จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (9)

แรกจะเขียนถึงอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นก็เป็นอย่างที่จั่วหัวไว้อันสืบเนื่องมาจากความคิดถึงเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านเดินทางมาถึงทุกปี และพยายามจะเขียนในมุมสบายๆ ที่ได้เคยมีประสบการณ์มาบ้าง

แม้ว่าในช่วงหลังๆ ไม่ได้เดินทางไปร่วมงานที่บ้านซอยสวนพลู ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ แต่ก็ไม่เคยลืมระลึกนึกถึงท่าน มีโอกาสทำอะไรเพื่อท่านได้ก็ทำทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะแค่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแต่เพียงอย่างเดียว

เมื่อลงมือเรียกความทรงจำที่ได้เคยใกล้ชิดกับท่านมาเป็นเวลานานพอสมควรในฐานะลูกศิษย์นอกห้องเรียน และพนักงานในบริษัทสยามรัฐของท่าน

กลับกลายเป็นว่าเรื่องมุมสบายๆ ที่ตั้งใจเอาไว้แต่ต้นเปลี่ยนเป็นเรื่อง “การเมือง” เสียเกือบจะทุกตอน

คงหลีกหนีไปได้ยากยิ่ง เพราะอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นอดีต “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) ที่มาจากการ “เลือกตั้ง”

ที่ต้องเน้นว่ามาจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่เขียนถึงท่าน ก็เพราะอาจารย์เป็นนักประชาธิปไตย

แต่ถึงจะเป็นอะไรมาจากไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับจิตวิญญาณเป็น “ประชาธิปไตย”

และท่านพร้อมจะเป็น “นายกรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย”

เมื่อจะเข้าสู่การเมืองก็เดินมาตามเส้นทางประชาธิปไตยอันถูกต้องทำนองคลองธรรม โดยก่อตั้งพรรคการเมืองอย่างถูกกฎหมายเพื่อเสนอให้ประชาชนเจ้าของประเทศเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเข้ามาเมื่อเห็นว่าเป็นพรรคการเมืองที่นโยบายที่ดี เหมาะกับการแก้ปัญหาประเทศของเรา

 

แม้วันเวลาผันผ่านมาอย่างยาวนาน เรียกว่าเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาตั้งกว่า 80 ปี

แต่การเมืองประเทศของเราไม่เคยก้าวไปไหน

หมุนเวียนกลับมาจุดเดิมคืออำนาจยังอยู่ที่คนกลุ่มเดียวไม่เปลี่ยนแปลง คือ “ทหาร” อย่างเช่นทุกวันนี้

ต้องเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง หรือบ่อยๆ ถึง “นักการเมือง” รวมทั้ง “นักประชาธิปไตย” และ “นักเลือกตั้ง” ทั้งหลายทั้งปวง ว่าถ้าไม่มีอะไรยืดเยื้อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้เปิดโอกาสให้มีการ “เลือกตั้ง” ทั่วไปขึ้นอีกครั้งหนึ่งตามสัญญาในปี พ.ศ.2561 อยากให้พวกท่านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิธีคิด ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจ และใฝ่ใจในการศึกษาประชาธิปไตยให้แตกฉาน โดยเฉพาะประชาธิปไตยของประเทศนี้ซึ่งไม่เหมือนใคร?

อันที่จริงสถานการณ์ทางด้าน “เศรษฐกิจ” ย่อมเป็นตัวเร่งให้ไปสู่การเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่พอจะเข้าใจแล้วว่า การคืนประชาธิปไตยเท่านั้นจะสามารถพลิกเปลี่ยนเรื่องเศรษฐกิจที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ให้เข้าสู่ความเป็นจริง

มิจำเป็นต้องมาถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจดี ไม่ดี ในขณะที่ประชาชนลำบาก การค้าขายไม่คล่อง การลงทุนไม่ปรากฏขึ้นจากนายทุนซึ่งมีกำลังสามารถทำได้

พอเข้าใจได้ว่าทุกรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาความลำบากยากจนของประเทศด้วยความจริงใจ เพียงแต่ว่าระดับผู้บริหารที่พากันเสนอตัวเข้ามารับผิดชอบนั้นความคิดสติปัญญาความสามารถเหมาะสมพอเพียงแค่ไหนหรือไม่อย่างไร?

เราใช้คนถูกที่ถูกทางกันแค่ไหน

สำคัญที่สุดประชาชนเจ้าของประเทศเขาเห็นดีเห็นงามด้วยหรือเปล่า

ประชาชนสามารถตรวจสอบได้แค่ไหน?

 

ไม่มีใครกล้าปฏิเสธแนวทางความคิดจากมันสมองของทีมงาน “พรรคกิจสังคม” เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลรับผิดชอบบริหารประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2518 แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึงปี ซึ่งนับเวลาที่ผ่านมาถึง 42 ปีแล้ว

แต่นโยบายนั้นได้กลายเป็นแบบอย่างให้รัฐบาลต่อๆ มาเอามาดัดแปลงต่อยอดพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเรียกขานเห็นจะหนีไม่พ้นนโยบาย “เงินผัน” (2,500 ล้านบาท) อันลือลั่น

นโยบาย “เงินผัน” หลังจากรัฐบาลของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นำเสนอออกมาอย่างกล้าหาญในยุคสมัยนั้น กระทั่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ได้รับคำวิจารณ์อย่างกว้างขวางและหนักหน่วง

โดยเฉพาะจาก “พรรคฝ่ายค้าน” อย่างประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน เป็นบทความวิพากษ์วิจารณ์ ชื่อ “จะพัฒนาชนบทกันอย่างไร” โดย “เสถียร เหลืองอร่าม” ไปปรากฏในหนังสือ “การเมืองการปกครอง” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ขอคัดลอกบางตอนมาให้อ่านกันดูอีกครั้ง–

 

“–กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความยากจนสังคมชนบทในสมัย ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกว่า “โครงการเงินผัน” แต่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “โครงการหว่านเงิน” โครงการนี้ถ้าจะวิเคราะห์มองได้หลายทางด้วยกันคือ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองในอนาคตอีกด้วย เพราะตนเอง หรือพรรคกิจสังคม (ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ก็มีเสียงอยู่ในสภาเพียง 18 เสียงเท่านั้น จึงเป็นโอกาสดีซึ่งจะต้องคิดถึงกลุ่มและพรรคการเมืองของตนด้วย–ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นการหาเสียงของพรรครัฐบาล คือ มุ่งใช้โครงการเงินผันเป็นเครื่องมือในการหาเสียง หรือสร้างความนิยมมาให้แก่พรรครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคกิจสังคม คือพรรคของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นเอง

ผลของการดำเนินงานตามโครงการเงินผันครั้งแรกถือว่าเป็นการหยั่งเสียงโดยเสี่ยงเงิน 2,500 ล้านบาท อาจจะได้ผลทางด้านเศรษฐกิจไม่ดี หรือยกฐานะของสังคมชนบทให้ดีขึ้น แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือช่วยให้สังคมชนบทมีงานทำ และทำให้รู้จักตัวนายกรัฐมนตรีดีขึ้น จำชื่อเสียงเรียงนามของนายกรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี จนเป็นคำเรียกติดปากกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น “สะพานคึกฤทธิ์” “ถนนคึกฤทธิ์” “คลองส่งน้ำคึกฤทธิ์” จนกลายเป็นคนประวัติศาสตร์ไปเสียแล้ว

แต่ถ้าหากมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2522 นี้จริง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียงของพรรคได้เป็นอย่างดีเสมือนเครื่องหมายการค้าที่ประชาชนรู้จักสินค้าประเภทนั้นดีพอสมควร พอจะชี้ให้เห็นได้แล้วว่าการพัฒนาสังคมชนบทของรัฐบาลนี้ก็คือ “โครงการเงินผัน” โครงการนี้จึงกลายเป็นงานชื้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้ไป”

อาจารย์คึกฤทธิ์ตระหนักแน่แก่ใจว่าปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ คือ “ปัญหาความยากจนของชาวนา” ท่านห่วงใยชาวนา เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี และนำโครงการเงินผันมาใช้ ก็คือการดำเนินมาตรการ “เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ของชาวนา” นั่นเอง

เสียดายที่รัฐบาลซึ่งมีพรรคกิจสังคมเป็นแกนนำ ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้จนครบเทอมตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ รัฐบาลต้องประคับประคองตัวเองเพื่อฝ่ามรสุมคลื่นลมจากฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย ซึ่งกระหายอำนาจเป็นอย่างยิ่งอยู่ตลอดระยะเวลา 8 เดือน

ในที่สุดก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ ต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” เพื่อรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ คืนอำนาจให้กับประชาชน

แต่ประชาธิปไตยก็อยู่กับประเทศนี้ได้อีกไม่นาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้น

 

อาจารย์คึกฤทธิ์เสียดาย “นโยบายเงินผัน” เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน เมื่อถูกโจมตีว่ารั่วไหลเกิดการคอร์รัปชั่นมาก ท่านมักจะโต้เถียง และตอบคำถามว่า

“เสียงคอร์รัปชั่นมีเสมอว่าเงินผันไม่ได้ถึงมือราษฎร มีการคอร์รัปชั่น แต่เงินผันน่ะมันส่งตรงไปที่สภาตำบล ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอไม่ได้แตะไม่ได้ต้อง ก็ต้องเถียงว่าถึงจะคอร์รัปชั่นมันก็เป็นโอกาสแรกที่ “ราษฎรไทยจะได้คอร์รัปชั่น” กับเขาบ้าง คุณจะเอายังไง!

มันก็เหมือนรถส่งน้ำละ มันจะรั่วจะไหลมันก็ไหลในบ้าน ต้นไม้มันก็จะเอิบอาบได้อาศัยกัน มันก็เขียวชอุ่มพุ่มไสวกันไป ปกติเราพัฒนากันทีส่งเงินออกไปน่ะ น้ำมันรั่วไหลมาแต่ในอู่ ถึงบ้านมันแห้งหมดแล้ว ไม่ได้อะไร บางคนบอกว่ากำนันมาแล้วก็จ้างแต่ลูกหลานกำนัน ก็ต้องถามว่าลูกหลานกำนันนั้นมันไม่ใช่ชาวบ้านหรือ มันเทวดามาจากไหน มันก็เป็นลูกชายกำนัน มันก็เป็นเขยบ้านอื่น ทำไมไม่คิดอย่างนั้น กำนันแกจะจ้างลูกแกมันก็เป็นชาวบ้านนั่นเอง–”

“นโยบายเงินผัน” นั้น ต่อมารัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เสียชีวิต) จนถึงรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็นำมาใช้ในการบริหารประเทศ เพียงแต่บิดๆ ไปบ้าง และ “เปลี่ยนชื่อ” เรียกแตกต่างกันไป

แม้แต่ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศจนครบเทอม 4 ปี กระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ และชนะเลือกตั้งท่วมท้นมีเสียงข้างมากจนสามารถจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ก่อนจะถูก “ปฏิวัติ” ในปี พ.ศ.2549 ก็นำเอานโยบายหลักๆ หลายอย่างจาก “พรรคกิจสังคม” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคกิจสังคมเมื่อปี พ.ศ.2518 มาบริหารประเทศด้วยในชื่อ “ประชานิยม”!

รัฐบาลทหารปัจจุบันซึ่งไม่ได้มาจากการ “เลือกตั้ง” ก็บิดชื่อไปเป็นนโยบาย “ประชารัฐ” พยายามดูยังไงก็ไม่ค่อยจะแตกต่างอะไรกันสักเท่าไร?

แม้เวลาจะผ่านเลยมาตั้ง “40 กว่าปี” แล้ว