จักรกฤษณ์ สิริริน : “ไทยมุง” พฤติกรรม Classic ระดับโลก!

พฤติกรรม “ไทยมุง” อยู่คู่กับประเทศของเรามานาน ตราบเท่าที่คนในสังคมยังมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น ไปจนกระทั่งถึงสอดรู้สอดเห็น

“ไทยมุง” คือกิริยารวมหมู่ในที่สาธารณะ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่แปลกไปจากชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสถานการณ์นั้นมีฉากที่น่าตื่นเต้น รับรองว่าจะต้องมี “ไทยมุง” เกิดขึ้น

ค่อยๆ สะสมคนดูเหตุการณ์ จาก 1 คน เป็น 2 คน และจะทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

จึงอาจกล่าวได้ว่า “ไทยมุง” เกิดจากความเคลิบเคลิ้มคล้อยตามกันไป หรือมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ

 

สังคมบ้านเรารับรู้กันว่า “ไทยมุง” แถวหน้าๆ ล้วนบริโภคดีหมี คือไม่ว่าจะสถานที่เกิดเหตุจะอันตรายมากน้อยสักแค่ไหน ก็มิอาจหักห้ามใจ “ไทยมุง” ได้เลย

เพราะเป็นที่ทราบกันว่า “ไทยมุง” เป็นคนชอบเสี่ยง เสมือนหน่วยกล้าตาย ชอบลงพื้นที่แนวหน้า ยิ่งกว่าสื่อมวลชนเสียอีก

และส่วนใหญ่ ประเด็นที่ “ไทยมุง” มักถูกโจมตีก็คือ ดูเฉยๆ ไม่เคยคิดช่วย

มิหนำซ้ำ “ไทยมุง” บางกลุ่มยังฉวยโอกาสจากความพินาศของคนอื่น ฉกทรัพย์สินเจ้าทุกข์ไปเสียอีก

 

สําหรับในต่างประเทศ มีคำจำกัดความของ “ไทยมุง” หลายศัพท์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Seeing Group หรือ Onlooker และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bystander

ล่าสุด มหาวิทยาลัย Chicago รัฐ Illinois ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ หัวข้อ “Bystander Effect”

เปิดงานวิจัยในหนูทดลอง ชี้พฤติกรรม “ไทยมุง” มีส่วนยับยั้งความคิดช่วยเหลือผู้อื่น

ศาสตราจารย์ ดร. Peggy Mason และ ดร. Inbal Ben-Ami Bartal ได้นำเสนอผลการศึกษาทางห้องปฏิบัติการ ที่จำลองพฤติกรรมแบบกลุ่ม ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

โดยใช้หนูในการทดลองทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาลักษณะการรวมกลุ่มทางสังคมของหนู และจะนำผลการวิจัยไปอภิปรายพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ โดยเฉพาะมนุษย์

 

ศาสตราจารย์ ดร. Peggy เปิดประเด็นว่า โดยทั่วไปแล้ว หนูจะเป็นสัตว์ที่ชอบช่วยเหลือ ทันทีที่เห็นเพื่อนหนูเดือดร้อน

โดยที่หลายท่านอาจจำภาพประกอบบทความนี้ได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แชร์กันมากใน Social Media เมื่อหลายปีก่อน เป็นรูปหนูที่พยายามช่วยเหลือเพื่อนออกจากปากงู

ศาสตราจารย์ ดร. Peggy บอกว่า นอกจากที่หนูมักจะช่วยเหลือเพื่อนในกลุ่มทุกครั้งที่ประสบเหตุเดือดร้อน พวกมันยังชอบช่วยเหลือหนูแปลกหน้าที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนอีกด้วย

“ในประเด็นนี้ พวกเรานักชีววิทยาด้านประสาท เชื่อกันว่า เป็นเพราะหนูได้ถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกตื่นเต้น หรือไม่ก็ความเครียด วิตกกังวล เมื่อเห็นเพื่อนหนูตัวอื่นๆ ตกอยู่ในอันตราย”

 

สอดคล้องกับ ดร. Inbal Ben-Ami Bartal ที่ได้อธิบายว่า นักชีววิทยาด้านประสาท เชื่อว่า การที่ใครสักคนยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ซึ่งกำลังเดือดร้อน มักขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านชีวภาพ มากกว่าศีลธรรมทางใจ

“แต่ผลการศึกษาในอดีตกลับชี้ว่า ทฤษฎีการเสนอตัวเข้าช่วยผู้อื่น เป็นเรื่องของทัศนคติ และคุณธรรมประจำใจ”

ซึ่งเป็นความเชื่อที่ส่งทอดต่อๆ กันมาว่า เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มักจะไม่ค่อยมีใครเสนอตัวช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เมื่อเทียบกับการที่คนคนนั้นเผชิญหน้ากับสถานการณ์เพียงลำพัง

“แนวคิดนี้เรียกว่า The Bystander Effect หรือพิษร้ายไทยมุง” ดร. Inbal กระชุ่น

ดร. Inbal บอกต่อไปว่า ทฤษฎีเก่าๆ อธิบายกับเราว่า เมื่อเกิดการรวมกลุ่มคนขนาดใหญ่ ก็มักจะมีการ “กระจายความรับผิดชอบ” ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นโดยอัตโนมัติ

“และพฤติกรรมเช่นนี้ ส่งผลให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม รู้สึกถึงความรับผิดชอบส่วนตัวน้อยลงจริงๆ” ดร. Inbal กล่าว และว่า

เราสามารถนำแนวคิดดังกล่าว มาพิจารณาสถานการณ์ในที่ทำงานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเกี่ยงกันแก้ปัญหาต่างๆ หรือการโยนงานกันไปมา ดร. Inbal สรุป

 

ศาสตราจารย์ ดร. Peggy Mason สำทับว่า งานวิจัยของเธอ ที่ร่วมกับ ดร. Inbal Ben-Ami Bartal และคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Chicago ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Science Advances

ได้แสดงให้เห็นว่า หนูทดลองมีการตัดสินใจทำหรือไม่ทำกิจกรรมที่เราได้กำหนดไว้ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มหนูนี้ใช้สัญชาตญาณเพียวๆ

“ขั้นตอนการทดลองของพวกเราก็คือ คณะนักวิจัยจะใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กในการควบคุมหนูทดลอง โดยการสร้างกลุ่มหนูขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เรียกว่าผู้เห็นเหตุการณ์ หรือ “หนูพันธุ์ไทยมุง”” ศาสตราจารย์ ดร. Peggy เผย

โดยหนูทดลองกลุ่มนี้ จะได้รับยาคลายเครียดในตระกูลเดียวกับ Valium ทั้งเป็นการกดประสาทเพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวล และเพื่อให้นักวิจัยสามารถแน่ใจได้ว่า หนูกลุ่มนี้จะไม่ไปช่วยหนูที่งานเข้า

“หนูงานเข้าก็คือ หนูที่ประสบเหตุร้าย และตกอยู่ในอันตราย หรือกำลังได้รับความเดือดร้อน โดยในการจำลองทางห้องปฏิบัติการก็คือ การกำหนดให้เพื่อนหนูตัวหนึ่งติดอยู่ในกับดัก ไม่สามารถออกไปเองได้” ศาสตราจารย์ ดร. Peggy กล่าว และว่า

วัตถุประสงค์ของการวิจัย เป็นไปเพื่อทดสอบว่า หนูอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้รับยา Valium จะมีพฤติกรรมเข้าไปช่วยเหลือหนูที่กำลังเดือดร้อนตัวนั้นหรือไม่

 

ผลการทดลองสรุปว่า เมื่อได้รับ Valium “หนูพันธุ์ไทยมุง” จะเฉื่อยชา และไม่เสนอตัวเข้าช่วยเพื่อนหนูที่กำลังติดกับดัก ซึ่งผิดธรรมชาติหนูเป็นอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน หนูกลุ่มที่ไม่ได้รับยา เมื่อเห็น “หนูพันธุ์ไทยมุง” เฉย พวกมันก็จะเฉยตามไปด้วย

สถานการณ์นี้แตกต่างเป็นอย่างมากกับในช่วงที่ “หนูพันธุ์ไทยมุง” นั้น อยู่ตัวเดียวเพียงลำพัง โดยมันจะเสนอตัวเข้าไปช่วยเพื่อนหนูที่ติดกับดักทุกครั้ง ไม่ว่าจะได้รับ Valium หรือไม่ก็ตาม

ศาสตราจารย์ ดร. Peggy อภิปรายผลการทดลองให้เราฟังว่า เมื่อรวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ หนูทุกตัวจะไม่แสดงการตอบสนองใดๆ เลย เมื่อเจอกับเพื่อนหนูที่งานเข้า

“แตกต่างกันอย่างชัดเจน เมื่อแยกหนูออกจากกลุ่มมาอยู่เดี่ยวๆ พฤติกรรมจะกลับกลายเป็นตรงกันข้าม คือเข้าช่วยเหลือเพื่อนทันทีที่เห็น”

“ยิ่งมีจำนวนหนูอยู่ในกลุ่มมากเพียงไร การเสนอตัวช่วยเหลือเพื่อนก็จะยิ่งลดน้อยถอยลงตามไปด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. Peggy กล่าว และว่า

ในทางกลับกัน หากหนูตัวหนึ่งในกลุ่ม แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการที่จะช่วยเหลือ เมื่อนั้น สมาชิกหนูที่เหลือแต่ละตัว ก็จะมีแนวโน้มเข้าช่วยเหลือหนูติดกับดักตัวนั้นด้วยเช่นกัน

 

ศาสตราจารย์ ดร. Peggy ย้ำว่า ผลการทดลองดังกล่าว สามารถอนุมานได้ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์คล้ายกันของตระกูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

“แน่นอนว่า เราสามารถประยุกต์ผลการวิจัยไปยังมนุษย์ซึ่งเป็นเลี้ยงลูกด้วยนมเช่นกันได้”

ศาสตราจารย์ ดร. Peggy ระบุว่า การตอบสนองเช่นเดียวกับ “หนูพันธุ์ไทยมุง” มาจากสัญชาตญาณที่ส่งผ่านมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

“ไม่ใช่สิ่งที่โรงเรียนได้สอนไว้ หรือเกิดจากวัฒนธรรมอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์ ดร. Peggy ทิ้งท้าย