ฉัตรสุมาลย์ : พระเขี้ยวแก้วผจญภัย

เคยพยายามที่จะเขียนเล่าเรื่องการผจญภัยของพระเขี้ยวแก้ว ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2544 ตอนที่ท่านธัมมนันทาไปบวชที่ศรีลังกา

แต่ล้มเหลวค่ะ ข้อมูลซับซ้อนมาก คราวนี้ ได้จังหวะ เพราะไปงานวิสาขะที่ศรีลังกา ได้ข้อมูลมากพอที่จะมาสานเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง

ที่ศรีลังกา ถือว่าพระบรมสารีริกธาตุองค์สำคัญมี 7 องค์ เป็นพระทันตธาตุ (ฟัน) 4 องค์ พระรากขวัญ 2 องค์ และพระเขี้ยวแก้ว ที่มาจากอินเดียสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 4

ที่เมืองไทยนั้นเรามีพระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาโดยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จำนวนมากมาย

นักวิชาการฝรั่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเอาพระธาตุที่ว่านี้ทั้งหมดมากองรวมกัน จะกองใหญ่มาก

แล้วพระพุทธเจ้าสมัยที่มีพระชนม์ชีพอยู่ท่านจะมีร่างกายใหญ่ขนาดไหน ลองนึกดูเถิด

 

พระเขี้ยวแก้วไม่มีอิทธิฤทธิ์แบบนั้นค่ะ ก็เลยต้องผจญภัยหลบหนีซุกซ่อนซับซ้อนมาก

ชาวศรีลังกาเชื่อว่า พระเขี้ยวแก้วนี้พระอรหันต์เขมะได้มาจากเชิงตะกอนที่ถวายพระบรมศพของพระพุทธเจ้า

จากนั้น ท่านได้นำไปถวายแก่พระเจ้าพรหมทัตและพระโอรส คือเจ้าชายกสิราช เพื่อสักการบูชา

ต่อมา พระเจ้าคูหศิวะ พระราชาแห่งแคว้นกลิงคะได้ไป

ตอนแรกท่านไม่ได้นับถือพุทธ พวกฮินดูก็โจมตีท่านว่า ไปไหว้กระดูกคนตาย

จนต่อมาท่านได้รับนับถือพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ

ต่อมาพระเจ้าคูหศิวะ ยกพระธิดา คือเจ้าหญิงเหมะมาลา ให้แก่เจ้าชายทันตะ พระโอรสแห่งพระราชาที่ครองเมืองอุชเชนี

นอกจากจะยกพระธิดาให้แล้ว พระเจ้าคูหศิวะเห็นว่า เจ้าชายทันตะ มีศรัทธาในพระเขี้ยวแก้ว จึงมอบหน้าที่ให้เป็น ธาตุรักขทิกาโร เป็นตำแหน่งผู้ดูแลพระเขี้ยวแก้ว

พระนัดดาของพระเจ้าปาณฑุ ยกกองทัพมารุกรานแว่นแคว้นของพระเจ้าคูหศิวะ โดยหวังจะแย่งชิงพระเขี้ยวแก้ว

พระเจ้าคูหศิวะวางแผนที่จะปกป้องพระเขี้ยวแก้วโดยส่งไปพระสหาย คือพระเจ้ามหาเสนาในศรีลังกา โดยให้เจ้าชายทันตะ และพระธิดา คือเจ้าหญิงเหมมาลาเป็นผู้นำไป

ปรากฏว่า พระองค์เองสิ้นพระชนม์จากการสู้รบนั้นเอง

 

เจ้าชายทันตะและเจ้าหญิงเหมะมาลาปลอมพระองค์เดินทางรอนแรมไปยังศรีลังกาตามรับสั่งของพระราชบิดา ทั้งสองพระองค์แต่งกายเป็นพราหมณ์สามัญชน เจ้าหญิงนำพระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ในพระเกษาที่มุ่นไว้บนพระเศียร

แต่กว่าจะมาถึงศรีลังกา พระเจ้ามหาเสนาก็สิ้นพระชนม์แล้วเช่นกัน ทั้งสองพระองค์จึงเดินทางมาจนถึงเมฆคีรีวิหารในเมืองหลวงคือ อนุราธปุระ แล้วส่งพระราชสาส์นไปกับพระภิกษุให้ช่วยไปถวายพระเจ้าเมฆวัณณะ เจ้าเมือง

พระเจ้าเมฆวัณณะเสด็จออกมารับพระเขี้ยวแก้วด้วยความศรัทธา แล้วนำไปประดิษฐานที่หอพระธาตุที่สร้างไว้ใกล้พระราชวัง

ทรงให้จัดพิธีให้ประชาชนได้เข้าสักการะตรงจุดที่พระอรหันต์มหินทเถระแสดงธรรมเป็นครั้งแรก

จากนั้น จึงนำเสด็จไปประดิษฐานที่อภัยคีรีวิหาร มีการเฉลิมฉลองถวายสักการะทุกปี

เมื่อนำพระธาตุพระเขี้ยวแก้วมาถึงศรีลังกาโดยปลอดภัย ส่งถึงพระหัตถ์ของพระราชาในศรีลังกาแล้ว ก็ไม่ได้พูดถึงเจ้าชายทันตะ และเจ้าหญิงเหมมาลาอีก เพราะในเรื่องมุ่งไปที่พระเขี้ยวแก้ว

แต่ทั้งสองพระองค์นี้มาโผล่ในตำนานพระธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในประเทศไทยด้วยค่ะ ยังมีรูปหล่อของทั้งสองพระองค์ที่อยู่ที่ด้านหน้าองค์พระตุ

 

ในสมัยโปลอนนารุวะ เมืองหลวงแห่งที่สองต่อจากอนุราธปุระ ที่ย้ายออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของอนุราธปุระ มีความเชื่อว่า ผู้ที่มีพระธาตุพระเขี้ยวแก้วไว้ในครอบครอง ผู้นั้นมีสิทธิขึ้นครองราชย์

ความเชื่อเช่นนี้ นี่เองที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อพระเขี้ยวแก้ว เพราะกลายเป็นชนวนสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า

ในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา เราจะพบว่ามีการสู้รบกันหลายครั้ง ทั้งในหมู่เจ้าชายสิงหลกันเอง และต่อสู้กับชาวต่างชาติ เพื่อที่จะแย่งชิงพระธาตุพระเขี้ยวแก้วไปครอบครอง

ไม่ใช่เพราะศรัทธาในพระเขี้ยวแก้วสักเท่าใดนัก แต่เพื่อแสวงหาความชอบธรรมที่จะปกครองเกาะลังกานั่นเอง

ในช่วงที่มีการรุกรานจากพวกปาณทยัน กษัตริย์สิงหลต้องนำพระเขี้ยวแก้วหลบไปเพื่อความปลอดภัย

ต่อมาเมื่อกษัตริย์โจฬะที่นับถือศาสนาฮินดูจากอินเดียใต้รุกรานศรีลังกา มีพระภิกษุพาพระเขี้ยวแก้วหลบหนีลงไปทางใต้ของเกาะ

ต่อมาพระเจ้าวิชัยพาหุ ที่ 1 ได้สร้างหอพระธาตุไว้เก็บรักษาพระเขี้ยวแก้ว

มุคลันมหาสถวีระมอบให้กำลังของเวไลกะระดูแลความปลอดภัย แม้กระนั้น นระเจ้าวิกรมพาหุที่ 1 ก็ยังเอาเพชรพลอยของมีค่าที่ชาวเมืองถวายเป็นเครื่องสักการะพระธาตุไป เมื่อเป็นเช่นนี้ พระภิกษุจึงนำพระธาตุไปเมืองโรหนะให้อยู่ในความอารักขาของเจ้าชายแห่งโรหนะเพื่อความปลอดภัย

วิกรมพาหุยกกำลังมาช่วงชิงพระเขี้ยวแก้ว นำกลับไปโปลอนนารุวะ

 

ในประวัติเล่าถึงพระเจ้านิสสันกะมัลละ ที่ทรงมีศรัทธาในพระเขี้ยวแก้วเช่นกัน เมื่อพระเจ้ามาฆะมาโจมตี พระเจ้าวสิสาระ นำพระเขี้ยวแก้วไปเมืองปุสุลปิติยะ ในแคว้นกตมาเล เอาไปซ่อนไว้ในวัด ปัจจุบันเรียกว่า ธาตุกรันทรมะยะ

เมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 3 ได้รับพระเขี้ยวแก้วไว้ ไม่มีพระประสงค์ที่จะเก็บไว้ในเมือง เพราะจะเป็นเหตุให้ข้าศึกโจมตีได้ จึงสร้างหอพระธาตุไว้บนภูเขาในเมืองเบลิกัล ให้มีทหารเฝ้าอารักขา

ต่อมาพระเจ้าปรกมพาหุที่ 2 ซึ่งเป็นพระโอรส มีศรัทธาในพระธาตุ จึงย้ายพระธาตุมาประดิษฐานในเมือองดัมพะเทนิยะ ซึ่งเป็นเมืองหลวง แล้วสร้างหอพระธาตุไว้ใกล้พระราชวัง เพื่อเสด็จไปสักการะได้สะดวก

เมื่อถูกโจมตีจากอินเดีย จึงย้ายพระธาตุไปเมืองยะปะหุสะ สร้างหอพระธาตุไว้เป็นที่ประดิษฐาน

คราวนี้ พวกปาณทยันเข้ามารุกรานจากอินเดีย ได้นำพระธาตุกลับไปอินเดียใต้ ไปถวายแก่พระเจ้ากุลเสขระ

คราวนี้ พระเจ้าปรกมพาหุที่สาม เจรจาขอพระธาตุกลับมาที่โปลอนนารุวะอีกระเจ้าปรกมพาหุที่ 4 สร้างหอพระธาตุถวาย โปรดให้มีพิธีบูชาทุกวันพระ โดยที่พระองค์ก็เสด็จมาร่วมพิธีด้วย โดยมีความเชื่อว่าพระธาตุจะปกปักษ์รักษาทั้งพระราชวังและกษัตริย์ผู้ปกครอง

ปรากฏว่าในรัชสมัยของพระองค์ พระธาตุพระเขี้ยวแก้วก็ยังต้องเดินทางไปที่เมืองกอตเต ต่อมาเป็นเมืองเดลกามุวะ หลบซ่อนเพื่อความปลอดภัย

ในสมัยของพระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ มีพระภิกษุนิกายอัสคิรี นำพระธาตุไปรักษาไว้ที่วัดอุทุมพร เมืองเกวัลกะมะ

 

ในช่วงที่โปรตุเกสโจมตีแคนดี พระภิกษุก็นำพระธาตุหนีขึ้นไปในเมืองที่มีระดับสูงขึ้นไปในเกาะ หลังจากสมัยของโปรตุเกส พระเจ้าวิมลธรรมสุริยะที่ 1 นำพระธาตุกลับมาที่เมืองแคนดี และพระเจ้าวิมลธรรมสุริยะที่ 2 ซึ่งเป็นพระโอรส สร้างหอพระธาตุ 3 ชั้นถวาย ในเมืองแคนดี

ในรัชสมัยของพระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ มีการอุปสมบทโดยพระอุบาลีมหาเถระที่เดินทางไปจากไทย ท่านได้เสนอให้มีการจัดงานฉลองแห่พระธาตุ จนกลายเป็นพิธีสำคัญที่สุดของแต่ละปี ในช่วงเดือนกรกฎาคมต่อกับสิงหาคม เรียกงานแห่พระธาตุว่า ทาละดะ เประเหระ

พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์สร้างผอบบรรจุพระเขี้ยวแก้ว มีเพชรประดับที่ยอดผอบ ใส่ซ้อนลงในผอบรวม 7 ชั้น

ที่เราไปไหว้กันที่แคนดี คือเราจะเห็นเพียงผอบชั้นที่ 7 ที่ทำเป็นรูปสถูป มีเครื่องสักการะเป็นสร้อยคอทองคำ สร้อยไข่มุก หลายสิบเส้นทีเดียว

เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองในสมัยของพระเจ้าศรีวิกรมราชสิงห์ พระธาตุก็ยังต้องเสด็จไปจากเมืองกันทะสาเล ไปยังวัลลิเวละ ไปยังเมทะปิติยะ ไปยังอารัตตะนะ และอีกหลายเมือง เพื่อความปลอดภัย

ในที่สุดวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1815 ได้นำพระธาตุกลับมาที่เมืองแคนดี

แม้กระนั้น เมื่อเกิดความมาสงบขึ้นใน ค.ศ.1818 พระภิกษุก็พาหนีไปซ่อนที่เมืองมาตะเล แต่อังกฤษนำกลับมาให้อยู่ในความดูแล ดิยะวัฒเน นิลาเม เป็นตำแหน่งผู้ดูแล

ในท้ายที่สุด ค.ศ.1853 อังกฤษทำพิธีมอบพระธาตุให้แก่พระมหาเถระทั้งสองนิกาย คือสยามวงศ์สายมัลวตะ และอัสคีรี

 

ปัจจุบัน พระมหานายกของสายมัลวตะและอัสคีรี จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลพระธาตุพระเขี้ยวแก้วสลับกันคนละปี

ช่วงที่ท่านธัมมนันทาเข้าไปกราบนั้น ท่านมหานายกของอัสคีรีเป็นผู้นำไปถวายสักการะ ท่านเอาดอกพุดสดใส่มือให้ท่านธัมมนันทาได้ถวายแก่พระเขี้ยวแก้วด้วย

เวลาบ้านเมืองประสบภัยแล้ง จะมีการทำพิธีแห่พระธาตุพระเขี้ยวแก้วเพื่อขอฝน เรียกพิธีนี้ ว่า ดาละดะวตุรา เป็นพิธีขอฝนของชาวสิงหลในศรีลังกา

เวลามีแขกเมืองมา รัฐบาลศรีลังกาต้องพาแขกเมืองไปไหว้พระเขี้ยวแก้ว

ในพิธีฉลองวิสาขะปีนี้ก็เช่นกัน ประธานาธิบดีของเนปาลก็มาร่วมงานด้วยอย่างเอิกเกริกทีเดียว