วอชเชอร์ : ต่อสู้กับอคติฝังหัว

การลุกขึ้นเคลื่อนไหวเรียกร้องที่นำโดยคนรุ่นใหม่ ที่กินเวลามากว่า 3 เดือน หรือถ้านับช่วงต้นปีด้วยก็รวมแล้วก็นานกว่า 5 เดือน ปัญหาที่สะสมทั้งการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด การคอรัปชั่นและการบริหารที่เต็มไปด้วยความหลงทิศหลงทาง

ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก รู้สึกวิตกกับอนาคตที่หดแคบจนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้ไปอีกหลายปีได้ยังไง

พวกเขาจึงไม่อยู่เฉยและรวมตัวต่อสู้ ด้วยการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม จนถึงขั้นด่าทอทั้งการพูดและภาษากาย ไปยังผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจที่ยึดมั่นกับวัฒนธรรมที่ว่าผู้น้อยไม่มีสิทธิ์ตั้งคำถาม วิจารณ์หรือทวงความถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา

ต่อการปฏิบัติ ความคิดและความเชื่อที่ฝังรากมานานว่า ‘ผู้ใหญ่ถูกเสมอ’ และ ‘หวังดีต่อลูกหลาน’

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ เห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำและเชื่อนั้นว่าเชื่องช้า ไม่ปรับตัวและไม่ก่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและทั่วถึง และที่สำคัญ ไม่รับฟังเสียงของพวกเขาว่าต้องการหรือไม่

การตั้งคำถามหรือส่งเสียงดังๆ จึงไปกระตุกความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคยของผู้ใหญ่หลายคนเมื่อต้องเจอเด็กล้อเลียน ด่าหรือตั้งคำถามที่สุภาพแต่ไม่เกรงใจ ก่อนจะตอบสนองกลับไปว่าเป็นการแสดงออกถึงความก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง ถูกหลอกใช้จากผู้อยู่เบื้องหลัง แข็งขืน กระด้างกระเดื่อง

ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนตอบโต้สิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อนด้วยอคติแบบฉับพลันกับยุคสมัยต่อไปว่าเป็น พวกพ่อแม่ไม่สั่งสอน พวกชังชาติ พวกทาสต่างชาติ หรือพวกล้มเจ้า 

 

นอกจากการแสดงออกทางการเมืองระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ที่กำลังงัดกัน และเห็นการตอบโต้อย่างหนักหน่วงด้วยการใช้น้ำผสมสารเคมีฉีดใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธในมือ นอกจากหมวก เสื้อกันฝันและมือเปล่า จนแสบผิวหรือหนักสุดเป็นแผลพุพอง เพียงเพื่อให้ได้รับความทรมานจนไม่ออกมาต่อต้านขัดขืนผู้ใหญ่ที่หวังดี

แม้แต่เรื่องเกี่ยวกับเพศและการเลือกปฏิบัติกับความหลากหลายที่ไทยยังคงมีวัฒนธรรมแบบปิตาธิปไตยและแข็งทื่อ ก็ถูกออกมาตีแผ่สู่สาธารณชน ไม่ว่าการเต้นสีดาลุยไฟ การตีแผ่เรื่องไม่รับเลือดกระเทยเพียงเพราะฝังหัวว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกสำส่อน หรือล่าสุดกับนักศึกษาหญิงที่ชูป้ายแสดงเชิงสัญลักษณ์ใจกลางสยาม เล่าเรื่องการถูกครูทำอนาจารสมัยเป็นนักเรียนมัธยม

แต่สิ่งที่สะท้อนออกมา กลับมีการแปะป้ายแบบอคติเพียงเพราะเป็นผู้หญิงว่า ให้ท่า แต่งตัวยั่ว ซึ่งผู้ชายแสดงความคิดเห็นแบบนี้ว่าแย่แล้ว แต่คำเหล่านี้ออกจากปากผู้หญิงด้วยกันเอง จะยิ่งแย่แค่ไหน และจากที่เห็นการแสดงความคิดเห็นแบบมีอคติตามสื่อโซเชียล น่าแปลกใจที่คนเหล่านี้ มักเข้าวัดฟังธรรมและเชิดชูความเป็นคนดีมีศีลธรรม

แต่กระนั้น การแสดงออกแบบด้วยอคติอันสกปรกต่อนักศึกษาหญิง ก็สร้างความไม่พอใจกับคนที่เห็นใจและคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องยุติการล่วงละเมิดทางเพศ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตอบโต้ด้วยวิธีการทางกฎหมาย 

 

การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยนอกจากยังคงคับแคบในความคิดทางการเมืองที่ไปถึงขั้นสะใจเวลาใครเจ็บหรือตายจนลืมเรื่องความเป็นมนุษย์แล้ว ยังคับแคบกับเร่ื่องเพศและวัฒนธรรมของการกดขี่ บีบบังคับ เลือกปฏิบัติและล่วงละเมิดทางเพศว่าเป็นสิ่งดีงาม

นี่จึงเป็นช่วงเวลาของการตีแผ่หลายสิ่งที่เป็นอยู่ว่า เป็นเรื่องจริงหรือแค่สร้างภาพเพื่อปกปิดสิ่งเลวร้าย

การต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายของคนรุ่นใหม่ ความท้าทายจึงไม่เพียงแค่ต้องเผชิญการตอบโต้ทางกายภาพจากผู้มีอำนาจที่ประเคนใส่เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สูญเสียอำนาจแล้ว ยังต้องเผชิญการตอบโต้จากอคติฝังหัว อันเป็นผลผลิตของการส่งต่อและทำซ้ำในชีวิตประจำวันจนเป็นวัฒนธรรมประเพณีซึ่งยากกว่ามาก

เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานและต่อเนื่องไปอีกทั้งชีวิต