จักรกฤษณ์ สิริริน : “วันละกรึ๊บ” ชะลออัลไซเมอร์?

อย่างน้อย 2 ตอนที่ผมเคยเขียนถึงกิจกรรมที่ช่วยชะลออัลไซเมอร์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็น “ส่ง LINE ดอกไม้อรุณสวัสดิ์ ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์” หรือ “ชวนกันเล่น Board Game ช่วยชะลอสมองเสื่อม”

มาในครั้งนี้มีประเด็นใหม่อย่างน้อย 2 กรณี ในโลกวิทยาการที่จะช่วยชะลออัลไซเมอร์ได้

นั่นคือ “การเรียนภาษาที่ 2” และ “วันละกรึ๊บ ชะลออัลไซเมอร์” ได้!

 

ศาสตราจารย์ ดร. Ellen Bialystok จากมหาวิทยาลัย York ประเทศ Canada ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ได้กล่าวว่า “การเรียนรู้ภาษาที่ 2” และการเข้าร่วมกิจกรรมที่เราชื่นชอบอย่างต่อเนื่องจะช่วยชะลอสมองเสื่อมได้

“ผลการวิจัยชี้ชัดว่า ผู้ที่ใช้ 2 ภาษาในชีวิตประจำวันจะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ช้ากว่าคนที่พูดภาษาเดียวราว 4-5 ปี” ศาสตราจารย์ ดร. Ellen Bialystok กระชุ่น

อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจ เพราะเป็นที่รู้กันดีในแวดวงภาษาศาสตร์ว่ายิ่งเราใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยเรื่องการเชื่อมต่อและสร้างเซลล์ประสาทใหม่ให้มีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ศาสตราจารย์ ดร. Ellen Bialystok กล่าว และว่า

“การเรียนรู้ หรือฝึกฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ภาษาที่ 2 เป็นประจำ จะทำให้สมองของเรามีสมาธิ มี Focus อีกทั้งยังมีส่วนช่วยจัดระบบความคิดและการทำงานของเซลล์สมองนั่นเอง”

ศาสตราจารย์ ดร. Ellen Bialystok สรุปว่า ยิ่งเราเริ่มมีประสบการณ์จากการใช้ภาษาที่ 2 เร็วเท่าใด หรือใช้มานานมากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสมองในการช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นตามไปด้วย

สอดคล้องกับศาสตราจารย์ ดร. Tamar Gollan จากศูนย์วิจัยโรคอัลไซเมอร์ University of California ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดอัลไซเมอร์ด้วยภาษาที่ 2 ซึ่งบอกว่าสมองของมนุษย์ที่มีโอกาสเรียนรู้ภาษาที่ 2 หรือภาษาที่ 3 จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า

“สมองของคนเราจะยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อได้เรียนรู้และฝึกฝนภาษาที่ 2 หรือภาษาที่ 3 มากกว่าคนที่ใช้ภาษาเดียวอย่างแน่นอน แม้ว่าสมองของเราจะมีความเสียหายจากโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นแล้วก็ตาม” ศาสตราจารย์ ดร. Tamar Gollan กล่าว และว่า

สมองนั้นก็เหมือนกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ที่หากไม่ได้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอหรือต่อเนื่อง กล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ ก็อาจจะหดลีบ หรือฝ่อได้

 

อย่างไรก็ดี Martha Shade ผู้สื่อข่าวโต๊ะสุขภาพของสำนักข่าว CNN ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การพูดหลายภาษาเป็นเพียงวิธีหนึ่งของการบำบัดสุขภาพสมอง ไม่ว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองอื่นๆ

“และต้องไม่ลืมว่า เราควรหาวิธีท้าทายสมองในรูปแบบอื่นๆ ด้วย สำหรับคนที่ไม่ถนัดด้านการใช้ภาษา” Martha Shade กล่าว และว่า

“อาทิ การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือวาดรูป รวมถึงการเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ และต่อ Jigsaw ก็อาจช่วยชะลออัลไซเมอร์ได้เช่นกัน”

ยังไม่นับการออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการกินอาหารที่มีประโยชน์ ก็มีส่วนช่วยเราได้อย่างมากอีกด้วย Martha Shade ทิ้งท้าย

 

งานวิจัยอีกชุดหนึ่ง นอกจาก “การเรียนภาษาที่ 2” แล้ว ประเด็นการดื่มแอลกอฮอล์ “วันละกรึ๊บ” ก็อาจช่วยชะลออัลไซเมอร์ได้เช่นกัน!

วารสารการแพทย์ JAMA (The Journal of the American Medical Association) รายงานผลการศึกษาของ Michigan State University ที่ได้ทำการวิจัยแบบ Long-Term Studies ยาวนานถึง 12 ปี

โดยการติดตามประชากรและกลุ่มตัวอย่างจำนวน 20,000 คน ซึ่งทั้งหมดคือคนอเมริกันผิวขาว ที่มีอายุเฉลี่ย 62 ปี

ผลการวิจัยพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อย หรือที่ผมเรียกว่า “วันละกรึ๊บ” จะมีส่วนช่วยในการทำงานของสมอง

โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ความคิดและเหตุผล ตลอดจนถึงเรื่องความจำ หรืออาจช่วยชะลออัลไซเมอร์ได้!

นักวิจัยของ Michigan State University ที่ศึกษาเรื่องนี้ ได้ให้คำจำกัดความของคำ “กรึ๊บ” ว่าหมายถึงแอลกอฮอล์ปริมาณ 14 มิลลิลิตรครับ

 

ท่านผู้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ที่คุ้นเคยกับงานวิจัยในทำนองนี้ อาจคุ้นๆ ว่า เคยผ่านตาผลการทดลองคล้ายๆ กันนี้มาแล้วบ้างไม่มากก็น้อย

กล่าวคือ เคยมีผลการศึกษาที่สนับสนุนงานวิจัยของ Michigan State University ที่ได้ค้นพบมาแล้วก่อนหน้านี้

ว่าโดยทั่วไปการดื่มแอลกอฮอล์ 1 กรึ๊บต่อวันสำหรับเพศหญิง และ 2 กรึ๊บต่อวันสำหรับเพศชายนั้นอาจส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง!

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของ Michigan State University ที่ศึกษาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวบอกว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์กลุ่มที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการ “กรึ๊บ” ก็คือประชากรผิวดำ

เพราะมีความเป็นไปได้ว่า นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยด้านเชื้อชาติ ก็อาจส่งผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์

ศาสตราจารย์ ดร. Kaarin Anstey ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคอัลไซเมอร์ของ Australian National University ชี้ว่า มีหลักฐานจำนวนมากจากการติดตามและเฝ้าสังเกตที่แสดงให้เราทราบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อย มีส่วนช่วยชะลออัลไซเมอร์ได้

“การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ดีขึ้นของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคความจำเสื่อมได้ เมื่อเทียบกับในกลุ่มที่ไม่ดื่ม” ศาสตราจารย์ ดร. Kaarin Anstey กล่าว และว่า

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ เราทราบกันดีว่า ภูมิหลัง และปัจจัยส่วนบุคคลที่ต่างกัน จะส่งผลกระทบในด้านสุขภาพที่ไม่เท่ากัน

“สิ่งสำคัญก็คือ ถ้าเราไม่ใช่คนกินเหล้า เราก็ไม่ควรหัดกิน เนื่องจากแอลกอฮอล์นั้น แม้อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้บ้าง แต่ก็แน่นอนว่า การดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดได้เสมอ”

ศาสตราจารย์ ดร. Kaarin Anstey ทิ้งท้าย

 

เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ ดร. Richard Isaacson ผู้อำนวยการคลินิกป้องกันอัลไซเมอร์ของศูนย์การแพทย์แห่งรัฐนิวยอร์ก ที่กล่าวว่า ข้อพิจารณาสำคัญเกี่ยวกับแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้อยู่ที่ดื่มอะไร และดื่มเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ดื่มเมื่อไหร่ และดื่มอย่างไรมากกว่า

“สมมุติว่าคุณดื่มไวน์วันละ 1 แก้วระหว่างมื้อเย็นนั้น แน่นอนว่าจะส่งผลดีกว่าการดื่มไวน์ 1 แก้วก่อนนอน” ศาสตราจารย์ ดร. Richard Isaacson กล่าว และว่า

การดื่มไวน์ 1 แก้วก่อนนอนขณะที่ท้องยังว่าง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการนอน

ที่สำคัญก็คือ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ได้

เพราะมีผลการศึกษาซึ่งทราบกันทั่วไปว่า ไม่มีสุรา เบียร์ หรือไวน์ในปริมาณใดเลยที่จะปลอดภัยหรือเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยองค์รวม

และเป็นที่รู้กันดีว่า แอลกอฮอล์นั้นเป็นปัจจัยเร่งสำคัญของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งเพศหญิงและเพศชาย

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอัลไซเมอร์พยายามสื่อสารกับเราว่า อย่าปล่อยให้สมองอยู่นิ่งๆ ควรหาสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายป้อนให้กับสมองเป็นประจำนั่นเอง!