ตื่นวัคซีนโควิด

เมื่อวานนี้บริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคเอสอี ประกาศต่อสื่อมวลชนว่าผลการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการทดลองพบว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ SARS CoV 2 (หรือที่เราเรียกอย่างไทย ๆ ว่าโควิดสิบเก้า) ในมนุษย์ได้ถึง 90% บริษัทกำลังรอผลการทดลองให้ครบถ้วนประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรจะขออนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้ได้เป็นกรณีฉุกเฉิน

ข่าวนี้นำมาซึ่งความยินดีปรีดาของผู้คนทั่วโลก โดยหวังว่าถ้ามีวัคซีนใช้แล้ว โควิดคงค่อย ๆ ถูกควบคุมได้ นอกจากจะป่วยตายน้อยลงแล้ว เศรษฐกิจของโลกก็คงจะดีขึ้นด้วย

 

แหะ ๆ ช้าก่อนครับ ยังมีปัญหาอีกหลายขั้นตอนกว่าจะไปถึงตรงนั้น

การทดลองขั้นต้นยังไม่ถึงจุดสรุป การวิเคราะห์ระหว่างการทดลอง หรือ ที่เรียกว่า interim analysis มีไว้สำหรับตรวจตราว่าจะต้องหยุดการทดลองกลางคันหรือไม่ ไม่ได้มีไว้สรุปว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่ก่อนกำหนด

การทดลองต้องมี “กลุ่มทดลอง” ที่ได้รับวัคซีนที่กำลังศึกษาจริง ๆ กับ “กลุ่มควบคุม” ที่ได้รับวัคซีนหลอก ๆ คือ บรรจุภัณฑ์ที่ดูเหมือนวัคซีน แต่ไม่ใช่วัคซีนที่กำลังทดลอง ข่าวไม่ได้บอกว่าวัคซีนหลอกในกรณีนี้เป็นอะไร นักวิจัยจะสุ่มเลือกว่าอาสาสมัครคนไหนจะได้วัคซีนประเภทใดด้วยคอมพิวเตอร์แล้วข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ ทั้งสองกลุ่มจะไม่รู้ว่าตนได้รับวัคซีนจริงหรือวัคซีนหลอก เนื่องจากทุกอย่างทำโดยวิธีสุ่มที่ไม่ลำเอียง และจำนวนอาสาสมัครมีมากถึงสี่หมื่นกว่าคน ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมก็จะมีพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อายุ เพศ ความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิดสูงพอ ๆ กัน เขาไม่เอาคนที่มีความเสี่ยงต่ำเข้าไปเป็นอาสาสมัคร เพราะไม่สามารถใช้ในการทดสอบว่าวัคซีนป้องกันได้จริงหรือเปล่า ประเทศไทยปัจจุบันควบคุมโควิดได้ดีความเสี่ยงต่ำจึงไม่มีการทดลองแบบนี้ในประเทศของเรา

หลังฉีดวัคซีนไปแล้วก็ติดตามอาสาสมัครเหล่านี้โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใครไปจนถึงกำหนดเวลาว่ามีอาสาสมัครป่วยด้วยโควิดมากพอ แล้วค่อยไปวิเคราะห์ว่าอาสาสมัครกลุ่มไหนป่วยมากกว่ากัน บริษัทคงกำหนดไว้เบื้องต้นว่าให้ป่วยครบ 94 คนเมื่อไหร่ก็จะเริ่มวิเคราะห์ ในการวิเคราะห์ช่วงแรกนี้ นักวิเคราะห์จะได้ข้อมูลพอที่จะรู้ว่าอาสาสมัครแต่ละกลุ่มติดเชื้อโควิดไปเท่าไหร่ แต่ก็ยังปิดบังตัวตนของอาสาสมัครไม่ควรจะรู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน

คำว่าป้องกันได้ 90% หมายความว่าถ้ากลุ่มได้รับวัคซีนปลอมป่วยร้อยคน กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงจะป่วยเพียงสิบคน ถ้าเดาด้วยการเทียบบัญญัติไตรยางค์ก็อาจจะคะเนได้ว่าใน 94 คนนั้น เป็นกลุ่มที่รับวัคซีนจริงอยู่หนึ่งในสิบเอ็ด คือ ประมาณแปดหรือเก้าคน แต่ตัวเลขจริงคงไม่ได้เป็นอย่างนี้ เพราะระยะเวลาที่ใช้ในการคำนวณความเสี่ยง (person-time at risk) สำหรับอาสาสมัครแต่ละคนต้องนับตั้งแต่วันที่เขาโดนฉีด ซึ่งทุกคนคงจะไม่ได้เริ่มต้นพร้อมกันทั่วโลก

สถิติได้ผลดีอย่างนี้แล้วจะต้องรอไปทำไม? คำตอบคือรอให้ได้ข้อมูลมากกว่านี้จะสรุปด้วยความมั่นใจมากกว่า บริษัทบอกว่าจะรอให้มีอาสาสมัครติดเชื้อให้ครบ 164 คนถึงจะสรุปการทดลองเบื้องต้นได้ดี ซึ่งคาดว่าปลายเดือนนี้รู้เรื่องแน่ ที่คาดว่ารู้เรื่องได้เร็วคงจะเป็นเพราะตอนนี้โควิดระบาดหนักในประเทศที่ทำการทดลองทั้งอเมริกาและยุโรป

ข้อจำกัดสำคัญของวัคซีนนี้ คือ ต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ๆ คือต่ำกว่า ลบ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องใช้ตู้แช่แข็งยิ่งยวด (ultra low temperature deep freezer) ตู้แช่แบบนี้หาได้ยากแม้กระทั่งในประเทศตะวันตก ถ้าเก็บได้เย็นอย่างนี้วัคซีนจะอยู่ได้ราว 6 เดือน ถ้าเก็บในช่องแช่น้ำแข็งของตู้เย็นก็อยู่ได้แค่ 4-5 วันถึงหนึ่งสัปดาห์ อเมริกาเองกำลังปวดหัวในการแก้ปัญหาตู้แช่นี้อยู่เหมือนกัน

 

กลับมาพิจารณาบ้านเรา จะต้องสนใจจองวัคซีนตัวนี้หรือยัง

ข่าวที่ว่าวัคซีนได้ผล 90% ประกาศออกไปโดยบริษัทได้ไม่กี่ชั่วโมงหุ้นของบริษัทและหุ้นอื่น ๆ ก็พุ่งปี๊ด แสดงอาการตื่นข่าว

เรื่องแบบนี้ต้องค่อย ๆ คิดให้ดี โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้ข่าวมีผลประโยชน์อยู่ด้วย

ประการแรก ประสิทธิผลและความปลอดภัยก็ยังไม่แน่ชัดเสียทีเดียว ผลการทดลองยังไม่ถึงที่สุดแล้ว ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอาจจะยังไม่ปรากฏในระยะแรก ผลการป้องกันอาจจะไม่ดีเมื่อเวลาผ่านไป อาจจะได้ต่ำกว่า 90% ที่เห็นได้ชัดว่ามีปัญหา คือ วัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งเคยผ่านการทดลองจนวางตลาดไปทั่วโลก แต่เอาเข้าจริง ๆ ฉีดไปแล้วอาการป่วยรุนแรงขึ้น จนต้องเลิกใช้วัคซีนตัวนั้น

ประการที่สอง ยังไม่แน่นอนว่าวัคซีนการป้องกันการติดเชื้อได้นานเพียงไร ต้องฉีดซ้ำอีกหรือไม่ เมื่อไร ถี่ห่างอย่างไร วัคซีนของบริษัทตัวนี้ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า m-RNA คำนี้ย่อมาจาก messenger RNA เป็นรหัสพันธุกรรมที่บริษัทสังเคราะห์ขึ้น ส่งถ่ายเข้าไปในตัว (ถึงภายในเซล) ของอาสาสมัคร เพื่อให้เซลของอาสาสมัครสร้างสารที่คล้าย ๆ บางส่วนของไวรัสคอยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เทคโนโลยีนี้ใหม่มาก ดูเหมือนว่ายังไม่มีวัคซีนในตลาดตัวใดที่ใช้เทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง ข้อดี คือ ลัดขั้นตอนการพัฒนาจากแบบเดิมได้เร็ว เพราะไม่ต้องไปเพาะเชื้อไวรัสแล้วทำให้อ่อนแอซึ่งอันตรายและเสียเวลามาก ถอดรหัสพันธุกรรมได้แล้วก็ออกแบบ m-RNA ทดลองกับสัตว์ว่าปลอดภัยแล้วทดลองกับมนุษย์ได้เลย แต่ข้อเสียคือความใหม่ของมันทำให้เรายังไม่รู้อะไรอีกมาก

ประการที่สาม เรื่องการเก็บและการขนถ่ายที่ต้องการความเย็นอย่างยิ่งยวด นอกจากการขนส่งจากโรงงานผลิตแล้ว การแจกจ่ายเก็บไว้ในประเทศไทยก็อาจจะยังทำไม่ได้

ถ้าเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาเจ้าของประเทศเอง โควิดกำลังระบาดหนัก ถ้าวัคซีนทดลองครบถ้วนตามแผนแล้วพบว่าใช้ได้ ก็คงต้องแก้ปัญหาเรื่องความเย็นอย่างยิ่งยวดเพื่อพิจารณาใช้อย่างฉุกเฉินอย่างที่บริษัทเขาเสนอ

แต่ประเทศไทยเป็นประเทศความเสี่ยงต่ำ เราไม่ได้ต้องการวัคซีนอย่างฉุกเฉิน รวมกับความไม่ชัดเจนข้างต้น เราจึงควรจะรอไปก่อน

ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าวัคซีนอีกหลาย ๆ ตัวจะค่อย ๆ ประกาศผล วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี m-RNA ที่คล้ายกันยี่ห้ออื่นส่วนหนึ่งไม่จำเป็นต้องเก็บภายใต้ความเย็นอย่างยิ่งยวดก็มีหลายยี่ห้อ แต่ยังไม่มีผลการทดลอง

สุดท้ายนี้ กว่าวัคซีนที่ได้ผลและปลอดภัยจริงจะมีใช้กันอย่างแพร่หลาย กว่าระบบสาธารณสุขทั่วโลกจะฉีดวัคซีนในประชากรของโลกได้ครบหลายพันล้านคนตามที่ต้องการ มากพอจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวอย่างเสรีกลับมาอีกครั้งหนึ่งเราคงต้องรอไปอีกนับปี

ระหว่างนี้ ไม่ควรชื่นชมกับข่าววัคซีนเพลินจนลืมไปว่าการป้องกันอย่างเข้มงวดช่วยลดปัญหาได้พอ ๆ กับวัคซีน ถ้าเราเผลอหละหลวมไป ปล่อยให้โควิดระบาด วัคซีนก็ยังไม่มีใช้ เราคงจะต้องกลับไปล็อคดาวน์บางส่วนกันอีกเหมือนที่ทางตะวันตกต้องกลับไปทำใหม่