เทศมองไทย : เมื่อ “เอเชีย” ช่วยกันสะสมอาวุธ

เวทีหารือด้านความมั่นคงแห่งเอเชียแปซิฟิก ที่สิงคโปร์ ที่เรียกว่า “แชงกรีลา ไดอะล็อก” เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ยังคงถกกันในประเด็นเดิมๆ ว่าด้วยทะเลจีนใต้เป็นหลัก

แล้วก็ดูเหมือนจะยังไม่มีข่าวดีที่ว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้หาทางออกที่เหมาะสมและเห็นพ้องต้องกันได้แต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ บลูมเบิร์กนิวส์ หันมานำเสนอเรื่องการแข่งขันกันสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์กันขนานใหญ่ในภูมิภาคนี้ ที่นับวันยิ่งตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ แทน เมื่อ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจนะครับ ใครอยากดูรายละเอียดเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งนี้ได้เลย

 

ข้อมูลของบลูมเบิร์ก ชี้ว่า ที่มาของ “ความกังวล” ของภูมิภาคเอเชียเป็นเรื่องของการขยายพลานุภาพทางทหารของจีนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเติบโตของกองทัพเรือจีน ที่ตอนนี้ได้ชื่อว่าเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียไปแล้ว

จีนแบ่งกองเรือของตนเป็น 3 กอง กองเรือประจำทะเลจีนตะวันออก กับกองเรือประจำทะเลจีนใต้ รับผิดชอบพื้นที่ทางทะเลรอบๆ ไต้หวันกับในทะเลจีนใต้ กองเรือทะเลเหนือ รับผิดชอบในการป้องกันกรุงปักกิ่งแล้วก็ชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศ

กองทัพเรือจีนโตเร็วมาก ทันสมัยมาก เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะจีน “ทำเอง” ได้ ตั้งแต่เรือดำน้ำติดมิสไซล์ และติดอาวุธนิวเคลียร์ ไปจนถึงเรือดำน้ำจู่โจมทั่วไป, เรือพิฆาต, เรือคอร์เวตต์ และอื่นๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่ตอนนี้กำลังสร้างลำที่ 2 เข้าประจำการในกองทัพของตนเองอีกต่างหาก

โดยอาศัย “เหลียวหนิง” เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ประจำการอยู่ในเวลานี้เป็นต้นแบบ


นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้กองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกา ที่ประจำการอยู่ในพื้นที่เดียวกันพลอยทันสมัย สุดยอดไปด้วย พลเรือเอกแฮร์รี บี. แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิก บอกว่า อะไรที่ใหม่ๆ อะไรที่เจ๋งๆ ที่สหรัฐอเมริกาพัฒนาได้ จะถูกส่งมาประจำการในพื้นที่นี้เป็นที่แรก

แต่ดูเหมือนว่า จีน จะยังคงเหนือกว่า (อย่างน้อยก็ในเชิงปริมาณ) อยู่เล็กน้อย ตัวอย่างเช่น “เดอะ บีสต์” เรือลาดตระเวนชายฝั่งของจีน ระวาง 12,000 ตัน ถือว่าเป็นเรือยามฝั่งระดับ “ยักษ์” ได้เลย เรือลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาคือ ยูเอสเอส ลาสเซน เรือพิฆาตชั้น อาร์เลห์-เบิร์ค ระวาง 9,700 ตันเท่านั้น

“เดอะบีสต์” ยังติดปืนใหญ่ยิงเร็ว 76 ม.ม. ปืนสนับสนุน 2 กระบอก ปืนกลต่อต้านอากาศยานอีก 2 กระบอก อีกต่างหาก ตอนนี้จีนกำลังต่อลำที่ 2 อยู่ครับ

สภาพที่ว่านี้ทำให้ บลูมเบิร์ก สรุปเอาว่าเป็นเครื่องผลักดันในเอเชียพากันสะสมสรรหาสารพัดอาวุธมาเป็นเขี้ยวเล็บของตัวเอง แล้วก็ร่ายรายการที่สั่งซื้อหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะซื้อของประเทศในย่านนี้มาให้ดู เอาเฉพาะรายการใหญ่ๆ เท่านั้น

ผมไล่ๆ ดูแล้ว พบว่า อย่างออสเตรเลีย เตรียมทุ่มเงินอีกกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อการนี้ มีตั้งแต่การจัดซื้อเครื่องบินตรวจการณ์ พี-8เอ (โพไซดอน) 12 ลำ, เรือพิฆาตชั้น โฮบาร์ต 3 ลำ, เรือดำน้ำ ชอร์ตฟิน บาร์ราคูดา 12 ลำ และอื่นๆ อีกมากมาย อินเดีย กำลังมองหาเครื่องบินขับไล่ราว 90 ลำ ถ้าไม่จากล็อกฮีด มาร์ติน ก็เป็นโบอิ้ง หรือไม่ก็เป็นซาบบ์ เรือดำน้ำ 6 เรือบรรทุกเครื่องบิน (ต่อเองในอินเดีย) 3 เรือพิฆาตอีก 7 ลำ เป็นต้น

ในส่วนของอาเซียน ที่ดูเหมือนจะทุ่มเงินซื้ออาวุธมากสุดก็คือเวียดนาม ที่ทุ่ม 1,800 ล้านดอลลาร์ จัดซื้อเรือดำน้ำชั้นกิโล จากรัสเซีย รวดเดียว 6 ลำ

ต่อมาเป็น อินโดนีเซีย ที่ใช้เงิน 1,100 ล้านดอลลาร์ให้ แดวู บริษัทเกาหลีใต้เป็นคนจัดสร้างเรือดำน้ำโจมตี 3 ลำ ไม่นับรวมกับการจัดซื้อเครื่องบินรบ ซู-35 จากรัสเซีย อีกราว 8-10 ลำ

สิงคโปร์ก็ไม่น้อยหน้า สั่งเฮลิคอปเตอร์ทางทหารรวดเดียว 32 ลำ มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ กับ เรือดำน้ำจากเยอรมนีอีก 2 ลำ

ไทย จัดซื้อรถถัง เอ็มบีที-300 จาก ไชนา นอร์ธ อินดัสตรี คอร์ป. ของจีน 28 คัน เป็นเงิน 150 ล้านดอลลาร์

ฟิลิปปินส์ สั่งเครื่องบินรบ เอฟเอ-50 จากเกาหลีใต้ 12 ลำ มูลค่า 420 ล้านดอลลาร์

มาเลเซีย สั่งต่อเรือฟริเกต 6 ลำจากบริษัทในประเทศ กับสั่งเครืองบินลำเลียงพล เอ-400 เอ็ม จากแอร์บัสอีก 4 ลำ

 

สําหรับประเทศไทยนั้น “อาเซียนมิลิทารีดีเฟนส์รีวิว” เพิ่งรายงานไว้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า กำลังให้ความสนใจจัดซื้อ พี-1 เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล กับ ยูเอส-2 เครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกสำหรับกู้ภัยขนาดใหญ่จากทางประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

พี-1 เป็นผลงานของคาวาซากิ ใช้เพื่อตรวจจับเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำอื่นๆ ส่วน ยูเอส-2 นั้นผลิตโดย ชินเมย์วะ อินดัสตรีส์ ขึ้นชื่อในเรื่องการร่อนลงกลางทะเล, การบินสปีดต่ำแต่ได้พิสัยปฏิบัติการไกล

ดูแล้วซื้อหาอาวุธกันจนทำให้รู้สึกเหมือนว่าสงครามจะเกิดขึ้นวันนี้วันพรุ่ง ก็ไม่ปาน…เฮ้อ