สมศรี หาญอนันทสุข* : แพทย์หญิงที่คิดต่างต้องตกงาน แล้วคนไข้ที่คิดต่างจะตกเตียงหรือไม่

*สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส)

ประเทศไทยได้รับการชื่นชมไปทั่วโลกว่าวงการสาธารณสุขไทยสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้เป็นอันดับต้นๆของโลก สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนไทยและคนต่างชาติอย่างมาก นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเที่ยวไทย แต่ในขณะที่คนในประเทศยังกังวลว่าจะมีการระบาดรอบที่สอง แทนที่แพทย์ไทยบางคนจะให้ความสนใจกับการป้องกันโรค ทำหน้าที่ดูแลทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยอย่างเสมอภาค แต่กลับหมกมุ่นกับการเมืองคอยจับตาเล่นงานคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตน

หลังจากนายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ประกาศตัวชัดเจนเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองหลายปีก่อนว่าตนเองสนับสนุนฝ่ายใด ล่าสุดปรากฏการณ์ผ่านเฟซบุ๊กของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะที่แจ้งให้สาธารณชนทราบเมื่อหลายกลางเดือนตุลาตมที่ผ่านมาดังนี้ “ประกาศ รพ.มงกุฎวัฒนะ เรื่อง ไล่ออก พญ.จรัสดาว ริมพณิชยกิจ เนื่องจาก รพ.พระมงกุฎวัฒนะมีนโยบายชัดเจนไม่รับผู้ร่วมงานที่เป็นแนวร่วมขบวนการอริราชศัตรูและด้วยปรากฏว่า พญ.จรัสดาว  ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านโดยเป็น 1 ใน 386 แพทย์ที่เห็นว่าการสลายการชุมนุมอริราชศัตรูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ในคืนวันที่ 16 ต.ค.63 เป็นการใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่การสลายการชุมนุมนี้ เป็นการสลายการชุมนุมที่มีขั้นตอนเป็นลำดับ อย่างละมุนละม่อม ไม่ใช่ความรุนแรง ดังนั้นผมจึงไล่ พญ.จรัสดาว ริมพณิชยกิจ ในทันทีนับตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.63 เวลา 23.19 น. เป็นต้นไป”

ดูจะเป็นข่าวที่วงการแพทย์เห็นเป็นเรื่องเล็ก ไม่สำคัญ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวหากมีแพทย์แบบนี้อีกในโรงพยาบาลอื่นๆของประเทศ คงจะต้องถามหาหลักจรรยาบรรณวิชาชีพอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อแพทย์ทุกคนทราบดีว่าพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันเคยตรัสเรื่องจรรยาบรรณ โดยหวังประโยชน์ต่อพสกนิกรสูงสุด และให้แพทย์พึงสำนึกตัวเอง ดังคำที่พูดว่า ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง แต่ประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง

คุณธรรม 10 ประการ (จรรยาบรรณแพทย์) ที่เป็นอาภรณ์ประดับกายใจของแพทย์ทุกคนในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนต้องมี คือ  1. มีเมตตาจิตแก่คนไข้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ   2. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน 3. มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป 4. มีความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล   5. ไม่โลภเห็นแก่ลาภของผู้ป่วยแต่ฝ่ายเดียว  6. ไม่โอ้อวดวิชาความรู้ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ    7. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เผอเรอ มักง่าย   8. ไม่ลุอำนาจแก่อคติ 4 คือ ความลำเอียงด้วยความรัก  ความโกรธ ความกลัว ความหลง (โง่)  9. ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรม 8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อม   10. ไม่มีสันดานชอบความมัวเมาในหมู่อบายมุข

หากหมอเหรียญทองยึดถือได้อย่างเคร่งครัด เหตุการณ์ที่จะไล่ พญ.จรสดาว ริมพณิชยกิจ ออกจากงานคงจะไม่เกิดขึ้น เพราะท่านจะรับฟังเหตุผลอย่างมีเมตตาจิต ไม่ยกตนข่มท่านตามจรรยาบรรณข้อที่ 2  ท่านจะมีความสุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผลดังที่เขียนไว้ในข้อที่ 4  ไม่ลุแก่อำนาจแก่อคติในข้อที่ 8  และจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรมซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมได้อย่างที่ระบุไว้ในข้อที่ 9

การใช้อำนาจไล่ผู้เป็นแพทย์ด้วยกันออกจากงานอย่างง่ายดายเพียงเพราะไปลงชื่อร่วมเห็นอกเห็นใจเยาวชนที่ถูก ตชด.ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีฉีดไปที่ฝูงชนโดยไม่มีความจำเป็น เป็นเรื่องที่แพทย์ทุกคนควรออกมาห้ามปราบ เพราะไม่สมควรต้องมีเหตุการณ์สลายฝูงชนเกิดขึ้นเลย เนื่องจากเยาวชนที่ชุมนุมกันอย่างสันติปราศจากอาวุธประกาศชัดเจนว่าจะเลิกการชุมนุมเวลาใด ไม่มีการค้างคืน และจะไม่ใช้ความรุนแรง  มันไม่ใช่เรื่องของการบังคับใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักตามหลักสากล  แต่มันเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีไม่แม้แต่จะคิดให้ตำรวจตระเวนชายแดนต้องออกมาทำอะไรแบบนั้นเลย ซึ่งภาพที่ปรากฏออกไปทั่วโลกมันดูไม่ได้สัดส่วน เป็นเหตุเป็นผล เพราะฝ่ายรัฐมีรถฉีดน้ำทันสมัยศักยภาพสูงราคา 25 ล้าน กระทำต่อเยาวชนที่เอาร่มมาเป็นโล่กำบัง มันเทียบกันไม่ได้เลย  จึงไม่แปลกที่มีคำถามว่ารัฐบาลต้องการที่จะใช้สถานการณ์นี้มาทดสอบศักยภาพของรถคันใหม่หรือไม่ และใช้เงินภาษีมากมายขนาดนั้นเพื่อเอามาปราบปรามลูกหลานของเรากันเองเพื่ออะไร

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ดารา สื่อมวลชน นักกฎหมาย นักวิชาการ กับภาคประชาสังคม และคนทั่วไปจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งแน่นอนเหตุผลของหมอเหรียญทองจะเป็นเหตุผลอีกชุดหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาอธิบายอย่างแข็งขัน ได้ใจผู้ที่ให้ท้ายนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อไล่แพทย์หญิงคนหนึ่งออกจากงานเพื่อสังเวยอารมณ์ที่คุกรุ่นของแพทย์เจ้าของโรงพยาบาล จึงต้องถามหาจรรยาบรรณแพทย์ ที่แพทยสภา กับกระทรวงแรงงานที่ยังนิ่งเฉยอยู่

ที่ต้องเขียนเช่นนี้เนื่องจากสังคมจะไม่สามารถให้ความไว้วางใจหมอเหรียญทองได้เลยว่าอารมณ์เช่นนี้จะมีคนไข้ พนักงาน หรือคู่ค้าของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะได้อย่างไร ที่สำคัญคือจะมีผลต่อชีวิตผู้เข้ารับบริการหรือไม่ เช่นหากผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดหน้าโรงพยาบาลดังกล่าว หรือผู้ใกล้คลอด ที่ต้องเข้ารับความช่วยเหลืออย่างฉุกเฉิน ไม่สามารถไปที่อื่นได้ แล้วถ้าทราบว่าเป็นคนของฝ่ายการเมืองที่หมอชิงชังอยู่ขณะนี้ หมอจะรับเข้ารักษาอย่างปลอดภัยหรือไม่ จะมีการกลั่นแกล้งกันในระหว่างรักษาหรือไม่  มีหลักประกันอะไร

ท่านจะตอบอย่างไรเมื่อคณะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีแพทย์ร่วมลงนาม 1,008 คน เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ออกแถลงการณ์กรณีการใช้ความรุนแรงสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนและกลุ่มสมทบอื่น ๆ เรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐต่อผู้ชุมนุม เป็นการรับฟังอย่างสันติวิธี และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน ให้โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเป็นกลางทางการเมือง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งพึงได้รับของพลเมือง บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยและผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเสมอภาค การดูแลการชุมนุมต้องปฏิบัติตามหลักสากล มาตรการที่ใช้ควบคุมฝูงชนจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อมาถึงจุดนี้ ไม่ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองจะพัฒนาดีขึ้นหรือเลวลง ไม่ว่าจะมีการเปิดพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของสองฝ่ายหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ได้ทราบว่าในสังคมเรา มีหมอที่แสดงตัวละเมิดหลักจรรยาบรรณแพทย์ชัดเจนอยู่คนหนึ่งที่ได้รับการเชิดชูของคนกลุ่มใหญ่ ได้ใช้อำนาจทางธุรกิจไล่คนในวงการเดียวกันออกจากงานเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ไม่สนใจกฎหมายแรงงาน และหลักการสิทธิมนุษยชนใดๆ ผู้เขียนหวังว่าจะเป็นหมอคนเดียว และคนสุดท้ายที่ทำตัวน่าห่วงเช่นนี้  โดยหวังว่าทางกระทรวงแรงงาน และแพทย์สภา จะตรวจสอบโรงพยาบาลและเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว พร้อมทั้งมีหนังสือถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศให้คำนึงถึงหลักการสำคัญที่แพทย์และสถานพยาบาลต้องยึดถืออย่างทั่วถึงกัน