จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Cyber Punk ถึง “ภาษีหุ่นยนต์” การประนีประนอมระหว่าง “คน” กับ “เครื่องจักร”

รู้สึกหงุดหงิดหัวใจทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดถึง “หุ่นยนต์” ว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “หุ่นยนต์” ทำงานได้เร็วกว่า “มนุษย์” เท่านั้น เท่านี้

นัยของคำพูดก็คือ เห็นชอบกับการนำ “หุ่นยนต์” มาแทนที่ “คน”

อาการหงุดหงิดหัวใจที่เกิดขึ้น คือคำถามที่ว่า เหตุใด “มนุษย์ด้วยกัน” จึงไม่มองคุณค่าของงานที่เกิดจาก “คน”

อย่างน้อยก็ให้ “คน” ได้มีที่ยืน มีรายได้ประทังชีวิต มีทุนรอนไปเลี้ยงดูครอบครัว

บางครั้งบางหน โลกใบนี้ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วย “ความเร็ว” ไปเสียทั้งหมดก็ได้กระมัง?

แม้ว่าผมจะเป็นคอลัมนิสต์ที่ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่ก็มีความขัดแย้งในใจเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

ยังไม่ต้องพูดถึงจินตนาการของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ที่วาดฉากทัศน์อนาคต (Future Scenarios) ไปไกลกว่าที่ผมเสนอ

เห็นได้จากวรรณกรรม Sci-fi จำนวนมาก ที่เขียนถึงสงครามระหว่าง “มนุษย์” กับ “หุ่นยนต์” คือถ้าเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ “หุ่นยนต์” ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแย่งงาน “คน” ไปเรื่อยๆ

เราก็คงจะพออนุมานได้ถึงวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ไม่ยาก

 

ความขัดแย้งระหว่าง “คน” กับ “เครื่องจักร” ในนิยายวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมแนว Cyberpunk

Cyberpunk เป็นนิยายที่ว่าด้วยเรื่องราวในยุคอนาคต ที่เทคโนโลยีเจริญรุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง มีอาหารชั้นเลิศ มีเครื่องนุ่งห่มชั้นดี มีที่อยู่อาศัยชั้นยอด มียารักษาโรคชั้นเยี่ยม

กระนั้นก็ดี ช่องว่างระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” กลับถ่างห่างออกกว้างกว่ายุคที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า

เพราะยาชั้นดีมีให้เฉพาะ Celeb อาหารชั้นเลิศกินได้เฉพาะศักดินา ที่อยู่อาศัยระดับ First Class ก็แน่นอนว่ามีปัญญาเป็นเจ้าของกันก็เฉพาะในหมู่ Hi-so และเสื้อผ้าหรูหราก็มีให้ใช้เฉพาะ Elite

สรุปก็คือ “คนรวย” เท่านั้นที่มีสิทธิ์ “เสวยสุข”

ด้วยเหตุนี้ บรรดา “คนจน” จึงถูกผลักให้กลายเป็น “คนนอก”

และนักรบ Cyberpunk ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

 

คําว่า Cyberpunk เกิดขึ้นครั้งแรกในวรรณกรรม Sci-fi เรื่อง Neuromancer ซึ่ง William Gibson ได้ประพันธ์ไว้ในปี ค.ศ.1984

William Gibson ถือได้ว่าเป็นนักเขียนอัจฉริยะคนหนึ่ง ผู้ซึ่งนอกจากจะบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาประดับวงการ ไม่ว่าจะเป็น Cyberpunk, Steampunk, Post-cyberpunk และ Cybernaut แล้ว

เขายังเป็นผู้คิดค้นคำว่า Cyberspace ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาใช้จนกลายเป็นคำจำกัดความ หรือคำเรียกติดปากกันไปทั่ว อาทิ ยุค Cyber, ตลาด Cyber, สินค้า Cyber

Cyberpunk ของ William Gibson หมายถึงเรื่องราวของ “คนนอก” หรือ Outsider ที่ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มบุคคล Underdog หรือ “พลเมืองชั้นสอง”

ที่ไม่สยบยอมต่อ “รัฐ” ผู้กุมอำนาจทหาร คนรวย ศักดินา (เจ้าที่ดิน) พวกเขาจึงตั้งกองกำลัง Cyberpunk ขึ้นต่อกร

เพราะ Cyberpunk ก็คือ Punk ในยุค Cyber ซึ่งก็เหมือนกับ Punk ในยุค 70 และ 80 ที่มีลักษณะต่อต้านสังคม ผ่านรูปแบบการแต่งตัว และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากกระแสหลัก

วรรณกรรม Cyberpunk ส่วนใหญ่มักใช้ฉากแบบหนัง Film Noir โดยมี Background เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modern) ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาควบคุมทุกอย่างในชีวิตประจำวันของมนุษย์

โดยมีภาพยนตร์เรื่อง I, Robot เป็นภาพแสดงแทนหนึ่งของยุค Cyberpunk ที่ “หุ่นยนต์” ต้องการ “ทำสงคราม” กับ “คน”

นอกจากฉากนิยาย Cyberpunk จะประกอบด้วยมนุษย์ Cyborg ผู้ได้รับการผ่าตัดผสมผสานอวัยวะจริงกับอวัยวะเทียม

ผ่านการศัลยกรรม ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ฉีดเซลล์ ตัดต่อยีน เร่งปฏิกิริยาเคมี ใส่ Bionics ติดตั้งกลไก ฝังโครงข่ายประสาทเทียม โดยทั้งหมดควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว

Cyberpunk จำนวนมาก ยังปรากฏอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีเหล่า Hacker เป็นหัวหอกในการรบพุ่งกับผู้ถืออำนาจรัฐ

นอกจาก I, Robot กับ Neuromancer แล้ว มีวรรณกรรมและภาพยนตร์มากมายที่พูดถึง Cyberpunk อาทิ Total Recall, Blade Runner, Robocop, The Last Action Hero, The Girl with the Dragon Tattoo

และที่สำคัญที่สุดก็คือ Terminator หรือ “ฅนเหล็ก 2029”

 

ถ้าถามว่า โอกาสที่จะเกิด Cyberpunk ขึ้นในอนาคตมีมากน้อยเพียงใด?

ตอบได้ทันทีเลยว่า มาก!

เพราะยังไม่ต้องขึ้นขนาดรบราฆ่าฟัน เอาแค่ปัจจุบัน เราก็เริ่มเห็นความหงุดหงิดหัวใจของผู้คนจำนวนมากที่มีต่อการมาถึงของ “หุ่นยนต์” กันแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ “หุ่นยนต์” เข้ามาแย่งงาน “คน” ทำ!

ประเด็นนี้ได้นำไปสู่การจุดพลุเรื่อง “ภาษีหุ่นยนต์” ขึ้น

เพราะมหาวิทยาลัย Oxford ได้ทำคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีนับจากนี้ แรงงานในสหรัฐอเมริกามีโอกาสสูญเสียตำแหน่งงานให้กับ “หุ่นยนต์” มากถึง 47% ขณะที่ในยุโรปมีอัตราที่มากกว่าคือ 54%

Rutger Bregman นักเขียน Bestseller เจ้าของผลงาน Utopia for Realists ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2016 กล่าวว่า อนาคตที่กำลังจะมาถึง “ค่าของคน” ไม่ได้อยู่ที่ “ผลของงาน” ในความหมายของ “ค่าตอบแทน” อีกต่อไป

แต่ “ค่าของคน” คือ “ความสุขที่เราได้รับจากการทำงาน”

Rutger Bregman บอกว่า Jobs are for robots and life is for people “ให้หุ่นยนต์ทำงานไป ส่วนพวกเราจะออกไปเที่ยว”

แนวคิดของ Rutger Bregman ได้รับการขยายความและต่อยอดเป็น Universal Basic Income หรือ UBI ในเวลาต่อมาครับ

 

UBI คือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพลเมืองโลกในอนาคต ที่จะต้องมี “ปัจจัย 4” และ “รายได้” ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต “ในจำนวนเท่ากัน” ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน

Pierre Omidyar ผู้ก่อตั้ง eBay คือผู้ขานรับแนวคิด UBI เป็นคนแรก ด้วยการบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้แก่การทดลอง UBI ในเคนยา ซึ่งจะแจก “เงินให้เปล่า” แก่ประชากร 6,000 คน ภายใต้งบประมาณกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้เวลา 10-15 ปี

ขณะเดียวกัน Bill Gates ก็ได้ออกมาจุดประเด็นเรื่อง “ภาษีหุ่นยนต์” เมื่อเขามองเห็นว่า สงครามระหว่าง A.I. กับ “มนุษย์” มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

Bill Gates กล่าวว่า การเข้ามาแทนที่ “แรงงานคน” โดย “หุ่นยนต์” จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมไม่ต่างจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

“ความขัดแย้งระหว่างคนกับเครื่องจักร ไม่ต่างอะไรจากการปล่อยน้ำเสีย หรือควันพิษจากโรงงาน และการสูบน้ำบาดาล” Bill Gates กระชุ่น

Bill Gates บอกต่อไปอีกว่า แน่นอนว่า การใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงเป็นอย่างมาก

ดังนั้น เราจึงควรเก็บ “ภาษีหุ่นยนต์” แล้วนำ “กำไรส่วนต่าง” มาเป็น Bonus เป็นสวัสดิการให้แก่ “มนุษย์” Bill Gates ทิ้งท้าย

 

สอดคล้องกับ Moon Jae-in ประธานาธิบดี “เกาหลีใต้” ได้แถลงผ่านสำนักข่าว The Korea Times ว่า “เกาหลีใต้” ขอเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการดำเนินนโยบาย “ภาษีหุ่นยนต์”

“เพื่อบรรเทาผลกระทบที่หุ่นยนต์มีต่อแรงงานมนุษย์” Moon Jae-in ประกาศ

ถือเป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาล “เกาหลีใต้” ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างระบบสวัสดิการ และสำหรับเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจาก “หุ่นยนต์”

“ภาษีหุ่นยนต์” หรือแนวคิด Jobs are for robots and life is for people ของ Rutger Bregman จึงเป็นการประนีประนอมระหว่าง “คน” กับ “เครื่องจักร”

เพื่อไม่ให้เกิด Cyber Punk ขึ้นในอนาคต!

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)