เปิดไทม์ไลน์ แก้รัฐธรรมนูญ จาก ส.ส.ร. ถึงทำประชามติ จับตาเกมเตะถ่วง-ซื้อเวลา? ฝ่ายค้านเจองานหินตั้งแต่เริ่ม

เส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

1 ใน 3 ข้อเรียกร้องกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในนามเยาวชน/ประชาชนปลดแแอก ด้วยความหวังปลดล็อกความขัดแย้งและเป็นทางออกให้ประเทศ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

เมื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลพร้อมใจกันยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อสะเดาะกุญแจเปิดประตูบานแรกสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

ตามด้วยยื่นญัตติร่างแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ 250 ส.ว.ที่มีอำนาจล้นเหลือโดยเฉพาะการโหวตตั้งนายกรัฐมนตรี

แต่หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทั้งเต็มไปด้วยขวากหนาม

เมื่อบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.บางกลุ่มผนึกกำลังตีรวน โดยเฉพาะประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว.ซึ่งถูกมองเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ

มีความพยายามดึงเกมซื้อเวลาผ่านกระบวนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต

งานนี้จึงเสมือนหนังเรื่องยาว และไม่ใช่ง่ายที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะลุล่วงในเร็ววัน

ที่สำคัญต้องจับตาถึงท่าทีและความจริงใจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มฉายให้เห็น

เมื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกลตัดสินใจจับมือกับกลุ่มกบฏพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา และ ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก อีกจำนวนหนึ่ง รวม 99 ส.ส.เข้าชื่อยื่นญัตติร่างแก้ไขมาตรา 272 ด้วยความตั้งใจปิดสวิตช์ ส.ว.ให้จงได้

แต่ถัดมาหลังยื่นญัตติเพียง 1 วัน ก็เกิดปรากฏการณ์กบฏในกบฏ เมื่อ ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ร่วมลงชื่อ 11 คนขอถอนตัวจากญัตติ เช่นเดียวกับ ส.ส.ชาติไทยพัฒนาและพรรคเล็ก เหตุจากโดนรัฐบาลกดดันอย่างหนัก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้รายชื่อ ส.ส.ไม่ถึง 1 ใน 5 หรือ 98 คน ส่งผลให้ญัตติไม่สมบูรณ์และตกไป

ไม่รู้ “บังเอิญ” หรือ “จงใจ” ในวันเดียวกันพรรคเพื่อไทยประกาศกลับลำ มีมติยื่นเพิ่ม 4 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว.รวมอยู่ด้วย

ดังนั้น ส.ส.พรรคก้าวไกลที่เพิ่งถูกเท จึงพร้อมใจกันย้ายมาร่วมลงชื่อใน 4 ญัตติ พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลกลับมาจับมือกันอีกครั้ง

ต่อมาวันที่ 10 กันยายน หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำรายชื่อ ส.ส. 170 คน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

4 ญัตติ ประกอบด้วย

1. แก้ไขมาตรา 272 และ 159 ว่าด้วยการให้ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี

2. มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ

3. มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

และ 4. แก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.

จากตรงนั้นสภาจะตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ เตรียมบรรจุวาระเข้าที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายน

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านเผยว่า ญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 ในส่วนรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึง 4 ญัตติที่เพิ่มเข้าไป หากผ่านวาระแรก 23-24 กันยายน ขอให้คณะกรรมาธิการเร่งพิจารณา

เพื่อเตรียมยื่นเปิดประชุมสมัยวิสามัญต่อทันที

แต่แล้วเพียงแค่ก้าวแรก ฝ่ายค้านต้องเจอขวากหนามเต็มๆ

14 กันยายน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา คัดค้านบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติเพิ่มเติมของฝ่ายค้าน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

นายไพบูลย์อ้างเหตุคัดค้านเพราะมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างดังกล่าวมีลายมือชื่อ ส.ส.ซ้ำซ้อนกับร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา และประธานรัฐสภาสั่งบรรจุในระเบียบวาระเรียบร้อยแล้ว

พร้อมยกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ลงวันที่ 29 มกราคม 2563 เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอความเห็นของ ส.ส. 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแก่รัฐธรรมนูญ

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 ที่มีรายชื่อ ส.ส.ผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว 30 คน

ทำให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงไม่ถูกต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดการลงชื่อของ ส.ส.จะลงนามได้ครั้งเดียวเท่านั้น จะลงชื่อซ้ำในทำนองเดียวกันไม่ได้

นายไพบูลย์เตรียมยื่นญัตติให้สภาพิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา มีความเห็นประเด็นนี้ว่า แม้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกันแต่เป็นคนละประเด็น

ดังนั้น ส.ส.มีสิทธิ์ลงชื่อในแต่ละฉบับได้โดยไม่ถือว่าลงชื่อซ้ำกัน

แต่ที่อาจมีปัญหาคือ จากการตรวจสอบ 4 ญัตติ พบมีปัญหาการเข้าชื่อใน 3 ญัตติ เนื่องจาก ส.ส.บางคนมีลายเซ็นไม่เหมือนของตัวเอง

จึงต้องตรวจสอบว่าเข้าชื่อแทนกันหรือไม่

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันคือ การกำหนดให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาเป็นคณะร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ประเด็น ส.ส.ร.นี้เองทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นช่องทางให้ฝ่ายรัฐบาลฉวยโอกาสดึงเกมซื้อเวลาได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยอมรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาใช้เวลายาวนานแน่นอน

ในกรณีร่างแก้ไขมาตรา 256 เข้าสู่สภาวันที่ 23-24 กันยายน และผ่านวาระ 1-3 ซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่นาน

มีอีกกระบวนการต้องทำคู่ขนานคือ กฎหมายประชามติ ซึ่งที่ประชุม ครม.รับหลักการร่างไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ทันปิดสมัยประชุมสภานี้

เมื่อเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายน ร่างกฎหมายประชามติจะเข้าสู่สภาได้ จากนั้นสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับร่างประชามติ โดยเป็นการพิจารณาร่วมกัน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

ก่อนรอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ จากนั้นนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 เข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลาภายใน 90-120 วัน โดยบวกเวลาไว้รองรับการประกาศผล และการคัดค้าน

ขั้นตอนนี้หากมีผู้ร้องจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก 1 เดือน เมื่อทุกอย่างผ่านจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ และอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน ต้องบวกเข้าไปด้วยทั้งหมด

เมื่อลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ประกาศใช้ได้ ถึงจะเริ่มขั้นตอนการตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ตามร่างกำหนดภายใน 60 วัน

แยกเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย ต้องหา ส.ส.ร.ด้วยการเลือกตั้ง 200 คน

ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล หา ส.ส.ร.เลือกตั้ง 150 คน อีก 50 คนกำหนดจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและนักศึกษา

เมื่อได้ ส.ส.ร.จึงเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ ตามร่างของพรรคเพื่อไทยต้องทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลา 8 เดือน

แต่ทั้งหมดประนีประนอมตกลงกันได้ พบกันครึ่งทางได้ แล้วแต่จะว่ากัน

ส่วนจะนำไปสู่การทำประชามติอีกหนหรือไม่นั้น ร่างของพรรคเพื่อไทยให้ต้องทำประชามติอีกครั้ง

แต่ร่างพรรคร่วมรัฐบาลให้นำเข้าสภา ถ้าสภาลงมติเห็นชอบเกินครึ่ง ให้ข้ามการทำประชามติไป แต่ถ้าไม่ถึงครึ่ง กำหนดให้ทำประชามติใน 60 วัน

เมื่อเสร็จแล้วต้องไปศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือนทั้ง 2 ร่าง ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 90 วัน และได้รัฐธรรมนูญใหม่

จากหนทางและอุปสรรค ทั้งระยะเวลาพิจารณาของสภา การตั้ง ส.ส.ร. การลงมือเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดก่อนการประกาศให้มีผลใช้บังคับ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่เราจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเร็ววัน อาจจะเป็น 1 ปี ปีครึ่ง 2 ปี หรือมากกว่านั้น ไม่มีใครรู้ได้

จากนี้จึงต้องจับตาดูท่าทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว. และ ส.ส. โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลว่าจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าแบบจริงจัง

หรือแค่แผนยื้อเวลาอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด