ยุทธศาสตร์กำหนดอาวุธ อาวุธไม่กำหนดยุทธศาสตร์ : สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ความเป็นเลิศในทางทหารไม่ใช่หลักประกันของความสำเร็จทางยุทธศาสตร์”

Colin S. Gray

หนึ่งในปัญหาสำคัญของกระบวนการกำหนดนโยบายทางยุทธศาสตร์ก็คือการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารเพื่อรับมือกับปัญหาภัยคุกคามที่รัฐมองว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐในอนาคต

และหนึ่งในหนทางของการเสริมสร้างศักยภาพทางทหารของรัฐก็คือ การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพ

และการจัดหาเช่นนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อว่า เทคโนโลยีทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสมรรถนะสูงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการชี้ขาดชัยชนะในสนามรบ

หรือหากกล่าวเป็นข้อสรุปทางยุทธศาสตร์ก็คือ ชนะให้ได้ในสนามรบ แล้วชัยชนะเช่นนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ในตัวเอง

และยังสำทับด้วยความเชื่อของสำนัก “อาวุธนิยม” อย่างมีนัยสำคัญว่าความเข้มแข็งของกำลังรบจะเป็นโมเมนตัมทางยุทธศาสตร์ในตัวเองเช่นกัน และเป็นปัจจัยของชัยชนะในตัวเองอีกเช่นกันด้วย

ความเชื่อเช่นนี้เป็นดังความ “ไร้เดียงสาทางยุทธศาสตร์” ที่มองไม่เห็นว่าความสำเร็จทางยุทธศาสตร์คือสิ่งที่รัฐต้องการในทางนโยบายการเมืองนั้น อาจจะต้องการคำตอบมากกว่าการมีกองทัพที่มีขนาดใหญ่และ/หรือการมีเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูง

เพราะว่าที่จริงการมีกองทัพและเทคโนโลยีในเงื่อนไขดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันว่าก็อาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้รัฐชนะสงครามได้เสมอไป

ดังจะเห็นได้ว่าหนึ่งในคำสอนพื้นฐานของวิชายุทธศาสตร์ศึกษาก็คือ “ชนะในการรบไม่ใช่หลักประกันถึงความสำเร็จทั้งทางการเมืองและยุทธศาสตร์แต่อย่างใด”

การกล่าวเช่นนี้ก็เพื่อเตือนใจให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสองประการที่แยกออกจากกันไม่ได้ ก็คือ ความเกี่ยวเนื่องระหว่าง “สงคราม” กับ “การเมือง”

เพราะปัจจัยทั้งสองประการมิได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ

หากแต่เป็นปัจจัยที่มีความเกี่ยวพันโดยตรง

และการเกี่ยวพันเช่นนี้เป็นสิ่งที่นักปรัชญาการทหารชาวปรัสเซียอย่างที่เคลาซวิตซ์ (Karl von Clausewitz) กล่าวเตือนให้ตระหนักเสมอว่า “วัตถุประสงค์ทางการเมืองดำรงอยู่เป็นข้อพิจารณาสูงสุดในการดำเนินการสงคราม” ของรัฐ และเป็นปัจจัยที่จะละเลยไม่ได้

เคลาซวิตซ์สอนเช่นนี้ก็เพื่อเตือนใจให้นักการทหารและนักยุทธศาสตร์ไม่ให้สุดโต่งกับเรื่องอาวุธ

และจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยทางการเมืองในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ของประเทศเสมอ

จะพิจารณาถึงแต่ปัจจัยทางทหารและให้น้ำหนักไว้กับพลังอำนาจทางทหารของรัฐโดยไม่มีความตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยทางการเมืองไม่ได้

เพราะการพัฒนาพลังอำนาจทางทหารอาจจะไม่นำไปสู่ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ก็ได้

อย่างน้อยบทเรียนของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐใน 3 สงคราม เป็นข้อพึงสังวรอย่างดีสำหรับนักยุทธศาสตร์ ก็คือจะต้องไม่คิดแบบสุดโต่งว่าพลังอำนาจทางทหารเป็นปัจจัยหลักแต่เพียงประการเดียวที่จะชี้ขาดถึงชัยชนะในการสงคราม

การคิดเช่นนั้นจะทำให้เกิดการ “ติดกับ” อยู่กับความต้องการด้านอาวุธอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และนำไปสู่ความสุดโต่งทางความคิดที่สำคัญอีกประการก็คือ เชื่อว่าอาวุธเป็นปัจจัยในการกำหนดยุทธศาสตร์ และละเลยคำสอนพื้นฐานประการสำคัญในทางยุทธศาสตร์ก็คือ ยุทธศาสตร์ต่างหากที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดความต้องการด้านอาวุธ และยังรวมถึงการกำหนดทิศทางในการพัฒนากองทัพอีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ชัดเจนจากบทเรียนของสหรัฐในสงครามดังกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากองทัพสหรัฐชนะในสนามรบ

แต่เพราะเหตุใดที่ชัยชนะในสนามรบกลับไม่ถูกแปลงเป็นผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์ หรือโดยนัยก็คือ ชัยชนะในสนามรบกลับไม่นำไปสู่ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์อย่างที่หวัง

ตัวอย่างจากสงครามเวียดนามของสหรัฐ (1964-1975)

สหรัฐซึ่งเหนือกว่าทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอำนาจการยิง การครอบครองเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูง กำลังพลที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ตลอดจนระบบส่งกำลังบำรุงที่มีหลักประกันว่า “ทหารอเมริกันจะไม่อดและหิวในสนามรบ”

ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้จึงแทบมองไม่เห็นเลยว่าสหรัฐจะแพ้สงครามเวียดนามได้อย่างไร

และที่สำคัญก็คือ กองทัพสหรัฐชนะในหลายสนามรบ แม้แต่การรบครั้งสำคัญในเทศกาลตรุษญวน (The Tet Offensive) ซึ่งเป็นการรุกใหญ่ของกองกำลังเวียดกงและเวียดนามเหนือในปี 1968 จนถึงเกิดการปะทะในบริเวณสถานทูตอเมริกันในไซ่ง่อน

แต่ด้วยความเหนือกว่าของพลังอำนาจทางทหารของสหรัฐ และผสมกับอำนาจกำลังรบของกองทัพเวียดนามใต้แล้ว การลุกขึ้นสู้ในเทศกาลตรุษญวนก็กลายเป็นความเสียหายอย่างรุนแรงในทางทหารของฝ่ายเวียดกงและเวียดนามเหนือ

แต่ในบทสรุปสุดท้ายของสงคราม สหรัฐกลับเป็นฝ่ายที่ต้องถอนกำลังรบออก

และนำไปสู่การพ่ายแพ้ของรัฐบาลเวียดนามใต้ในเดือนเมษายน 1975…

เป็นไปได้อย่างไรที่กองทัพของรัฐมหาอำนาจใหญ่กลับพ่ายแพ้ในสงครามที่อีกฝ่ายมีความอ่อนด้อยกว่าอย่างมาก (หรืออ่อนแอกว่าในแทบทุกมิติ)

ความพ่ายแพ้เช่นนี้นำไปสู่ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ที่สุดท้ายแล้ว สหรัฐกลับไม่สามารถปกป้องเวียดนามใต้ให้รอดพ้นจากการเป็นคอมมิวนิสต์ได้

ในอีกด้านหนึ่ง คำตอบดูจะชัดเจนว่าความเหนือกว่าของระบบอาวุธต่างๆ ที่สหรัฐมีอยู่ ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้กองทัพสหรัฐเป็นฝ่ายชนะสงครามในเวียดนาม

หรือแม้กระทั่งปัญหาในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันก็คือ กองทัพสหภาพโซเวียตรัสเซียเองก็เป็นฝ่ายที่ไม่ชนะในสงครามอัฟกานิสถาน

หากเปรียบเทียบสหรัฐในสงครามเวียดนามและโซเวียตในสงครามอัฟกานิสถาน ผลลัพธ์ของการสงครามไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

และเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่สำคัญว่าสงครามไม่เคยถูกชี้ขาดด้วยการมีอาวุธที่เหนือกว่า… ผู้อ่อนแอกว่ากลับเป็นฝ่ายชนะ!

สองมหาอำนาจใหญ่ของโลกถูกพิสูจน์ด้วยบทเรียนทางยุทธศาสตร์เดียวกัน กองทัพของรัฐมหาอำนาจที่มีความเหนือกว่าของอำนาจการยิงกลับเป็นผู้พ่ายแพ้ในสองสนามรบเช่นเดียวกัน

กล่าวคือ ชนะในสนามรบ แต่ไม่ชนะในสงคราม

นอกจากนี้ ความเหนือกว่าทั้งในทางอาวุธและเทคโนโลยีทหารของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในสงครามอัฟกานิสถาน (2001) หรือสงครามอิรัก (2003) ก็ไม่ได้กลายเป็นคำตอบของชัยชนะทางยุทธศาสตร์อย่างที่วาดฝันไว้ทั้งหมด

ดังจะเห็นได้ว่าความเหนือกว่าของปัจจัยเช่นนี้ไม่ได้ถูกแปลงเป็น “อำนาจทวีคูณ” ในทุกกรณี

อีกทั้งความเหนือกว่าเช่นนี้กลับบ่งบอกถึงการ “รบแบบคนรวย” ที่มีความพร้อมในด้านอาวุธทุกอย่าง ซึ่งผลของการมีความเหนือกว่าทั้งทางอาวุธ อำนาจการยิง และเทคโนโลยีเช่นนี้ ดูจะส่งผลให้การคิดในเรื่องของนโยบายทางยุทธศาสตร์มีน้อยลง

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ บรรดานักการทหารส่วนนี้มีความเชื่อว่าความเหนือกว่าของปัจจัยดังกล่าวก็คือความเหนือกว่าทางยุทธศาสตร์ในตัวเอง

หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ความเหนือกว่าเช่นนี้คือชัยชนะในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงนโยบายทางยุทธศาสตร์ที่จะรองรับต่อปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อแบบสำนักคิด “อาวุธนิยม” ว่าชัยชนะในสนามรบได้มาด้วยการมีอาวุธที่ดีกว่า และจะถูกเปลี่ยนให้เป็นชัยชนะในสงครามได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องคิด

อันส่งผลทำให้ยุทธศาสตร์ในเงื่อนไขเช่นนี้ถูก “ย่อส่วน” ให้เหลือเพียงการมีอาวุธ หรือกลายเป็นสมการกึ่งคณิตศาสตร์ว่า : ยุทธศาสตร์ = อาวุธ

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ หลักประกันของชัยชนะจึงถูกทำให้เป็นเพียงเรื่องของการเพิ่มพลังอำนาจทางทหารด้วยการ “เพิ่มอาวุธ” ให้มากขึ้น

และเชื่อในอีกสมมติฐานหนึ่งว่า “ยิ่งมีอาวุธมาก ก็ยิ่งชนะเร็ว” เพราะภาพของแสนยานุภาพขนาดใหญ่นั้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้าศึกเกิดความกลัว และเสียขวัญกำลังใจที่จะรบกับฝ่ายเรา

และผลจากเงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้รัฐคู่กรณียอมที่จะดำเนินการตามความปรารถนาของเรา

ซึ่งหากย้อนกลับไปสู่ความเชื่อแบบดั้งเดิมในวิชาประวัติศาสตร์ทหารก็คือ “พระเจ้าอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายที่มีกองทัพใหญ่กว่า”

ทั้งที่ในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์สงครามนั้น ปัจจัยอาวุธและเทคโนโลยี หรือในความหมายของสงครามสมัยใหม่ก็คือ “อำนาจการยิงที่เหนือกว่า” ไม่ใช่คำตอบที่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดการสงครามได้เลย

แต่สำหรับ “นักอาวุธนิยม” ที่วางความเชื่อไว้กับปัจจัยด้านอาวุธเป็นหลักนั้น พวกเขาดูจะไม่มีทางยอมเปลี่ยนใจ

ซึ่งก็อาจจะเพราะอาวุธเป็น “รูปธรรม” ที่ชัดเจนของความเหนือกว่าในการเปรียบเทียบ “อำนาจกำลังรบ” ของรัฐ

และความเป็นรูปธรรมเช่นนี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ หรือกล่าวได้ว่า อำนาจกำลังรบถูกนับด้วยจำนวนของยุทโธปกรณ์หลัก เช่น รถถังหลัก เรือรบหลัก เครื่องบินรบ เป็นต้น

หรือบางทีการเปรียบเทียบนี้ก็นำไปสู่การพิจารณาถึงระบบอาวุธบางชนิดว่า รัฐมีระบบอาวุธแบบหนึ่งแบบใดหรือไม่

และถ้าไม่มีก็กลายเป็น “ความพ่ายแพ้” และจำเป็นต้องจัดซื้อจัดหาเข้าประจำการในกองทัพให้ได้

โดยมีคำอธิบายที่เป็น “ภาพลวงตา” ทางยุทธศาสตร์ว่า การไร้ระบบอาวุธบางชนิดจะทำให้เราเป็นฝ่ายเสียสมดุล และการมีอาวุธชนิดนั้นๆ จะทำให้เกิดสมดุล

ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็ไม่มีความชัดเจนว่าสมดุลที่ว่านี้คืออะไร

และหากจะวัดก็มีคำถามว่าจะเอาอะไรเป็นปัจจัยชี้วัด

เช่น ถ้าเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำแล้ว ประเทศเราจำเป็นจะต้องมีเรือดำน้ำเหมือนเพื่อนบ้านหรือไม่

และถ้าไม่มีแล้วจะเสียสมดุลจริงหรือไม่ แล้วเรามีอะไรที่เพื่อนบ้านไม่มี และการมีเช่นนี้ทำให้เราได้สมดุลหรือไม่

แต่หากตอบว่าเพื่อรักษาสมดุลที่เกิดจากการสร้างภาพลวงตาของนักอาวุธนิยม พวกเขาก็จะพยายามทำให้เกิดความเชื่อว่า สมดุลต้องถูกรักษาไว้ด้วยการมีระบบประเภทเดียวกัน

ซึ่งผลของความเชื่อเช่นนี้ทำให้นักการทหารในสำนักคิดนี้วางนโยบายยุทธศาสตร์ด้วยการ “ซื้ออาวุธ-เพิ่มอาวุธ”

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ถูกย่อลงมาให้เหลือเพียงเรื่องของการมีอาวุธ

และคงไม่แปลกนักที่กล่าวว่าภายใต้สำนักคิดนี้ “การสงคราม” กลายเป็นเพียงเรื่องของ “การรบ” และการรบซึ่งหากย้อนกลับไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์สงครามแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธถึง “ความเป็นเลิศทางทหาร” (military excellence) ของกองทัพเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

แต่ก็เห็นได้ชัดเจนอีกเช่นกันว่า ความเป็นเลิศเช่นนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้เยอรมนีเป็นผู้ชนะในสงครามโลกทั้งสองครั้งแต่ได้อย่างใด

นอกจากนี้ ด้วยความเป็นประเทศเล็กที่ไม่ใช่รัฐมหาอำนาจใหญ่นั้น การวางยุทธศาสตร์แบบนักอาวุธนิยมกลายเป็นความอ่อนแอในตัวเอง

เพราะหากยุทธศาสตร์กลายเป็นเพียงเรื่องของการจัดหายุทโธปกรณ์ และเชื่อว่าการมียุทโธปกรณ์ชนิดนี้ชนิดนั้นจะเป็นปัจจัยของชัยชนะในสงครามแล้ว ในด้านหนึ่งการซื้ออาวุธที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่เรื่องของ “การแข่งขันสะสมอาวุธ” (arms race)

เพราะชาติที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกันและเคยมีปัญหาความขัดแย้งกันมาแล้วในอดีตจะเกิดทัศนะด้านภัยคุกคาม (threat perception) ว่า การมีอาวุธของรัฐเพื่อนบ้านเป็นปัจจัยทำลายสมดุลทางทหาร และเราจำเป็นต้องมีอาวุธชนิดนั้นๆ ด้วย เพื่อรักษาสมดุลดังกล่าว

สมดุลเช่นนี้จึงเป็นดังภาพลวงตาที่บรรดานักอาวุธนิยมจะต้องสร้างให้เป็น “วาทกรรม” เพื่อการรณรงค์ภายใต้ความเชื่อว่า “เพื่อนบ้านมี เราต้องมี…ถ้าไม่มี เราแพ้!”

สิ่งที่น่าจะต้องตระหนักก็คือ การแข่งขันเช่นนี้อาจจะนำไปสู่สภาวะ “ทางแพร่งด้านความมั่นคง” (security dilemma) เพราะยิ่งซื้อมากก็ยิ่งกระตุ้นให้รัฐข้างเคียงซื้อตาม

จนกลายเป็นสภาวะ “ยิ่งมีมาก ยิ่งไม่มั่นคง”

และสภาวะเช่นนี้อาจนำไปสู่การล้มละลายทางเศรษฐกิจของกองทัพได้ไม่ยากนัก เพราะจะนำไปสู่วงจรของการแข่งขันซื้ออาวุธอย่างต่อเนื่อง จนระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจจะแบกรับไว้ไม่ได้

ข้อเสนอของสำนักอาวุธนิยมจึงเป็นการปฏิเสธต่อปัจจัยแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ เพราะไม่มีคำอธิบายในบริบทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น

1) ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์

2) ปัจจัยประวัติศาสตร์

3) ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ

4) ปัจจัยหลักนิยม

5) ปัจจัยบทบาทและภารกิจของกองทัพ

6) ปัจจัยภัยคุกคามของประเทศที่เรามองว่าเป็นปัญหา

7) ปัจจัยเศรษฐกิจ

8) ปัจจัยของระดับเทคโนโลยี

ซึ่งอย่างน้อยปัจจัยทั้ง 8 ประการดังกล่าวเป็นกรอบของนโยบายยุทธศาสตร์ที่ควรจะต้องตอบให้ได้ก่อนที่จะมีแต่เพียงความเชื่ออย่างหยาบๆ ว่า อาวุธชนิดใดชนิดนั้นเป็น “ความจำเป็น”

และไม่ว่าจะมีความเห็นแย้งอย่างใดก็ไม่จำเป็นต้องนำมาคิดคำนึง เพราะยุทธศาสตร์มีแต่เพียงประการเดียวคือ “ซื้อให้ได้!”

ยุทธศาสตร์ในสภาวะเช่นนี้จึงมีความหมายเพียงการจัดซื้อจัดหา

หรือกระบวนการนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกครอบงำด้วย “ลัทธิจัดซื้อจัดหานิยม” ในกองทัพนั่นเอง