“เราเปลี่ยนแปลงด้วยตัวคนเดียวไม่ได้” “แต่ทุกคนต้องร่วมใจ” “ศิวกรณ์ ทัศนศร” โฆษกข้ามเพศ องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์

การออกมาชุมนุมตามท้องถนนและสถานที่สาธารณะของคนรุ่นใหม่จำนวนมากและทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงสำหรับสังคมไทย และยิ่งคาดไม่ถึงไปอีก หากเห็นภาพรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ถูกเรียกว่า ทุกคนคือแกนนำ มีพื้นที่แสดงออกของตัวเองในท่ามกลางการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ลานสามกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ จนถึงแยกราชประสงค์กรุงเทพฯ

ไม่เพียงคนรุ่นใหม่ที่ก้าวออกมานำและดึงคนหลากวัยมาร่วม ยังดึงคนหลากกลุ่มหรืออัตลักษณ์ อย่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาแสดงตัวและเดินนำการเคลื่อนไหว ร่วมส่งเสียงถึง “ความเปลี่ยนแปลง” เพื่อทั้งตัวเองควรได้และทุกคนควรได้ด้วย

หลากความต้องการที่ถูกนำเสนอ ได้มุ่งสู่สิ่งเดียวกันคือ “ถ้าการเมืองดี” และถ้าดีขึ้นได้ ความต้องการเหล่านี้ล้วนเป็นไปได้

 

“รัฐธรรมนูญ” จุดเริ่มต้นของวันนี้

ศิวกรณ์ ทัศนศร หรือบัซซี่ นักศึกษาข้ามเพศ (ทรานซ์) จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในสังคมมหาวิทยาลัยด้วยการพลิกโฉมงานดาว-เดือนมหาวิทยาลัยที่มักผลิตซ้ำภาพของหนุ่มหล่อ-สาวสวย มาเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสังคม (Thammasat Progressives Movement) ที่ก้าวข้ามกำแพงของเพศและภาพลักษณ์ ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ปัจจุบัน บัซซี่ได้มาเป็นโฆษกประจำองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีวาทศิลป์อันแพรวพราวแต่มีพลัง และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ขอร่วมเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมและการเมืองที่ดีกับคนรุ่นใหม่จำนวนมากด้วย

บัซซี่เผยจุดเริ่มต้นที่สนใจประเด็นการเมือง สังคมจนออกมาแสดงตัวอยากขอเปลี่ยนแปลงว่า เกิดขึ้นเพราะเปิดกูเกิลอ่านรัฐธรรมนูญเล่น ว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศนี้คืออะไร พยายามเขียนบอกอะไร

เลื่อนอ่านไปสักพักจนถึงหน้า 8 จนพบความผิดปกติและไม่เป็นธรรม นั้นคือ ม.27 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพที่จะได้รับคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ประโยคนี้ทำเอากระตุกเลยว่า แล้วถ้าฉันไม่ใช่ผู้ชาย-ผู้หญิง หรือเป็นกึ่งๆ ล่ะจะเป็นยังไง ประกอบกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เลวร้ายว่าออกมาได้ยังไง

ถ้าย้อนกลับไปในอดีต การเมืองแทบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ดูได้จากคุณยายเป็นเฟมินิสต์ ที่ออกมาพูดไม่สนับสนุนความรุนแรงต่อผู้หญิงและมีบทบาทนำ ที่บ้านดูการเมืองทุกวัน จนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

ส่วนเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศนั้น บัซซี่กล่าวว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่เด็ก เรารู้สึกว่าเล่นกับผู้หญิงตลอด แม้มีเพื่อนผู้ชายแต่กลับถูกดูแลว่าเป็นผู้หญิงตลอด ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไม อาจเป็นเพราะอ้อนแอ้นรึเปล่า หรืออาจเพราะตอนเป็นเด็ก เราบอกว่าเราเป็นผู้หญิง แต่สวมนักเรียนชายเลยฟังไม่ขึ้น

ตั้งแต่จำความได้ มีอยู่ข้อหนึ่งในช่วงเข้าโรงเรียน เลยถามแม่ว่า “ทำไมเราไม่ใส่ชุดเหมือนเพื่อนผู้หญิง” แม่ก็ตอบว่า “เพราะเราเป็นผู้ชาย” ทำให้รู้สึกว่าทำไมต้องเป็นผู้ชาย ทำไมเราถึงเลือกไม่ได้ เกิดเป็นคำถามขึ้นมา อาจดูเว่อร์แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดคำถามนี้

เส้นทางความเป็นการเมือง ตั้งแต่เป็นประถม คือเรารู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง เพราะรู้สึกว่าเพศเป็นสิ่งที่เลือกได้ ทุกอย่างขึ้นกับเราไม่ใช่ใครกำหนดกรอบ เลยสนใจการเมืองและนำไปสู่การเลือกตั้งประธานนักเรียน เรามีโอกาสเข้าเป็นโฆษก และมีลีลาการพูดที่ร้อนแรงในเวลานั้น

พอเข้าชั้นมัธยม เราเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในโรงเรียนที่ผลักดันเรื่อง LGBT เราไม่ได้เล่นการเมืองเชิงกลยุทธ์ แต่เน้นนโยบาย และนโยบายเราตอบโจทย์นักเรียนทุกคน จนชนะการเลือกตั้ง

แต่สุดท้ายโดนปลดเพราะนโยบายบางอย่างไม่สอดคล้องกับโรงเรียน เช่น คุณเป็นตุ๊ดแต่ก็ไว้ทรงผมแบบผู้ชาย เป็นผู้หญิงก็ไว้ติ่งหูหรือผูกเปีย ทำให้เกิดปัญหาและถูกปลดในที่สุด

บอกได้เลยว่า การทำงานการเมืองช่วงเรียนมัธยมคือสนุกที่สุด โดยเฉพาะช่วงหาเสียง ส่วนหนึ่งคือโจมตีโรงเรียน เพราะกฎเกณฑ์ ทั้งที่เป็นโรงเรียนเอกชนกลับมีกฎเหมือนโรงเรียนในกระทรวง ทำไมที่จะต้องโอเวอร์กับกฎเกณฑ์

จริงๆ เราเป็นคนเรียบร้อย แต่จะสื่อแทนผ่านการเจาะหู ใส่กางเกงขาสั้นโคร่มๆ แบบวินเทจ แน่นอนว่าผิดกฎโรงเรียน แต่ดูผลการเรียนเราสิ ดูการบริหารโรงเรียน ทันสมัยมากขึ้นแค่ไหน นักเรียนได้รับสิทธิอะไร

เป็นเด็กที่ไม่ได้รักโรงเรียน แต่รักนักเรียน เพราะเราได้รับเลือกจากนักเรียน เราควรรักษาสิทธิของนักเรียนก่อน นำไปสู่การเซ็นลาออกจากการเป็นประธานนักเรียน

แม้เศร้าใจ แต่ก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราสู้ต่อ

เราต้องเป็นคนคุมเกม ไม่ใช่รัฐบาล

บัซซี่เผยว่า หลายสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง ได้ตกผลึกให้กับตัวเองมาก นั่งคิดว่าอุดมการณ์ของเราจริงๆ แล้ว คือการทบทวนตัวเอง เรารู้ว่าเราต้องการอะไร เราต้องการการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น คนเราควรมีสิทธิเท่ากันทุกคน จึงไขว่คว้าหาอ่านกลไกต่างๆ ว่า รัฐบาลจะพยายามเล่นอะไรกับเรา เราก็พยายามตอบโต้

บางครั้งเราต้องเป็นคนคุมเกม ไม่ใช่ให้รัฐบาลคุมอย่างเดียว นี่ทำให้สนุก เราได้ตกผลึกทั้งคนร่วมอุดมการณ์ คนที่เข้ามาและออกไป เพราะอุดมการณ์เราแรงจริง

เราไม่ใช่เป็นนักการเมืองแค่ออกมาพูดว่าฉันทำงานการเมือง แต่เราต้องการนักการเมืองที่เปลี่ยนแปลงสังคมจริงๆ มากกว่าทำงานไปวันๆ และในฐานะนักศึกษาก็สามารถวัดได้ว่าเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

เมื่อเลือกเส้นทางนี้ย่อมหนีไม่พ้นแรงเสียดทาน บัซซี่ยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้มแข็ง แต่ไม่ต้องมาถี่ก็ได้ คือ จะบอกว่า อย่าพยายามต่อต้านความหลากหลาย อย่าพยายามต่อต้านหรือกดหัวประชาชน เพราะสุดท้ายคุณจะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นรัฐบาลรัฐประหารที่ล้มเหลวเพราะไม่ฟังเสียงประชาชน คุณกดหัวประชาชนเพราะสังเกตได้จากรัฐธรรมนูญ เมื่อใดที่ระบุมีการแต่งตั้ง เมื่อนั้นเสียงของประชาชนไม่มีความหมาย

ดังนั้น อย่าปฏิเสธประชาชน เพราะว่าประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

นอกจากบัซซี่ที่ออกมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีกว่า ยังมีคนรุ่นใหม่วัยเดียวกันออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงด้วย

บัซซี่กล่าวอย่างชื่นชมว่า รู้สึกดีมาก เราดีใจที่คนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อนบางส่วนเข้าใจเรา นี่เป็นนิมิตหมายที่ดี นี่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่นักศึกษา แต่ยังรวมถึงประชาชนทุกกลุ่มชั้น นั่นหมายความว่า โลกาภิวัตน์กับกลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มเยาวชน แต่ยังรวมถึงคนทุกวัย ทุกคนเห็นด้วยกับเรา

เชื่อได้ว่า ถ้ามีเลือกตั้งใหม่ ฝั่งที่ออกมาเรียกร้องก็ชนะ ผิดกับมวลชนฝั่งสนับสนุนรัฐบาลที่มีส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์ถูกบังคับให้เข้าร่วม แต่คนมาร่วมชุมนุมคนรุ่นใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์หลากหลาย ดึงทุกคนเข้าร่วม

ถ้ามีการเลือกตั้งอีกครั้งมาจากรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ฉบับนี้ ปีกเสรีนิยมยังไงก็ชนะ

 

“พื้นที่ทางการ” เขตหวงห้ามความหลากหลายแห่งเดียวในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ภาวะการแบ่งขั้วทางการเมืองที่เกิดขึ้น บ่งชี้ภาพสะท้อนว่าสังคมไทยเปิดกว้างทางความคิดจริงหรือไม่ บัซซี่มองว่า ภาควัฒนธรรม ประชาสังคม นั้นเปิดกว้าง แต่สิ่งเดียวที่ไม่เปิดคือภาครัฐ โครงสร้าง องค์กรทางการเมืองภาครัฐ ยังไม่เปิด มีคนหัวเก่าคร่ำครึนั่งบริหารประเทศ ทั้งที่ควรอยู่ในพิพิธภัณฑ์

เราคิดว่าเขาที่มีแนวคิดบางอย่างต่อต้านคนหลากหลายทางเพศหรือหัวเสรี เพราะอยากรักษาอำนาจ เพราะฉะนั้น พูดยากมากว่ายังไง แต่รู้สึกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เราควรปฏิบัติต่อไปยังไง

ดังนั้น ต้องไปแก้ไขที่พื้นที่ทางการหรือโครงสร้าง ถ้าไม่แก้ เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลง รัฐสภา มี ส.ว.เข้ามา ส.ส.ร่างมติก็โดนปัดตก ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลนี้ต้องการยืดเวลาในความเป็นเขาให้นานที่สุด พร้อมกับทำลายบางกลุ่ม

‘ผู้หญิงปลดแอก’ เซฟโซนของบัซซี่

‘ผู้หญิงปลดแอก’ ปรากฎชื่อแทบพร้อมกับการชุมนุมทางการเมืองของเยาวชนครั้งใหม่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่ออกมาผลักดันบทบาทของสตรีและ LGBTQ+ มากขึ้น พร้อมรณรงค์เชิงนโยบายที่ส่งเสริมบทบาทและสิทธิของผู้หญิงทั้งการทำแท้งเสรีและการค้าประเวณีของผู้หญิงบริการให้ถูกกฎหมายพร้อมมีสวัสดิการรองรับ บัซซี่กล่าวถึงความประทับใจจนเข้าร่วมกับกลุ่มนี้ว่า ผู้หญิงปลดแอกไม่ปฏิเสธคนข้ามเพศ(ทรานซ์) พวกเขาน่ารัก

จากการติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมไม่นานมานี้ จะมีกลุ่มที่แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกที่เน้นเพศสภาวะเชิงชีววิทยา ชัดๆคือ ปฏิเสธกลุ่มข้ามเพศ จำกัดด้วยนิยามคือ ‘เทิร์ฟ'(TERF- trans-exclusionary radical feminist) หรือ สตรีนิยมหัวรุนแรงที่กีดกันบุคคลข้ามเพศ ยอมรับได้กับเกย์หรือทอม แต่กีดกันผู้ชายที่ข้ามเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงข้ามมาเป็นผู้ชาย ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมหรือการปลอมแปลงที่นำไปสู่การกระทำความผิด เป็นต้น กรณีโด่งดังที่เกิดขึ้นภายใต้นิยามนี้ คือ เจ.เค.โรว์ลิ่ง เจ้าของผลงานแฮรี่ พอตเตอร์

กับอีกกลุ่มที่ยึดมั่นในอัตลักษณ์ทางเพศเป็น LGBTQ+ แบบที่ผู้หญิงปลดแอกเป็น ที่บัซซี่ค่อนข้างเห็นตรงกัน ประกอบกับการเติบโตในบ้านที่ผู้หญิงมีบทบาทนำทั้งหน้าที่การงานและการดูแลครอบครัว ตั้งแต่ยาย คุณป้าและคุณแม่ที่ต่อสู้เรื่องการศึกษาจนเรียนจบปริญญาโท

บัซซี่กล่าวด้วยว่า อีกสิ่งที่สำคัญที่เราอยากมีบทบาททลายกำแพงทางเพศ คือการเป็นกระเทยคนแรกที่นั่งรัฐมนตรีกลาโหม ฟังดูอาจยากและตัวเองจริงจังมาก แต่ตอนนี้ศึกษาบทบาทของกองทัพ และปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเพศในกองทัพ ก็มั่นใจว่าสามารถแก้ไขได้

“เคยคุยกับเพื่อนว่า ถ้าวันหนึ่งได้นั่งรัฐมนตรีกลาโหม จะจัดการอะไรบ้าง แต่ขออุบไว้ก่อน เดี๋ยวมีคนทำตาม” บัซซี่กล่าวถึงความฝันสูงสุดด้วยความตื่นเต้น

 

รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ รูปธรรมของการไม่ฟังเสียงของประชาชน

บัซซี่กล่าวถึงรัฐบาลปัจจุบันว่า หลายปีที่ผ่านมา เราเห็นอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น โอเคบางคนชอบรัฐบาลนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่จากสิ่งที่เราเห็นโดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 อย่างเรื่องสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งที่ตัวเองไม่โอเคอย่างมากตั้งแต่เลือกตั้งแล้ว ซึ่งส.ว.แต่งตั้งทั้ง 3 ประเภท ทั้งจาก คสช.คัดเองโดยตรง จากกต.สรรหาตามกลุ่มอาชีพและคสช.คัดรอบสุดท้าย และจากขรก.โดยตำแหน่ง ไม่นับรวมวิปรัฐบาล เรียกว่า ฝ่ายค้านไม่มีอะไรเลย เรียกว่าโหวตในญัตติอะไร วุฒิสภาแต่งตั้งมีบทบาทตลอด นำไปสู่คำถามที่ว่า 5 ปีแรก ส.ว.มาจากแต่งตั้งร่วมกับสภา มีอำนาจต่อรองฝ่ายการเมืองได้ ไม่นับรวมกติกาเลือกตั้งสุดพิลึก เกิดบัตรเขย่ง

ขอถามกลับว่า รัฐบาลชุดนี้ฟังเสียงประชาชนจริงๆหรือเปล่า?

ส.ว.ชุดนี้มีบทบาททางการเมืองมาก นี่เป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลฟังเสียงประชาชนจริงหรือ ก็ไม่ แบบนี้ก็ต้องถามด้วยว่า

เรายังจะเอากับรัฐบาลชุดนี้อยู่อีกหรือเปล่า?

‘ม็อบคนรุ่นใหม่’ ถึง ‘คณะราษฎร’ ความหวังใหม่การเมืองไทย?

เมื่อถามถึงการลุกขึ้นรวมตัวขับไล่รัฐบาลของเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ออกมานำการชุมนุมหลายจุดทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด บัซซี่มองว่าเป็นความหวัง เราต้องอยู่ได้ด้วยความหวัง เพราะเมื่อมองตัวเองก็เป็นคนที่ต่อสู้มาตลอดและอุทิศตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลง

สมมติว่าถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เราเองก็คงรู้สึกแย่ แต่ทั้งชีวิตของตัวเองที่สู้มาตลอด ไม่เคยคิดว่าการต่อสู้ของตัวเองนั้นไร้ประโยชน์ ทุกการต่อสู้ล้วนมีความหมายเสมอ ม็อบที่เกิดขึ้นมากมาย เห็นถึงความตั้งใจของทุกคน แม้แต่ตัวเองก็มีส่วนร่วมในนั้นด้วยเช่นกัน เลยทำให้รู้สึกว่าเรายอมต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะเห็นคนออกมามากมายขนาดนี้ เราก็ควรออกมาต่อสู้ ไม่ว่าผลลัพธ์ออกมายังไง เราก็ต้องสู้ แต่สิ่งที่เราต่อสู้คือการต่อสู้อย่างสันติ ใช้สันติวิธี

เคยอ่านงานเขียนของอองซาน ซูจี (นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและมุขมนตรีของพม่า) ก็พูดถึงการต่อสู้อย่างสงบและสันติ คนรอบข้างซูจีถูกรัฐบาลเผด็จการทหารสังหาร ล้มตายกันหลายคน แต่ซูจียังใช้หลักการสันติ มีความเคียดแค้นแต่เขายังใช้ปัญญา นั้นถึงเรียกว่า สันติ-อหิงสา แม้เราจะไม่ได้ชื่นชอบเท่าไหร่ เราก็รู้สึกว่านั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้และก็ยังใช้อยู่ เราเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างต้องจบที่การเจรจา

ถ้ารัฐบาลตั้งใจฟังเราซักนิด ตั้งใจที่จะเปิดใจฟังเราจริงๆ ก็จะไม่นำมาสู่การลงถนนแบบนี้ รวมถึงโครงสร้างต่างๆมากมาย การเอาผิดเพื่อนฉันทุกคนเข้าคุก คุณก็รู้อยู่แล้วว่า รุ้ง-ปนัสยา,เพนกวิน-พริษฐ์ นัท-ณัฐชนนท์ (แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) นำมาสู่การที่ประชาชนทุกคนจะลุกฮือขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมของคุณ แต่คุณก็ยังทำ เท่ากับคุณตั้งใจที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่ การสลายการชุมนุมก็เป็นบทพิสูจน์ตัวคุณอยู่แล้ว นั้นทำให้เรารู้สึกไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลนี้

ดังนั้นการที่เราออกมาพูด ออกมาต่อสู้ แน่นอนว่าเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ใช่ การก่อม็อบอาจก่อความไม่สะดวก สัญจรลำบาก มีทางเลี่ยงอีกมากมาย แต่คุณตั้งใจเปิดรับฟังจริงๆ สงครามครั้งนี้จะอยู่ที่การเจรจา ตั้งโต๊ะเจรจา คุณรัฐบาลก็จะได้ซีนสวยๆเลย แต่เขาอยากตั้งโต๊ะเจรจาไหมในเมื่อมีการสลายการชุมนุม เชื่อไหมวันนั้น(เหตุสลายแยกปทุมวัน) เพื่อนดิฉันหลายคนแสบตา ไม่มีน้ำล้าง(ตา) ต้องทนอยู่อย่างนั้น จนตาเพื่อนแดงก่ำ สุดท้ายฉันต้องพาเพื่อนไปโรงพยาบาล

คือทำให้ฉันรู้สึกว่า รัฐบาลยังไม่ห่วงสุขภาพประชาชน บางคนโดนฉีดน้ำแรงสูงจนล้ม เป็นเรื่องรุนแรงและผิดกติกาสากล

 

สื่อสารการปฏิรูปสถาบันฯฉบับเข้าใจง่าย (ไม่ใช่เจตนาล้มล้าง)

แนวทาง 3 ข้อที่คณะราษฎร 2563 ผลักดันจนเป็นธงหลักของการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของนักเรียน-นักศึกษาและประชาชนที่รวมตัวชุมนุมในนาม คณะราษฎรและกลุ่มปลดแอกหลายจังหวัด คือ รัฐบาลประยุทธ์ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ข้อที่ 3 กลับได้ปลุกกระแสความเกลียดชังและวาทกรรม “ล้มล้าง-จาบจ้วง” จากฝ่ายรอยัลลิสต์-ฟาสซิสต์ ซึ่งสนับสนุนรัฐบาล  ออกมารวมตัวโดยมีเอกลักษณ์คือเสื้อสีเหลือง

บัซซี่ กล่าวถึงการสื่อสารต่อข้อเสนอดังกล่าวว่า เอาจริงๆเลย เราไม่ใช่คนล้มเจ้า แน่นอนเราเคารพ(สถาบันกษัตริย์)ตามรัฐธรรมนูญ เพราะความเป็นประมุขของรัฐ เราให้ความเคารพ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการให้เกิดขึ้นคือ การตรวจสอบ ซึ่งเป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย สามารถวิพากษ์วิจารณ์ เข้าใจว่าการวิจารณ์มีทั้งดีและไม่ดี เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ถ้าดีจริงก็ดีอยู่แล้ว เป็นการพิสูจน์ตรวจสอบ เราจึงคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าจะออกมาพูดหรือรณรงค์ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะออกมาเป็นเสียงซุบซิบนินทา แต่เป็นเพียงเสียงเล็กๆ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นคำนินทา ดังนั้น เราควรพูดด้วยหลักการและเหตุผลดีกว่า ซึ่งเป็นการลดเสียงซุบซิบนินทา

บางครั้ง การไม่พูดอะไรเลยหรือห้ามประชาชนพูด เป็นการลิดรอนสิทธิจนเกินไป มีเพลงๆหนึ่งออกมาช่วงนี้ว่า “ถ้าไม่ให้พูด แล้วดีจริงหรือเปล่า” เรามองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะพูดถึงได้บนหลักการและเหตุผล

อย่างไรก็ตาม บัซซี่กล่าวด้วยว่า ถ้าเกิดการสื่อสารแบบนี้ไม่สำเร็จจริงๆ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนจริงๆ เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทุกอย่างก็เป็นบทสรุปให้คุณพิสูจน์ตัวเองมาอยู่เนืองๆว่ารัฐบาลจัดการยังไงกับประชาชน ไม่ใช่ประชาชนจำนวนน้อย หลักร้อย หลักพันแต่เป็นหลักแสนหรือหลักล้าน

“ถ้าไม่พูดในวันนี้ เราจะพูดวันไหน ทำไมไม่ทำเรื่องที่ทุกคนฉงนสงสัย ให้คลี่คลายลงได้ แล้วจะดีด้วยซ้ำ เราไม่รู้ว่าพวกเขาคิดอะไรกันอยู่ แต่เรารู้กันอยู่ว่า ควรให้นายกรัฐมนตรีออกไป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใหม่ขึ้นมา และยิ่งดีถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือน เพราะรัฐบาลพลเรือนจะไม่ทำร้ายเรา แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร อย่างที่เราสู้กันอยู่ เราต้องปกป้องตัวเอง อย่าดื้อกับประชาชนเลย เพราะพวกเขาฉลาดกว่าคุณ”

 

การเปลี่ยนแปลงไร้ความรุนแรง ทำได้?

เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นที่มีไม่น้อยที่นำไปสู่การใช้รุนแรง เช่นกรณีการเผชิญหน้ากันจนเกิดความรุนแรงในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่การเปลี่ยนแปลงสามารถก้าวข้ามความรุนแรงได้หรือไม่ บัซซี่กล่าวว่า การยุติความรุนแรงหรือไม่ให้เกิดความรุนแรง คือ การเจรจา ส่วนตัวเป็นคนชอบเทคนิคทางการทูต เพราะว่าคุณจะเจรจาอย่างไรให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทำยังไงให้สงครามยุติลง

สงครามโลกที่เคยเกิดขึ้น ทำคนล้มตายไปมาก ความเสียหายมหาศาล ต้องจ่ายเท่าไหร่ในการเยียวยาประเทศ สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงได้คือการตั้งโต๊ะเจรจา อะไรได้-ไม่ได้ ถกเถียงด้วยเหตุผล ถ้ารัฐบาลทำได้ก็เป็นที่ครองใจของใครหลายคน แต่ก็ยังใช้ความรุนแรง เข้าใจว่าสัญชาตญาณเดิม ด้วยเคยเป็นทหารหรือบางทีทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ นั่งเป็นรัฐมนตรี นั่งเป็นรัฐบาล นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีอาวุธ อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สั่งกองทัพใช้กำลังกับประชาชนเมื่อไหร่ก็ได้ การใช้ความรุนแรงของกลุ่มมวลชนที่อ้างว่าตัวเองรักสถาบันฯ ตีกลุ่มเยาวชนหรือกลุ่มที่ออกมาพูดถึงประชาธิปไตย โดนตีด้วยข้อหาล้มล้างสถาบัน ทั้งๆที่พวกเขาก็ไม่ได้ล้มล้าง คนที่ออกมาเรียกร้องล้วนหวังดีทั้งนั้น เคยเห็นคุณลุงคนหนึ่งชูรูปตรงแถวรังสิต พูดได้เลยว่าไม่มีเยาวชนคนไหน พูดจาถากถางหรือไปทำร้ายเขา แต่กลับกัน เราเพียงยืนชูสามนิ้ว ยืนชูที่ใดที่หนึ่งแล้ว กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็พร้อมตีได้ทุกเมื่อ แน่นอนอาจไม่ใช่ทุกคน แต่ภาพที่เห็นคือใช่

วันนั้น (14 ตุลาคม 2563) ไปในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยกล่าวงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาที่สี่แยกคอกวัว แล้วจะไปม็อบสนุกๆ แต่ไปเห็นภาพการปะทะกัน เป็นภาพความรุนแรงที่รู้สึกแย่มาก ไม่ควรเป็นแบบนี้ ถ้าพวกคุณบอกว่ารักสถาบันฯก็ไม่ควรก่อความรุนแรง คลิปว่อนโซเชียลมีเดียว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองรุมทำร้ายคนที่ออกมาเรียกร้องประชาชน เราไม่อยากมองว่าคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อสีไหน ออกมาใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

เพราะมีแต่ความสูญเสีย วอนขอรัฐบาลตั้งโต๊ะรัฐบาลซะทีคะ

 

ทั้งนี้ บัซซี่ยังฝากความถึงคนที่ร่วมเส้นทางเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าว่า สิ่งหนึ่งที่อยากบอกทุกคน คือเราต้องสู้ไปด้วยกัน ร่วมสร้างโดยสันติ เราไม่อยากให้คนร่วมอุดมการณ์กับเรา ถูกคุมขังหรือถูกคุกคามอีกต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือต้องร่วมมือกัน ฉันคนเดียวทำไม่ได้ คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำคนเดียวไม่ได้ เยาวชนปลดแอกหรือแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ทำคนเดียวไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือร่วมมือกัน

ขอบอกว่าเราจะเดินหน้าเต็มกำลัง จนกว่าจะได้การเปลี่ยนแปลงนี้กลับมา