คงกฤช ไตรยวงค์ : ความขัดแย้งทางการเมือง กับการก้าวข้ามความโกรธ

Thai police arrest students for demonstrating at a shopping mall in Bangkok on May 22, 2015. Police arrested several anti-junta activists for small protests marking a year since Thailand's generals seized power from the elected government, as the coup's leader said the country "may have collapsed" without his intervention. AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

คงกฤช ไตรยวงค์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สมาชิก Black Circle

 

มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่พวกเราอาจจะคุ้นเคยกันดี

เรื่องมีอยู่ว่า ชายคนหนึ่งห่มผ้าคลุมเดินไปตามถนน

สายลมกับดวงอาทิตย์คุยกันว่า ใครกันแน่ที่จะสามารถทำให้ชายคนนั้นถอดผ้าคลุมออกได้

สายลมเริ่มพัดแรงและแรงขึ้น เพื่อจะพัดผ้าให้ปลิวไป แต่กลายเป็นว่าชายคนนั้นยิ่งกระชับผ้าแน่นยิ่งขึ้น

ทีนี้ถึงตาดวงอาทิตย์บ้าง

ดวงอาทิตย์ค่อยๆ สาดแสงให้ความอบอุ่น

จนกระทั่งชายคนนั้นปลดผ้าห่มคลุมตัวออกไป

 

Martha C. Nussbaum reacts on the stage after receiving the Prince of Asturias 2012 Award for Social Sciences on the stage during the Prince of Asturias awards ceremony on October 26, 2012 in Oviedo. AFP PHOTO/ MIGUEL RIOPA / AFP PHOTO / MIGUEL RIOPA

ในบทความ “ข้ามพ้นความโกรธ” (Beyond anger) มาร์ธา นัสบอม (Martha Nussbaum) เล่าว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ เนลสัน แมนเดลา มักจะเล่าเพื่อตอกย้ำถึงการก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยมิตรภาพและความร่วมมือ มิใช่ความโกรธแค้น

นัสบอมเห็นว่าความโกรธเป็นอารมณ์ที่เราพบเจอได้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน ทั้งความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรือการเมือง

กระทั่งคนที่เห็นภัยของความโกรธก็ยังยึดติดอยู่กับความโกรธ

เช่น การยึดโยงความโกรธกับการเคารพตนเอง (self-respect) ความเป็นลูกผู้ชาย หรือในกรณีของผู้หญิงคือการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

นัสบอมมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตกเพื่อหานิยามความโกรธ

ก็พบว่านิยามของอริสโตเติลน่าจะให้ความกระจ่างได้พอสมควร

เขานิยามว่าความโกรธเป็นอารมณ์ที่เราตอบสนองต่อความสูญเสียหรือการบุบสลายของบุคคลหรือสิ่งของที่เรารัก

ที่สำคัญ ความโกรธมาพร้อมความเจ็บปวดและความหวังที่จะแก้แค้นเอาคืน

ถ้าหากเราไม่อยากแก้แค้นเอาคืน อารมณ์ของเราก็อาจจะกลายเป็นอย่างอื่น

เช่น ความโศกเศร้า แต่ไม่ใช่ความโกรธ

ที่สำคัญ ความต้องการแก้แค้นเอาคืนนี้อาจจะไม่ใช่แค่การลงมือแก้แค้นด้วยตนเอง แต่รวมถึงการหวังให้กฎหมายเข้ามาจัดการผู้กระทำความผิด

หรือการคาดหวังให้ชีวิตของผู้กระทำผิดประสบหายนะ

นัสบอมเห็นว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องการเอาคืนนั้นไม่มีเหตุผล (ไม่ make sense) ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดใดๆ ก็ตาม

เนื่องจากมุ่งหวังให้คนกระทำผิดได้รับความทุกข์หรือความเจ็บปวดนั้นไม่อาจจะช่วยให้สิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้

แต่มนุษย์กลับคิดเรื่องการแก้แค้นเอาคืนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่ามันจะไม่ได้ผลและบกพร่องเพียงใดก็ตาม

 

นัสบอมเห็นว่าคนที่รู้สึกโกรธและอยากแก้แค้นเอาคืนอาจจะมีทางเลือกอยู่สามทาง

ทางแรก คือเน้นที่สถานะ เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบต่อสถานะของตัวเอง การแก้แค้นแบบนี้อาจจะฟังขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จที่ได้แก้เผ็ดอีกฝ่ายด้วยการทำให้อาย แต่ก็เป็นการคิดแบบยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร

ทางที่สอง ได้แก่ การพิจารณาตัวความผิด เช่น การข่มขืน ฆาตกรรม และหาทางแก้แค้น โดยคิดไปว่าหากผู้กระทำผิดได้รับความเจ็บปวดหรือความทุกข์เสียบ้างก็จะช่วยให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น แต่การคิดเอาคืนแบบนี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะมันไม่ได้ช่วยนำสิ่งที่สูญเสียไปแล้วกลับมาเหมือนเดิม

ทางที่สาม หากเรามีเหตุผลเมื่อพิจารณาแล้ว และไม่ยอมรับทางเลือกสองทางข้างต้น ก็หันไปหาทางเลือกที่สามที่มุ่งมองไปสู่อนาคต ซึ่งหมายรวมถึงการลงโทษตัวผู้กระทำผิดด้วย โดยที่ไม่ใช่เพราะต้องการตอบโต้ หากแต่เพื่อชำระและทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ นัสบอมจึงเห็นว่าเราต้องการการเปลี่ยนผ่านทั้งในเรื่องส่วนตัวและการเมือง

ว่าที่จริงบางทีคนเราก็มีอารมณ์ที่มุ่งมองไปสู่การเปลี่ยนผ่านอยู่แล้ว

อย่างเช่น เวลาเราเห็นการกระทำผิด แล้วคิดว่าสิ่งนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก เราอาจจะเรียกอารมณ์แบบนี้ว่า “ความโกรธช่วงเปลี่ยนผ่าน” (Transition-Anger) ซึ่งไม่ได้เน้นที่สถานะของตัวเราเอง หรือมุ่งเห็นคนกระทำผิดได้รับความเจ็บปวด

แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ต้องอาศัยการมุ่งมองอนาคตย่างมีเหตุมีผล ด้วยจิตวิญญาณของความกรุณาและความร่วมมือ

 

Former South African President Nelson Mandela arrives at parliament in Cape Town 10 May 2004 where he addressed a joint sitting of parliament 10 years to the day since he was sworn in as South Africa’s first black president. In an address to parliament, Mandela harshly critized Britain and the United States over the war in Iraq, saying South Africa, by contrast, provided inspiration to the world.
AFP PHOTO/ANNA ZIEMINSKI / AFP PHOTO / ANNA ZIEMINSKI

นัสบอมเห็นว่าคนที่เข้าใจเรื่องความโกรธดีที่สุดคนหนึ่งก็คือ เนลสัน แมนเดลา

เนื่องจากเขาต้องพยายามที่จะไม่แก้แค้นเอาคืน

ในช่วง 27 ปีที่ถูกคุมขัง แมนเดลาต้องฝึกตนให้มุ่งมองไปข้างหน้าโดยก้าวข้ามความโกรธ

เขาเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะนำพาประเทศให้ประสบความสำเร็จหากผู้คนสองกลุ่มยังหวาดระแวงและโกรธแค้นอีกฝ่าย และต้องการแก้แค้นเอาคืนกับความผิดที่ฝ่ายตรงข้ามได้กระทำ

อย่างไรก็ตาม นัสบอมเห็นว่าแมนเดลาเป็นคนคิดอะไรอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง จึงยอมรับการใช้ความรุนแรงเชิงยุทธศาสตร์ได้ในบางลักษณะในกรณีที่วิธีไม่ใช้ความรุนแรงล้มเหลว

ในแง่นี้ การไม่โกรธจึงไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง

จะเห็นได้ว่าความคิดของเขาแตกต่างจากคานธีพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากย้อนกลับไปดูงานของอริสโตเติล เราจะพบว่าสำหรับนักปรัชญากรีกผู้นี้ วิธีที่เราจัดการกับความโกรธไม่ใช่การชำระล้างความโกรธให้หายไปหรือกดทับความโกรธนั้นไว้

หากแต่เป็นการแสดงความโกรธอย่างเหมาะสม

เขาเห็นว่าหากเราแสดงความโกรธออกมามากเกินไปก็เท่ากับเป็นคนบ้าบิ่นมุทะลุ

แต่หากไม่แสดงความโกรธเสียเลยก็จะเป็นคนขลาด

หากเราพิจารณาข้อเสนอของ เจฟฟรี เมอร์ฟรีย์ (Jeffrie Murphy) ศาสตราจารย์ทางกฎหมายและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตต ก็จะเห็นว่า การแสดงความโกรธมีนัยของการเคารพตนเองของเหยื่อผู้ถูกกระทำ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ทำผิดได้รับการลงโทษตามหลักนิติธรรม (rule of law)

ไม่ใช่ให้อภัยกันแล้วก็แล้วไปเพื่อความสบายใจอย่างที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาหรือคำสอนทางศาสนาในปัจจุบันเรียกร้องให้เราทำ

ในแง่นี้ แม้ข้อเสนอของนัสบอมจะน่าสนใจ แต่เราจะละเลยความโกรธในขั้นตอนนี้ไม่ได้ เนื่องจากความโกรธเช่นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนความโกรธช่วงเปลี่ยนผ่านที่มุ่งมองไปสู่อนาคต

คำถามสำคัญก็คือ แล้วช่องว่างระหว่างความโกรธสองแบบนี้จะจัดการอย่างไร

สำหรับคำตอบต่อคำถามนี้ เราอาจจะกลับไปหาแนวคิดของ ปอล ริเกอร์ (Paul Ricoeur) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่เสนอว่า

“การแสดงออกและการอภิปรายเป็นวิถีทางในการเยียวยารักษา”

 

การอภิปรายถกเถียงมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการแสวงหาการอ้างเหตุผลที่ดีที่สุดนำเสนอต่อฝ่ายตรงข้าม

โดยหวังว่าอีกฝ่ายจะแปลงความโกรธแค้นให้อยู่ในรูปของการอ้างเหตุผลที่พอจะรับได้กันทั้งสองฝ่าย

ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อใจและข้อตกลงร่วมกันในบางระดับ

ริเกอร์เห็นว่าภาษาทำให้เราสามารถแสดงออกซึ่งความโกรธเกลียดได้

นั่นหมายความว่าเราสามารถระงับยับยั้งความรุนแรงให้อยู่ในระดับของภาษา

โดยที่ไม่ต้องเก็บกดเอาไว้

รอวันปะทุกลายเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพ

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อจะชี้ชวนให้เราหันมามองสถานการณ์ของบ้านเมืองเรา

ถึงที่สุดแล้วเราตกลงไปในหล่มของความโกรธจนไม่อาจจะก้าวไปข้างหน้าใช่หรือไม่

การติดตามล่าตัวคนที่เห็นต่างทางการเมือง และการแก้แค้นเอาคืนเป็นสิ่งที่จะนำพาสังคมเราไปสู่ทางออกของปัญหาจริงหรือ

หรือว่าท่ามกลาง “ความหลากหลาย” ของความคิดเห็น ซึ่งคำว่า “ความหลากหลาย” หรือ diverse มาจากคำภาษาละตินว่า “diversus” อันหมายถึงการบ่ายหน้าไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามหรือแตกต่างนั้น เราไม่อาจจะ “หันหน้าหากัน” เพื่อสร้างบทสนทนากันได้อีก

สิ่งที่เราเห็นอยู่ตำตาเรื่องความอยุติธรรม เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมือง

ขณะเดียวกันก็สามารถรับมือกับความโกรธที่คุคั่งในใจ เนื่องจากทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ หรือโกรธอีกฝ่ายที่มีส่วนกระชากลากถูให้สังคมก้าวมาถึงขั้นนี้ โดยไม่สำนึกผิดแม้สักน้อย

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเข้าสู่ “ความโกรธช่วงเปลี่ยนผ่าน” ด้วยการทำให้ความโกรธที่มีนัยของการเคารพตนเองให้กลายมาเป็นการอภิปรายถกเถียงในรูปของการอ้างเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายจะพอฟังกันได้

คำตอบของคำถามเหล่านี้อาจจะอยู่ระหว่างสายลมกับแสงแดดก็เป็นได้