ถึงเวลาหรือยัง “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้ท้องถิ่น” 20 ธันวาคม เลือกนายก อบจ.-ส.อบจ.

8 มิถุนายน 2477 ที่ท่าเรือกรุงเทพ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาส่งคณะผู้แทนไทยขึ้นเรือ “นาซิซัน มารุ” เพื่อเดินทางไปประชุมและศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

การไปเยือนดินแดนอาทิตย์อุทัยดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่าง 8 มิถุนายน-20 สิงหาคม รวมระยะเวลากว่า 2 เดือนครึ่ง

โดยฉากหน้าคือการร่วมประชุมยุวพุทธศาสนิกสมาคมในเอเชีย-แปซิฟิก (The Pan-Pacific Buddhist Youth Conference)

ขณะที่จุดประสงค์สำคัญคือ การกระชับความสัมพันธ์ในหมู่ผู้นำไทย “กลุ่มใหม่” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 กับญี่ปุ่น

ในจำนวน 9 คนที่เดินทางไปในครั้งนี้ เป็นสมาชิกคณะราษฎรถึง 5 คน ได้แก่ หลวงเชวงศักดิ์สงคราม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.ต.ขุนศรีศรากร กองตำรวจสันติบาล กระทรวงมหาดไทย, สงวน ตุลารักษ์ ข้าราชการกองเรือนจำ, วิลาส โอสถานนท์ ข้าราชการกระทรวงธรรมการ และซิม วีระไวทยะ ข้าราชการกรมศึกษาธิการ

 

หนึ่งในการดูงานสำคัญ ปรีดีได้มอบหมายให้กับหลวงเชวงศักดิ์สงคราม และ พล.ต.ต.ขุนศรีศรากร คือเน้นเรื่องงานเทศบาลนครโตเกียว ซึ่งขณะนั้นประเทศสยามยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการจัดตั้งเทศบาล ซึ่งก็คือการกระจายอำนาจการปกครองให้กับการปกครองส่วนท้องถิ่นนั่นเอง

ทั้งนี้ มีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึง พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ที่ต่อมาทำให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการปกครองท้องถิ่นครบถ้วนเป็นครั้งแรก

หลวงเชวงศักดิ์สงครามได้รับมอบหมายให้ดูกิจการเทศบาล เช่น การจัดการธนาคาร การคลัง และการจัดการหุ้นส่วนบริษัทของเทศบาล

ขณะที่ พล.ต.ต.ขุนศรีศรากร ในฐานะที่เป็นตำรวจ ได้รับมอบหมายให้ดูงานเรื่องตำรวจของเทศบาล การจราจร และการควบคุมกรรมกร

 

ข้อมูลจากหนังสือ “ตามรอยอาทิตย์อุทัย” ผลงาน “ณัฐพล ใจจริง” ฉายให้เห็นภาพยุครุ่งเรืองของคณะราษฎร นับตั้งแต่สมัยพระยาพหลฯ มาจนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มี “ญี่ปุ่น” เป็นต้นแบบในการสร้างชาติ และการกระจายอำนาจการปกครองก็เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่คณะราษฎรพยายามสร้างให้เกิดขึ้น

เรื่องการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ข้อที่เป็นหลักการ คือ

1. ต้องมีสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนจากในพื้นที่เป็นคนเลือกมา

2. เมื่อมีองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีอำนาจให้ทำงาน ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ

3. มีความเป็นอิสระในเรื่องงบประมาณ

4. มีบุคลากรเป็นของตัวเอง

และ 5.รัฐราชการส่วนกลางมีอำนาจเพียงกำกับดูแล ไม่ใช่บังคับบัญชา

เพราะการบริหารราชการสมัยใหม่จะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบเดียวไม่ได้ ต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจ มีเงิน มีบุคลากรในการจัดการปกครองตนเอง

 

นับจากยุคเริ่มต้นในสมัยรุ่งเรืองของคณะราษฎร แต่แล้วรัฐประหาร 2490 ก็ได้เตะสกัดให้ชะงัก

จากนั้นรัฐประหาร 2500 และรัฐประหาร 2501 ก็ตรึงไว้ไม่ให้เดินต่ออยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทหาร รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ กว่าจะฟื้นและเริ่มมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อีกครั้งก็ในทศวรรษ 2530 เป็นชิ้นเป็นอันก็คือได้รับการรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 หมวด 9 เรื่องการปกครองท้องถิ่น ถือเป็นความก้าวหน้าที่สุดของการกระจายอำนาจในประเทศไทย

และเดินหน้ากันไปต่อ เมื่อมีการตรา พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ที่ระบุบอกว่าภายในกี่ปีจะต้องโอนอำนาจ ภารกิจอะไรไปให้ท้องถิ่นอย่างไร งบฯ เท่าไหร่ บุคลากรแบบไหน เป็นแผนชัดเจน โดยมีคณะกรรมการแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ดำเนินการให้เป็นตามแผน

แต่ก็เหมือนหนังม้วนเก่าเรื่อง “รัฐประหาร” ที่เป็นปฏิปักษ์กับการกระจายอำนาจอย่างชัดแจ้งจะฉายซ้ำ

เพราะการรัฐประหาร 2549 ก็ได้เตะสกัดขาทำให้การกระจายอำนาจสะดุดหยุดลง

ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น การรัฐประหาร 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการรวบอำนาจกลับเข้าสู่ส่วนกลาง ทำเอาประเทศไทยถอยหลังเข้าคลอง อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราใช้กันอยู่วันนี้ ยังเปิดช่องให้ผู้นำท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้

ถ้ายังอยู่กับยุครัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ เรื่องการกระจายอำนาจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์คืนอำนาจให้ท้องถิ่นไม่มีทางเกิดขึ้น

 

วันนี้ ประเทศไทยไม่มีเลือกตั้งท้องถิ่นมากว่า 6 ปีแล้ว ปัญหาในพื้นที่ไร้การเหลียวแลไม่ได้รับการเอาใจใส่ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ห่างไกลจากพื้นที่ ห่างไกลจากประชาชน และผู้คนไม่อาจให้คุณให้โทษเขาได้ ดังนั้นการใส่เกียร์ว่าง รอนายจากส่วนกลางสั่งซ้ายหันขวาหันจึงเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ถ้าเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถ้าเป็นนายกเทศมนตรี หรือถ้าเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประชาชนสามารถให้คุณให้โทษได้ ไม่มีผลงาน ประชาชนก็จะแสดงออกโดยการมีข้อเรียกร้อง รวมถึงสมัยหน้าก็ไปเลือกคนใหม่

ถึงเวลาแล้ว “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้ท้องถิ่น”

20 ธันวาคม อย่าลืมไปเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.