44 ปี 6 ตุลา 19 : “แขวน” มองย้อนเหตุนองเลือดด้วยเทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่ตื่นรู้

คนรุ่นหลังได้ขนานนามชื่อล่าสุดว่า “วันสังหารหมู่ธรรมศาสตร์” หรือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ที่ทุกวันนี้ทางการยังไม่พูดถึงและเนื้อหาดังกล่าวถูกบรรจุในหนังสือเรียนน้อยมาก

แม้ผ่านมาถึง 44 ปี ซึ่งในระยะแรกญาติผู้สูญเสียและผู้ผ่านการล้อมปราบครั้งนั้นได้เพียงแต่จัดพิธีทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลและรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ส่วนเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจจริงจัง จะออกมาบันทึกเรื่องราวและเผยแพร่ออกมา แต่การสร้างความตระหนักถึงขั้นเขย่าสังคมกลับไม่เป็นตามที่คาดหวัง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยคนหนุ่ม-สาวรุ่นนี้ที่กังวลและไม่ทนต่อการบริหารตลอด 6 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากผู้นำการรัฐประหารสู่ผู้นำประเทศ พร้อมกับพลังเทคโนโลยีดิจิตอลที่ทำให้เกิดการหาความรู้ครั้งใหญ่บนโลกออนไลน์ที่การเซ็นเซอร์โดยรัฐแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว

เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่คนรุ่นใหม่สนใจ เข้าไปขวนขวายค้นหาว่าเหตุใดไม่เคยถูกพูดถึงอย่างลึกถึงแก่น ซึ่งนำไปสู่การเติมเต็มสิ่งที่ถูกทำให้หายหรือตัดขาดจากการรับรู้ของสังคมไทย

 

กระแสค้นหาบนโลกออนไลน์และความกระหายใคร่รู้จากแหล่งข้อมูลที่รัฐไม่เคยเปิดเผยออกมา และการนำเสนอที่กระตุ้นความสนใจตามยุคสมัย จึงเป็นโจทย์ให้กับ “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” ต้องจัดนิทรรศการที่แตกต่างแต่เข้าใจง่าย และเพื่อเข้าคอนเซ็ปต์ของเรื่องที่ยังคงถูก “แขวน” โดยรัฐ และภาพ “แขวนคอคนตาย” ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้าย ได้กลายเป็นนิทรรศการในวาระครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 19 ที่ชื่อว่า “แขวน”

นิทรรศการ “แขวน” ใช้พื้นที่ส่วนโถงหน้าและชั้นลอยของหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นพื้นที่จัดแสดง

ซึ่งที่แห่งนี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์นองเลือดด้วย

พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน

โดยส่วนแรกคือ ประตูทางเข้างาน มีป้ายข้อความตรงพื้นก่อนขึ้นบันไดเข้าหอประชุมใหญ่ ระบุตำแหน่งที่ “กมล แก้วไทรไทย” เสียชีวิตจากกระสุนปืนในวัย 19 ปีและศพถูกลากไปแขวนไว้ใต้ต้นมะขามฝั่งสนามหลวงร่วมกับศพอีก 3-4 รายติดกัน

เมื่อขึ้นบันไดไป มาจุดตรงประตูทางเข้าหลัก ทางผู้จัดงานได้นำประตูอันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวคือบานประตูเหล็กสีแดงของจริงในสภาพทรุดโทรม ซึ่งเมื่อก่อนถูกใช้แขวนคอนายชุมพร ทุมไมย และนายวิชัย เกษศรีพงศ์ษา 2 พนักงานการไฟฟ้านครปฐมเมื่อกันยายน 2519 และเป็นลูกเล่นของผู้จัดนิทรรศการที่นำเทคโนโลยี AR (Augmented reality) หรือการใช้เทคโนโลยีผสานโลกเสมือนกับโลกจริงเข้าด้วยกันมาใช้เพื่อเล่าเรื่องผ่านฉาก สิ่งของที่เกี่ยวกับเหตุการณ์

เมื่อนำแท็บเล็ตมาชูบริเวณประตูแดง จะปรากฏภาพจำลองของนายชุมพรและนายวิชัยที่ถูกแขวนคอปรากฏขึ้น ซึ่งผู้จัดตั้งปรับค่าทั้งสมจริงและแบบถมดำเพื่อเซ็นเซอร์ความรุนแรงสำหรับผู้ชมที่เป็นเยาวชนด้วย

พร้อมกับเสียงเพลง “ต้นมะขามสนามหลวง” ร้องโดยวงไฟเย็น เคล้าอารมณ์ชวนหดหู่

 

จากนั้น ภายในโถงหลักของหอประชุมใหญ่ ส่วนที่ 2 คือฉากของสนามหลวงในยุคปัจจุบัน โดยมีส่วนจัดแสดงผ่าน AR ด้วย 3 จุด เมื่อชูแท็บเล็ตไปยังฉากจะปรากฏภาพร่างคนถูกแขวนคอซึ่งตรงกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ถูกมวลชนฝ่ายขวานำร่างไร้วิญญาณมาแขวนคอใต้ต้นมะขาม และร่วมประชาทัณฑ์ศพ

มีผู้ชมหลากหลายวัย ทั้งมาเดี่ยว มาเป็นกลุ่มก๊วนหรือครอบครัว ต่างรับชมผ่าน AR ด้วยความสนใจ ให้เห็นจุดที่วิชิตชัย อมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คุณกมล คุณปรีชา แซ่เฮีย และศพไม่ทราบชื่อ 2 ราย ถูกแขวนอยู่

ในจำนวนแท็บเล็ตที่ใช้รับชม จะมีตัวหนึ่งเมื่อชูทาบกับฉากแล้ว จะปรากฏเสียงของวิทยุยานเกราะวนซ้ำๆ

ปลุกระดมชวนประชาชนมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมาฆ่าคนญวน หรือก็คือนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ถูกใส่ร้ายโดยรัฐ

 

ส่วนที่ 3 คือส่วนแสดงภาพเหตุการณ์การเมืองไทยชื่อ “ก่อน 6 ตุลา 19” ที่เล่าบริบทการเมืองโลกที่เชื่อมโยงกับการเมืองไทยว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวละครอย่างฝ่ายรัฐ และสหรัฐอเมริกาที่ใช้ไทยเป็นฐานต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผ่านการทำสงครามโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน

พวกเขามีส่วนอย่างไรต่อการสร้างการรับรู้ของสังคมไทยจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมการเมืองที่พยายามถูกทำให้ลืมโดยรัฐ

จากนั้นในชั้นลอยฝั่งซ้าย จะจัดแสดงภาพที่ถูกกล่าวขวัญและเป็นตัวแทนของเรื่องราวอันโหดร้ายอีกด้านของสังคมไทยที่ถูกถ่ายโดยนีล อุลเลวิช นักข่าวเอพีในเวลานั้น พร้อมกับจุดแสดงภาพ AR ไปยังสนามหลวง ซึ่งมองจากหอประชุมใหญ่จะเห็นภาพมวลชนรุมล้อมศพถูกแขวนอยู่ ซึ่งเป็นศพเดียวกันกับที่นีลถ่ายไว้

ศพชายคนหนึ่งที่ทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าชื่ออะไร?

 

ถัดมาคือโถงชั้นสองของหอประชุมใหญ่ จัดแสดงภาพเหตุการณ์ที่ชื่อ “ต่างความคิด ผิดถึงตาย” เล่าเหตุการณ์ในช่วงกันยายน 2519 จนถึงการล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แสดงภาพการทารุณกรรมต่อผู้ชุมนุมอย่างผิดมนุษย์โดยมวลชนฝ่ายขวา กำลังเจ้าหน้าที่และอาวุธหนักที่ใช้ในการเข้าปราบปราม

จากนั้นในส่วนจัดแสดงชั้นลอยฝั่งสนามฟุตบอล มีจุดฉายภาพ AR ส่องไปยังสนามฟุตบอล ฉายภาพมวลชนฝ่ายขวาใช้ผ้าพันคอลูกเสือผูกคอร่างไร้วิญญาณของจารุพงศ์ ทองสินธุ์ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์แล้วถูกลากอยู่บริเวณนั้น และยังมีจัดแสดงเสื้อและชุด รด.ของจารุพงศ์ รวมถึงบันทึกของบิดาของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ที่มีเนื้อหาแสดงความคิดถึงลูกชายอันเป็นที่รัก

ในส่วนสุดท้ายคือ แผนที่โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และผู้รอดชีวิตตั้งใจทำคือการสร้างพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยแสดงแบบจำลอง ปรับปรุงให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นสถานศึกษาและยังเป็นพิพิธภัณฑ์บนสถานที่เกิดเหตุ (On-site Museum) โดยมีจุดแสดงแต่ละตำแหน่งพร้อมกับสอดแทรกเรื่องราวเบื้องหลังที่เกิดขึ้น

ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอ ที่ยังต้องรอเงินทุนก่อสร้างจำนวนมหาศาลและความยินยอมอย่างเต็มใจจากรัฐและมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้เป็นบทเรียนกับสังคมไทย

 

ด้านผู้ชมท่านหนึ่ง เปิดเผยหลังชมนิทรรศการว่า เคยศึกษามาหลายปี เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ถูกทำให้ลืมโดยสังคมไทยเอง จึงออกมาค้นคว้า โดยการรับรู้แรกๆ ที่เข้าใจคือ การใส่ร้ายป้ายสีผู้ชุมนุมว่าประทุษร้ายต่อสถาบันหลักของไทย แต่หลังจากร่วมชมนิทรรศการก็เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งเอกสารที่ไม่สามารถค้นคว้าได้เองก็ถูกจัดแสดง และยังจุดประกายเพื่อค้นหามากขึ้น

ส่วนผู้ชมอีกท่านได้กล่าวหลังรับชม AR ว่า รู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มีการสังหารหมู่ที่ไม่ได้ถูกบรรจุลงในหนังสือเรียน มีคนเสียชีวิตเยอะมากแต่ทำไมรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาฯ ถึงไม่บันทึกเหตุการณ์นี้ พอยิ่งเห็นกองทัพบกรำลึกพระองค์เจ้าบวรเดช ยิ่งรู้สึกว่าพวกเขาแสดงออกชัดเจนว่ากองทัพไม่ได้อยู่ข้างประชาชน จึงมาทบทวนเรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น

“ส่วนที่ได้รับชม อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทุกปีมีการพูดถึง 6 ตุลา 19 แต่ไม่ได้มีความตื่นตัวที่อยากค้นหา ซึ่งงานนี้จะทำให้ทุกคนกลับมาสนใจ” ผู้ชมนิทรรศการกล่าว

กฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์และตัวแทนกลุ่มโดมรวมใจซึ่งร่วมผลักดันให้เกิดนิทรรศการนี้กล่าวว่า งานนี้มีคนรุ่นใหม่อายุน้อยมาชมมากขึ้น อายุผู้ชมเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีลงมา เราพยายามเน้นไปที่คนรุ่นใหม่ ถ้าจะพิสูจน์ความจริงก็ต้องเอาข้อเท็จจริงมาให้พวกเขา แล้วให้พวกเขาคิดและตัดสินใจเอง

กฤษฎางค์ยังกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่ตั้งประเด็นเหตุการณ์นี้บนโลกออนไลน์ว่า ผมมองด้วยใจระทึกนะว่า อะไรเป็นเหตุให้คนรุ่นนี้สนใจ นี่จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดนิทรรศการนี้ เพราะสังคมไทยปิดกั้นข้อมูล 6 ตุลา 19 มาตลอด ไม่มีใครอยากกล่าวถึงหรือทำทีเมินเฉย

งานปีนี้ เราจึงแปลกใจและดีใจมาก