จักรกฤษณ์ สิริริน : “ออนเซน” จาก “นวัตกรรม” สู่ “วัฒนธรรม” ลดเสี่ยง “เบาหวาน”

James O”loghlin เจ้าของหนังสือ Innovation is a State of Mind : Simple Strategies to be More Innovative in Everything You Do ได้เชื่อมโยงคำว่า “นวัตกรรม” กับ “วัฒนธรรม” เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

James O”loghlin บอกว่า “หัวใจ” ของการสร้าง “นวัตกรรม” คือ “วัฒนธรรม”

“หนทางของการสร้างนวัตกรรมที่ดีที่สุด คือต้องทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในหัวใจของทุกคน และยกระดับกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้ขึ้นไปสู่การเป็นวัฒนธรรม”

เพียงเท่านี้ ความยากของการสร้างนวัตกรรม ก็จะกลายเป็นความง่ายโดยทันที James O”loghlin กระชุ่น

เนื่องจากหลายคนมักมองว่า นวัตกรรมต้องเป็นวิทยาการใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีล้ำสมัย แน่นอนว่า ย่อมเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปที่จะคิดค้นนวัตกรรมจากกรอบความคิดเช่นนั้น James O”loghlin กล่าว และว่า

“เพราะในบางครั้ง นวัตกรรมอันสุดแสนวิเศษ หาใช่วิทยาศาสตร์สุดล้ำ หรือวิศวกรรมนำยุค นวัตกรรมอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือธรรมดามากๆ ก็ได้ อาทิ ช้อนช่วยใส่รองเท้า หรือที่รีดหลอดยาสีฟัน”

มองกันเผินๆ ดูเหมือนว่า ทั้งช้อนช่วยใส่รองเท้า และทั้งที่รีดหลอดยาสีฟัน เป็นอุปกรณ์ที่เข้าใจได้ไม่ยาก ทว่า กว่าจะเป็นนวัตกรรมทั้งสองอย่างนี้ ไม่ใช่การคิดที่เกิดขึ้นแบบง่ายๆ

James O”loghlin ทิ้งท้ายว่า ให้หมั่นสั่งสม ฝึกฝน และสร้างสรรค์ “นิสัยนวัตกรรม” ให้เกิดขึ้น จนนวัตกรรมกลายเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน หรือ “วัฒนธรรม”

 

“ออนเซน” ก็เช่นเดียวกันครับ

“ออนเซน” เกิดจากการรวมศัพท์ 2 คำ คือ “อน” (?) ที่หมายถึง “ร้อน” กับ “เซง” (?) ซึ่งแปลว่า “น้ำพุ”

ดังนั้น ความหมายที่แท้จริงของ “ออนเซน” ก็คือ “น้ำพุร้อน”

ส่วน “การแช่น้ำร้อน” ที่เป็นวัฒนธรรมหนึ่งของญี่ปุ่น มีศัพท์แยกตามชนิดของ “บ่อน้ำร้อน” ออกไปอีก 2-3 คำ ไม่ว่าจะเป็น “โอะฟุโระ” หรืออ่างอาบน้ำในบ้าน “เซนโต” หรือโรงอาบน้ำสาธารณะ “โระเทมบุโระ” หรือบ่ออาบน้ำร้อนกลางแจ้ง

ทว่า คนในวงกว้าง มักเหมารวม เรียกการ “อาบน้ำร้อนแบบแช่ร่างกาย” ว่า “ออนเซน”

การเกิดขึ้นของ “วัฒนธรรมออนเซน” นั้น เป็นที่ทราบกันดี ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภูเขาไฟมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และที่มักตามมาเป็นธรรมชาติเลยก็คือ ต้องมีน้ำพุร้อนพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน

การค้นพบ “นวัตกรรมออนเซน” ของคนญี่ปุ่นโบราณ คือการทดลองลงไปแช่ในบ่อน้ำพุร้อน ที่นอกจากจะให้ความผ่อนคลายสบายตัวแล้ว ในภายหลัง พบกันว่า ในน้ำพุร้อนนั้นมีแร่ธาตุจำนวนมาก

โดยชนิดและปริมาณแร่ธาตุ ก็แยกไปตามภูมิภาคที่แตกต่าง ซึ่งว่ากันว่า ในญี่ปุ่นมีบ่อน้ำร้อนมากกว่า 100,000 แห่งเลยทีเดียว

ในส่วนสรรพคุณแร่ธาตุของบ่อน้ำพุร้อน ก็มีตั้งแต่ไฮโดรเจนคาร์บอเนต คุณสมบัติช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว ลดความดันโลหิต หรือซัลเฟต คุณสมบัติช่วยรักษาบาดแผล และรอยฟกช้ำ บรรเทาแผลไฟไหม้ โรคผิวหนังเรื้อรัง

หรือเรเดียม คุณสมบัติช่วยปรับลดกรดยูริกให้มีปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งช่วยคนที่เป็นโรคเกาต์ หรือธาตุเหล็ก คุณสมบัติช่วยรักษาโรคโลหิตจาง และประจำเดือนมาไม่ปกติ

หรือกรดบอริก คุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของรา และแบคทีเรีย ดังนั้น จึงมีสรรพคุณรักษาโรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังอักเสบ รวมถึงบำบัดโรคเกี่ยวกับสายตา หรืออัลคาไลน์ คุณสมบัติขจัดไขมันส่วนเกินออกจากผิว ทำให้ผิวเรียบเนียน ช่วยเคลือบผิว ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น และกระชับรูขุมขน

หรือกำมะถัน คุณสมบัติช่วยทำให้ผิวนุ่ม และช่วยบรรเทาอาการผิวหนังที่มีผดผื่นคัน รักษาสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความดัน และเบาหวาน

 

European Association for the Study of Diabetes หรือ “สมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาโรคเบาหวาน” ได้เปิดผลการวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุด ว่าการอาบน้ำร้อน จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเบาหวานได้

Dr. Hisayuki Katsuyama หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดโรคด้วยความร้อน เช่น การอาบน้ำ การแช่น้ำ หรือเซาน่า พบว่า สามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ลดไขมันในร่างกาย และน่าจะช่วยรักษาอาการป่วยของโรคเบาหวานได้อีกด้วย

สำหรับกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ Dr. Hisayuki Katsuyama เผยว่า ทางทีมวิจัยได้ทำการคัดสรรผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 1,300 คนมาเข้าโครงการวิจัยในโรงพยาบาลประจำเมืองอิจิคาวะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2018 จนถึงเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2019

โดยจะมีการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอาบน้ำร้อน อุณหภูมิของน้ำ ความถี่ในการอาบน้ำร้อน และระยะเวลาการแช่น้ำในแต่ละครั้ง รวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยในด้านการรักษาอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย

ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า ผู้ที่อาบน้ำร้อนบ่อยๆ จะมี BMI (Body Mass Index) หรือ “ดัชนีมวลกาย” ที่ดี หรือมีความสมดุลระหว่างน้ำหนักกับส่วนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการอาบน้ำร้อน ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำลง

ผลการวิจัยสรุปว่า การที่ร่างกายของมนุษย์สัมผัสกับความร้อน ผ่านการแช่น้ำร้อนเป็นประจำทุกวัน สามารถช่วยแก้ไขระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะความดันโลหิตสูง และปัญหาโรคอ้วนได้

แปลไทยเป็นไทยก็คือ “ออนเซน” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการบำบัดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้นั่นเอง

Dr. Hisayuki Katsuyama ปิดท้ายว่า การบำบัดโรคด้วยความร้อนวิธีนี้ คือการช่วยให้ความไวต่ออินซูลิน หรือ Insulin Sensitivity ของคนเรา ทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างสมดุลเกี่ยวกับระดับการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้อีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่า “ออนเซน” นั้น เริ่มจากการเป็น “นวัตกรรม” ที่ถูกค้นพบในยุคโบราณแล้ว โดยที่ต่อมา “ออนเซน” ได้รับการยกระดับขึ้นเป็น “วัฒนธรรม”

และในวันนี้ “ออนเซน” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการบำบัดโรคของบรรดาผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี Dr. Hisayuki Katsuyama ย้ำว่า การบำบัดด้วย “ออนเซน” นี้ ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก เนื่องจากรายงานวิจัยชิ้นนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ

ดังนั้น จึงต้องรอ Peer Review หรือคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสาธารณสุขพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินได้ว่างานวิจัยดังกล่าวสามารถเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ หรือ Dr. Hisayuki Katsuyama จะต้องนำกลับไปปรับปรุง แก้ไขในส่วนใดก่อนที่บรรณาธิการวารสารวิชาการจะอนุมัติให้ตีพิมพ์ได้

สุดท้าย ท้ายสุด การที่ “ออนเซน” กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการบำบัดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ดังกล่าวนี้ มีข้อแนะนำว่า การใช้ยาต่างๆ เพื่อรักษาโรค โดยเฉพาะเบาหวาน ยังคงมีความจำเป็นอยู่อย่างเข้มงวดเฉกเช่นเดิม

ควบคู่ไปกับการทำกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมประเภท และปริมาณอาหารการกินของผู้ป่วยเบาหวานตามที่แพทย์สั่ง รวมถึงการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถมีชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตได้ยาวนานขึ้นนั่นเอง