จักรกฤษณ์ สิริริน : เรามาถึงจุดที่คุยกับสัตว์เลี้ยงได้แล้ว

ลําพังสภาพสังคมทั่วไป ที่ยังเดินมาไม่ถึง ยุคที่คนหนุ่ม-สาวไม่นิยมแต่งงาน หรือที่สมรสกันแล้วก็ไม่อยากมีบุตร หรือจะมีส่วนใหญ่ก็มีไม่เกิน 1 คน

คนรุ่นเก่าได้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นสมาชิกคนสำคัญกันอยู่แล้ว จนสามารถพูดได้ว่า ในอดีต หลายสิบล้านครอบครัวบนโลกใบนี้ล้วนมีสัตว์เลี้ยงแสนรัก

อีกปัจจัยหนึ่งคงเป็นผลพวงจากการที่หลายชาติต่างเริ่มเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีเวลาว่างพอจากการทำมาหากิน หาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เซ็ง

ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ด้วยกลไกของโลกที่เคลื่อนผ่านมาตามกาลเวลา จนเข้าสู่ยุคคน Generation ใหม่ที่หวงแหนความโสด ใช้ชีวิตคู่โดยไม่แต่งงาน และไม่มีลูก

ดังนั้น สิ่งแก้เหงาของครอบครัวรุ่นใหม่ หลายคนจึงนิยมนำ “น้องหมาน้องแมว” มาเลี้ยงแทนการมีบุตร-ธิดา เกิดปรากฏการณ์เลี้ยงสัตว์กันอย่างกว้างขวาง

 

การเลี้ยงสัตว์ที่แพร่หลายของคน Generation ใหม่ในรอบ 10-20 ปีมานี้ ถือเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดจากในยุคอดีตค่อนข้างมากเลยทีเดียว

เห็นได้จากความเฟื่องฟูของธุรกิจสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นคลินิกสัตวแพทย์ที่หลายแห่งพัฒนาเป็นโรงพยาบาลสัตว์มีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

ธุรกิจขายอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงก็เปิดใหม่จำนวนมาก กิจการอาบน้ำ-ตัดขนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทยยุคอดีต ก็มีปริมาณมากจนเกือบเฟ้อ

ยังไม่นับกิจกรรมประกวดสัตว์เลี้ยงที่มีการจัดขึ้นถี่ยิบ และธุรกิจที่หลายท่านไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น เช่น ธุรกิจรถรับ-ส่ง “น้องหมาน้องแมว” เดินทางไปสถานที่ต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นพาไปหาหมอ หรือไปฝากไว้ที่โรงแรมสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะบริการรับจัดพิธีฌาปนกิจ “น้องหมาน้องแมว” และธุรกิจ “คาเฟ่แมว” ก็มีมาก

 

ด้วยความ “รักเหมือนลูก” ผมเชื่อว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงนับล้านคน บางช่วงขณะอารมณ์ น่าจะมี Moment ที่คล้ายๆ กันก็คือ “อยากสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก”

“ทาสแมว” อย่างผม ก็เป็นคนหนึ่งซึ่งเคยฝัน “อยากสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก” เหมือนกัน เพราะความผูกพันบางครั้งก็ต้องการ “การสื่อสารที่ตรงกัน” กับเขา

ในยุคที่โลกยังไม่มี AI เชื่อว่า “ทาสแมว” หลายต่อหลายคน คงจะจำเจ้า Meow Lingual หรือ “เครื่องแปลภาษาแมว” ในรูปแบบ Gadget อันเล็กๆ กันได้

ผู้ผลิต Meow Lingual นั้น เป็นโรงงานเดียวกันกับที่เคยสร้างความฮือฮาจาก Bow Lingual “เครื่องแปลภาษาหมา” นั่นคือ Takara บริษัทของเล่นชื่อดังในญี่ปุ่น

โดยทั้ง Bow Lingual และ Meow Lingual จะมี Function “ลำโพง” ที่เปิดรับ “เสียงร้อง” ของ “น้องหมาน้องแมว” นำไปเทียบกับ Pattern เสียงที่บันทึกเอาไว้

เมื่อเทียบได้แล้วว่า “เสียงร้องนั้นๆ” ตรงกับฐานข้อมูล Bow Lingual หรือ Meow Lingual ก็จะแสดงผลทางหน้าจอเป็น “ภาษาคน” ว่า “น้อง” เขาต้องการอะไร

นอกจากนิตยสาร TIME จะเคยยกย่องให้ Bow Lingual และ Meow Lingual เป็นสุดยอดนวัตกรรมประจำปีแล้ว คณะกรรมการ Ig Nobel ยังมอบรางวัลให้ด้วย

โดยมอบให้กับ Dr. Matsumi Suzuki และ Dr. Norio Kogure ในฐานะผู้ค้นคิดประดิษฐกรรม Bow Lingual และ Meow Lingual ให้กับบริษัทของเล่น Takara

 

หลังจากโด่งดังในญี่ปุ่น Bow Lingual และ Meow Lingual ได้พัฒนาโดยเพิ่มการแสดงผลหน้าจอเป็นภาษาอังกฤษ จนขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในยุโรปและอเมริกา

ก่อนที่ยอดขายของ Bow Lingual และ Meow Lingual จะค่อยๆ ซาลง จากการเกิดขึ้นของ Smart Phone และความนิยมที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมีต่อ APP ต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “APP แปลภาษาสัตว์เลี้ยง” ที่หากเปิดเข้าไปทั้งใน App Store ของ iOS (iPhone) และใน Play Store ของ Android ก็จะเจอเป็น 100 APP

กระบวนการทำงาน ก็คาดเดาได้ไม่ยาก เพราะมันก็เหมือนกับที่กลไกของ Bow Lingual และ Meow Lingual ได้เคยสร้างสรรค์กันเอาไว้แล้วทุกประการนั่นเองครับ

และล่าสุด กับการนำ AI มาช่วยในการ “แปลภาษาสัตว์เลี้ยง” โดยใช้สมรรถนะของ Machine Learning เหมือนกับที่ Siri ใน iPhone กำลังใช้งานอยู่

 

ศาสตราจารย์ Dr.Constantine Slobodchikoff นักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์ จากมหาวิทยาลัย Northern Arizona สหรัฐอเมริกา เป็นผู้เปิดประเด็นนี้ขึ้น

Dr.Constantine ได้ศึกษาการสื่อสารของ Prairie Dog หรือกระรอกดิน ด้วยการติดตั้งกล้องและไมโครโฟนเอาไว้ที่ตัว Prairie Dog พบว่ามันมีภาษาเฉพาะตัว

“Prairie Dog ใช้เสียงร้องโทนสูง-ต่ำหลายระดับเพื่อสื่อสารกับสมาชิกในฝูง ผมพบว่ามันเป็นภาษาที่มีความซับซ้อนมาก” Dr. Constantine Slobodchikoff กระชุ่น

“จากงานวิจัย Prairie Dog ผมคิดว่า ในอนาคตเราสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับแปลภาษาของสุนัขหรือแมวได้เช่นกัน” Dr. Constantine Slobodchikoff ระบุ

Dr. Constantine จึงได้ทำการเก็บรวบรวมคลิปเสียงที่สุนัขใช้ในการสื่อสารนำไปสู่การป้อนลงใน Algorithm ให้สามารถแปลความหมายเสียงของสัตว์เลี้ยงได้

แทนที่จะเอางานวิจัยใส่ไว้บนหิ้ง Dr. Constantine Slobodchikoff ได้ตั้งบริษัท Zoolingua ขึ้น เพื่อทำการต่อยอดการค้นคว้าดังกล่าวก้าวสู่สินค้าในเชิงพาณิชย์

ผลวิจัยชี้ว่า สุนัขเข้าใจภาษามนุษย์ ด้วยการแสดงสัญลักษณ์ให้รู้ว่า “เข้าใจ” เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เราสื่อสารกับพวกมันได้เท่านั้น

“อย่างไรก็ดี Zoolingua ยังต้องการงานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อให้การแปลความหมายเสียงร้องของสัตว์มีความแม่นยำ” Dr.Constantine สรุป

 

ปัจจุบัน ต้องบอกว่าแนวคิดเรื่องการพัฒนาเครื่องมือแปลภาษาสัตว์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบรรดา “ทาสหมา” และ “ทาสแมว”

เหตุผลหลักก็คือ นอกจากจะทำให้ “คนรักสัตว์เลี้ยง” สามารถสื่อสารกับ “สัตว์เลี้ยงแสนรัก” ได้อย่างแนบสนิทชิดใกล้แล้ว ยังช่วยลดปัญหาการทารุณสัตว์ได้ด้วย

เพราะจากสถิติที่ผ่านมา แต่ละปีจะมีสุนัขเสียชีวิตมากถึง 3 ล้านตัวในอเมริกา เนื่องจาก “น้อง” ไม่สามารถสื่อสาร “ความต้องการที่แท้จริง” เพื่อให้เจ้าของเข้าใจได้

ล่าสุด Jeff Bezos เจ้าของ Amazon ไม่รอช้า สั่งทีมงานเร่งพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยให้มนุษย์สื่อสารกับสัตว์เลี้ยงให้สำเร็จอย่างเร่งด่วน เพื่อแข่งกับ Zoolingua

แม้โครงการทั้งหมดจะมีการคาดการณ์ตัวเลขเอาไว้ที่ “ไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้” อย่างไรก็ดี ถือเป็นแนวโน้มที่น่าตื่นเต้นในหมู่ “คนรักสัตว์เลี้ยง” ทั่วทุกมุมโลก

เพราะไม่ว่าจะเป็น Bow Lingual และ Meow Lingual จะเป็น “APP แปลภาษาสัตว์เลี้ยง” หรือ AI และ Machine Learning “แปลภาษาสัตว์เลี้ยง”

หรือจะเป็น Zoolingua ของ Dr. Constantine Slobodchikoff รวมทั้งโครงการเร่งด่วน “อุปกรณ์แปลภาษาสัตว์เลี้ยง” ของ Jeff Bezos เจ้าของ Amazon

ที่แม้จะยังไม่สำเร็จกันชนิดที่เรียกว่า 100% แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า “เรามาถึงจุดที่คุยกับสัตว์เลี้ยงได้แล้ว” เพื่อตอบสนอง “ทาสหมา” และ “ทาสแมว” ทั่วโลก!