สนทนากับ “ภาคีนักศึกษาศาลายา” “มหิดล” กำลังเปลี่ยนไป? ทำไมการพูดความจริงถึงสำคัญ?

หากกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาในช่วงนี้ หลายคนอาจนึกถึงธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือรามคำแหง ที่จะมีอัตลักษณ์ทางการเมืองต่อมิติสังคมที่สูง

แต่ก็ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยร่วมเปิดตัวในนามกลุ่มต่างๆ รวมทั้ง “ภาคีนักศึกษาศาลายา” แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ต่างมีภาพจำในฐานะมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสังคมที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 4 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ตุลาคม 2516 และ 2519 แต่กลับลดบทบาทลง ก่อนจะถูกเอ่ยถึงในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.ในปี 2556 อันนำไปสู่การรัฐประหารปี 2557

ถึงกระนั้น บรรยากาศตลอด 6 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากผู้ก่อการรัฐประหาร สู่นายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้งปี 2562 กลับทำให้ถนนที่เรียกว่า “อนาคต” หดแคบลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอย และความเหลื่อมล้ำทางสังคมกว้างขึ้น และบรรยากาศเสรีภาพทางการเมือง แทบไม่ต่างกับยุครัฐบาลทหารที่เพิ่งผ่านพ้นไป

นักศึกษาต่างตื่นตัวและไม่ทนต่อสภาวะเช่นนี้ต่อไปได้ แม้แต่สถานศึกษาที่ถูกเรียกว่า “ปัญญาของแผ่นดิน” ยังร่วมเขย่าสังคมครั้งนี้ด้วย

 

“ภาคีนักศึกษาศาลายา” ถูกตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาจากหลายคณะในวิทยาเขตศาลายา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาด้านสังคมศาสตร์ และเป็นวิทยาเขตหลักในการจัดการชุมนุมของนักศึกษามหิดลเมื่อช่วงต้นปีนี้ด้วย โดยสมาชิกระดับนำปัจจุบันคือ กวินทร์ วิชาดี พิชญภิรมย์ และเอกศิษฐ์ บัวทองเอี่ยม ซึ่งศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ และณวิบูล ชมภู่ จากวิทยาลัยนานาชาติ

ที่ทำการจัดการชุมนุมของนักศึกษาและกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อประเด็นต่างๆ ซึ่งล่าสุดคือ การสาดสีต้านรัฐประหารที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ณวิบูลกล่าวว่า จุดเริ่มของพวกเขาก่อนจะมาเป็นภาคี มาจากการพูดคุยกันว่าการเมืองเป็นยังไงแล้ว การเคลื่อนไหวทั้งในสภาและนอกสภามีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เห็นคือ นับตั้งแต่การเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมปี 2562 และการสนับสนุนของวุฒิสภาแต่งตั้ง 250 คน ยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ที่มาจากการรัฐประหาร และการตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่คือจุดแตกหัก ที่ทำให้เห็นว่าอำนาจบริหารและตุลาการไม่มีความเป็นธรรม ตัวเองกับเพื่อนเลยคิดว่า ถ้าไม่ออกมา อนาคตเราจะเป็นยังไง อย่างน้อยขอได้ส่งเสียง นั้นจึงเกิดแฟลชม็อบเมื่อปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และภาคีก็เริ่มขึ้น

ด้านกวินทร์กล่าวว่า พอเป็นภาคีขึ้นมา ก็ทำให้เรากล้าส่งเสียงมากขึ้น เราไม่ได้ตัวคนเดียว ผมเคยตัวคนเดียวไปรณรงค์ครั้งล่าสุด เจอเจ้าหน้าที่รัฐมาปราม รู้สึกเราตัวเล็กมาก

แต่พออยู่ในภาคีและทำงานเป็นกลุ่ม ก็รู้สึกว่าเรามีเสียงมากขึ้นและมีความหมาย

 

สังคมมีภาพจำของนักศึกษามหิดลที่ถูกมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยคนมีฐานะหรือวัฒนธรรมแบบยึดประเพณีและความเป็นอาวุโสสูง

แต่การแสดงออกทางการเมืองในเวลานี้กลับเปลี่ยนภาพจำที่เคยมี ณวิบูลกล่าวว่า เปลี่ยนไปในระดับหนึ่ง เพราะเราเคลื่อนไหวในรูปแบบเสรีนิยม ซึ่งต่างจากที่หลายคนเคยเข้าร่วมม็อบ กปปส.

ส่วนเอกศิษฐ์กล่าวเสริมว่า หลังจากแฟลชม็อบภายใต้ชื่อ ล่องเรือตามหาเสรีภาพ เมื่อ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา นักศึกษามหิดลหลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการเคลื่อนไหวของคนมหิดลช่วงเหตุการณ์ตุลา 2516-2519 ซึ่งผมจะเป็นคนจุดประเด็นนี้ ผลตอบรับที่ได้ นักศึกษาต่างตั้งคำถามว่า พวกเขาทำกับรุ่นพี่ถึงขนาดนี้เลยเหรอ? นั้นทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่า มหิดลไม่ใช่แค่สถานศึกษาที่ป้อนบัณฑิตเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นที่บ่มเพาะความคิดทางปัญญา อุดมการณ์ สิ่งเหล่านี้ เราจะเอากลับมา

ความหมายของเพลงคู่สถาบันอย่าง “รักน้อง” ซึ่งถูกใช้ในการรับน้องมาหลายรุ่นนั้น มีต้นกำเนิดจากการต่อสู้ของคนมหิดลยุคเดือนตุลา ก็จะเอานิยามที่แท้จริงกลับมาด้วย

 

การออกมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย สำหรับภาคีก็เจอคล้ายกับหลายแห่ง โดยกวินทร์กล่าวว่า มีอุปสรรคเหมือนกัน เอาแค่ก่อนที่จะมีภาคี เคยเรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งพูดเชิงชื่นชมว่า “เราน่าจะอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นะ เพราะบ้านเมืองน่าจะเจริญกว่านี้” มีการปลูกฝังแบบทางเดียวมาตลอด พอรวมเป็นกลุ่มมาทำกิจกรรมทางการเมือง ก็พบกับท่าทีของมหาวิทยาลัยที่ต่างออกไป

“ยกตัวอย่าง ตอนช่วง กปปส.ที่จำได้ บรรดาคณาจารย์ ผู้บริหารและนักศึกษาในตอนนั้น ใช้ลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก โบกธงชาติ เป่านกหวีด ร้องเพลง รักน้องมหิดลหรือเพลงมาร์ชประจำมหาวิทยาลัย แต่พอกลุ่มเราจะทำแฟลชม็อบ พระราชานุสาวรีย์ฯ กลับไม่ให้ใช้”

กวินทร์กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวชวนให้ตั้งคำถามว่า พื้นที่ทางการเมืองในมหาวิทยาลัย ตกลงมีไว้ให้ใครกันแน่?

 

การเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืนและ 1 ความฝัน ซึ่งถูกขานรับจนเป็นฉันทานุมัติโดยพฤตินัยจากกลุ่มนักศึกษาในหลายสถาบัน ส่วนภาคีนั้น ณวิบูลกล่าวว่า เราร่วมไปกับจุดยืนนี้และส่งเสียงไปถึงรัฐบาล ส่วนหลักการและแนวทางของภาคีวางบนหลัก “ปัญญาของแผ่นดิน” คือขับเคลื่อนบนข้อเท็จจริงหรือหลักทางวิชาการมานำเสนอ ให้ความรู้ สื่อสารถึงประชาชนว่า อะไรคือความเหลื่อมล้ำ อะไรคือข้อผิดพลาดที่ทำให้คนจนยังคงจน คนรวยกลับรวยขึ้น แม้แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ยังมาก เราจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง

กวินทร์กล่าวว่า เราเน้นเข้าถึงประชาชนมากกว่า อย่างในช่วง พ.ศ.2516-2519 ที่นักศึกษาออกไปพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งก็ยังใช้ได้ ณ ปัจจุบัน

“ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหน แต่ปัญหาร่วมอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างรัฐ ทำให้เรามีปัญหาปากท้อง แม้แต่ชนชั้นกลางยังได้รับผลกระทบ ถ้าเราไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ ไม่หันไปพึ่งระบบอุปถัมภ์ก็ต้องใช้เงิน ทำงานสายตัวแทบขาดเพื่ยกฐานะตัวเอง ไม่อย่างงั้นก็ต้องอยู่กับโครงสร้างที่ทำให้พ่อ-แม่ที่คิดจะมีลูก และมีลูกโดยที่พวกเขายังไม่ได้ตัดสินใจ แต่กลับถูกกำหนดให้เลือกแล้ว ว่าจะต้องทำสิ่งนี้ไปเลี้ยงชีวิตตัวเองและพ่อ-แม่ ไม่ได้เงยหน้าออกไปหาอนาคตที่ดีกว่า”

 

การแสดงออกของนักศึกษาหลายสถาบัน นอกจากมีเสียงตอบรับในเชิงสนับสนุน แต่ก็มีเสียงเชิงลบทั้งโจมตี กล่าวหา พาดพิงต่อการแสดงออกที่มีความเห็นต่างจากสิ่งที่หลายคนยังคงเชื่อและยึดมั่นว่าเป็นสิ่งดีงาม กวินทร์กล่าวว่า ตัวเองเจอบ่อย คำพูดเช่น “ให้มันจบที่เรือนจำ” หรือ “พวกเนรคุณแผ่นดิน” เวลาที่เถียงไม่ได้

ในความรู้สึกส่วนตัว การสนทนากับคนเหล่านี้มีแต่เสียเวลา แต่ก็ต้องมาดูว่า ทำไมพวกเขาถึงพูดแบบนี้ วัฒนธรรมการตอบโต้ความเห็นต่างด้วยความรุนแรงนั้น เป็นสิ่งสมควรแล้วหรือ? หรือเราจะเป็นคนรุ่นที่จะไปเปลี่ยนสิ่งนี้?

ณวิบูลกล่าวด้วยว่า ถ้าถามว่าเราจะไปห้ามแบบเบ็ดเสร็จกับพวกเขา ยังไงก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะอย่างนั้น เราก็เป็นเผด็จการไม่ต่างกับคนที่เรากำลังต่อสู้อยู่ สิ่งที่เราทำได้คือ หยุดการใช้ผรุสวาจาใส่ฝ่ายตรงข้าม เพราะหากต่างคนต่างใช้ผรุสวาจาตอบโต้กัน สังคมที่ควรจะก้าวหน้าและสันติก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเอาแต่ด่าทอกัน ควรคุยกันบนหลักความจริง มีเหตุผล

ส่วนเอกศิษฐ์กล่าวว่า ในส่วนของคนที่โจมตีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เพราะคิดไม่เหมือนกับสิ่งที่พวกเขารับรู้ นี่เป็นสิ่งที่บอกไปว่า การศึกษาเป็นอย่างไร พวกเขาได้รับข้อมูลอะไรมา ทำไมการแสดงออกของเราจึงไม่ถูกต้องในสายตาพวกเขา สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ ช่วยกันพูดความจริงออกมา เอาหลักฐาน หลักการทุกอย่างเผยแพร่ออกไป เข้าถึงทุกคนให้มากที่สุด

สิ่งที่รัฐปลูกฝัง พยายามปิดหูปิดตาประชาชน เราจะต้องแก้ไข เราจะเป็นกระบอกเสียงพูดในเรื่องที่ควรพูด ไม่ใช่ประชาชนฟังแต่สิ่งที่รัฐอยากจะพูด