ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล* : “นิธิ เอียวศรีวงศ์” มองพัฒนาการกระฎุมพีต้นรัตนโกสินทร์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ การแสวงหาห้วงเวลาแห่งการกำหนดตัวเอง สู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย ในผลงาน ปากไก่และใบเรือ (จบ)

ด้วยการจัดวางบริบททางภูมิปัญญาใหม่ให้แก่ตัวบทปากไก่และใบเรือ และการย้อนกลับไปพิจารณาผลงานวิชาการอื่นๆ นอกเหนือจากงานด้านประวัติศาสตร์ไทยที่นิธิเขียนขึ้นในช่วงกลับการศึกษาปริญญาเอกจนถึงก่อนปลายทศวรรษ 2520

โดยเฉพาะกลุ่มงานเขียนด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งมีทั้งที่นิธิเขียนเรียบเรียงและแปลจากบทความสำคัญด้านนี้ในภาษาอังกฤษ เราจะยิ่งเห็นภาพความเชื่อมโยงของงานศึกษาประวัติศาสตร์วรรณกรรมสมัยใหม่และปัญญาชนชาตินิยมอินโดนีเซีย และการนำเข้าเครื่องมือการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ที่ใช้กันอยู่ในแวดวงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาขณะนั้นเข้าสู่การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาในการอ่านและทำความเข้าใจความหมายทางประวัติศาสตร์ที่นิธิต้องการนำเสนอในผลงานชิ้นสำคัญนี้คงอยู่ที่ นิธิในเวลานั้นได้รวมเอาปัญหายุ่งยากทางวิชาการในสมัยของเขา ทั้งในแง่มโนทัศน์ทางสังคมและข้อวิวาทะทางประวัติศาสตร์หลายเรื่องมารวมเข้าไว้ด้วยกันและจัดการความยุ่งยากเหล่านั้นในคราวเดียวภายใต้บทวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงแบบแผนทางภูมิปัญญาของชนชั้นนำศักดินา กำเนิดโลกทัศน์กระฎุมพียุคต้นรัตนโกสินทร์ และความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมยุคต้นกรุง (ซึ่งหลายปัญหาก็เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นยอดนิยมในงานศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว)

โดยที่ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในแนวการโต้เถียงของประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบสกุลดำรงราชานุภาพและฝ่ายซ้าย มาร์กซิสต์ ทั้งนี้ นอกจากปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากสังคมก่อนสมัยใหม่หรือสังคมจารีต (traditional society) สู่สังคมสมัยใหม่ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

กระบวนการกลายเป็นเมือง (urbanization) และวัฒนธรรมแบบสังคมเมืองก็เป็นประเด็นที่นิธิให้ความสนใจอย่างยิ่ง

รวมไปถึงปัญหาบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลในการค้าของภูมิภาคและการสร้างชาติ, แนวการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมแบบ Robert Redfield ที่นิยมแบ่งประเภทวัฒนธรรมออกเป็นวัฒนธรรมหลวงกับวัฒนธรรมราษฎร์ (great and little tradition) และเน้นการดำรงอยู่ร่วมกันของทั้งสองวัฒนธรรมบนฐานของปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน (folk) กับเมือง

ปัญหาจารีตการอ่านตัวบทวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยที่นิธิยังเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ที่มีแนวโน้มเป็นการอ่านเอาความงามของภาษา และอาจรวมถึงการอ่านแบบนววิจารณ์ (new criticism) ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์โครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ของตัวบทอย่างลึกซึ้งโดยไม่สนใจบริบททางสังคม-วัฒนธรรมและเจตนาของผู้ประพันธ์ ซึ่งนิธิได้โต้วิธีวิทยาการศึกษาตัวบทวรรณคดีเหล่านี้ด้วยการหันมาให้ความสนใจกับบริบททางประวัติศาสตร์และสังคม และชี้ให้เห็นลักษณะความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ในวรรณคดีเหล่านั้น

ซึ่งเขาเองมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และความคิดที่กว้างออกไป แนวการวิเคราะห์วรรณกรรมดังกล่าว นิธิรับมาโดยตรงจากงานศึกษาวรรณกรรมตะวันตกสมัยใหม่ของ Ian Watt ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อลักษณะสัจนิยมในฐานะตัวบ่งชี้ความเป็นสมัยใหม่

ทั้งนี้ ไม่ต้องกล่าวถึงกำเนิดจิตวิญญาณทุนนิยมของ Max Weber ที่นิธิได้อ้างอิงไว้ชัดเจนอยู่แล้วใน “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์”

 

ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนพยายามฉายให้ภาพกว้างของภูมิหลังของงานเขียนประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากที่จะอธิบายอย่างรวบรัดในที่นี้ และทำให้จำเป็นต้องละเลยรายละเอียดจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรกล่าวเพิ่มเติมคือ เมื่อบทความต่างๆ ที่รวมอยู่ในปากไก่และใบเรือ ถูกนำเสนอสู่วงวิชาการในยุคสมัยของมัน

โดยเฉพาะผลงานเรื่อง “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” “โลกของนางนพมาศ” และ “สุนทรภู่ : มหากวีกระฎุมพี”

อำนาจอธิบายและเจตนาของนิธิก็ไม่อาจขึ้นกับตัวเขาไปได้ตลอด เนื่องด้วยบรรยากาศวิชาการประวัติศาสตร์ในทศวรรษ 2520 กำลังคึกคักไปด้วยการนำเข้าเครื่องมือการวิเคราะห์ใหม่ๆ จากสังคมศาสตร์หลากสาขา มิพักต้องกล่าวถึงภาษาวิชาการแบบฝ่ายซ้ายในเวลานั้นที่ให้ความสำคัญกับปัญหาทุนนิยมและการเปลี่ยนผ่านของรัฐไทย

ด้วยเหตุดังนั้น ปากไก่และใบเรือ ก็ถูกม้วนเข้าสู่มหาสมุทรของวาทกรรมวิชาการฝ่ายซ้ายโดยง่าย

ขณะที่นักประวัติศาสตร์จากค่ายอนุรักษนิยมแม้จะตระหนักถึงความสำคัญในผลงานของนิธิ แต่ก็เลือกหนทางตอบสนองด้วยการไม่สร้างบทสนทนายืดเยื้อ เว้นแต่มุ่งเป้าไปที่ข้อหาไม่เคารพพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย (ดูบางตัวอย่างจากสุลักษณ์ 2523)

 

ท้ายนี้ควรกล่าวด้วยว่า แม้จะได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชน นักคิด นักเขียนคนสำคัญแห่งยุคสมัย แต่เฉกเช่นคนธรรมดาสามัญที่วิธีคิดของเขาย่อมเปลี่ยนแปลงตามเวลาทั้งจากบริบทการเมืองสังคมที่เปลี่ยนไปหรือชุมชนมิตรสหายที่แวดล้อม

ซึ่งผู้ศึกษาที่ใส่ใจถี่ถ้วนอาจสามารถสังเกตเห็นร่องรอยดังกล่าวได้ในระดับใดระดับหนึ่งหากพิจารณาโดยถี่ถ้วน

ในการนี้ ข้อเสนอและแนววิเคราะห์ของนิธิที่ปรากฏในผลงานชุดปากไก่และใบเรือ ก็อาจถูกขยายความ ต่อยอด หรือขยับเคลื่อนแนววิเคราะห์ได้เช่นกันเมื่อเขาเห็นว่ามีงานวิชาการใหม่ๆ ที่ให้คำอธิบายได้ดีและมีพลังกว่า

ดังเช่นในบทความขนาดยาวเรื่อง “การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี” ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ โมงยามไม่ผันแปร (2558) นิธิได้ต่อยอดกรอบการวิเคราะห์บทบาทของกระฎุมพีไทยเข้ากับงานศึกษาใหม่ๆ ว่าด้วยชนชั้นกลางระดับล่าง เพื่ออธิบายลักษณะความเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นของกระฎุมพีไทยท่ามกลางสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

หรือในงานเรื่อง ว่างแผ่นดิน (2562) ซึ่งเป็นผลงานศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบรัฐราชอาณาจักรทั้งสามบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยในงานชิ้นนี้นิธิได้รับอิทธิพลจากงานศึกษาของ Victor Lieberman ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่าเจ้าของผลงานประวัติศาสตร์เรื่อง Strange Parallels

ในส่วนสรุปนิธิได้รวบยอดปัญหาการเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมตะวันตกของผู้ปกครองรัฐทั้งสามว่า

“…ความรับรู้เกี่ยวกับตะวันตกและภยันตรายของตะวันตกของผู้ปกครองสามรัฐราชอาณาจักรมีไม่ต่างจากกันนัก แม้แต่ทางเลือกที่จะตอบสนองภัยคุกคามนั้นก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือเรียนรู้วิทยาการตะวันตก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี … แต่การตอบสนองในทางเดียวกันกลับให้ผลต่างกัน เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่นๆ มากกว่า เช่น ช่วงจังหวะทางการเมืองภายในของประเทศมหาอำนาจ, บูรณภาพทางดินแดนของอาณานิคมที่มีอยู่เดิม, การขยายตัวของทุนนิยม ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง นโยบายของมหาอำนาจตะวันตกเป็นเงื่อนไขสำคัญกว่า การกระทำหรือไม่กระทำอะไรของประเทศที่จะตกเป็นอาณานิคม”

ด้วยทัศนะเช่นนี้ ผู้อ่านสามารถตระหนักได้ว่า ความสำคัญของ “ปัจจัยภายใน” ในการตีความของผู้ศึกษางานประวัติศาสตร์ของนิธิจำนวนมากที่มักเข้าใจว่าหมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญถูกกำหนดจากเงื่อนไขภายในสังคมนั้นๆ ก็ดูจะถดถอยลงทันใด เหตุเพราะในทัศนะของนิธิเอง ปัจจัยภายในที่เขาเสนอก็อาจเป็นคนละเรื่องหรือขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะเป็นอะไรที่ตายตัว

และถึงที่สุด ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมพิสูจน์ว่า แม้ในปัจฉิมวัย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ยังคงความเป็น “นักเรียนประวัติศาสตร์” ไว้อย่างเหนียวแน่น