สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร : ลมกระโชกแรง

บินผงาด เป็นพยัคฆ์เสียบปีก จากผลประชามติ ที่ชาวบ้านเทเสียงผ่านรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง อย่างท่วมท้น ไม่ครบสัปดาห์ดี

รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เจอลมกระโชกแรงจากเหตุการณ์ “ร้าย” ในหลายจังหวัดภาคใต้

ทำเอาเสียหลัก เสียทิศทาง อย่างไม่คาดฝัน

ที่คิดว่าทุกอย่างจะ “ง่าย” กลายเป็น “ยาก” ขึ้นมาฉับพลัน

โดยเฉพาะการหาคำตอบ ให้ได้ว่าเกิดอะไรที่ภาคใต้ ใครทำ และมีวัตถุประสงค์อะไร

หากคลุมเครือ ย่อมเป็นการท้าทาย “อำนาจเหล็ก” ของ คสช.อย่างยิ่ง

และที่สำคัญ จะปล่อยให้เรื่องนี้กระทบกระเทือนไปถึงโรดแมปที่วางไว้ไม่ได้โดยเด็ดขาด

อย่างที่ทราบกัน สิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลและ คสช.อย่างสูง ในตอนนี้ก็คือ

หนึ่ง ผลจากการลงประชามติ 7 สิงหาคม

และสอง การที่รัฐบาลและ คสช. ยืนหยัด ยืนยัน ชูธงที่จะให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2560

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย หากแต่เป็นประชาคมโลกด้วย

ดังนั้น เงื่อนไขที่จะมาขัดขวาง หรือทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป จะต้องเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักจริงๆ เท่านั้น

การบิดพลิ้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด รัฐบาลและ คสช.มีแต่เสียอย่างเดียว

ดังนั้น จึงต้องประคองสถานการณ์เอาไว้ให้ดี

ซึ่งแต่เดิมนั้น ดูจากสีหน้าและอาการของคนในรัฐบาลและ คสช.แล้ว มีความแช่มชื่น และเริ่มมั่นใจอย่างสูง กับ “การเปลี่ยนผ่าน” ทางการเมืองหลังจากนี้

มั่นใจว่าจะ “ควบคุม” และอยู่ในแนวทาง ที่รัฐบาลและ คสช.วางเอาไว้ได้

โดยเฉพาะเสียง 15 ล้านเสียง ที่แสดงออกมาว่ายังไม่ต้องการให้ “ฝ่ายการเมือง” เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศอย่างเต็มตัว

ยังต้องการเห็น รัฐประชาธิปไตย ที่มีตัวแทนจากการแต่งตั้งของ คสช.เข้ามากำกับดูแลอย่างน้อย 5 ปี ผ่านวุฒิสภาและกรรมการชุดต่างๆ อีกมากมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

และเผลอๆ ยังมีคนแอบฝันแล้วว่า ผู้บริหารประเทศชุดปัจจุบัน อาจจะเป็น “ผู้เล่น” ในช่วงเปลี่ยนผ่านเสียเองด้วย

เราเริ่มได้ยินการพูดถึงนายกรัฐมนตรีคนนอก มากยิ่งขึ้น

เริ่มได้ยินถึงการพยายามจะออกแบบ เพื่อเปิดทางในภาครัฐ และภาคตัวแทนอนุรักษนิยม เข้ามามีบทบาทในการบริหาร พร้อมๆ กับจำกัดจำเขี่ย “การเมือง” ให้อยู่วงจำกัด หรือง่อยเปลี้ยเสียขาไปเลย

นี่คือ ความคาดหวัง ภายใต้เสียงสนับสนุน 15 ล้านเสียง

ซึ่งอาจมีผู้ทะเล่อทะล่าไปบ้าง เช่น เสนอตั้งพรรคการเมือง เพื่อหนุนผู้นำปัจจุบัน ตั้งแต่ไก่โห่

อาจมีความคาดหวังเช่นนั้น แต่การเสนอ ที่ไม่ถูกจังหวะ หรือแสดงอาการ “อยาก” หรือต้องการมากเกินไป

คนก็รับไม่ไหว

กรณีพรรคประชาชนปฏิรูป ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความ “อยาก” จนออกนอกหน้า

เมื่อเสนอออกไปจึงหัวคะมำอย่างไม่เป็นท่าดังกล่าว

และให้บทเรียนว่า แม้จะรู้สึกว่าฝ่ายของตนเองจะเป็นฝ่ายชนะ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะได้ทุกอย่างที่ต้องการ

ยังต้องเผชิญการต่อสู้ ต่อรอง ทั้งอย่างเปิดและไม่เปิดเผยอย่างหนักอีกมาก

จึงต้องทำใจตลอดว่าเหตุไม่คาดฝัน และความไม่แน่นอน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เสียงระเบิดกึกก้องที่ดังขึ้นในหลายจังหวัดของภาคใต้ ก็เป็นสัญญาณเตือนแล้ว

เตือนให้รู้ว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ยังคงดำรงอยู่

และที่น่าห่วงกังวลใจยิ่ง ก็คือ เป็นแรงต่อต้านที่กลับไปสู่โหมดแห่งความรุนแรงอีกครั้ง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “อำนาจเหล็ก” ของ คสช.ที่มีอยู่ จะนำความจริงมาบอกแก่ประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากชัยชนะประชามติมีไม่ถึงสัปดาห์