รายงานพิเศษ : เปิดโพยข้อสอบ “ฉลาดเกมส์โกง” งานท้าทายของ “บาส นัฐวุฒิ” ที่ไม่มีคำตอบถูก-ผิด

ที่มา : facebook ฉลาดเกมส์โกง @ChalardGamesGoeng

หลังเปิดตัวในฐานะผู้กำกับฯ ด้วยการส่ง เคาท์ดาวน์ มาให้ได้ชม บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ก็ห่างหายไปทำงานไวรัลโฆษณาและมิวสิกวิดีโอนาน 5 ปี

ล่าสุดเขากลับคืนวงการจอเงินอีกครั้งด้วยภาพยนตร์ ฉลาดเกมส์โกง เรื่องราวการโกงข้อสอบข้ามประเทศของวัยรุ่นไทย 4 คน นำแสดงโดย ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ชานน สันตินธรกุล, ธีรดนย์ ศุภพันธ์ภิญโญ และ อิษยา ฮอสุวรรณ

“ไอเดียหลักๆ ต้องยกเครดิตให้ทางโปรดิวเซอร์ คือพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) และ พี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) เป็นคนโยนไอเดียมาให้ผมก่อน ซึ่งไอเดียที่โยนมาให้เป็นแค่ประโยคสั้นๆ ว่าเด็กกลุ่มหนึ่งที่โกงข้อสอบ โดยใช้เงื่อนไขความต่างของเวลาในโลก ซึ่งพอเราฟังแค่นี้ก็รู้สึกว่า โห! มันฉลาดมาก พอฟังแล้วก็คลิกเลย เราสามารถต่อยอดไปเป็นหนังสนุกๆ เรื่องหนึ่งได้เลย” ผู้กำกับหนังเล่า

ซึ่งหลังได้รับโจทย์จากสองโปรดิวเซอร์ใหญ่ เขาจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก ด้วยการค้นคว้าข้อมูลการสอบและเขียนบทกับทีมอยู่นานเกือบ 2 ปี จึงได้บทที่มั่นใจว่าพร้อมสำหรับการถ่ายทำ

“ทำการบ้านเยอะมาก ผมก็ห่างหายจากการสอบไป 10-20 ปีแล้วครับ ก็จะมีทีมเขียนบทที่มาช่วยผมเขียนบท คือน้องกุ๊กที่ทำฮอร์โมน และน้องแฮมที่ทำเรื่องเมย์ไหน เขาก็จะช่วยทำรีเสิร์ชว่าการสอบของวัยรุ่นทุกวันนี้เขาทำกันยังไง วิถีชีวิต วิธีคิด แล้วก็ลักษณะของสังคมที่แตกต่าง ส่งผลยังไงบ้าง เราก็รวบรวมตรงนั้นจนมาเป็นบทหนัง และตัวละคร”

“พอเราลองทำเรื่องนี้ทำรีเสิร์ช อ๋อมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศ มันมีการโกงข้อสอบด้วยการใช้ความต่างของเวลา มันไม่ได้เกิดที่ประเทศอเมริกาอย่างเดียว คืออย่างอเมริกามันใหญ่มาก แต่ละรัฐเวลาไม่เท่ากัน แล้วนักเรียน นักศึกษาเขาก็บินไปรัฐที่เวลาเร็วกว่า เพื่อส่งคำตอบมาที่นี่ เหมือนกัน บางประเทศในแถบอาเซียน ก็ใช้หลักการนี้บินไปสอบประเทศที่เร็วกว่า”

แต่ที่ยากกว่านั้น “เราจะเล่ามันยังไงให้หนังสนุก” เขาว่า

 

ที่มา : facebook ฉลาดเกมส์โกง @ChalardGamesGoeng


“มันคือกิจกรรมที่น่าเบื่อที่สุดในโลกเลยมั้ง นั่งดูเด็กทำข้อสอบอะ แต่เราเล่าให้มันมีความฉูดฉาด มีสีสัน มีความตื่นเต้นแบบหนังแอ๊กชั่น เหมือนเวลาเราดูหนังโจรกรรมของเมืองนอก ด้วยแอ๊กชั่นมันง่ายต่อความสนุกอยู่แล้ว แต่ไม่ถึงกับโรยตัวมาจากเพดานอะไรแบบนั้น”

“จริงๆ มันเป็นการทำหนังสไตล์เคเปอร์ (caper) โจรกรรม เพียงแต่ว่า พอมาเป็นไทยสไตล์ ผมยังอยากทำอะไรที่เท้าติดดินอยู่ ไม่โม้เกินไป ไม่แฟนตาซีเกินไป ยังอยู่บนความจริงที่เด็กเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ภายใต้ความหวือหวาของมันสุดท้ายแล้วก็มีความจริงในระดับที่มนุษย์จับต้องได้” บาสอธิบาย

บอกอีกว่า แม้หนังเรื่องนี้จะพูดถึงการโกงข้อสอบของเด็กกลุ่มหนึ่ง แต่หัวใจหลักของมันไม่ได้อยู่ที่วิธีการลอก และไม่ได้เป็นการชี้นำให้ทำตาม

“คำว่าลอกข้อสอบมันเป็นแค่กิมมิกที่เราใช้ในหนัง แต่เรากำลังพูดถึงคำว่าโกง พูดถึงอะไรที่ใหญ่กว่านั้น”

“อันนี้ผมถือเป็นจุดยืนในการทำหนังเรื่องนี้เลยนะ ผมจะไม่มีทางปล่อยให้หนังเรื่องนี้ออกมาแล้วเป็นหนังที่ชี้โพรงให้กระรอก เด็กไปดูแล้วจำทริกในการโกงข้อสอบแน่นอน”

“มันไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วชนะ ทำแล้วได้คะแนนดี ทำแล้วเท่ ทำแล้วคุล ทุกช้อยส์คำตอบที่คุณเลือกมันจะส่งผลต่อชีวิตคุณไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี คุณต้องอยู่กับมันให้ได้ ถ้าคุณตัดสินใจกาข้อนี้ไปแล้ว ถ้ามันผิดขึ้นมา มันก็จะส่งผลกระทบกับตัวคุณเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูต้องตัดสินใจเองว่าจะยังไงต่อ เมื่อหนังจบ ทุกคนจะรู้ว่าจุดประสงค์ในการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร มันเป็นความตั้งใจที่ใหญ่กว่าเรื่องทริกในการโกงข้อสอบแน่นอน”

“หนังมันมีเมสเสจที่ต้องการจะบอก ซึ่งต้องเข้าไปดูในหนัง อยากให้คนดูได้รับคำถามบางอย่างที่หนังโยนให้ ซึ่งจะตอบตัวเลือกไหนก็แล้วแต่ ไม่มีถูก ไม่มีผิด”

“ตอนที่ผมทำรีเสิร์ช ผมเห็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายแล้วจุดหมายในการทำหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อปฏิรูปสังคมไทยอย่างชัดเจน”

“แต่ผมก็ยังสอดแทรกสิ่งที่ผมรู้สึกกับสิ่งเหล่านั้นผ่านทางตัวละคร กลายเป็นซัพพล็อต กลายเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้ตัวละครลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้”

“ในฐานะคนทำงาน ผมเชื่อว่างานศิลปะส่งผลกับตัวบุคคล มันเหมือนเวลาเราไปยืนดูรูปในมิวเซียม แล้วรู้สึกว่ารูปนี้มันมีพลังกับเรา ด้วยอะไรก็ไม่รู้ หนังก็เหมือนกัน ก็ทำหน้าที่ในแง่ที่ว่าคนดูไปดูแล้ว มันสร้างความรู้สึกบางอย่าง มันเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในจิตใจเรา แล้วความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ถ้าคนยิ่งดูเยอะขึ้น คนเปลี่ยนเยอะขึ้น สุดท้าย มันจะกลายเป็นการเปลี่ยนในภาพรวม ในองค์ใหญ่ของสังคมเอง”

บาสอธิบาย

 

ที่มา : facebook ฉลาดเกมส์โกง @ChalardGamesGoeng

ส่วนเรื่องความกดดันของการอยู่ภายใต้บ้าน จีดีเอช ที่การันตีเรื่องรายได้และความสำเร็จนั้น เขาว่า พยายามไม่คิด แต่ขอทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

“สิ่งหนึ่งที่พี่เก้งสอนผมคือ เราทำหนังเสร็จแล้ว หนังมันไม่ใช่ของเราอีกต่อไป มันเป็นของคนดู เราควบคุมไม่ได้ ว่าหนังจะได้รับการตอบรับที่ดีมั้ย คนดูจะชอบมั้ย จะได้รายได้เท่าไร ผมถือว่าอันนี้เป็นเรื่องนอกหนังประมาณหนึ่ง”

“แต่ความรับผิดชอบของผมในฐานะผู้กำกับฯ คือเราต้องควบคุมการทำงานของเราให้ดีที่สุดว่าเราต้องตั้งใจและเต็มที่กับมัน ทำออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่ควรจะเป็น หลังจากหนังฉายไปแล้ว จะประสบความสำเร็จอะไรยังไง ผมถือว่าเป็นโบนัส”

ซึ่งคำวิจารณ์และผลตอบรับ แม้จะออกมาในแง่ไหนก็พร้อมเผชิญ

“ผมรู้สึกว่าการทำหนังมันคือศิลปะที่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่ามันเพอร์เฟ็กต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ควรจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างผสมกันไป มันเป็นความสวยงามของมัน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องรู้ว่าอันไหนที่เราอ่อนด้อยตรงนั้นจริงๆ เราควรที่จะเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน และทำให้มันแข็งแรงขึ้นในเรื่องต่อๆ ไป”

“อย่างตอนเคาท์ดาวน์ผมตีความว่า ไม่เป็นไร ไม่เห็นต้องเข้าใจทุกเรื่องเลยก็ได้ มันจะมีท่าทีพวกนั้นอยู่ แล้วคนดูตามเราไม่ทัน ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าพอคนดูตามเราไม่ทัน เราก็จะได้ฟีดแบ็กที่แบบมันคืออะไร ไม่เข้าใจ”

“สุดท้ายแล้วการทำหนังหนึ่งเรื่อง ไม่เหมือนที่ศิลปินคนหนึ่งเพนต์ภาพแล้วจบไป เราแบกรับความคาดหวัง เบื้องต้นคือทีมงานที่เขามาเหนื่อยกับเรา นักแสดงที่เขาเหนื่อยกับเรา คนดูที่เขารอดูหนังเรา ฉะนั้น มันคือการบาลานซ์ให้ได้มากที่สุด”

“ลึกๆ แล้วก็คงมีความกดดัน หวาดกลัว แต่เราก็บอกตัวเองว่าถ้าเราทำเต็มที่แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ตัวหนังมันออกมาอย่างที่เราคาดหวัง นั่นเป็นความสำเร็จแล้วในขั้นเริ่มต้น”

“ที่เหลือก็เป็นโบนัส”