กรกฤษณ์ พรอินทร์ : การกลับมาของ “ปีศาจ” อมตะนิยายของสามัญชน

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนนี้วันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิส หรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก… โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน” – สาย สีมา : ปีศาจ

ถ้อยคำดังกล่าวของสาย สีมา ตัวละครเอกในนิยายปีศาจ จากปลายปากกาของเสนีย์ เสาวพงศ์ คงเป็นที่คุ้นเคยแก่คอวรรณกรรมกันเป็นอย่างดี

หรือต่อให้ไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้มาก่อน แต่ถ้อยคำทรงพลังที่กล่าวถึง “ปีศาจแห่งกาลเวลา” ก็น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาจากสื่อต่างๆ มาไม่มากก็น้อย

นี่คือฉากบนโต๊ะอาหารที่เป็นฉากเด่นของเรื่อง ที่ขมวดปมและสื่อสารโดยตรงแก่ผู้อ่านว่า ปีศาจ ที่เป็นชื่อนิยายเรื่องนี้คือใคร คือสิ่งใด และคอยหลอกหลอนผู้คนประเภทไหนในสังคม

ปีศาจ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2500 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง น่าประหลาดใจที่ว่า ประเด็นหลักของนิยายที่ว่าด้วยการปะทะกันของ “โลกเก่า” และ “โลกใหม่” ในสังคมไทย กลับไม่เคยล้าสมัย และสามารถนำมาอ่านซ้ำในสถานการณ์ปัจจุบันได้อีกครั้ง

นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราไม่เคยข้ามพ้นประเด็นดังกล่าวในตลอด 60 ปีที่ผ่านมา

 

ปีศาจแห่งกาลเวลา
ที่ข้ามพ้นยุคสมัย

การจะทำความเข้าใจปีศาจให้กระจ่างชัด คงต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่นิยายเรื่องนี้ได้ถือกำเนิด ในเวลานั้นเป็นช่วงปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 อันเป็นยุคสมัยของการแสวงหาของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ที่เฟื่องฟูในทศวรรษ 2490 และงานเขียนในยุค “ศิลปะเพื่อชีวิต” ของนักเขียนชาวไทยในช่วงทศวรรษ 2490

แน่นอนว่า ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ คือหนึ่งในหนังสือที่กลายเป็นวรรณกรรมยอดนิยมของคนหนุ่ม-สาวผู้ตื่นตัวและเร่าร้อนอยากเปลี่ยนแปลงสังคม มันถูกตีความและนำมาอ่านใหม่ จนกลายเป็นหนังสือขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516

ประจักษ์ ก้องกีรติ เขียนไว้ในบทความ “ปีศาจของกาลเวลา : การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ ในยุคแสวงหา” ในหนังสือ “84 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ ไฟยังเย็นในหัวใจ” ว่า หนังสือเล่มนี้คือ “หนังสือที่มาก่อนกาล” เพราะพูดถึงพลังของหนุ่ม-สาวในการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคที่ขบวนการของคนหนุ่ม-สาวยังไม่ปรากฏ และความตื่นตัวของจิตสำนึกยังซบเซา จึงเป็นหนังสือที่ผู้เขียนเขียนขึ้นมาจากความหวัง ความเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการฝันไปข้างหน้าว่าสักวัน “โลกใบใหม่” จะก่อตัวขึ้นที่เส้นขอบฟ้า… ไม่ว่าจะต้องอาศัยเวลายาวนานเท่าใดก็ตาม

กล่าวถึงที่สุด หนังสือเรื่องปีศาจ คือหนังสือที่ศรัทธาในพลังของกาลเวลา และกาลเวลานั่นเองที่ทำหน้าที่เป็นคำไขปริศนาทั้งหมด

ในแง่นี้งานประพันธ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์ มิใช่อะไรอื่น หากคือ “ปีศาจของกาลเวลา” นั่นเอง

 

ความหมายของปีศาจ

สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เขียนไว้ในบทบันทึกเสมือนคำนำสำนักพิมพ์ ในโอกาสที่ปีศาจถูกตีพิมพ์ครั้งใหม่ว่า เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยชี้ว่าคำว่า “ปีศาจ” ในนวนิยายเรื่องนี้ ตรงกับคำว่า Spectre ในภาษาอังกฤษ, ไม่ใช่ Ghost อย่างที่มักจะเข้าใจกัน

คำว่า Spectre นี้มีนัยประหวัดไปถึงการหวาดผวาต่อภัยพิบัติหรือปัญหาที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ในบริบทเดียวกันกับคำประกาศของชาวคณะคอมมิวนิสต์ (Manifesto of the Communist Party) ของคาร์ล มาร์กซ์ และเฟรเดอริก เองเกลส์ ที่คุ้นเคยกันว่า “ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป” (A spectre is haunting Europe)

ในช่วงเวลาที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้น กลุ่มคนอย่างท่านเจ้าคุณสามารถผงกหัวขึ้นมาได้บ้างจากการรัฐประหาร 2490 ไม่แปลกอะไรที่ในช่วงเวลาเหล่านี้เราจะได้ยินคำเหยียดราษฎรชั้นล่างว่าเป็นพวก “ตีนโต” แต่หากพร้อมกันนั้นเอง กาลเวลาก็สร้างคนรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกและเริ่มท้าทายค่านิยมเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ คนเหล่านี้เองคือ “ปีศาจ” ที่คอยหลอกหลอนท่านเจ้าคุณให้หวาดผวา

ท่านเจ้าคุณเกลียดและกลัวสาย สีมา ก็ด้วยนัยนี้ ไม่ใช่เพราะสาย สีมา คือ “ผี” ที่ไปปรากฏกายให้เห็นกลางวันแสกๆ แต่สาย สีมา คือคนรุ่นใหม่ที่มิได้สยบนบนอบต่อค่านิยมเก่า คือคนรุ่นใหม่ที่ท่านเจ้าคุณแม้จะเกลียดจะกลัวสักเท่าใดก็กำจัดไม่ได้

ในวันนั้นท่านเจ้าคุณทำลายปีศาจไม่ได้ ตรงกันข้าม ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ปีที่เขาปรากฏตัวขึ้นมา สาย สีมา ยังคงเป็น “ปีศาจ” แห่งกาลเวลา ยังคงเป็นปฏิมาที่คงกระพัน ขณะที่ท่านเจ้าคุณและบรรดาแขกเหรื่อร่วมชนชั้นที่มาในงานเลี้ยงวันนั้นมีแต่จะวอดสลายไปไม่ช้าก็เร็ว

 

การกลับมาของ “ปีศาจ”
อมตะนิยายของสามัญชน

ปีศาจ ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด ถูกตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ตลอดเวลาที่หนังสือเล่มนี้ห่างหายไปจากแผงหนังสือ สำนักพิมพ์มติชนถูกสอบถามเชิงรบเร้าถึงความต้องการของนักอ่านที่อยากจะครอบครองนวนิยายปีศาจอีกครั้ง

ด้วยเสียงเรียกร้องดังกล่าว สำนักพิมพ์มติชนขอเสนออมตะนิยายของสามัญชนเล่มสำคัญจากปลายปากกาเสนีย์ เสาวพงศ์ สู่บรรณพิภพอีกครั้ง ซึ่งในวาระการจัดพิมพ์ครั้งสำคัญนี้ สำนักพิมพ์มติชนได้รับเกียรติจากคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เป็นผู้เขียนบทบันทึกเสมือนคำนำสำนักพิมพ์ และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้เขียนคำนำเสนอ อีกทั้งยังได้นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจ หนึ่งในตัวแทนของคนรุ่นใหม่เป็นผู้ตีความและออกแบบปก “ปีศาจ” ฉบับปี 2563

“ปีศาจ” ฉบับนี้มาในรูปแบบหนังสือปกแข็ง เข้าเล่มเย็บกี่ สวมด้วยแจ๊กเก็ตอย่างประณีตสวยงาม ควรค่าแก่การสะสม ทั้งนี้ การจัดพิมพ์ครั้งนี้ยังคงข้อเขียน บทวิเคราะห์วิจารณ์ พร้อมภาพประกอบจากฉบับก่อนหน้าไว้ครบถ้วน เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา