Cool Tech : ยุคทองที่พ้นผ่านของเฟซบุ๊ก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
ที่มา : facebooknewsroom

เรารู้กันอยู่แล้วล่ะว่าปัจจุบันนี้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมหาศาล แต่คุณผู้อ่านพอจะเดาถูกไหมคะว่าที่มหาศาลเนี่ยมันแค่ไหน

ตัวเลขล่าสุดที่รายงานออกมาคืออยู่ที่ 1.9 พันล้าน ฟังดูเยอะแต่ก็อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเท่ากับการลองมาเปรียบเทียบดูว่าโลกเราทั้งใบมีคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทั้งหมด 3.4 พันล้านคนทั่วโลก (นับเป็น 40% ของประชากรโลกทั้งหมดค่ะ)

1.9 พันล้าน จาก 3.4 พันล้าน เป็นตัวเลขที่น่าทึ่งมากเลยใช่ไหมละคะ ตั้ง 57% ของโลกออนไลน์เชียวนะ

แน่นอนว่าผู้ใช้เยอะ เงินก็น่าจะต้องเยอะตามไปด้วย

ในช่วงไตรมาสแรกเฟซบุ๊กสามารถทำผลกำไรไปได้ 3.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากรายได้รวมทั้งหมด 8.03 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหัวเรือใหญ่ของบริษัทอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ก็ออกมากล่าวขอบคุณยกใหญ่ไปแล้ว

ในแง่ของการสร้างรายได้ เฟซบุ๊กอาจจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ลดลงในปีนี้เนื่องจากปัญหาว่าตอนนี้โซเชียลมีเดียรายใหญ่แห่งนี้แทบจะไม่มีพื้นที่เหลือให้โพสต์โฆษณาอีกแล้ว (เรียกว่าอัดไปเต็มแม็กว่างั้น)

และอีกปัญหาที่น่าเป็นห่วงก็คือความมั่นใจของนักลงทุนที่ลดลงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนบนเฟซบุ๊ก

ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ “นักฆ่าเฟซบุ๊ก” โพสต์วิดีโอตัวเองเดินลงไปยิงคนแปลกหน้าเสียชีวิตบนถนน จนนำไปสู่การไล่ล่าตัวทั่วประเทศ

ไปจนถึงเรื่องที่เกิดในบ้านเราที่ชายคนหนึ่งใช้ฟีเจอร์เฟซบุ๊กไลฟ์ในการถ่ายทอดสดตัวเองสังหารลูกสาวอย่างเลือดเย็นและฆ่าตัวตายตาม

ซึ่งทั้งหมดนี้เฟซบุ๊กถูกตำหนิอย่างแรงว่าทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลชุมชนไม่ดีพอ ปล่อยให้มีการเผยแพร่คอนเทนต์รุนแรงเหล่านี้เป็นเวลานานกว่าจะยื่นมือเข้ามาจัดการ

ในที่สุดเฟซบุ๊กก็อยู่นิ่งไม่ไหว ต้องออกมาประกาศกร้าวว่าจะเพิ่มกำลังคนอีก 3,000 คนเพื่อเข้ามาจัดการคอนเทนต์ความรุนแรงโดยเฉพาะ

 

เมื่อรายได้จากการโฆษณาดูจะไม่โตไปมากกว่านี้สักเท่าไหร่ เฟซบุ๊กก็เลยต้องหันไปใช้โมเดลของการลงทุนในด้านอื่นๆ แทน อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ

แม้จะเกิดปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา แต่เฟซบุ๊กก็ยังมีรากฐานแข็งแรงที่มาจากการรวมคนจำนวนมากให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันได้อย่างพร้อมเพรียง ทำให้นี่กลายเป็นที่ที่ทุกคนต้องแวะเข้ามาหากยังอยากอยู่ในลูปและรู้เรื่องว่าคนอื่นๆ เขาคุยเรื่องอะไรกันอยู่บ้าง

แต่ในยุคที่ตัวเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ และคนเริ่มเอือมระอากับบางสิ่งบางอย่างบนเฟซบุ๊ก จะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างในอนาคต

หัวข้อน่าสนใจที่ซู่ชิงอยากหยิบมาคุยกันวันนี้ ไม่ใช่เฟซบุ๊กจะตายเมื่อไหร่นะคะ

แต่มาลองคิดกันดูว่า เอ๊ะ แล้วเฟซบุ๊กถือว่าพ้นยุคทองช่วงไพรม์ไปแล้วหรือยังต่างหาก

 

Global Web Index หรือ GWI ทำการสำรวจผู้ใช้เว็บทั้งหมด 350,000 รายทั่วโลก เพื่อพยายามทำความเข้าใจถึงเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนไป และได้ค้นพบว่าผู้ใช้งานก็ยังใช้เฟซบุ๊กอยู่นั่นแหละ แต่พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กได้เปลี่ยนไปแล้ว

ผู้ใช้เว็บอายุ 25 ปีขึ้นไปบอกว่าพวกเขาใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดตามข่าวสารและใช้ในการติดต่อกับเพื่อน มากกว่าที่จะใช้ในการโพสต์เรื่องราว แสดงความคิดเห็น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์บนเฟซบุ๊ก

พูดง่ายๆ ก็คือ เข้าไปส่อง แต่ไม่ค่อยอยากจะโพสต์หรือมีส่วนร่วมกับอะไรสักเท่าไหร่

กลุ่มคนอายุ 16-24 ปี มีมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มองว่าเฟซบุ๊กเป็นแค่วิธีฆ่าเวลาวิธีหนึ่ง

GWI ยังพบอีกว่า 94% ของคนยุคดิจิตอลที่อยู่ในวัย 16-64 ปี มีชื่อบัญชีของตัวเองบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่เทรนด์ที่กำลังเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ คือการมีตัวตนอยู่บนหลายโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในปี 2012 ตัวเลขเฉลี่ยของโซเชียลมีเดียที่คนนิยมใช้งานอยู่ที่สามบัญชี (ซึ่งรวมถึงบริการส่งข้อความด้วย) แต่ทุกวันนี้ตัวเลขเฉลี่ยนั้นกระโดดขึ้นไปอยู่ที่แปดแล้ว

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเราจะสลับโซเชียลมีเดียที่เราใช้ไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ที่เราต้องการนั่นเอง

ซู่ชิงก็เลยลองสำรวจตัวเองว่าเข้าข่ายนั้นด้วยหรือเปล่า เวลาที่ต้องการเช็กอัพเดตจากเพื่อนๆ หรือครอบครัวก็จะเปิดเฟซบุ๊ก (1)

ถ้าต้องการติดตามอ่านข่าวสารแบบมาเร็วเคลมเร็วหรือดูมุขอะไรตลกๆ สั้นๆ ก็ต้องทวิตเตอร์ (2)

อยากเห็นภาพของคนในแวดวงตัวเองแต่ไม่อยากอ่านข้อความเยอะ ปวดหัว ก็อินสตาแกรม (3)

อยากดูภาพสวยๆ จากคนอื่นๆ อีกทั่วโลกที่ไม่รู้จักเพื่อเอามาเป็นไอเดียหรือแรงบันดาลใจก็พินเทอร์เรสต์ (4)

อยากแชตกับเพื่อนหรือแม้กระทั่งคุยเรื่องงานแน่นอนว่าต้องไลน์ (5)

ถ้าเพื่อนอยู่ต่างประเทศไม่ใช้ไลน์ก็ต้องหันไปหาวอตส์แอพ (6)

หรือถ้าคุยกับคนติดเฟซบุ๊กก็ควรเลือกใช้เฟซบุ๊ก เมสเซ็นเจอร์ (7)

หรือบางทีเบื่อๆ อยากเห็นหน้าผู้คนที่อยู่ในรัศมีรอบตัวก็เปิดทินเดอร์ซะเลย (8)

เอาเข้าจริงๆ นี่ก็ยังไม่หมดนะคะ ยังไปต่อได้อีก

 

ที่มา : facebooknewsroom

ในหลายๆ ประเทศ (ที่ยังไม่ใช่ประเทศไทย) ตัวดึงความสนใจของผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ใช้วัยรุ่น ให้ออกห่างจากเฟซบุ๊กก็เห็นจะเป็นสแน็พแชตนี่แหละค่ะ

โซเชียลมีเดียเจ้านี้ฮิตเสียจนยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กต้องกลัวและเตะตัดขาด้วยการลอกฟีเจอร์เด่นของสแน็พแชตให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มตัวเองเสียเลย ง่ายดี

แต่ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในการลอกสักเท่าไหร่ และสแน็พแชตก็ได้ใจของผู้ใช้วัย 16-20 ปีไปครองแล้วเรียบร้อย

แล้วซู่ชิงมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร เฟซบุ๊กก็น่าจะยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ยังไงก็ตามคนส่วนใหญ่ก็อาจจะยังต้องเข้าไปเช็กอย่างน้อยวันละครั้งสองครั้งเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของเฟรนด์ลิสต์ของเรา

แต่คนน่าจะเริ่มเบื่อเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ และมองหาโซเชียลมีเดียทางเลือกที่เน้นความสนใจเฉพาะด้าน ให้เราได้แวดล้อมตัวเองไปด้วยคนอื่นๆ บนโลกที่มีความสนใจเดียวกับเราได้มากขึ้น

แม้แต่ซู่ชิงเองก็ยังเคยนึกอยากปิดเฟซบุ๊กให้รู้แล้วรู้รอดแล้วหาที่อยู่ใหม่ที่ไม่วุ่นวายโฉ่งฉ่างเท่าเฟซบุ๊กในตอนนี้เลยค่ะ

คุณผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร แวะเข้ามาแลกเปลี่ยนไอเดียได้บนเฟซบุ๊กซู่ชิงนะคะ (ฮา)