จักรกฤษณ์ สิริริน : มอง Glocal Education ผ่าน “นักเรียนเลว”

สมการธุรกิจ Global + Local = Glocal เกิดขึ้นมาอย่างน้อยก็ 10 ปีนิดหน่อย ในขณะที่ Glocal Education ก็มีการพูดถึงไล่ๆ กันมา คือราวๆ 7-8 ปี

แนวคิด Glocal Business นั้น ดูเหมือน KFC ร้านอาหารสัญชาติอเมริกันจะเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ที่นำเอาเมนูไก่ทอดจากสหรัฐ ติดตรา Halal บินไปเปิดขายในประเทศโลกมุสลิม

เป็นการผสมผสานการปรุงแบบต้นตำรับ (Global) จาก Kentucky สู่ลูกค้าชาวมุสลิม (Local) ชาติต่างๆ กลายเป็นสูตรอาหารเฉพาะ (Glocal)

หรือจะเป็นช็อกโกแลต Kit Kat ของ Nestl? บริษัทอาหารเช้าจากอังกฤษ ที่นำเอาสินค้า Global คือ Kit Kat ไปทำตลาด Local ในประเทศต่างๆ โดยปรับรสชาติแบบดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น ผสมสูตร Glocal ใหม่ขึ้นมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสน่ห์ของ Kit Kat ญี่ปุ่น ที่มีมากกว่า 300 แบบ กลายเป็นของฝากระดับ Magnet ที่ทำให้หลายคนลืมไปเลยว่า Kit Kat คือช็อกโกแลตของอังกฤษ

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การจำหน่ายเสื้อยืดวง Guns N” Roses เมื่อปี ค.ศ.2017 ที่มีการทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก ซึ่งเมื่อเดินทางไปยังประเทศใด ก็จะจัดสร้างลาย Screen อันผสมผสานเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ ขึ้นเป็นการเฉพาะ

เช่น มาไทย ก็จะมีเสื้อลายยักษ์วัดโพธิ์ หรือลายช้าง ไปญี่ปุ่น ก็จะมีเสื้อลายดาบซามูไร หรือที่สิงคโปร์ ก็จะมีเสื้อลาย Merlion เป็นต้น

 

สําหรับในภาคการศึกษา Glocal Education เกิดขึ้นราวปี ค.ศ.2012 เริ่มต้นจากข้อเขียนของ Dr. Rahul Choudaha นักวิชาการแห่ง University of California, Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผ่านบทความที่ชื่อ “Are you prepared for the arrival of “glocal” students?” ก่อนจะคลี่คลายขยายความหมายในเวลาต่อมา

Glocal Education คือการปรับประยุกต์รูปแบบการจัดการศึกษาของตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป อันมีกรีกเป็นรากฐาน นำมาจัดสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนตามบริบทของแต่ละประเทศ

ไล่ตั้งแต่ประเทศพัฒนาแล้วคือสหรัฐอเมริกา มาจนถึงญี่ปุ่น ลงไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละชาติย่อมมีอัตลักษณ์ทางการศึกษาที่ต่างกัน

หัวใจสำคัญของ Glocal Education คือการนำปรัชญาการศึกษาแบบกรีก ที่แพร่หลายในโลกตะวันตก มารื้อสร้างใหม่ เพื่อปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นของแต่ละประเทศ

เป็นการหลอมรวมหลักคิดการจัดการศึกษาแบบสากล กับแนวทางการจัดการเรียนรู้ของแต่ละชาติ กลายเป็นรูปแบบการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปในประเทศต่างๆ

แต่ละประเทศก็ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการศึกษาไปตามบริบทแวดล้อม อย่างสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะฟินแลนด์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเบอร์หนึ่งในด้านการศึกษาของโลก หรือจะเป็นตะวันออกกลาง จีน อินเดีย และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีของ Glocal Education

 

อย่างไรก็ดี ทันทีที่ Glocal Education เกิดขึ้นในบ้านเรา ตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาครั้งแรก แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ส่วนผสมที่ควรจะลงตัวระหว่าง Global กับ Local ได้ถูกกลืนหายไปจากการเข้มงวดเรื่อง “เสื้อผ้าหน้าผม”

คือแทนที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ สถานศึกษากลับให้น้ำหนักไปที่ระเบียบวินัยการแต่งกาย เอาเวลาที่ควรสอนหนังสือ ไปใช้กับการตรวจเครื่องแบบ ตรวจทรงผม ตรวจเล็บ กระทั่งตรวจฟัน!

พูดอีกแบบก็คือ เอาเวลาที่ควรอุทิศให้วิชาการ ไปทุ่มกับการจับผิดเรื่องเปลือกนอก และก็เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไปจนถึงอุดมศึกษา!

สะท้อนให้เห็นองค์ประกอบที่ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ผมเรียกว่า “สามเส้าการศึกษา” ที่ควรเป็น อันประกอบไปด้วย Liberal-Technical-Discipline

เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดของการจัดการศึกษาคือ Liberal หรือเสรีภาพทางความคิด ที่จะนำไปสู่การก่อเกิดของ “นวัตกรรม”

รองลงมาคือ Technical หรือการสร้างทักษะ “ที่พึงมี” เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพหลังจากผู้เรียนสำเร็จการศึกษา

และ Discipline หรือระเบียบวินัย ที่ควรเป็นปัจจัยสุดท้ายซึ่งสำคัญน้อยที่สุด

แม้จะเป็นรูปลักษณ์ “สามเส้า” แต่ต้องยอมรับว่า Liberal คือจุดเด่นที่สุด ซึ่งควรอยู่เหนือ Technical และ Discipline ดังจะเห็นได้จากผลลัพธ์ของระบบการศึกษาไทยที่ไม่ให้ความสำคัญกับ Liberal

เราจึงเป็นได้แค่ประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ชาติที่สร้างนวัตกรรม

เราจึงมีแต่ช่างฝีมือ หรือช่างเทคนิค ที่ทำตามแบบ หรือทำตามคำสั่งผลิตจากประเทศ Liberal ที่มีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีชั้นสูง

และแม้จะเน้น Technical แต่ทุกปีนักศึกษาจบใหม่ก็ยังตกงานเป็นแสนคน

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบการศึกษาไทยให้น้ำหนักกับ Discipline มากที่สุด!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ปัจจัย Discipline เป็นเครื่องมือควบคุม ไปจนถึงคุกคามผู้เรียน!

ซึ่งได้สั่งสมความอึดอัดที่เด็กๆ มีต่อระบบการศึกษา กดทับกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และเคยระเบิดออกมาครั้งหนึ่งในยุค 14 ตุลา

 

จากกระแสบุปผาชน หรือ Hippie ในระดับสากล ผ่านเทศกาลดนตรี Woodstock เมื่อปี ค.ศ.1969 สู่ “5 ย.” อันประกอบไปด้วย ผมยาว รองเท้ายาง สะพายย่าม เสื้อยืด กางเกงยีนส์

ผ่านมาจนถึงราวต้นปี พ.ศ.2562 กับแคมเปญของโรงเรียน “กรุงเทพคริสเตียน” ที่ริเริ่มให้เด็กนักเรียนสามารถแต่งชุด Private มาโรงเรียนได้สัปดาห์ละ 1 วัน ด้วยการทดลองยกเลิกกฎการแต่งเครื่องแบบนักเรียน

ความอึดอัดต่อระบบการศึกษากลับมาปะทุอีกครั้ง นำโดย “องค์กรนักเรียนเลว” ที่แม้จะเคลื่อนไหวมาก่อนการเกิดขึ้นของ #เยาวชนปลดแอก แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่ม “นักเรียนเลว” โด่งดัง และเป็นที่รู้จักจากกระแส #เยาวชนปลดแอก ในเดือนสิงหาคม 2563

ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ถึงการต่อต้าน เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการผ่อนคลาย หรือยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวด และเสียเวลาไปกับการให้น้ำหนัก Discipline แทนที่จะใช้เวลาไปกับการส่งเสริม Technical

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับ Liberal อันเป็นจุดชี้ขาดคุณภาพการศึกษาไทย!

 

อันที่จริงระบบการศึกษาบ้านเราเคยมีความพยายามปรับใช้แนวคิด Glocal Education กับการเกิดขึ้นของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”

ในฐานะสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ที่ชูจุดเด่นเน้นการนำอัตลักษณ์เชิงพื้นที่มาผสมผสานกับรูปแบบการจัดการศึกษาสากล เกิดเป็นหลักสูตรเฉพาะตัวขึ้นเมื่อหลายปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากเรานำแนวคิด Glocal Education มาจับข้อเรียกร้องของ “นักเรียนเลว” กับข้อเสนอผ่อนคลาย หรือยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ อันเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Discipline แล้ว

ก็จะพบว่า ปัญหาการศึกษาในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว เราแทบไม่พบประเด็น “เสื้อผ้าหน้าผม” ในรูปลักษณ์ “แอก” เหมือนที่กำลังกดทับนักเรียนไทย

เพราะระบบการศึกษาของผู้เจริญแล้ว ล้วนพุ่งเป้าไปที่ Liberal และ Technical โดยมี Discipline เป็นกรอบกว้างๆ เท่านั้น

ที่ผ่านมาสถานศึกษาจำนวนมากบินไปดูงานต่างประเทศกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะที่ฟินแลนด์ แต่ระบบการศึกษาของเราก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม

เพราะเราให้น้ำหนักกับ Discipline มากกว่า Technical โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าให้ความสำคัญกับ Liberal การศึกษาไทยจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

สอดรับกับแนวคิด Glocal Education หรือการสร้าง “สมดุล” ระหว่างระบบการศึกษาสากล กับบริบทท้องถิ่น

ซึ่งจะทำให้ระบบการศึกษาไทยก้าวหน้าไปในอนาคตอย่างแน่นอน!