คลุกวงใน : เสียง “คำราม” ในสนามเทนนิส

พิศณุ นิลกลัด
Russia's Maria Sharapova returns to France's Kristina Mladenovic during their semifinal match at the WTA Porsche Tennis Grand Prix in Stuttgart, southwestern Germany, on April 29, 2017. / AFP PHOTO / THOMAS KIENZLE

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน มาเรีย ชาราโปว่า เพิ่งกลับมาแข่งขันเทนนิสเป็นครั้งแรก ในรอบ 15 เดือน ในรายการ Stuttgart Open ที่ประเทศเยอรมนี

หลังจากศาลกีฬาตัดสินลงโทษห้ามแข่งนานถึง 15 เดือน จากการใช้สารเมลโดเนียม (Meldonium) ซึ่งเป็นสารต้องห้ามในวงการกีฬา ซึ่งมาเรียบอกว่ารับประทานสารนี้เพราะครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ไม่ได้มีเจตนาทานเพื่อให้ร่างกายอึด ทน และฟื้นตัวเร็ว

ช่วงที่มาเรียหายไปทำให้วงการเทนนิส “เงียบ” ลงพอสมควร

ที่บอกว่าเงียบ หมายถึงเสียงเงียบลงไปในสนามแข่งขัน เพราะมาเรียเป็นนักเทนนิสที่ส่งเสียงร้องเวลาตีลูกดังระดับต้นๆ ของวงการเทนนิสไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน ทำให้มาเรียถูกนักเทนนิสคู่แข่งคอร์ตเดียวกันบ่นกับกรรมการอยู่เป็นระยะ

บางที ดังจนผู้ชมทีวีทางบ้านรำคาญ

อย่างในการถ่ายทอดสดการแข่งขันวิมเบิลดัน ปี 2015 รอบ 8 คนสุดท้ายระหว่างมาเรีย กับ โคโค่ แวนเดอเวห์ ผู้ชมการแข่งขันทางโทรทัศน์หลายคนที่อังกฤษเขียนบ่นทางทวิตเตอร์ว่ามาเรียส่งเสียงดังเกินไป ทำให้เสียอรรถรสในการชมการแข่งขัน ต้องหรี่เสียงโทรทัศน์ให้เบาลง เลยได้ยินเสียงแร็กเก็ตกระทบลูกเทนนิสเบาลงไปด้วย

ไม่ได้อารมณ์

 

ตามกฎการแข่งขันเทนนิส กรรมการสามารถตัดคะแนนนักเทนนิสได้หากตั้งใจทำพฤติกรรมก่อกวนนักเทนนิสคู่แข่ง ซึ่งรวมถึงการตั้งใจส่งเสียงดังเกินเลย

แต่ที่ผ่านมา มาเรียก็ไม่เคยถูกตัดคะแนนเพราะส่งเสียงดังเวลาแข่งขัน

การส่งเสียงร้องคำรามเวลาแข่งขันเทนนิส ทำให้คู่ต่อสู้เสียเปรียบหรือเปล่า?

เรื่องนี้ได้มีการทำวิจัยศึกษา

จากการศึกษาร่วมกันของนักจิตวิทยา ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮาวาย (University of Hawaii) และยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ บริติช โคลัมเบีย (University of British Columbia) ประเทศแคนาดา พบว่า นักเทนนิสที่ส่งเสียงคำรามหรือร้องเวลาตีลูก ทำให้นักเทนนิสคู่ต่อสู้สับสนในตำแหน่งของลูกเทนนิส ดังนั้น จึงตีลูกกลับลำบาก ซึ่งทำให้นักเทนนิสที่ส่งเสียงเวลาตีลูกเทนนิสได้เปรียบ

คณะผู้ศึกษาได้ให้นักศึกษาปริญญาตรี จำนวน 33 คน ของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย (ที่มีสายตาปกติ การได้ยินปกติ และมีทั้งคนไม่เล่นเทนนิส และชอบเล่นเทนนิส) ดูคลิปวิดีโอการตีลูกเทนนิส 384 คลิป ซึ่งเป็นคลิปที่ผู้ศึกษาถ่ายทำขึ้น โดยให้นักเทนนิสตีลูกไปในทิศทางซ้าย ขวา แล้วตั้งกล้องวิดีโอไว้ที่เบสไลน์

ครึ่งหนึ่งของช็อตที่นักเทนนิสตีออกไป มีการใส่เสียงประกอบ โดยเสียงมีความดัง 60 เดซิเบลตอนที่แร็กเก็ตกระทบลูกเทนนิส

เสียง 60 เดซิเบลนั้น เป็นความดังเท่ากับการพูดคุยระยะห่างสามฟุต

เมื่อได้ดูวิดีโอการตีเทนนิส ที่ครึ่งหนึ่งมีเสียงร้อง อีกครึ่งหนึ่งไม่มีเสียงร้อง จากนั้นให้นักศึกษาชี้ทิศทางของลูกเทนนิสว่าตกที่ไหนให้เร็วที่สุด โดยชี้ทิศทางด้วยการกดแป้นคีย์บอร์ด ถ้าคิดว่าช็อตจะลงทางขวาให้กด M ถ้าลงทางซ้ายให้กด X

พบว่า ในช็อตที่นักเทนนิสส่งเสียงร้องเวลาตีลูกเทนนิส นักศึกษาใช้เวลานานกว่าในการชี้ทิศทางของลูกเทนนิส

นอกจากนี้ ยังชี้ทิศทางผิดมากกว่าด้วย

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ในการเล่นเทนนิสจริง เวลาได้ยินเสียงคู่ต่อสู้ร้องเวลาตีลูก อาจทำให้เดาทิศทางลูกเทนนิสผิดมากกว่าปกติ

และหากเสียงดังยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้เดาทิศทางลำบากยิ่งขึ้น

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การที่นักเทนนิสร้องเวลาตีลูกเทนนิส ทำให้ตัวเองได้เปรียบคู่ต่อสู้ที่ไม่ส่งเสียงร้อง

 

คริส เอฟเวิร์ต บอกว่า เธอไม่คิดว่าการร้องนั้นเป็นการโกง แต่เห็นด้วยที่ว่าสมัยนี้นักเทนนิสร้องกันดังขึ้นเรื่อยๆ

เซเรน่า วิลเลียมส์ ซึ่งร้องเป็นบางครั้งเวลาแข่ง และเคยทำความดังสูงสุดที่ 88.9 เดซิเบล บอกว่า เธอไม่มีปัญหาอะไรกับคู่ต่อสู้ที่ร้อง เพราะเธอก็ร้องบ้างเหมือนกัน ซึ่งทำไปโดยไม่รู้ตัว

นิก บอลเล็ตติเอรี่ เจ้าของโรงเรียนสอนเทนนิสที่สร้างนักเทนนิสที่ร้องดังอย่าง มาเรีย ชาราโปว่า และ มอนิก้า เซเลส ที่เคยทำความดังสูงสุดที่ 93 เดซิเบล บอกว่าเขาขอที่จะใช้คำว่า “หายใจออก” เหมือนกับเร่งเครื่อง ไม่ใช่ร้อง

นิกบอกว่าดูกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น ยกน้ำหนัก หรือนักกอล์ฟเวลาตีลูกลงหลุม ก็ส่งเสียงดังด้วยกันทั้งนั้น เป็นการปลดปล่อยพลังงาน

แต่ถ้าหากนักเทนนิสส่งเสียงดังซ้ำแล้วซ้ำเล่า กรรมการเตือนแล้วไม่ลดหรือเลิก ก็ควรลงโทษด้วยการตัดแต้ม ปรับให้แพ้เกม หรือปรับให้แพ้แมตช์ ตามลำดับ

 

มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า เคยพูดไว้ว่า การร้องเป็นการโกงวิธีหนึ่ง เธอบอกว่า โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เป็นตัวอย่างที่ดีมากของนักเทนนิสที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องร้อง

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เพิ่งให้สัมภาษณ์หลังจากหวนคืนวงการเทนนิสอย่างสวยงามว่า การที่ไม่ร้อง ไม่ทำหน้าเหยเกเวลาหวดลูก ไม่ได้เหงื่อแตกพลั่ก ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้พยายามอย่างสุดความสามารถ นั่นเป็นรูปแบบการเล่นของเขา

ส่วน มาเรีย ชาราโปว่า ซึ่งเสียงร้องของเธอเคยดังที่สุดถึง 101 เดซิเบล ดังระดับใกล้เคียงกับสิงโตคำราม (ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 110 เดซิเบล) จนสื่อต่างชาติตั้งฉายาให้ว่า “Queen of Scream” บอกว่าเธอร้องอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มเล่นเทนนิสตอนอายุ 4 ขวบ

และไม่คิดที่จะเปลี่ยน