วิรัตน์ แสงทองคำ : ทุนลดาวัลย์ กับสยามไบโอไซเอนซ์ (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ทุนลดาวัลย์ กับสยามไปโอไซเอนซ์ กิจการวิจัยพัฒนาและผลิตยาไบโอฟาร์มา ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ บุกเบิกธุรกิจใหม่อย่างแท้จริง

ความพยายามเข้าสู่ธุรกิจใหม่ มาจากมุมมองด้วยสายตายาวไกล ด้วยความเชื่อมั่นแนวโน้ม ความยั่งยืน ซึ่งมีมิติทางสังคมมากเป็นพิเศษ ธุรกิจซึ่งต้องลงแรงใช้เวลาพอสมควร และลงทุนค่อนข้างมาก อย่างต่อเนื่อง

ว่าไปแล้วคงไม่มีธุรกิจใดในสังคมไทย เหมาะไปกว่าทุนลดาวัลย์ในฐานะกิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ

จากข้อมูลพื้นฐาน “บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งโดยบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด (กิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)” สะท้อนบทบาททุนลดาวัลย์มีอยู่อย่างกว้างขวางและหลากหลาย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการลงทุนในมิติที่แตกต่างสำคัญอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกัน

ข้อมูลสำคัญที่เปิดเผยและเป็นที่รู้กันในแวดวงตลาดทุน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (ในตลาดหุ้นใช้ชื่อย่อที่แตกต่างออกไป-SCC) กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นกิจการหลักสำคัญซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ประมาณ 30% และ 21% ตามลำดับนั้น ยังปรากฏด้วยว่ามีบริษัททุนลดาวัลย์ ในฐานะผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกของบริษัททั้งสองอยู่ด้วย

หากติดตามความเคลื่อนไหวในช่วงหลายปีมานี้ พบว่าสัดส่วนถือหุ้นมีความเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง

ความจริงแล้ว ผมเคยนำเสนอเรื่องราวและผู้คนซึ่งเกี่ยวข้องกับทุนลดาวัลย์ อย่างกระจัดกระจาย หากนำ “ชิ้นส่วน” เหล่านั้นมาปะติดปะต่อ เชื่อว่าจะให้ภาพกว้างๆ เชื่อมโยงกันบ้าง

 

ยศ เอื้อชูเกียรติ

เป็นบุคคลสำคัญควรกล่าวถึงตั้งแต่ต้น ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัททุนลดาวัลย์ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 หลังจากก่อตั้งทุนลดาวัลย์ไม่นาน

“ยศ เอื้อชูเกียรติ ตั้งใจวางมือจากธุรกิจเพื่อทำงานให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ เริ่มต้นเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาอีก 3 ปี เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จนปี 2541 เป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จากนั้น (ปี 2544) จึงเข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัททุนลดาวัลย์ และประธานกรรมการบริษัทวังสินทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการลงทุนใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในความพยายามดำเนินการอย่างคล่องตัวในเชิงธุรกิจมากขึ้น” ผมเคยเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ยศ เอื้อชูเกียรติ (ต้นปี 2555) ให้ภาพเชื่อมโยงและต่อเนื่อง

ยศ เอื้อชูเกียรติ ถือเป็นนักบริหารผู้มีประสบการณ์เชี่ยวกรำ มีพื้นฐานประสบการณ์ธุรกิจครอบครัวสำคัญในสังคมธุรกิจไทย กับเศรษฐกิจไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน จากยุคต้นๆ สงครามเวียดนาม สู่ยุคเฟื่องฟู เชื่อมกับโลกาภิวัตน์ จนมาสิ้นสุดวงจรหนึ่ง เมื่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาเยือนเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว จากวางรากฐานอุตสาหกรรมสำคัญๆ ใหม่ๆ สู่ธุรกิจธนาคารซึ่งเป็นใจกลางสังคมธุรกิจไทยพักใหญ่

“ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพีวีซี และสร้างสายสัมพันธ์เชิงคุณค่ากับธุรกิจญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือ Mitsui Chemicals) ในช่วงสำคัญช่วงหนึ่งทั้งการถือหุ้นและเทคโนโลยี ในมิติที่กว้างถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมพลาสติกไทยซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงมาตั้งแต่เมื่อ 3-4 ทศวรรษ ก่อนจะการส่งเสริมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อย่างขนานใหญ่” (อ้างแล้ว) เรื่องราวข้างต้นสัมพันธ์กับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเมื่อเอสซีจีได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว

ประสบการณ์สำคัญมากๆ ของ ยศ เอื้อชูเกียรติ คือผู้บริหารธนาคารไทย (ธนาคารเอเชีย ปัจจุบัน คือนาคารยูโอบี) ตลอดช่วง 2 ทศวรรษ ท่ามกลางสถานการณ์ผันแปรของระบบเศรษฐกิจไทย และความขัดแย้งภายใน เขาได้แสดงความสามารถในการพัฒนาธนาคารให้ก้าวหน้าไป และนำพาธนาคารถือเป็นรายแรกๆ ก้าวพ้นวิกฤตล่มสลายธนาคารครอบครัวไทย

หลายคนซึ่งให้ความสำคัญ “สายสัมพันธ์” เชื่อว่า การมาของ ยศ เอื้อชูเกียรติ มีความเป็นไปได้ มีความสัมพันธ์ไม่มากก็น้อยกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ คนปัจจุบัน ด้วยทั้งสองเป็นคนรุ่นเดียวกัน เคยใช้ชีวิตช่วงการศึกษาเล่าเรียนด้วยกันพักใหญ่ที่อังกฤษ

 

ยศ เอื้อชูเกียรติ

เรื่องราว
ยศ เอื้อชูเกียรติ กับทุนลดาวัลย์
มีความเกี่ยวข้องกันมากกว่านั้น

ที่จริงเขาเพิ่งละทิ้งธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริงเพื่อมุ่งมั่นภารกิจใหม่ราวปี 2554 มานี้เอง ด้วยการลาออกจากประธานกรรมการบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ หรือ TPC กิจการสำคัญในธุรกิจครอบครัวของตระกูลเอื้อชูเกียรติ ซึ่งมีมายาวนาน 4 ทศวรรษ

ทั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการเอสซีจีเข้าครอบงำ TPC (ถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ) ภาพใหญ่ดำเนินตามแผนการหลอมรวมและสร้างปึกแผ่นธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ใหญ่ที่สุดของเอสซีจีไปแล้ว ยังให้ภาพอีกภาพหนึ่ง เชื่อมโยงกับบทบาททุนลดาวัลย์ด้วย

“เอสซีจีเคมีคอล (กิจการในเครือเอสซีจี) ซื้อหุ้น TPC โดยใช้เงินประมาณ 8,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเงินจำนวนมากที่สุดประมาณ 5,000 ล้านบาท จ่ายให้กับบริษัททุนลดาวัลย์เจ้าของหุ้นประมาณ 19% ส่วนยศและตระกูลเอื้อชูเกียรติคนอื่นๆ ได้เงินรวมกันไม่น้อยเช่นกัน ประมาณ 3,000 ล้านบาท” (ข้อเขียนเรื่อง “ยศ เอื้อชูเกียรติ” อ้างแล้ว) เรื่องราว TPC กับเอสซีจี มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ปี 2536 ในช่วงต้นๆ เข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยเอสซีจีเข้าถือหุ้นข้างน้อย ต่อมาปี 2547 เอสซีจีได้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นทะลุ 60% จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

นี่คือภาพตัวอย่าง แสดงบทบาทที่จับต้องได้ แสดงบทบาททางธุรกิจที่เป็นจริง ในฐานะทุนลดาวัลย์ เป็นกิจการเพื่อการลงทุน เกี่ยวข้องดีลต่างๆ เรื่องราวที่ปรากฏมักผ่านกลไกตลาดหุ้น

หากติดตามความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยอย่างไกล้ชิด จะพบว่าทุนลดาวัลย์เข้าไปซื้อหุ้น-ขายหุ้น เช่น กองทุนด้านสื่อสาร หรือมีบทบาทในฐานะสนับสนุน Start up เช่น กรณีเข้าไปถือหุ้นสายการบินนกแอร์ในช่วงก่อนเข้าตลาดหุ้น เป็นต้น

 

กรณีบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น

เรื่องราวอีกกรณีหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากเช่นกัน ทุนลดาวัลย์ได้ก้าวเข้ามาจัดการแก้ปัญหากิจการ ซึ่งตกทอดจากความสัมพันธ์ธุรกิจอันยาวนาน

บริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งแต่วิศวกรและนายทหารแห่งกองทัพเรือเดนมาร์ก ร่วมกันก่อตั้งเมื่อปี 2447 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงต้นๆ กิจการในประเทศไทยเป็นเพียงเครือข่ายธุรกิจซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก

ในเวลาต่อมา สำนักงานทรัพย์สินฯ เข้ามาถือหุ้นเพียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 10%) ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเมื่อใด ต่อมาเมื่อบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น เข้าตลาดหุ้นไทย (ปี 2534) นั้น ปรากฏชัดเจนว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ และกิจการในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว

“จากสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2538 ถือว่าเป็นช่วงบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น หรือ CNT โดดเด่นมากๆ ขยายกิจการอย่างครึกโครม ด้วยกลับเข้าไปเข้าซื้อกิจการต่างๆ ของ Christiani & Nielsen ในระดับโลก ทั้งเครือข่ายในเดนมาร์ก เยอรมนี และอังกฤษ รวมกันประมาณ 20 บริษัท …ราคาหุ้น CNT ในช่วงต้นปี 2536 พุ่งขึ้นกว่า 300 บาท (ราคาพาร์ 10 บาท) และสินทรัพย์ของบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น ได้ก้าวกระโดดจากประมาณ 1,000 ล้านบาทในปี 2534 เป็นมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปีถัดมา” ผมเคยให้ภาพช่วงเวลาที่ตื่นเต้นเอาไว้ใน (จากเรื่อง “ทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี” มกราคม 2555) ก่อนหักมุมมาอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างกิจการครั้งสำคัญ อันเนื่องมาจาก CNT เผชิญวิกฤตมาตั้งแต่ปี 2541 ถือเป็นผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยด้วยก็ได้

แผนการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างกิจการ CNT ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2546 ได้สิ้นสุดลงอย่างเบ็ดเสร็จราวปี 2554 เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ตัดสินใจขายกิจการ CNT ออกไป ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าวบริษัททุนลดาวัลย์เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้เข้ามาแก้ปัญหาให้จบลงด้วยดี

“โครงสร้างถือหุ้นในบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น เริ่มมีความเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ จากปลายปี 2549 ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 41.46% ทุนลดาวัลย์ถือหุ้น 29.89% พอมาปลายปี 2551 ทุนลดาวัลย์ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 84.5% และก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดให้กับผู้ซื้อรายใหม่ ทุนลดาวัลย์ถือหุ้น 51.98” (อ้างบางตอนจากข้อเขียนของผม เรื่อง “ทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี” มกราคม 2555)

กรณีทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี สะท้อนบทบาทสำคัญของทุนลดาวัลย์อีกบทบาทหนึ่งในฐานะผู้เข้ากอบกู้ แก้ปัญหากิจการเกี่ยวข้องอันเป็นผลพวงตกค้างมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวข้องกับธนาคารพานิชย์และสำนักงานทรัพย์สินฯ

นอกจากนี้ เชื่อว่ามีบทบาทว่าด้วยยุทธศาสตร์การลงทุน โดยมีการปรับเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่น ให้เหมาะกับสถานการณ์

กรณีโรงแรมดุสิตธานี เป็นงานแรกๆ ของทุนลดาวัลย์ เมื่อปี 2545 บริษัทดุสิตธานีได้รายงานผ่านตลาดหุ้น ว่าบริษัททุนลดาวัลย์ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด (ประมาณ 10%) ในบริษัทดุสิตธานี ให้กลุ่ม Pioneer Global Group (กลุ่มธุรกิจใหญ่ฐานในฮ่องกง มีเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และสถาบันการเงิน)

หากย้อนภาพไปในอดีต พบว่าทุนลดาวัลย์เข้าถือหุ้นโรงแรมดุสิตธานี เท่ากับสัดส่วนซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ เคยถือหุ้นดุสิตธานี มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี สีลม เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ด้วยที่เป็นเช่นนี้ ทุนลดาวัลย์จึงมีเงินทุนมากพอจะสนับสนุนยุทธศาสตร์ใหญ่ การลงทุนใหม่ๆ อย่างกรณีสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งก่อตั้งและดำเนินกิจการมา 7 ปีแล้ว ยังไม่คืนทุน ยังไม่มีกำไร ใช้เงินลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท