สัมภาษณ์พิเศษ : “ชัยธวัช” พ่อบ้าน “ก้าวไกล” เปิดเกมรุกนิติบัญญัติ 2564 รื้อมาตรา 112 ขวาง ส.ส.ร.สืบทอดอำนาจ

เมื่อเกมแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นวาระใหญ่ทางการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติปี 2564

ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ภาคประชาชนกว่าแสนชื่อช่วยกันเข็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ห้องประชุมรัฐสภา

แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูก “ตีตก” เหลือแต่ร่างแก้ไขฉบับนักการเมือง แต่วาระรัฐธรรมนูญก็ยังเดินหน้า – น่าจะร้อนฉ่าตั้งแต่เปิดศักราช 2564 หากไม่ถูกโรคแทรกซ้อนโควิด-19 ลักพาตัว

ทว่าในระยะยาว เกมแก้รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นวาระ “กำหนดลมหายใจ” ของการเมืองในอนาคตว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปจะเกิดขึ้นจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ลูกผสม ระหว่างเลือกตั้ง 150 คน + 50 คนที่มาจากการสรรหา หรือจะเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน แบบ 100%

ฉากการต่อสู้ทั้งหมดจะเกิดขึ้นในห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 45 อรหันต์จากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา

 

“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองที่มีกองหนุนเป็นคนรุ่นใหม่นอกสภา เตรียมยกระดับการทำงานในสภา ผลักดันวาระรัฐธรรมนูญแบบก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการแก้กฎหมายความมั่นคงที่ไม่ทันยุคสมัย

เขาบรรยาย “เป้าหมาย” การต่อสู้ในรัฐสภา ในปี 2564 ว่า ประเด็นที่เฉพาะหน้าคือประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี ส.ส.ร.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราต้องผลักดันให้ ส.ส.ร.ออกมาเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนได้จริงๆ

เราพยายามที่จะผลักดันไม่ให้ ส.ส.ร. เป็น ส.ส.ร.สืบทอดอำนาจภาค 2 ซึ่งมีส่วนหนึ่งมาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง 50 คน ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาลเสนอ แม้ ส.ส.ร.สรรหา 50 คน แต่ก็มีบทบาทในการควบคุม กำกับเนื้อหาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ซึ่งจะเป็นประเด็นใหญ่ตั้งแต่เปิดปี 2564

เราต้องทำงานมากกว่าในห้อง กมธ. ในห้องประชุมสภา แน่นอนฝ่ายค้านทุกที่ต้องเสียงน้อยกว่ารัฐบาล แต่ใช่ว่าเสียงข้างน้อยจะผลักดันอะไรไม่ได้ เช่น การตั้ง กมธ.ตรวจสอบในหลายๆ เรื่อง เหมือนกรณีตรวจสอบใช้งบประมาณโควิด-19 เป็นสิ่งที่พรรคเสียงข้างน้อยผลักดันได้ถ้าได้รับความชอบธรรมทางสังคม

“เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครคิดว่าปี 2563 จะมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.ได้ แต่เราก็สามารถผลักวาระนี้ไปในสภาได้ แน่นอนไม่ใช่ผลงานเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายค้าน แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็ยอมรับว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. แต่เป็นแรงผลักดันที่เกิดจากนอกสภาด้วย แต่ในสภากับนอกสภา ถ้าประสานกันได้อย่างลงตัวให้เกิดพลังก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้เราเป็นแค่เสียงข้างน้อย”

 

“ชัยธวัช” บอกบทบาทรูปธรรมของ “ก้าวไกล” ที่จะผลักวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เราต้องทำงานความคิดกับสังคมข้างนอกว่าไม่ควรยอมรับให้ ส.ส.ร.ที่เกิดขึ้นอย่างที่รัฐบาลเสนอ ที่ ส.ส.ร.มาจากการแต่งตั้ง มาปล้นเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คนจำนวนมากพยายามผลักดันมาแทนที่รัฐธรรมนูญที่มาจากการสืบทอดอำนาจ

“บทบาทหลักคงต้องทำงานความคิด เชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิกพรรค อาสาสมัครพรรคในการขับเคลื่อนให้เกิดแรงกดดันจากนอกสภาเข้ามา”

แต่ในทางกลับกัน เสียงนอกสภา โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาที่มีอยู่หลายเฉด หลายมุม มักผลักดันปมแก้รัฐธรรมนูญให้ทะลุเพดาน มิอาจเอื้อมถึง “ชัยธวัช” มองเรื่องนี้ว่า

“เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ต้องยอมรับอารมณ์เป็นไปไกลอย่างนั้น เป็นปัญหาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ และทำอะไรที่ไม่ทันสถานการณ์ จากเดิมที่มีการเรียกร้องแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมายเข้าไปจับกุมหรือปิดปากประชาชนจึงขยายเป็นเรื่องอื่นไป เราเคยเตือนรัฐบาลมาแล้วว่า ท่าทีในการรับมือของปัญหาควรจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้ประเด็นมันไปไกลกว่าที่อยากให้เป็น”

“แม้ประเด็นไปไกลกว่าตัวรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล อย่ามัวแต่คิดว่าคนที่ประท้วงข้างนอกรัฐสภา ถูกชักจูง ถูกวางแผนจากพรรคก้าวไกล ดังนั้น ต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงก่อนถึงจะแก้ปัญหาได้ และจำเป็นต้องฟังพวกเขาอย่างมีวุฒิภาวะ และควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยกัน เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์แล้วหาทางออกได้ แต่รัฐบาลไม่ปรับท่าทีจนความขัดแย้งขยายไปไกล”

 

แต่ในความเป็นจริง มวลชนนอกสภาเป็นฐานคะแนนของ “พรรคก้าวไกล” จะมีวิธีดึงมวลชนให้กลับมาสนใจวาระแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร

“ชัยธวัช” ตอบว่า ลำพังเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่สามารถปลดล็อกปัญหาความขัดแย้งได้ทั้งหมดแล้วยิ่งรัฐธรรมนูญมีลักษณะปิดแคบ

เช่น ส.ส.ร.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีการจำกัดไม่ให้แก้หมวด 1 หมวด 2 ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรจำกัดแค่ว่าห้ามแก้ที่ไปกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบของรัฐ แต่ไปกันไว้ทั้งหมด

พอทิศทางเริ่มเป็นแบบที่เราเห็น ก็น่าเสียดายว่าคนจำนวนมากจะรู้สึกว่าเวทีเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่อง ส.ส.ร.ไม่ใช่เรื่องของเขาแล้ว ทั้งที่เรื่องรัฐธรรมนูญและ ส.ส.ร.จะมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายความคับข้องในทางการเมืองจำนวนมากให้เบาบางลงได้

หากเราสามารถใช้กระบวนการนี้มาออกแบบการเมืองกันใหม่หลังการรัฐประหารว่า ระบบการเมืองแบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพ มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบที่ดีเป็นที่ยอมรับกันได้ จะคลี่คลายไปได้เปลาะหนึ่ง แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประเด็น คือเรื่องปฏิรูปสถาบัน ที่ยังดำรงอยู่ จะแก้ไขกันอย่างไร

“สิ่งที่พรรคก้าวไกลเคยบอกไว้ อันดับแรก ต้องเข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงให้ได้ ต้องรู้จักฟังอย่างมีวุฒิภาวะ และมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันจริงๆ ด้วยเหตุด้วยผล จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังกันต้องยุติ กระบวนการกดปราบสิทธิเสรีภาพที่ผู้มีอำนาจรัฐไม่ชอบ ทั้งกระบวนการกฎหมาย หรือกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายต้องยุติ ไม่เช่นนั้นจะยุติไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ไม่ได้ การมาขีดเส้นแบ่งว่าฝ่ายหนึ่งล้มเจ้า ฝ่ายหนึ่งรักเจ้า เป็นการขีดเส้นที่ผิด เป็นอันตรายต่อการเมืองในอนาคตมาก”

 

ดังนั้น สิ่งที่ “ก้าวไกล” จะยกระดับเกมในสภาคือ ต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตั้งแต่กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เจ้าหน้าที่รัฐ จนถึงมาตรา 112

เรากำลังที่จะตั้งคณะทำงานที่จะร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาขึ้นมาให้ครอบคลุมทุกมาตราที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท

ซึ่งเราเห็นว่าไม่ควรมีใครถูกจำคุกจากการแสดงออก แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

“รวมถึงกฎหมายมาตรา 116 พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ เมื่อมีสถานการณ์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบ เราก็พยายามใช้กลไกสภาอย่างเต็มที่ ใช้เวทีสภาทำงานความคิดกับสังคมข้างนอกไปพร้อมๆ กันด้วย” ชัยธวัชทิ้งท้าย