“อุ้มหาย” ผู้ชุมนุม ปฏิบัติการเงียบนอกกฎหมาย ต่อผู้ต่อต้านรัฐบาล?

ประเดิมความร้อนแรงของการเมืองไทยตั้งแต่ต้นปี 2564 ด้วยการจัดการชุมนุมในวันครูทั้ง 3 จุด ไม่ว่าจะเป็นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกสามย่านและหน้ากระทรวงศึกษาธิการ

แต่ในอีกด้าน การปราบปรามผู้เห็นต่างโดยเฉพาะการดำเนินคดีกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองที่แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาล ยังคงดำเนินมาแบบข้ามปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน

จนไม่นานมานี้ได้เกิดเหตุที่ทำให้มีการตั้งคำถามขึ้นมาอย่างระบบกระบวนการยุติธรรมไทยที่ควรเป็นกลางทางการเมือง กำลังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านทั้งแบบเปิดเผยและปิดลับหรือไม่

หลังเกิดกรณีการล่อจับนักศึกษาในยามวิกาล หรือการอุ้มหายการ์ดที่อยู่ในที่ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่อ้างว่าอยู่หน่วยความมั่นคง

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมผู้ชุมนุมเหล่านี้ ที่เรียกตัวเองว่าผู้รักษากฎหมาย กำลังกระทำสิ่งนอกกฎหมายหรือไม่?

 

การปราบปรามการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการบริหารของรัฐบาล ส่วนใหญ่รัฐบาลที่เป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ จะใช้วิธีจัดการฝ่ายตรงข้ามทั้งใช้กำลังตั้งแต่ตำรวจจนถึงทหารเพื่อบรรลุเป้าหมายคือกำจัดการต่อต้านเชิงกายภาพให้ลดลงหรือหมดสิ้นซึ่งเป็นวิธีการที่รุนแรง

หรืออีกวิธีคือใช้อำนาจตามกลไกรัฐในการจัดการซึ่งมีความรุนแรงทางกายภาพน้อยกว่า แต่จะสร้างผลทางจิตวิทยาเพิ่มขึ้นมา เช่น การฟ้องปิดปาก (SLAPP) หรือการจับกุมคุมขังโดยพลการ (Arbitrary arrest and detention)

การจับกุมคุมขังโดยมิชอบหรือพลการ เป็นการกระทำในลักษณะจับกุมหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวกับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานชัดแจ้งว่ากระทำผิด หรือทำขึ้นโดยไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ปี 1948 มาตรา 9 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดถูกจับกักขังหรือเนรเทศโดยพลการ” ต่อมาได้เพิ่มกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งอาศัยหลักมาตรา 9 ในปฏิญญาสากลฯ เพื่อทำให้มีการคุ้มครองบุคคลจากการกระทำอันมิชอบนี้ด้วย

สถานการณ์การเมืองไทยในปี 2563 ได้กลายเป็นการท้าทายครั้งใหม่ทั้งต่อกลไกรัฐ ตัวบุคคล ไปจนถึงกรอบคติความเชื่อสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนรุ่นใหม่จำนวนมากต่างตั้งคำถามและเผยจุดยืนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมชนิดลงลึกถึงโครงสร้างอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา จนทำให้รัฐบาลรวมถึงชนชั้นนำที่กุมอำนาจเบื้องหลังต้องหวาดหวั่น และทำทุกอย่างที่จะปราบปรามการต่อต้านให้หมดสิ้น

การใช้ไม้แข็งและไม้อ่อนด้วยทุกมาตราของกฎหมายและอาจไม่มีระบุในกฎหมาย เพื่อกำราบคนรุ่นใหม่ที่ส่งเสียงวิจารณ์ ชูป้ายหรือชูสามนิ้ว จึงเกิดขึ้น

 

กรณีศึกษาแรก เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 13 มกราคม นายศิริชัย นาถึง หรือ “นิว” นักศึกษาวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูก จนท.นอกเครื่องแบบเข้าจับกุม ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นิวถูกจับกุมเมื่อเวลา 20.50 น. ที่บริเวณหมู่บ้านนวลตอง ใกล้มหาวิทยาลัย มธ.ศูนย์รังสิต

ต่อมา “พริษฐ์ ชิวารักษ์” หรือเพนกวิน สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และเพื่อนๆ ที่ทราบข่าวก็ไปตามตัวนิวถึง สภ.คลองหลวง ที่มีตำรวจยืนตรึงกำลังหน้าประตู จนทราบว่านิวถูกนำตัวไป ตชด.ภาค 1 จึงได้มีการประกาศระดมมวลชนไปติดตามนิว

ในเวลา 00.20 น. เพนกวินและปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” พร้อมเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ที่รออยู่หน้าประตู ตชด.ภาค 1 ได้รับคำตอบจาก จนท.ว่า นิวไม่อยู่ที่นั่นแล้ว

ด้านทนายความเมื่อทราบว่านิวไม่ได้ถูกควบคุมตัวมาที่นี่ จึงเดินทางกลับไปที่ สภ.คลองหลวง อีกครั้งเพื่อขอดูบันทึกประจำวัน

อีกด้านในโลก Twitter ได้เกิดแฮชแท็ก #saveนิวมธ ปรากฏขึ้นบนเทรนด์ของประเทศไทย

02.10 น. นิวถูกนำตัวกลับมาที่ สภ.คลองหลวง ก่อนที่ พนง.สอบสวนจะแจ้งข้อหา ม.112 และ ม.358 จากกรณีพ่นสีข้อความ “ยกเลิก 112” แต่นิวให้การปฏิเสธทุกข้อหา

จากบันทึกการจับกุม พบว่ากรณีของนิว นิวพยายามติดต่อทนายแต่ ตร.กลับไม่อนุญาตและพยายามยึดโทรศัพท์มือถือ

จนเมื่อมาถึง สภ.คลองหลวง ตร.ได้ยึดโทรศัพท์ของเขาไปและยังไม่ให้ติดต่อทนาย ศาลออกหมายค้นให้ จนท.เข้าค้นในยามวิกาล ไม่แจ้งสถานที่คุมตัวผู้ต้องหาจนเกิดความสับสน

และทำการตรวจค้นที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน

 

กรณีที่ 2 คือ นายทศเทพ ดวงเนตร หรือ “อาร์ต” สมาชิก WeVo อีกคน ปิยรัฐเปิดเผยว่า ได้ขาดการติดต่อไปนาน 2 วัน

จนเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 17 มกราคม ได้แจ้งว่า พบอาร์ตแล้ว ถูกคุมขังอยู่ที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ

โดยถูกยึดโทรศัพท์มือถือและไม่แจ้งสิทธิพบทนายตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

จนเวลาประมาณ 21.15 น. ตร.ปล่อยตัวอาร์ต โดยไม่มีการประกันตัว มีเพียงแจ้งข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด

 

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ให้หลักเบื้องต้นตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาว่า “บุคคลมีสิทธิจะไม่ถูกควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” การจะจับต้องมีหมายจับ หากไม่มีหมายก็ต้องเป็นกรณีพบกระทำผิดซึ่งหน้า เช่น เห็นคนยิงกัน

เมื่อมาพิจารณากรณีอาร์ต

1. เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าหรือไม่ มีหมายจับหรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่ ถ้าเป็นตำรวจ-ทหารหรือหน่วยงานไหนก็ไม่มีอำนาจเอาตัวไป

2. หากจับกุมตัวตามกฎหมาย ผู้เข้าจับกุมต้องแสดงตัวว่าเป็นใคร แจ้งข้อหาว่าทำผิดอะไร แจ้งสิทธิอะไรบ้าง และให้โอกาสติดต่อญาติว่าถูกคุมตัวที่ไหน แต่ตามข่าวกลับไม่ปรากฏตามที่กฎหมายกำหนด

“สิทธิของผู้ต้องหาที่มีคือ มีสิทธิแจ้งให้ญาติหรือผู้ไว้วางใจทราบว่าถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน หรือตาม ป.วิอาญา มาตรา 83 ต้องนำส่ง พนง.สอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบหรือพื้นที่ที่จับ การนำตัวไปที่อื่นโดยไม่เปิดเผย ถือว่าผิดกฎหมาย และการยึดเครื่องมือ จะต้องชัดเจนว่าเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด แต่ถ้าเป็นเรื่องชุมนุมแล้วมายึด จนท.ไม่น่ามีอำนาจยึดได้ สุ่มเสี่ยงเกิดการอุ้มหายหรือปฏิบัติโดยไม่ชอบกับผู้ต้องหา” ทนายความสิทธิฯ กล่าว

นรเศรษฐ์กล่าวอีกว่า แค่กรณีเยล ในความเห็นส่วนตัว เป็นกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจถึงขั้นนอกกฎหมายเสียด้วยซ้ำ

 

นอกจากนี้ สุณัย ผาสุข ผู้ประสานงานฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่า ตร.เริ่มจะมีพฤติการณ์นอกกฎหมายในการเล่นงานนักกิจกรรม โดยเฉพาะผู้เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่อง ม.112 กรณีนิวสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการบังคับให้สูญหาย (ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัว) ไม่รวมถึงการเข้าค้นโดยไม่มีทนาย เรียกว่าไม่เพียงผิดกติกาสากล แม้แต่กฎหมายไทยยังไม่ถูกต้อง

พอกรณีอาร์ต ถูกเอาตัวไปโดย ตร.ไม่แจ้งว่าเป็นการจับกุม แต่อ้างว่าเชิญตัวไปกินข้าว แต่กลับยึดโทรศัพท์และเอาไปไว้ในห้องขัง ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วง 2 วัน และมิหนำซ้ำยังขังเกิน 48 ช.ม. ผิด ป.วิอาญาอีก ที่สำคัญ เรื่องเอาคำว่า “เชิญตัว” มาใช้กับอาร์ต ซึ่งเป็นการประดิษฐ์คำโดยฝ่ายความมั่นคงไว้ใช้กับคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.วิอาญานั้นทำให้ไม่มีมาตรการคุ้มครองการซ้อมทรมานหรืออุ้มหาย แม้พ้นยุค คสช. ตร.ก็ยังนำคำนี้มาใช้ เป็นเช็กเปล่าที่ไม่มีมาตรการรองรับ

แม้เป็นเหตุเพียง 2 วัน แต่ทำให้เห็นสัญญาณว่า ผู้รักษากฎหมายกำลังใช้วิธีนอกกฎหมาย

ทั้งนี้ สุณัยกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้สำคัญมาก ไม่เกี่ยวว่าฝ่ายไหน จะชอบหรือเกลียดรัฐบาล

แต่ถ้าผู้รักษากฎหมายกลับไม่ทำตามกฎหมาย สังคมก็อยู่ในสภาพไม่มีขื่อไม่มีแป วันนี้เกิดการชูสามนิ้ว แต่ในอนาคต ถ้ายังปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขหรือเอาผิด จนท.ที่กระทำผิด ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือเอา ม.112 เป็นฝ่ายเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจตั้งแต่ยุค กปปส. นี่ชัดเจนว่า ทำไมไทยต้องปฏิรูปตำรวจ ไม่ใช่แง่โครงสร้าง แต่ตำรวจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและต้องรับผิดเมื่อกระทำผิด

ตำรวจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่พร้อมทำอะไรก็ได้ เพื่อตอบสนองใบสั่งทางการเมือง