ธรรมลีลา : ไปเดินตลาดแขกกัน

ไปอินเดียทั้งทีไม่พาไปเดินตลาดก็คงจะผิดหวังนะคะ

ไกด์แขกเขานินทาทัวร์ไทยว่า ทำสามอย่างคือ ช้อป แชะ ฉี่ มาคิดดูก็จริงนะ

ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน

จุดแรกที่จะพาไปวันนี้ ได้สัมผัสวิถีแขกชาวบ้านจริงๆ คือหน้าสถานีรถไปเดลลีค่ะ

เดลลีเป็นเมืองหลวงของอินเดียที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น เขาว่า ถึง 11 ล้าน นี่นับเฉพาะที่มีอยู่ในอินเดียนะคะ ช่วงวันจะมีคนที่อยู่บริเวณโดยรอบที่เดินทางเข้ามาทำงานในอินเดียในช่วงกลางวันอีกเป็นล้านเหมือนกัน

สถานีรถไฟจึงเป็นจุดของความจอแจอย่างยิ่ง

อย่างหนึ่งที่มีมากในบริเวณนี้ คือโรงแรมราคาถูกสำหรับคนเดินทาง

ในช่วงที่ท่านธัมมนันทาเสร็จจากการประชุมที่นาลันทา มารอการประชุมที่เดลลี มีช่วงเวลา 4 วัน อาจารย์ที่เดลลีจึงจัดการจองห้องพักที่โรงแรมหาง่ายเพราะอยู่ใกล้สถานีรถไฟ

แต่ในความจอแจนั้นเองที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวเมืองจริงๆ ก่อนอื่นเราต้องไปหาอาหารกลางวัน

ชาวอินเดียกินอาหารกลางวันช่วงบ่ายโมงถึง บ่ายสองโมง เราไปหาอาหารกลางวันช่วงก่อนเที่ยง ก็มีข้อดีคือร้านไม่พลุกพล่าน ทุกร้านไม่ว่าเล็กเพียงใด อย่างหนึ่งที่มีเสมอคืออ่างล้างมืออยู่หน้าร้านเลยค่ะ

เป็นคนไทยจะคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะตั้งอ่างล้างมือไว้ในจุดนี้

เรื่องนี้สำคัญเพราะแขกอินเดียรับประทานอาหารด้วยมือ แม้พวกเศรษฐีก็ยังกินอาหารด้วยมือเช่นกัน

 

เราลองสั่งโรตี ไม่ใช่ที่เราเห็นในเมืองไทยนะคะ เป็นแป้งปิ้ง ทำแป้งเป็นแผ่นบางๆ วางบนหมอนแล้วเอาหมอนกดแป้งให้ติดกับผนังเตา ด้านล่างเป็นถ่านหิน พอแป้งได้รับความร้อนจากผนังเตา แป้งเริ่มพองขึ้น พอสุกได้ที่ก็หล่นลงไปที่ถ่านไฟที่อยู่ข้างล่าง คนขายก็จะเอาเหล็กยาวๆ จิ้มขึ้นมาค่ะ โรตีแบบนี้ ท่านธัมมนันทานิยมเพราะไม่ต้องทอด กินแทนข้าวเลยค่ะ

อีกอย่างหนึ่งคือนาน

ถ้ากินเนื้อสัตว์ นานมักจะมากับไก่ย่างที่ชาวอินเดียเหนือนิยมมาก นานจะแผ่นใหญ่มากกว่า วิธีทำใช้เตาแบบเดียวกันแต่ใช้แป้งคนละอย่าง

แป้งที่ทอดน้ำมันอีกอย่างหนึ่ง อร่อยมาก ขอบอก คือปูรี แต่ถ้าระวังเรื่องคอเลสเตอรอลก็ไม่ค่อยดีค่ะ

ที่ร้าน 960 ก่อนที่เราจะเข้าด่านโสเนาลีเข้าไปลุมพินี ก็จะมีบริการให้ทดลองกินปูรีจิ้มนมข้น เรียกลูกทัวร์กลับขึ้นรถยากหน่อย เพราะติดใจปูรี

ข้าวที่จะสั่งกินได้มีตั้งแต่ข้าวผัดชนิดต่างๆ และข้าวขาว แต่ถ้ากินแป้งปิ้งแล้วไม่สั่งข้าวก็ได้ค่ะ

ตกลงมื้อนั้น เราสั่งแป้งปิ้งมากินกับผัดผักและแกงถั่ว ร้านนี้ใส่เครื่องแกงมาก เผ็ดร้อนทุกอย่าง ต้องตามด้วยแลสซี่ คือนมเปรี้ยวเติมน้ำตาลปั่นกับเกล็ดน้ำแข็ง ชื่นใจค่ะ

เบ็ดเสร็จ 2 คน 300 รูปี เป็นเงินไทยก็หารลงมาครึ่งหนึ่งค่ะ

 

ลูกศิษย์ที่ตามไปดูแล ไปหาแหล่งน้ำมะนาวคั้นสดๆ จากรถเข็นได้แก้วละ 10 รูปี ไข่ต้มผ่ากลางโรยด้วยพริกเขียว หัวหอม เกลือและพริกไทย ขายริมทางฟองละ 10 รูปี ผู้ชายที่กลับมาจากทำงานแวะกินคนละฟองสองฟอง ท่าทางน่าจะขายดี เพราะเขาจะเข็นรถออกมาช่วงบ่ายจัดๆ เห็นไข่ต้มยังไม่ได้ปอกเปลือกหลายร้อยฟองทีเดียว

ติดๆ กันนั้นเป็นที่ปัสสาวะผู้ชาย กลิ่นโชยมา เพราะไม่ได้ราดน้ำชำระ ก็ไม่ว่ากัน คนดื่มน้ำก็ดื่มไป คนกินไข่ก็กินไป เสร็จแล้วแต่ละคนก็ไปตามทางของตัวเอง

พอเราย้ายมาที่เกสต์เฮ้าส์ซึ่งเป็นของศูนย์ศิลปะแห่งชาติอินทิรา คานธี คราวนี้เรามาอยู่ในละแวกสถานที่ราชการ และบ้านผู้ลากมากดีทั้งหลาย ตลาดใกล้ๆ กัน แต่เดินไม่ไหวนะคะ ต้องขึ้นรถตุ๊กตุ๊กไป ที่อินเดียเรียกว่า รถออโต้ เขาว่า ตลาดใกล้ที่สุดคือ ตลาดข่าน Khan market เราไม่เคยอยู่แถบนั้น ก็ไปตามคำบอก โดยตั้งใจไปซื้อผลไม้

กลายเป็นว่า ตลาดที่ว่านี้ คือแหล่งเศรษฐีเขามาช้อปกัน ร้านเล็กๆ บรรยากาศเหมือนยุโรป เดินเข้าไปดูร้านผลไม้ทั้งแถบมีเพียงสองร้าน แต่มีทุกอย่างจริงๆ อโวคาโด้ผลละ 364 รูปีค่ะ เงาะ น่าจะไปจากบ้านเรา แพ็กเป็นกล่องพลาสติก น่าจะครึ่งกิโล ราคาแพ็กละ 400 รูปี (200 บาท) แต่เขาก็ขายได้ แสดงว่าเขามีตลาดคนซื้อจริง ผลไม้ทุกอย่าง สตรอว์เบอร์รี่ ส้มชนิดต่างๆ กล้วย พลัม มังคุด อ้อ ไม่เห็นทุเรียนค่ะ

ถ้าสู้ราคาได้ แขกมีกินทุกอย่าง

เนยแข็งหลากชนิด หลายอย่างไม่เห็นที่เมืองไทย แสดงว่าตลาดชั้นสูงของอินเดียรสนิยมเลิศ แน่นอนลูกค้าหลายคู่ที่เราเห็นเป็นฝรั่งที่แต่งงานกับสตรีชาวอินเดีย

ร้านขายรองเท้าก็คัดรองเท้าที่มีคุณภาพ ต่างไปจากตลาดจันปัธที่ทัวร์นิยม รองเท้าแตะแบบแขกที่ซื้อมา 3 คู่ อยากเอากลับไปคืน เมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพของรองเท้าที่ตลาดนี้

 

เมื่อดูตลาดล่าง ตลาดบนแล้ว ทีนี้พาไปเดินจันปัธค่ะ ภาษาไทยต้องเขียนว่า ชนบาท คือบาทวิถีที่ชาวเมืองเดิน

จุดนี้เป็นร้านค้าประมาณ 6-7 บล๊อกเรียงกัน บล๊อกหนึ่งมีร้านประมาณ 10 ร้าน ขณะที่มีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอยู่ริมทาง เดินเร่ขาย น่าซื้อทั้งนั้น ราคาจะต่อได้ครึ่งต่อครึ่ง อาจจะเริ่มต่อจากร้านแรก เขาจะลดราคาลงมาเอง จนได้ราคาถูกสุด เราก็จะรู้ว่าควรต่อประมาณนี้

เคยพาทัวร์อินเดีย คนที่ซื้อของถูกสุดในคณะเป็นเศรษฐีค่ะ

ผู้เขียนมักใจอ่อน ถ้าได้ราคาที่คิดว่าน่าจะซื้อได้ เราก็ตกลง

แต่มีบางคนก็มีความสุขกับการกดราคาเขาถึงที่สุด ยายหนูคนหนึ่งพยายามเอาสร้อยลูกปัดมาขายเส้นละ 10 รูปี ผู้เขียนไม่ได้ต่อ เพียงถามเขาว่า ลดได้เท่าไร เขาลงมาเป็น 25 เส้น 200 รูปี พอซื้อเสร็จเขาก็ให้ฟรีอีกเส้นหนึ่ง เขาว่า เราเป็นลูกค้าคนแรกของเขา เขาจะถือเรื่องลูกค้าคนแรก ถ้าขายได้ง่าย เขาจะขายได้คล่องไปทั้งวัน

การพูดภาษาฮินดีได้บ้างก็ช่วยในการซื้อของ

มีอยู่ร้านหนึ่ง เป็นร้านของพวกปัญจาบี ค่อนข้างชาตินิยม ขายไอเดีย เรื่องคำสอนในศาสนาด้วย มีแผ่นป้ายเหมือนป้ายทะเบียนรถ เขียนว่า เคารพผู้ใหญ่บ้าง ดูแลคนอื่นบ้าง คนขายหน้าตาเหมือนคนไทยแต่ผิวขาวแบบจีน อาจจะมาจากอัสสัม พูดได้ทั้งอังกฤษและฮินดี

จะดูว่าคนไหนเจ้าของ คือคนที่รับเงินและทอนเงินให้เรา นั่งกุมกำปั่นเงินนั่นแหละค่ะ

อีกร้านหนึ่งขายน้ำมันสกัดจากดอกไม้ น้ำมันกลิ่นกุหลาบ ภาษาฮินดีกับภาษาไทยคำเดียวกันเลยค่ะ ทัวร์ไทยน่าจะมาแถวนี้เยอะ หลายร้านคนเรียกลูกค้า เรียกเป็นภาษาไทยได้เลย

ที่จันปัธนี้ หลายปีก่อนสมัยที่ลูกชายวัยรุ่นของผู้เขียนมาเรียนที่นี่ เขาเล่าว่า คนขายทรานซิสเตอร์ มีรถเข็นอยู่กลางถนน ตกลงซื้อขายกันแล้ว ก็เอาทรานซิสเตอร์ห่อใส่ถุงเสร็จสรรพ จ่ายเงินสองพันเรียบร้อย แล้วคนขายก็เข็นรถไป ครู่ใหญ่ คนที่ซื้อไปวิ่งหน้าตาตื่นมาว่า เมื่อเปิดดูกล่องทรานซิสเตอร์ที่ซื้อไปนั้น มีแต่ท่อนไม้ขนาดเดียวกัน

วิ่งมาหารถเข็นที่ขาย รถเข็นก็ไปแล้ว

นี่เป็นเรื่องจริง

เวลาซื้อของต้องดูให้รอบคอบว่า ตอนที่เขาเอาไปห่อนั้น เขาห่อของที่ซื้อให้หรือเปล่า

การโกงมีทุกที่ ทุกรูปแบบ

 

เดินจนเหนื่อย ลูกศิษย์ที่มาด้วยยังติดใจ ขอไปเดินต่อ เป็นครั้งแรกที่เธอมาจันปัธ ผู้เขียนยึดใต้ต้นไม้ที่มีที่นั่งรอบต้นไม้รอ เดินเข้าไปด้านในจะมีร้านอาหาร ชาวอินเดียก็กินง่ายๆ ใส่จานกระดาษยืนกิน ลูกศิษย์ไปทดลองโมโม อาหารทิเบต เป็นแป้งทำเป็นลูกกลม ใส่ไส้ผัก ราดน้ำจิ้มเผ็ดๆ 8 ลูก 40 รูปี เป็นอาหารกันหิวได้ 1 มื้อ น้ำดื่มสามารถหาซื้อได้สะดวกในย่านนั้น

เดิมเมื่อ 50 ปีก่อน อินเดียไม่ยอมให้โคคา-โคล่าเข้ามาขาย แต่อินเดียก็มีน้ำดื่มของตัวเอง รสชาติคล้ายกัน เรียกว่า ทัมพ์สอัป มีรูปยกหัวแม่มือสีแดง เวลานี้ก็ยังมีอยู่ค่ะ แต่ตอนนี้เห็นมีโคคา-โคล่าขายกันเกร่อ

ร้านที่อยู่ตรงข้างหน้าเลย ขายบรรดากระเป๋าขนาดต่างๆ ก็เลยอุดหนุนไปตามสมควรไม่ให้เขารังเกียจว่าเราไปนั่งหน้าร้านเขาแล้วไม่ช่วยอุดหนุน ร้านนี้ผู้หญิงคนขายมาจากกุจราษฎร์ ไปทางมุมไบค่ะ ทางตะวันตกของอินเดีย สังเกตได้จากวิธีที่เขาครองส่าหรีต่างไปจากฮินดูภาคกลาง

คนขายปานิปูรี เพิ่งถีบรถจักรยานเข้ามายึดใต้ต้นไม้อีกด้านหนึ่ง ปานิปูรีเป็นแป้งทอดลูกกลมๆ ขนาดลูกปิงปอง ใส่มาเต็มตู้กระจกหลังรถ วิธีกิน เอามือเจาะเป็นรู แล้วเอาผัดผักใส่ ชุบลงไปในน้ำจิ้ม ส่งให้คนซื้อ คนซื้อก็ยืนเรียงกันรอบรถ ถือถ้วยที่ทำด้วยกระดาษอัดแข็งเป็นรูปถ้วย อันนี้กันหกค่ะ กินไปกี่ลูกก็จำกันเอาเอง แล้วจ่ายเงิน ลูกละ 5 รูปี

คนหนึ่งกินประมาณ 4-5 ลูก แต่คนขายมักคะยั้นคะยอให้กินอีกลูกหนึ่ง จะได้ทอนเงินสะดวก น้ำจิ้มนั่นแหละค่ะที่จะทำให้คนติดใจว่า ร้านไหนอร่อยกว่าร้านไหน

รถปานิปูรีก็มาตามเวลา วันไหนเขาหมดก่อนเขาก็ถีบรถกลับบ้านค่ะ

 

เดี๋ยวมีคนมาเร่ขายกระเป๋าใส่เงินผู้ชาย ยี่ห้อที่ปั๊มนั้น เลียนแบบกระเป๋ายี่ห้อดังๆ ทั้งนั้น บอกราคาตั้งแต่ 300 รูปี แต่ซื้อจริงๆ ได้ 100 รูปีค่ะ

คนขายก็เดินเร่ขาย แต่กระเป๋าน่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน พอซื้อได้อยู่

ร้านใกล้ๆ กันขายไอศกรีม น่าสนใจครอบครัวนี้มาทั้งพ่อแม่ลูก ลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน ลูกสาวเพียง 3 ขวบกับ 5 ขวบ แต่มีผ้าคลุมผมแบบมุสลิมเรียบร้อย แสดงว่าในวัฒนธรรมของเขาปลูกฝังเรื่องการแต่งกายตั้งแต่ยังเด็กมากๆ

ร้านที่อยู่ไกลออกไป ขายแบกับดิน กำลังคลี่ผ้าคลุมเตียงขนาดคิงไซซ์ น่าสนใจค่ะ เดี๋ยวเดินไปดูนะคะ

ปักด้วยมือค่ะ ผืนเบ้อเริ่ม ซื้อแล้วค่ะ 1,200 รูปี

งานปักทุกชนิด ไม่อยากต่อ เป็นแรงงานผู้หญิงทั้งนั้น

วันนี้คงต้องกลับที่พักแล้วละค่ะ ไม่มีมือจะถือของแล้ว เวลาซื้อ ก็ไม่แน่ใจว่าซื้อให้ใคร แต่ที่แน่ใจคือช่วยชาวอินเดีย คนที่เขาขายให้เรานั่นแหละ เขาทำอาชีพอิสระ อยากสนับสนุนค่ะ คราวหน้าพาไปช้อปอีกนะคะ