กดปราบชาวอุยกูร์ ไปไกลถึงนอกพรมแดนตัวเอง

ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีประเด็นไหนที่เป็นที่รู้จักเท่าการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์แห่งเขตปกครองตนเองซินเจียง มณฑลสุดขอบภาคตะวันตกของจีนซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมต่างกับแบบฉบับทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 ผลพวงของสงครามต่อต้านก่อการร้ายและแนวคิดชาตินิยมเตอร์กิสในหมู่ชาวอุยกูร์ สร้างความหวั่นไหวกับรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งยึดโยงหลักการความมั่นคงของชาติจีนเข้าเสถียรภาพของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ดำเนินการปราบปรามทั้งใช้กำลังและนโยบายกลืนวัฒนธรรม

หนึ่งในนั้นคือ การจับกุมชาวอุยกูร์ถึงล้านคน เข้าสู่พื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลจีนที่เรียกว่า “ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้” อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนา

แต่ในสายตาองค์กรสิทธิมนุษยชนและชาติตะวันตก มองว่าเป็น “ค่ายกักกันปรับทัศนคติ”

รัฐบาลจีนทำทุกทางเพื่อรักษาพื้นที่มณฑลไม่ให้ชาวอุยกูร์คนใดกระด้างกระเดื่องต่อต้านรัฐบาล ไม่เพียงแค่ในมณฑลซินเจียง แต่ยังรวมถึงนอกพรมแดนจีน ซึ่งมีนักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ ลี้ภัยและเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

 

อยู่มาวันหนึ่ง อับดุลเจลิล อีเมต นักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี ได้รับการติดต่อจากน้องสาวที่อยู่ในซินเจียงหลังลี้ภัยมาได้ 3 ปี

การติดต่อครั้งนั้นไม่มีอะไรนอกจากบทสนทนาครอบครัวอันแสนสุข ซึ่งภายหลังพบว่าทำโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจีน

น้องสาวของอีเมตขอให้พี่ชายหยุดเคลื่อนไหว จากนั้นเจ้าหน้าที่จีนได้คว้าโทรศัพท์พร้อมพูดเชิงขู่ว่า “นายอาศัยอยู่ต่างแดน แต่ควรคิดถึงเรื่องครอบครัวให้ดี หากยังทำการเคลื่อนไหวอยู่”

นอกจากอีเมตแล้ว ยังมีกรณีของกัลฮูมาร์ ไฮติวาจี ชาวอุยกูร์ที่ออกมาวิจารณ์นโยบายต่อมณฑลซินเจียงของจีน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ฝรั่งเศส เธอต้องยกเลิกกำหนดการร่วมประชุมสุดยอดด้านสิทธิมนุษยชนที่กรุงเจนีวา หลังทราบข่าวว่าแม่ของเธอหายตัวไปอยู่ในค่ายกักกันแห่งหนึ่งในซินเจียง

ไม่เพียงเท่านี้ นักเคลื่อนไหวอีกหลายคนที่ลี้ภัยอยู่ในหลายประเทศของยุโรป ต่างออกมาพูดเหมือนกันว่า ครอบครัวที่อยู่ในซินเจียงถูกคุกคาม

 

นอกจากจีนจะบั่นทอนการเคลื่อนไหว ด้วยการคุกคามคนในครอบครัวแล้ว จีนยังพยายามว่าจ้างชาวอุยกูร์ในต่างแดนทำงานเป็นสายลับแทรกซึมอยู่ในชุมชนชาวอุยกูร์ เก็บภาพการรวมตัว ข้อมูลชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ของนักเคลื่อนไหว หรือบางคนได้รับการว่าจ้างจากทูตจีนที่ประจำประเทศในยุโรป หรือได้รับการติดต่อว่าจ้างจากเจ้าหน้าที่จีนผ่านวีแชต

โดยเจ้าหน้าที่จีนยื่นข้อแลกเปลี่ยนไม่ว่าจะเป็นเงินสด วีซ่าในการเข้ามณฑลซินเจียง หรือทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การปราบปรามอย่างเข้มข้นของจีนได้ขยายวงออกสู่ระดับโลก และรวมถึงโลกออนไลน์ผ่านการสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ทำให้องค์กรชาวอุยกูร์ในหลายประเทศต้องยกระดับการทำกิจกรรมเพื่อตอบโต้การรุกคืบคุกคามของจีน

การเคลื่อนไหวที่ถูกยกระดับมากขึ้นในหมู่ชาวอุยกูร์โพ้นทะเลนี้ ก็ส่งผลทำให้นโยบายจีนต่อมณฑลซินเจียงรุนแรงและก้าวร้าวมากขึ้น

เมื่อใดมีชาวอุยกูร์พูดถึงความเลวร้ายของจีน จีนจะพยายามมากขึ้นไปอีกในการควบคุมความคิดของชาวอุยกูร์ผ่านโปรแกรมที่ถูกใช้ในค่ายกักกัน

 

การคุกคามนักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ในต่างแดนโดยจีนนี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่มีความต่อเนื่องและมีการรายงานเข้ามาโดยตลอด ทั้งจากรัฐบาลและสื่อต่างชาติ อย่างรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีนโดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เมื่อปี 2019 ได้ระบุว่า จีนมุ่งจำกัดการวิจารณ์นโยบายต่อมณฑลซินเจียงในต่างประเทศ ทั้งการขัดขวางการถกเถียงทางวิชาการและข่มขู่นักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ในต่างแดน

ทำให้เกิดกรณีล่วงละเมิด เช่น สถานทูตจีนในเบลเยียม กดดันให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถอดข้อมูลวิจารณ์นโยบายซินเจียงออกจากเว็บไซต์ หรือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 นักวิจารณ์ชาวเบลเยียมถูกเจ้าหน้าที่จีนขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมประชุมวิชาการที่เมืองสตราบูรก์ ประเทศฝรั่งเศส

หรือชาวอุยกูร์และคาซัคในต่างแดนถูกบังคับให้ปิดปากหลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนเข้าคุกคามครอบครัวของพวกเขาที่ยังอาศัยอยู่ในจีน

 

ทั้งนี้ นโยบายซินเจียงของจีน เกิดขึ้นหลังการลุกฮือของชาวอุยกูร์ในอุรุมชี เมื่อปี 2009

ตั้งแต่นั้นจีนได้ทำการเข้าแทรกแซงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ทุกมิติ ทั้งสังคม วัฒนธรรม ศาสนาและความเชื่อ

แม้แต่ชื่อที่ใช้ที่มีรากฐานจากศาสนาก็เป็นเรื่องต้องห้าม

จนยกระดับสู่การกักกันหมู่ชาวอุยกูร์ไว้ในค่ายกักกัน กลายเป็นประเด็นที่ชาติตะวันตกออกมาประณามจีน

ต่อมาในช่วงปลายปี 2019 นิวยอร์กไทม์สและสมาคมนักข่าวสืบสวนสากล (ไอซีไอเจ) ได้เผยแพร่เอกสารลับของรัฐบาลจีนที่รั่วไหลเกี่ยวกับแนวปฏิบัตินโยบายในซินเจียง รวมถึงคู่มือปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกันในค่ายซึ่งมีการนำเอานวัตกรรมมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิชนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นหลักนโยบายเชิงคาดการณ์หรือนำเอาระบบเอไอมาระบุเป้าหมายและควบคุมชีวิตชาวอุยกูร์ในค่าย

แสดงให้เห็นว่า จีนมีประสิทธิภาพในการปราบปราม กดขี่ผู้เห็นต่างอย่างเป็นระบบได้มากแค่ไหน