วอชเชอร์ : เมื่อ ‘ความรู้’ ขอร่วมปลดแอก

การชุมนุมของนักเรียนหน้ากระทรวงศึกษาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ใช้ชื่อชวนประชดสังคมอย่าง ‘หนูรู้หนูมันเลว’ นำโดยกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ไม่เพียงนักเรียนมัธยมที่ติดโบว์ขาว ชู 3 นิ้ว หรือส่งเสียงเรียกร้องปัญหาของตัวเองเท่านั้น

แต่ยังมีภาพของนักเรียนที่ชูหนังสืองานวิชาการของ ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวไทยที่สอนอยู่ที่สหรัฐฯ

ต้องเรียนให้ทราบว่า งานศึกษาทางวิชาการที่เป็นลักษณะค้นคว้า คนที่อ่านและทำความเข้าใจมักจะเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และยิ่งกว่านั้น งานวิชาการอย่างของอ.ธงชัย บางครั้งถูกจัดเป็นงานนอกกระแสแนวคิดหลักของรัฐไทยที่มักถูกจำกัดพื้นที่หรือถูกผลักไส หรือถึงขั้นทำสิ่งที่ผิดต่อจรรยาบรรณทางวิชาการและสามัญสำนึกคือ ‘การเซ็นเซอร์’ ไม่ให้เฉิดฉายในพื้นที่ทางการเท่าไหร่

แต่การที่นักเรียนมัธยมหยิบชูขึ้นมาสู่สายตาสาธารณชนอย่างภูมิใจ ก็สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า

‘ความรู้’ อีกด้านที่รัฐไทยพยายามจำกัด ก็ได้เข้าร่วม ‘ปลดแอก’ พร้อมกับผู้ชุมนุมด้วย

 

นอกจากการชูหนังสือวิชาการเล่มดังกล่าว งานวิชาการขึ้นชื่อของอ.ธงชัยอย่าง Siam Mapped ที่หาอ่านได้ยากและต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ก็กำลังเริ่มนิยมและถูกพูดขึ้นมากขึ้นในหมู่นักเรียนมัธยม ซึ่งมีเนื้อหาอีกด้านที่อาจเป็นข้อเท็จจริง ที่ต่างจากฐานคติเชิงนิยายของการสร้างรัฐไทยแบบกรมพระยาดำรงราชานุภาพและหลวงวิจิตรวาทการ แต่ถูกบรรจุอยู่ในตำราเรียนใช้สอนนักเรียนในหลักสูตรการศึกษาไทยมาหลายทศวรรษ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิชาการล่าสุดของ อ.ณัฐพล ใจจริงนั้นคือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ที่เผยเบื้องหลังแท้จริงว่าสหรัฐฯมีส่วนร่วมกับการเมืองไทยหลังคณะราษฎรพ่ายแพ้หลังรัฐประหาร 2490 ยังไง ก็เป็นที่นิยมด้วยเช่นกัน

และยังมีงานทางวิชาการหลายชิ้นก่อนหน้านี้ ที่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่อยู่ในรูปของไฟล์ก็ไหลตามกระแสข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตในยุคดิจิตัล ให้ทุกคนดาวน์โหลดไปอ่านและค่อยๆขยายตัว คู่ขนานไปกับการเมืองไทยมาหลายปี รวมถึงในยุค คสช.และรัฐบาลปัจจุบันหลังการเลือกตั้งปี 62

ที่ผู้นำยังคงย้ำให้เชื่อในประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบทางการที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีก่อนและไล่ให้เด็กไปศึกษา

 

รัฐไทยตั้งแต่ก่อนและหลังปฏิวัติสยาม 2475 ก็มีการจัดหนังสือ วรรณกรรม งานวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศหลายชิ้นให้เป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ เพียงเพราะเล่าเรื่องไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจเล่าและบังคับให้เชื่อ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถูกส่งผ่านไปในหมู่ประชาชนและสั่งสมองค์ความรู้ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้ ที่ นักเรียน-นักศึกษา-ประชาชน ต่างร่วมกัน ‘ปลดแอก’ เกิดการชุมนุมในหลายจังหวัดและหลายระดับ ข้อเรียกร้องแม้หลากหลาย แต่ก็ตั้งบนพื้นฐานร่วมกันและปลายทางเดียวกัน

และแน่นอนว่า การหาทางเลือกที่ดีกว่า ยังหมายถึงย้อนกลับไปค้นหาสิ่งที่ผู้มีอำนาจปกปิดมาตลอดด้วยการปลูกฝังแบบเหนือจริง

ย้อนกลับไปเพื่อทำความเข้าใจถึงปมในอดีต ที่นำไปสู่สภาพ ณ ปัจจุบัน จนตกผลึกสู่คำตอบที่แท้จริง

สิ่งที่ทุกคนเรียกว่า ‘อนาคต’ ที่ดีกว่าเดิม