จักรกฤษณ์ สิริริน : คาเฟ่คนทุกข์

เรารักกัน อยู่ด้วยกันสองคน

เพราะความจน ต่างดิ้นรนหางาน

เธอได้งานเด่น เป็นนักร้องอยู่ห้องอาหาร

ส่วนฉันได้งาน งานทำบ้าน เป็นกรรมกร

เรารักกัน อยู่ด้วยกันหลายปี

ไม่เคยมี สิ่งไม่ดีเหมือนก่อน

เธอร้องเพลงอยู่ เธอก็รู้ว่าฉันอาทร

ก่อนฉันเข้านอน ยังคิดอาวรณ์ห่วงเธอ

มาวันหนึ่ง ฉันบึ่งเข้าห้องอาหาร

เพื่อรับเธอกลับบ้าน วันนั้นฉันจึงได้เจอ

มีแขกใจใหญ่ คล้องมาลัยให้เธอ

สุดท้ายเล่าเออ เธอก็เห่อ ตามเขาไป

ความรักเอย ก็เลยเป็นน้ำตา

เสียเวลา ต้องกลับมาเสียใจ

มองเห็นคาเฟ่ ใจฉันเขว อกสั่นขวัญหาย

ปวดร้าวทรวงใน ยังเสียวหัวใจไม่ลืม

 

ความหมายของ “คาเฟ่” ในบ้านเรา ช่วงหนึ่ง ห่างไกลกับคำว่า Cafe ที่คนทั้งโลกเข้าใจ

เพลง “เสียน้ำตาที่คาเฟ่” งานประพันธ์ของ “ณพนรรจ์ ขวัญประภา” ขับร้องโดย “ศรเพชร ศรสุพรรณ” ได้สะท้อนภาพ “คาเฟ่” แบบไทยๆ ได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าในยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เข้าใจความหมายของ Cafe ตรงตามความจริงมากขึ้น คือไม่ใช่ “คาเฟ่” ในภาพจำแบบเดิมๆ ที่มีลักษณะไนต์คลับ

แต่ Cafe คือ “ร้านกาแฟ”

พูดถึง “คาเฟ่” แล้ว มี Cafe แห่งหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

“คาเฟ่” แห่งนี้มีชื่อว่า Death Cafe ซึ่งผมขอเรียกว่า “คาเฟ่คนทุกข์”

 

“คาเฟ่คนทุกข์” ได้รับแรงบันดาลใจจาก Cafe Mortel ของ Bernard Crettaz นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชาวสวิส

Cafe Mortel ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2004 ที่เมือง Neuch?tel ประเทศ Switzerland เพื่อใช้เป็นสถานที่พบปะ เพื่อพูดคุย ผ่อนคลาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประเด็นปัญหาชีวิต และปรับทุกข์กันตามอัตภาพ

Cafe Mortel โด่งดังแบบปากต่อปากในเวลารวดเร็ว และแพร่หลายไปในหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ

นำโดย Jon Underwood ผู้ชื่นชอบแนวคิด Cafe Mortel ของ Bernard Crettaz เป็นอย่างมาก

เขาจึงนำ Cafe Mortel มาสร้างเป็น “คาเฟ่” ในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา ตั้งชื่อว่า Death Cafe เมื่อปี ค.ศ.2011 ที่กรุง London

Concept “คาเฟ่คนทุกข์” ของ Jon Underwood มีอยู่ว่า At a Death Cafe people gather to eat cake, drink tea, and discuss death.

ณ “คาเฟ่คนทุกข์” แห่งนี้ เราจะมาชิมเค้ก จิบน้ำชา และนั่งคุยกับความตายด้วยกัน!

Nancy Gershman นักจิตบำบัดชาวสหรัฐ ซึ่งเชี่ยวชาญการเยียวยาความโศกเศร้าและสูญเสีย บอกว่า เธอชื่นชอบ Death Cafe เป็นอย่างมาก ในความหมายของสถานที่บรรเทาทุกข์

“คาเฟ่คนทุกข์ คือแหล่งพบปะกันของเหล่าคนแปลกหน้า เพื่อเปิดอกพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย ในฐานะที่ว่า เรื่องความตายนี้ เราไม่อาจคุยกับใครหน้าไหน หรือจะคุยที่ไหนแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้” Nancy Gershman กระชุ่น

“เพราะประเด็นเกี่ยวกับความตายนั้น เราไม่สามารถพูดคุยที่บ้านกับคนในครอบครัว กับเพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศ หรือกับเพื่อนสนิท แบบทุกที่ ทุกเวลาได้ แต่สำหรับที่ Death Cafe เราทำได้” Nancy Gershman กล่าว และว่า

“การเกิดขึ้นของ Death Cafe จึงถือเป็นสถานีบรรเทาทุกข์ อันจะนำไปสู่การเยียวยาความโศกเศร้าและสูญเสียได้เป็นอย่างดี” Nancy Gershman สรุป

 

แม้ว่า Jon Underwood ผู้ก่อตั้ง “คาเฟ่คนทุกข์” จะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 ทว่าปัจจุบัน ภรรยาของเขายังคงสานต่อปณิธาน และเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ https://deathcafe.com ตามเจตนารมณ์ของ Jon Underwood อย่างต่อเนื่อง

“คาเฟ่คนทุกข์” ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ Jon Underwood นั้น ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์บรรเทาความเศร้าโศก และความสูญเสีย

ให้ “คนทุกข์” ได้เข้ามาระบายความรู้สึกและพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ https://deathcafe.com ของเขา

สนับสนุนให้เกิดการ “คิดบวก” เกี่ยวกับความตาย สร้างโอกาสให้ผู้คนได้มาพบปะพูดคุย เปิดใจกันเกี่ยวกับความเศร้าโศก อาการเจ็บป่วย และความสูญเสียอย่างเปิดเผย

ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหรือเยียวยาความทุกข์นั้นๆ โดยตรง

เพราะ “คาเฟ่คนทุกข์” เกิดขึ้นและดำรงอยู่ เพื่อเป็นช่องทางสำหรับการแบ่งปันกำลังใจ และสมานแผลใจซึ่งกันและกัน ผ่านการพูดคุย ปลอบประโลมจิตวิญญาณ ในหมู่ “คนทุกข์” ด้วยกัน

และแม้ว่าคนที่ “ไม่มีความทุกข์” แต่อยากเข้ามาพบปะด้วย ทาง “คาเฟ่คนทุกข์” ก็จะอนุญาตให้สามารถเข้าร่วมได้ตลอดเวลา

โดย “คาเฟ่คนทุกข์” จะกำหนดจำนวนสมาชิกที่จะเปิดให้มาพบปะกันประมาณคราวละไม่เกิน 30 คน ต่อการสังสรรค์เดือนละหนึ่งครั้ง

 

ยกตัวอย่างสมาชิกหนุ่ม-สาวคู่หนึ่งของ “คาเฟ่คนทุกข์”

ฝ่ายชายเล่าว่า หลังจากภรรยาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เขาไม่ยอมเก็บข้าวของของเธอเป็นเวลานานถึง 6 เดือน ทิ้งทุกอย่างไว้เช่นนั้นอย่างเดิมทุกประการ หลังจากเข้ามาที่ Death Cafe เขารู้สึกดีขึ้นมาก

สมาชิกหญิงอีกคนผู้ผ่านการปลูกถ่ายหัวใจ หลังจากเข้า “คาเฟ่คนทุกข์” จิตใจเธอดีขึ้นมาก จึงตัดสินใจไม่เข้ารับการผ่าตัดรอบที่สอง แม้หัวใจที่เธอรับบริจาคเมื่อ 30 ปีก่อนได้เสื่อมสภาพลงก็ตาม

Jen Carl เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วม “คาเฟ่คนทุกข์” ผ่านโปรแกรมประชุมทางไกลอย่าง Zoom เธอเล่าว่า อยู่มาวันหนึ่ง ความทรงจำที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 10 ปีก็หวนกลับมา

“ภาพพ่อของฉัน ที่ติดทั้งสุราและเสพยาเสพติดได้ลอยซ้อนขึ้นมา แม้ท่านจะเสียชีวิตไปเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วก็ตาม” Jen Carl สำทับ

หลังจากเข้าร่วม “คาเฟ่คนทุกข์” ฉันพบว่า มีเพื่อนจำนวนมากที่พร้อมรับฟังเรื่องราวของผู้อื่น ปลอบประโลมใจซึ่งกันและกันด้วยมิตรภาพ และมีไมตรีจิต Jen Carl กล่าว และว่า

“การแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ในคาเฟ่คนทุกข์ ช่วยให้ฉันรู้สึกดีขึ้น สงบ และโล่งใจ เมื่อได้อยู่ท่ามกลางผู้คนที่กำลังพูดถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตจริง” Jen Carl สรุป

 

แม้จะได้รับความนิยมตั้งแต่เปิดตัวในปี ค.ศ.2011 ทว่า “คาเฟ่คนทุกข์” กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งในช่วงที่ COVID-19 ระบาด

Marissa Oliver สาววัย 35 ผู้ติดเชื้อ COVID-19 บอกว่า ช่วงที่ป่วยใหม่ๆ รู้สึกขวัญเสียเป็นอย่างมาก

“นอกจากจะหายใจได้อย่างยากลำบากแล้ว ช่วงที่อาการกำเริบ ยังต้องนอนซมอยู่บนเตียงนิ่งๆ นานถึง 14 วัน”

Marissa Oliver บอกต่อไปว่า ตอนนั้นเธอกลัวตายมาก แต่หลังจากเข้ามาที่ https://deathcafe.com เธอกลับพบว่า ที่แห่งนี้ ไม่มีใครแสดงอาการหวาดกลัวออกมาให้เห็นเลย

“ตอนแรกฉันคิดว่า การสนทนาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย ความหวาดกลัว และความวิตกกังวล หรือความตาย คงไม่ใช่เรื่องง่าย” Marissa Oliver กล่าว และว่า

“แต่หลังจากทดลองเปิดอกคุย ตอนนี้ฉันสบายใจขึ้นมาก และลงมือจดบันทึก เขียนทุกสิ่งลงไป โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องการจะทำให้สำเร็จในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่” Marissa Oliver กล่าวทิ้งท้าย