จักรกฤษณ์ สิริริน : 2099 คนไทยจะเหลือแค่ครึ่งประเทศ?

อย่างน้อย 3 ตอน ที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุ” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็น “2564 สึนามิ “วัยทอง” จาก Anadiggy ถึง Acts Retirement ก้าวสู่ “สังคมสูงอายุ” เต็มรูปแบบ!”

ที่ผมได้เขียนเอาไว้ว่า United Nations World Population Ageing ได้เปิดเผยรายงานวิจัย

ที่ระบุว่า ประเทศไทยของเราจะเข้าสู่สถานะ “สังคมสูงวัย” หรือ Aging Society อย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) นี้!

ด้วยสัดส่วน 20% ของประชากรวัยเกษียณที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปต่อจำนวนประชากรทั้งหมดครับ

หรือจะเป็นบทความ “จาก Millennial ถึง Perennials “ดอกเลา” Marketing กลยุทธ์การตลาด Aging Society”

และ “จาก Active Citizen ถึง “โรงเรียนผู้สูงอายุ” Model ใหม่! ตอบโจทย์ “สังคมไทยวัยทอง”

มาในครั้งนี้ มีประเด็นต่อเนื่องในเรื่องของ “ผู้สูงอายุ” มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ

 

วารสารการแพทย์ The Lancet สหรัฐอเมริกา เปิดรายงานวิจัยเกี่ยวกับจำนวนประชากรโลก ว่าในปี ค.ศ.2100 มนุษยชาติจะมีเพียง 8,800 ล้านคน

แม้จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันคือ 7,800 ล้านคน ทว่า ก็ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ประชากรโลกในปี ค.ศ.2060 ที่ว่าจะมีมากถึง 9,800 ล้านคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Lancet ชี้ว่า จำนวนประชากรในบ้านเรา อาจลดลงราว “ครึ่งหนึ่ง” จากสถิติคาดการณ์ ณ สิ้นปี ค.ศ.2020

ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Murray ผู้อำนวยการ Institute for Health Metrics and Evaluation มหาวิทยาลัย Washington บอกว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

“สาเหตุที่ประชากรลดลง อาจเกิดจากโรคอุบัติใหม่ และสภาวะแวดล้อมของโลกที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Murray กระชุ่น

ข้อดีคือ ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง จากความต้องการอาหารที่ลดลง กิจกรรมทางการเกษตรจึงลดลงตามมา ทำให้มลภาวะลดลง และในที่สุดก็จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

“แม้จะส่งผลบวกต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากเรามีคนชรามากกว่าคนหนุ่ม-สาว มันจะส่งผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่าง”

คำถามตัวโตๆ ก็คือ หากเราเข้าสู่โลกยุคสูงวัย ใครล่ะจะทำงานเพื่อจ่ายภาษีให้รัฐ ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Murray สรุป

 

สอดคล้องกับ ดร. Zheguang Zhao จากมหาวิทยาลัย Brown ที่กล่าวว่า การที่ประชากรลดลงทำให้ปริมาณวัยแรงงานลดลงด้วย

“จำนวนคนทำงานที่ลดลงจะส่งผลต่อภาคการผลิตอย่างแน่นอน และในจำนวนนี้ยังต้องแบ่งกำลังคนไปดูแลผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” ดร. Zheguang Zhao กล่าว และว่า

ประชากรที่ลดลงนี้ ยังหมายถึงจำนวนทหารของแต่ละประเทศจะลดลง ซึ่งอาจส่งผลในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างแน่นอน ดร. Zheguang Zhao ทิ้งท้าย

 

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ John Wilmoth ผู้อำนวยการฝ่ายสถิติประชากรขององค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) ได้กล่าวว่า ข้อมูลของศาสตราจารย์ ดร. Christopher Murray เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น

“เพราะ UN เราคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2100 มนุษยชาติจะมีมากถึง 10,800 ล้านคน”

อีกทั้งอัตราการเจริญพันธุ์ หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของสตรี 1 คนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ซึ่งสูงกว่าอัตราปัจจุบันคือ 2.5 ศาสตราจารย์ John Wilmoth กล่าว และว่า

จำนวนประชากรในปี ค.ศ.2100 ของ 23 ประเทศ เช่น ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี โปรตุเกส สเปน และยูเครน จะลดลงครึ่งหนึ่งจากจำนวนประชากรในปี ค.ศ.2020

“ขณะที่ ในอีก 34 ประเทศ จะมีจำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ 1 ใน 4 ไปจนถึงเกือบกึ่งหนึ่ง ส่วนจีนคาดว่าจะมีประชากรลดลงราว 48%”

ทางแก้คือ รัฐควรส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถทำงาน และเลี้ยงดูลูกไปพร้อมๆ กันได้ (เอาบุตรมาที่ออฟฟิศ หรือ Work from Home 100%) เพื่อสร้างแรงจูงใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดพรมแดนรับผู้อพยพ

“ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นการแก่งแย่งกันดึงดูดคนต่างชาติให้เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศต่างๆ อย่างรุนแรง เพราะประชากรมีไม่พอ”

ตัวอย่างเช่น “แคนาดา” หรือ “อังกฤษ” และอีกหลายประเทศ ที่กำลังเปิดรับคนต่างชาติให้เข้ามาเป็นพลเมือง

“อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดที่ประชากรทุกประเทศต่างก็ลดลงเหมือนๆ กัน วิธีการนี้ก็จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป”

ทว่าเราไม่ควรจำกัดสิทธิด้านการมีลูกของสตรี เพื่อกดดันให้พวกเธอมีบุตรมากขึ้น เช่น นโยบายมีลูกเพื่อชาติ”

“เพราะแนวคิดแบบนี้มันไม่เคย Work เลยในช่วงที่ผ่านมา” ศาสตราจารย์ John Wilmoth ทิ้งท้าย

 

เช่นเดียวกับ James Gallagher บรรณาธิการโต๊ะสุขภาพ สำนักข่าว BBC ที่บอกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับประชากรลดลง ก็คือจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

“ในปี ค.ศ.1950 มนุษย์เพศหญิงมีอัตราได้บุตรเฉลี่ย 4.7 คนในช่วงชีวิตหนึ่ง แต่ข้อมูลใหม่ของ Institute for Health Metrics and Evaluation ชี้ว่า อัตราเจริญพันธุ์ทั่วโลกจะลดลงเหลือราว 1.75 คน ในปี 2100”

ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงหนึ่งคนกำลังลดต่ำลงกว่า 2.1 คน มันจะส่งผลให้จำนวนประชากรทั้งหมดเริ่มหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ James Gallagher สรุป

ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Murray กลับมา Lecture ให้เราฟังว่า อัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงนี้ หาได้เกี่ยวข้องกับจำนวนตัวอสุจิ หรือเรื่องอื่นๆ ที่คนมักนึกถึงเมื่อพูดเรื่องการเจริญพันธุ์อย่างใดไม่

“แต่เป็นผลมาจากการเข้าถึงการศึกษา และโลกการทำงานของผู้หญิงยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงนวัตกรรมการคุมกำเนิด ที่ทำให้ผู้หญิงเลือกเรื่องการมีลูก” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher Murray ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า จำนวนประชากรของ “ญี่ปุ่น” จะลดลงจาก 130 ล้านคนในปี ค.ศ.2017 เหลือเพียงไม่ถึง 50 ล้านคนในช่วงปลายศตวรรษนี้ (ค.ศ.2099)

เช่นเดียวกับ “อิตาลี” ที่จำนวนประชากรก็จะลดฮวบฮาบลงไปไม่แพ้ “ญี่ปุ่น” โดยคาดว่าจะลดจาก 60 ล้านคน เหลือ 30 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่ “จีน” ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จากเดิมที่มีการคาดการณ์กันว่า “จีน” จะมีประชากรเพิ่มเป็น 1.5 พันล้านคนในอีก 4 ปีข้างหน้า

แต่ก็จะลดลงอย่างรุนแรงเกือบครึ่งหนึ่ง จนเหลือเพียง 750 ล้านคนในปี ค.ศ.2100

และจะส่งผลให้ “อินเดีย” ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลกแทน “จีน” ในที่สุด

ดังนั้น จำนวนประชากรเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะลดลงจาก 700 ล้านคนในปี ค.ศ.2020 เหลือ 400 ล้านคนในปี ค.ศ.2100

ส่วนจำนวนประชากร สว. (สูงวัย) ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี จะเพิ่มจาก 140 ล้านคนในปี ค.ศ.2020 เป็น 870 ล้านคนในปี ค.ศ.2100

 

สําหรับบ้านเรา ตามรายงานของ “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ชี้ว่า อัตราเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 1.46

ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า “ประชาชนคนไทย” จะมีโอกาสลดจำนวนลงจาก 70 ล้านคนในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)

มาเหลือแค่ 35 ล้านคน ในปี พ.ศ.2643 (ค.ศ.2100) นั่นเองครับ!