จักรกฤษณ์ สิริริน : Crying Therapy “น้ำตาไหล” ไล่ “ซึมเศร้า”

แฟนพันธุ์แท้ “มติชนสุดสัปดาห์” หลายท่านคงเคยผ่านตาข่าวสังคมญี่ปุ่น จัด “ห้องระบายอารมณ์” ให้กับพนักงานออฟฟิศที่เครียดจากการทำงาน และเก็บกดกับเสียงด่าเจ้านาย

ให้เข้าไปขว้างปา ทำลายข้าวของ และส่งเสียงร้องระบายอารมณ์ สบถ ด่าทอ แหกปากยังไง หรือดังสะใจเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีใครว่า

“ห้องระบายอารมณ์” ได้รับความนิยมมาก ทำให้หลายสำนักงานที่มีพื้นที่ไม่พอ สนับสนุนให้พนักงานออกไปอาละวาดตามร้านต่างๆ ที่เปิดเป็นธุรกิจ “ห้องระบายอารมณ์”

ไม่ว่าจะเป็น Crazy Tokyo Bar, Crash Box, Anger Room หรือ Reeast Room ซึ่งเป็นร้านยอดนิยมในโตเกียว

 

ผ่านมาหลายปี ดูๆ ไป Model “ห้องระบายอารมณ์” ชักจะเก่าไปเสียแล้ว

เพราะล่าสุด ญี่ปุ่นคิดค้นวิธีบำบัดจิตใจแบบใหม่ เรียกได้ว่า เป็นขั้วตรงข้ามกับ “ห้องระบายอารมณ์” โดยสิ้นเชิง

นั่นคือ การก่อกำเนิดขึ้นของ Bizarre Crying Clubs

Hiroki Terai นักธุรกิจหนุ่ม ผู้ก่อตั้ง Bizarre Crying Clubs บอกว่า สังคมญี่ปุ่นมีคำคำหนึ่ง ซึ่งอธิบายการบำบัดอารมณ์ด้วยการร้องไห้ นั่นคือ Rui-Katsu หรือการ “บ่มน้ำตา” Hiroki Terai กระชุ่น

“Rui-Katsu คือการค้นหาอารมณ์เศร้าของผู้คน มันไม่ใช่การบีบน้ำตา แต่เป็นการใช้ความเศร้าบำบัดอารมณ์” Hiroki Terai กล่าว และว่า

ท่ามกลางความกดดันในสังคมญี่ปุ่น หนุ่ม-สาวจำนวนมากไม่มีช่องทางระบายออก การขว้างปาสิ่งของก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่เรามองว่า การจัดการอารมณ์ส่วนลึกนั้น “การบ่มน้ำตา” มีส่วนช่วยได้ Hiroki Terai บอก

“ผมคิดว่า การบ่มน้ำตามีส่วนช่วยได้มากกว่า นอกจากจะเป็นด้านตรงกันข้ามกับความรุนแรงแล้ว มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า น้ำตาไหลนั้น ไล่ซึมเศร้าได้” Hiroki Terai สรุป

 

แนวคิด “น้ำตาไหล” ไล่ “ซึมเศร้า” นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า Crying Therapy ครับ

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า นอกจาก “น้ำตา” จะช่วยสร้างความชุ่มชื้น กระทั่งเป็นสารหล่อลื่นตามธรรมชาติ ซึ่งมีหน้าที่บำรุงและถนอมดวงตาโดยตรงแล้ว

“น้ำตา” ยังเป็นเกราะป้องกัน “ดวงตา” จากฝุ่นผงต่างๆ อีกด้วย

และที่สำคัญที่สุดก็คือ กลไกบางอย่างจากการ “บ่มน้ำตา” ตามแนวคิดของ Hiroki Terai ก็คือ “การหลั่งน้ำตา” หรือ “การร้องไห้” มีส่วนช่วยบำบัดและฟื้นฟูอาการ “ซึมเศร้า” ได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Stephen Sideroff แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ และชีวะพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย California กล่าวว่า การที่มนุษย์ต้องเก็บกดความโกรธหรือขุ่นเคืองใจ เป็นสิ่งรบกวนสัญชาตญาณ ก่อให้เกิดความไม่สมดุลขึ้น

“เมื่อรู้สึกเศร้า เสียใจ หรือโกรธเคือง ควรเร่งหาทางแก้ไขความไม่สมดุล มิฉะนั้น เราอาจแสดงความรู้สึกออกมาในวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น การใส่อารมณ์กับครอบครัว หรือเพื่อนๆ” ดร. Stephen Sideroff กล่าว และว่า

อย่าลืมว่า มนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทเดียวที่สามารถมีน้ำตาจากอารมณ์รุนแรงที่กักขังอยู่ภายใน เช่น ความสุข หรือความเศร้า

ดร. Stephen Sideroff บอกว่า “การร้องไห้ แม้จะดูเหมือนเราแสดงความอ่อนแอออกมา แต่การหลั่งน้ำตาแบบนี้ จะช่วยคลายความกดดันและความตึงเครียดได้”

“ผลการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ว่า มนุษย์จะรู้สึกดีขึ้นทันทีหลังจากการร้องไห้ เหตุผลก็คือ การร้องไห้ทำให้เราได้สำรวจตรวจสอบ สิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นอารมณ์โดยการร้องไห้ คือวิถีทางหนึ่งในการก้าวผ่านทางอารมณ์เหล่านั้น” ดร. Stephen Sideroff สรุป

สอดคล้องกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Lauren Bylsma แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์และจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Pittsburgh ที่บอกว่า บางครั้งการร้องไห้ช่วยให้เราเข้าใจว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา

“คนจำนวนมากมักร้องไห้คร่ำครวญในที่สาธารณะ จากเหตุการณ์ที่สร้างความเสียใจอย่างฉับพลัน ขณะที่บางคนอาจรู้สึกดีที่ได้ร้องไห้ในที่รโหฐาน” ดร. Lauren Bylsma กล่าว

และว่า หลายครั้ง การกลั้นน้ำตาอาจส่งผลเสียต่อตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นหนทางสำคัญที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าอีกด้วย ดร. Lauren Bylsma สรุป

 

เช่นเดียวกับ ดร. Judith Orloff จิตแพทย์ประจำมหาวิทยาลัย California เจ้าของหนังสือเล่มดัง The Empath”s Survival Guide : Life Strategies for Sensitive People ได้กล่าวว่า การร้องไห้เป็นวิธีการปลดเปลื้องความทุกข์ที่สำคัญ

“นอกจากนี้ การร้องไห้ยังช่วยให้เราสามารถรับมือกับความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเครียดที่เกิดจาก COVID-19 ในขณะนี้ได้อีกด้วย” ดร. Judith Orloff กล่าว และว่า

“อันที่จริงแล้ว ไม่มีใครหรอกที่อยากเป็นคนด้านชาจากการเก็บกดอารมณ์เอาไว้ กระทั่งหลายคนหาทางออกเหล่านั้นด้วยยาเสพติด”

“ถึงที่สุดแล้ว เราควรอาศัยกลไกการบำบัดจิตของเราที่ธรรมชาติให้มา นั่นก็คือการร้องไห้นั่นเอง” ดร. Judith Orloff ทิ้งท้าย

สอดคล้องกับ นสพ.โสภณ โพธิรัชต์ ที่บอกว่า การร้องไห้เป็นรูปแบบการระบายความเศร้าอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเศร้าให้ดีขึ้น

“แม้ผู้ป่วยซึมเศร้าจะไม่ได้ร้องไห้ตลอดเวลา แต่อย่างน้อยที่สุด การปล่อยให้เขาร้องไห้นั้น เป็นวิธีที่ดีกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ที่อาจต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก” นสพ.โสภณ โพธิรัชต์ กล่าว และว่า

การห้ามผู้ป่วยซึมเศร้าร้องไห้นั้น จะเป็นการปิดกั้นความรู้สึก เสมือนการปิดประตูทางออกที่เหลืออยู่เพียงประตูเดียวของเขา

“ดังนั้น หากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยากร้องไห้ ก็ควรปล่อยให้เขาร้องไป” นสพ.โสภณ โพธิรัชต์ ทิ้งท้าย

 

ขณะที่ Benedict Carey คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้อ้างอิงคำพูดของ Albert Camus ที่เขียนไว้ว่า Men must live and create. Live to the point of tears.

“กามูส์บอกว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จนกว่าเขาจะทำไม่ไหว ผมก็คิดเช่นนั้น เพราะเมื่อทุกสิ่งรุมเร้าเข้ามามากๆ คนเราก็จะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อหันมาบำบัดตนเอง”

เช่นเดียวกับ Hidefumi Yoshida ผู้ก่อตั้งบริษัท Crying Therapy ที่ระบุว่า ทุกวันนี้หญิงสาวชาวญี่ปุ่นจำนวนมากพึ่งพาบริการของ “นักน้ำตาบำบัด” มากกว่า “นักจิตวิทยา”

“Crying Therapists หรือ “นักน้ำตาบำบัด” ช่วยคุณได้มาก โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคซึมเศร้า” Hidefumi Yoshida กล่าว และว่า

“การบำบัดด้วยการร้องไห้กำลังเป็นที่นิยมมาก นอกจากจะมาแทนที่ธุรกิจขว้างปาข้าวของแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการอาจแซงหน้าคนไข้ในคลินิกจิตแพทย์”

การร้องไห้เป็นการบำบัดที่ดีวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า Hidefumi Yoshida สรุป

ดร. Sarah Johns อาจารย์อาวุโสด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ แห่งมหาวิทยาลัย Kent เห็นด้วยกับแนวคิดของ Hiroki Terai นักธุรกิจหนุ่ม ผู้ก่อตั้ง Bizarre Crying Clubs

“Bizarre Crying Clubs มีความน่าสนใจ เพราะการที่เขาเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงอารมณ์ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รโหฐาน ซึ่งทำให้คนเศร้าได้แสดงออกอย่างเต็มที่”

โดยเฉพาะการร้องไห้ ซึ่งดิฉันคิดว่ามีความสำคัญมาก ในฐานะช่องทางระบายออกที่ธรรมชาติได้ให้มนุษย์มา เราไม่ควรฝ่าฝืนกฎนี้ด้วยการเก็บกดอารมณ์เอาไว้ภายใน

“ระเบิดมันออกมา และดิฉันเชื่อว่า การร้องไห้นี้จะมีส่วนช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าได้ในที่สุด” ดร. Sarah Johns ทิ้งท้าย