาทะทางการเมืองร้อนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่ฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่ว่า สนช. ไม่ว่า กรธ. หรือแม้แต่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ต่างก็ยังยืนยันว่า จำเป็นต้องมีการเซ็ตซีโร่

โดยเฉพาะเหตุผลการแก้ปัญหาเรื่อง “ปลาสองน้ำ”

แน่นอนว่า บุคคลแรกๆ ที่ออกมาตั้งคำถามคงไม่ใช่ใคร นอกจาก กกต. “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ในฐานะผู้เสียประโยชน์ ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้ง 4 คำถามจาก กกต. ถึงผู้ออกกฎหมาย ดังต่อไปนี้

1. การออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษ เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ การเขียนกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเคยมีมาในอดีตหรือไม่ และจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสังคมนิติรัฐหรือไม่

2. การกล่าวอ้างถึงตำแหน่งที่รับผิดชอบสูง จำเป็นต้องใช้คนที่มีคุณสมบัติสูง เลยต้องให้ออกทั้งคณะ ถามว่าในเมื่อคนเดิมจำนวนมากถึง 4 ใน 5 คน มีคุณสมบัติสูงครบถ้วน และผ่านการสรรหามาอย่างถูกต้อง เหตุใดจึงต้องให้เขาออกด้วย

3. รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของ กกต. เป็นไปแบบวาระเฉพาะตัว เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ ดังนั้น ตลอดเวลาการดำรงตำแหน่งหากมี กกต. ออกด้วยเหตุต่างๆ เช่น ครบ 70 ปี ตาย ลาออก ถูกถอดถอน คนใหม่ที่เข้ามาก็อยู่ต่อ 7 ปี ไม่ใช่เท่าวาระของคนเดิม ดังนั้น สภาพปลาสองน้ำเป็นสภาพที่เกิดขึ้นโดยข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว การอ้างว่าต้องรีเซ็ตยกชุด เพราะหลีกเลี่ยงสภาพปลาสองน้ำควรออกมาจากปากผู้ร่างกฎหมายเองหรือไม่

และ 4. การกล่าวว่า การรีเซ็ต กกต. ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานสำหรับองค์กรอิสระอื่นๆ ดังนั้น อาจจะออกกฎหมายให้กรรมการองค์กรอิสระอื่น และศาลรัฐธรรมนูญสามารถอยู่ต่อไปจนครบวาระ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติที่สูงขึ้น ตามรัฐธรรมนูญใหม่

แปลว่า องค์กรเหล่านี้มีความสำคัญในการปฏิรูปการเมือง “น้อยกว่า” คณะกรรมการการเลือกตั้ง ใช่หรือไม่ จึงยกเว้นเรื่องคุณสมบัติสูงให้

อีกทั้งยังมีวิวาทะของคนกันเองระหว่าง กรธ. กับ สนช. เพิ่มอีก โดยเฉพาะคำพูดของ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ที่ออกมาโยนกันนิ่มๆ ว่า เหตุ กมธ.สนช. ลงมติให้เซ็ตซีโร่ กกต. ก็เพราะตัวแทน กรธ. ที่ร่วมเป็น กมธ. เป็นผู้เสนอเอง

จึงหลักเลียงไม่ได้ที่ 2 กรธ. ที่ร่วมเป็น กมธ.สนช. นั่นก็คือ “ภัทระ คำพิทักษ์” กับ “ปกรณ์ นิลประพันธุ์” จะถูกพุ่งเป้าเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ยังถูกตั้งแง่จาก “ฝ่ายการเมือง” ที่ต่างออกมากังวลกันว่า การเซ็ตซีโร่ กกต. อาจทำให้การจัดการเลือกตั้งที่รัฐบาลบอกว่า จะมีในปี 2561 มีปัญหา ขณะเดียวกัน “โรดแม็ป” สู่การเลือกตั้งมีเหตุต้องเคลื่อนออกไปอีกด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่า ตามขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อ สนช. มีมติผ่านวาระสามแล้ว จะต้องแจ้งมติและส่งร่างไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง กรธ. ด้วย

โดยองค์กรเหล่านี้จะมีเวลา 10 วันในการโต้แย้งว่า ร่างที่ผ่านวาระสามจาก สนช. สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่

หากเห็นว่า ร่างดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม จำนวน 11 คน ที่ประกอบไปด้วย สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง 1 คน เพื่อร่วมพิจารณา ก่อนเสนอและส่งกลับไปยัง สนช. ภายใน 15 วัน เพื่อให้ที่ประชุม สนช. จะลงมติอีกครั้ง

และ ล่าสุด “5 เสือ กกต.” เตรียมประชุมกับคณะที่ปรึกษากฎหมาย กกต. เพื่อเตรียมศึกษาเนื้อหาสาระกฎหมายว่าด้วย กกต. ว่ามีส่วนใดที่ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อเตรียมประเด็นเสนอความเห็นแย้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

โดยปมเซ็ตซีโร่ จะเป็น 1 ประเด็นที่จะมีการหารือด้วย

และหากจะต้องไปถึงจุดที่ต้องตั้งคณะ กมธ.ร่วมจริง ก็มีการกำหนดตัวให้ “ศุภชัย สมเจริญ” ประธาน กกต. ให้เป็นตัวแทนไปสู้ต่อในชั้น กมธ.ร่วมด้วย

ซึ่งเมื่อถ้ากระบวนการของการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับแรก อย่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ต้องเลยเถิดไปถึงขั้นตอนสุดท้ายในการตั้ง กมธ.ร่วมจริงๆ

ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลต่อเงื่อนเวลาของโรดแม็ปสู่เลือกตั้ง ที่ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้งหนึ่ง