สนทนากับ “เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” เมื่อความฝัน ความหวังกำลังหาย คนหนุ่ม-สาวจึงลุกขึ้นขอทวงคืน

ณ เวลานี้ การชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดการชุมนุมหลายจุดในมหาวิทยาลัยและแลนมาร์กสำคัญของเมืองในหลายจังหวัด แนวร่วมที่คนรุ่นใหม่นอกจากคนหนุ่ม-สาวในมหาวิทยาลัยที่กังวลกับอนาคตแล้ว ยังมีแนวร่วมใหม่ของนักเรียนมัธยมที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

นักเรียนจำนวนมากต่างออกมาทั้งจัดการชุมนุม ปราศรัย รวมถึงสร้างพื้นที่ดึงดูดคนกลุ่มต่างๆ มาร่วมแสดงออกว่าแม้แต่เป็นนักเรียนขาสั้นแต่ก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวตัวเอง เพื่อนรอบข้างและสังคมที่กำลังมีแต่ความลำบาก

จนไม่ทนอยู่เฉยได้อีกต่อไป

 

เยาวชนวัยเรียนหลายคนได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหว ทั้งตัวปัจเจกไปเข้าร่วมแฟลชม็อบหลายงาน รวมถึงกิจกรรมฮือฮาอย่าง “วิ่งแฮมทาโร่” และกลุ่มก้อนรวมตัวแสดงออกทั้งในที่สาธารณะและรั้วโรงเรียน

“เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” แห่งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถือเป็นกลุ่มแนวร่วมระดับนักเรียนมัธยมที่กล่าวขานมาตั้งแต่การเกิดแฟลชม็อบในช่วงต้นปี และกลับมาอีกครั้งหลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก โดยเหล่านักเรียนได้ร่วมกันจัดแฟลชม็อบ #วันศุกร์ลุกมาต้านเผด็จการ จนเกิดภาพนักเรียนยืนรวมตัวกันท่ามกลางสายฝนโปรยปราย และครั้งล่าสุดในการชุมนุมเชิงสันทนาการอย่าง แจวเรือตามหาประชาธิปไตย

นักเรียนคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกกลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ กล่าวถึงผลตอบรับของกิจกรรมที่จัดว่า กิจกรรมแจวเรือนั้นดูจากการจัดงานคราวก่อน รอบที่แล้วกระแสตอบรับดี ดูในทวิตเตอร์พบทุกคนอยากมาร่วม เพราะตอนนี้โรงเรียนจัดสลับเรียนเป็นกลุ่มคู่และคี่

อีกส่วนคือ ไอเดียของกลุ่มเสรีเทยพลัส (ผู้จัดแฟลชม็อบ #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล) จัดประท้วงแบบมีสีสันทั้งต่อบทและเพลงแจว

ที่จริงเพลงแจว โรงเรียนเตรียมฯ จัดทำทุกปีช่วงต้อนรับ ม.4 จึงหยิบมาปรับเป็นแบบของเรา เอาเพลงสันทนาการมาด้วยสลับกับปราศรัยเพื่อยังคงเป็นการประท้วง

“คราวก่อน เราสาระเน้นๆ แต่ครั้งนี้อยากเข้าถึงคนมากขึ้นมาก่อน ครั้งต่อไปก็กลับมาเป็นสาระตามเดิม” นักเรียนคนเดียวกันกล่าว

ด้านนักเรียนอีกคนของกลุ่มกล่าวว่า เรารู้สึกว่ายังมีคนคิดว่า เคร่งเครียด น่ากลัว มีตำรวจมาเต็มไปหมด เราอยากให้รู้สึกทุกคนเข้าร่วมได้ แล้วค่อยฟังปราศรัย เป็นเรื่องที่คุณไม่รู้และมาแสดงออก เราอยากให้คนเข้ามาร่วมมากๆ

เพื่อปกป้องสิทธิดังกล่าวนี้ของเราต่อไป

 

เมื่อถามถึงกระแสตื่นตัวทางการเมืองในหมู่นักเรียนมัธยมที่พบหลายจังหวัดออกมาแสดงออกมาขึ้น สมาชิกกลุ่มกล่าวว่า ก็มากขึ้น แม้จะไม่ได้คลุกคลีกับคนทั้งโรงเรียน แต่คนรอบตัวรู้ คิดได้อะไรได้

ด้านสมาชิกอีกคนกล่าวว่า ปัญหาในเตรียมอุดมฯ ไม่ค่อยมีเพราะให้พื้นที่แสดงออก แต่เรามีความกังวลต่อการแสดงออกนักเรียนในโรงเรียนอื่นๆ โดนครูคุกคาม โดนตำรวจข่มขู่

นี่ก็เป็นจุดยืนของกลุ่มว่า หยุดคุกคามประชาชนได้ไหม เพราะว่าถ้าเรามีการคุกคามแบบนี้เรื่อยๆ ก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายซ้ายก็ไม่มีพื้นที่แสดงออก หรือฝ่ายอำนาจรัฐก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย

เพราะยังข่มขู่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ

 

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเรียนอยู่ จากยุค คสช.จนถึงตอนนี้ สมาชิกกลุ่มกล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าแย่ก็คงไม่ชัด เพราะต้องยอมรับว่าสังคมของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ พื้นฐานครอบครัวแต่ละคนไม่ได้ขัดสน

แต่สิ่งที่เห็นชัดคือ เราไม่ได้มีสิทธิคิดหลายปีมากจนรู้สึกไม่มีสิทธิคิดไปแล้ว คนจะออกมาช่วงรัฐประหารปี 2557 ยังมีคนออกมาประท้วง แต่หลังๆ พอมีคนมาก็โดนรวบ โดนยิง ก่อนหน้านี้ได้ยินว่าไปประท้วงกัน รัฐบาลโกง

แต่ตอนนี้ต่างกันมาก เราถูกกดจนชินไปแล้ว จึงคิดที่อยากจะเปลี่ยน อย่างโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยแม้ไม่ 100%

 

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของเยาวชนด้วยความคิดและสำนึกของพวกเขาเอง ภายใต้มายาคติที่ครอบงำสังคมไทยอย่างระบบอาวุโส เยาวชนยังต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ไม่รู้ความ ต้องทำตามเชื่อฟังคำสอนของผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิสูงกว่า เมื่อคิด ทำ หรือตัดสินใจอะไรที่แตกต่าง จะมองคนรุ่นใหม่ว่าโดนชักจูง โดนล้างสมอง ถูกหลอกจนหลงเชื่อ

สมาชิกกลุ่มมองภาวะนี้ว่า ด้วยภาวะสุญญากาศทางการเมืองมาหลายปี พวกผู้ใหญ่อาจไม่ได้เห็นมุมมองเราว่าคิดยังไง ได้รับสารมายังไงถึงได้แสดงออกมาแบบนี้ แต่ด้วยปฏิบัติการปลุกปั่นของไอโอและความเข้าใจผิดของพวกเขา ก็กลายเป็นช่องว่าง (Gap) ที่ผู้ใหญ่และเด็กไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน รับสารเหมือนกันแล้ว ผู้ใหญ่อาจสื่อสารผ่านไลน์ แต่เด็กๆ ใช้ทวิตเตอร์ พวกเขาไม่ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของเยาวชนว่าคิดอ่านกันยังไง จึงเกิดอาการเป็นห่วง

สมาชิกอีกคนกล่าวว่า สิ่งนี้ไปลงล็อกกับผู้ใหญ่หลายคนที่มีฐานะโอเค ไม่ได้เดือดร้อน จนไม่ได้เห็นปัญหาแบบที่คนอื่นเห็น เราสื่อก็ต่างกัน การอยู่ของ คสช.จึงลงตัวกับพวกเขา พวกเขาก็พูดได้ว่า ก็ดีอยู่แล้ว จะไปเปลี่ยนทำไม และมายาคติที่ว่าเด็กควรว่านอนสอนง่าย ต้องตอบว่าไม่เลย เราออกมาเรียกร้อง ถ้าคิดว่าเราทำตามผู้ใหญ่ ทำไมต้องออกมาเปลี่ยน เพราะเราต้องการเปลี่ยนทั้งรัฐบาลและกฎโรงเรียนด้วยว่าถึงเวลาเปลี่ยนได้แล้วหรือไม่ เราไม่ว่านอนสอนง่าย

สิ่งที่เราทำแค่ขัดกับจารีตความเชื่อของพวกเขา

“สิ่งที่เป็นช่องว่างระหว่างวัยคือ สภาวะการรับรู้ ผู้ใหญ่รุ่นก่อนอาจผ่านการรับรู้จากห้องเรียนหรือหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็มีการเซ็นเซอร์เนื้อหา แต่คนรุ่นนี้ ช่องทางเข้าถึงเยอะ และในชั้นเรียน ครูสอนอะไรที่รู้สึกแปลกก็จะกดเข้ากูเกิล ถ้าไม่ตรงก็สามารถค้านได้”

นักเรียนในกลุ่ม กล่าว

 

การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ต่างมีข้อเรียกร้องซึ่งยึดโยงกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกคือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่

ภายหลังกลุ่มเสรีเทยพลัส ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนปีกผู้หลากหลายทางเพศ ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มในเรื่อง “สมรสเท่าเทียม”

ด้านเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ได้ผลักดันวาระของตัวเองในเรื่องการศึกษา โดยสมาชิกกลุ่มกล่าวว่า ต้องการให้การศึกษาเป็นของทุกคน แต่ยังยึดหลัก 3 ข้อเรียกร้องหากไม่เกิดขึ้น ก็ต่อยอดไม่ได้ 3 ข้อเรียกร้องเป็นเหมือนกุญแจดอกแรกสู่พื้นที่ถกเถียงว่าการศึกษาต้องเป็นยังไง

ด้านนักเรียนอีกคนกล่าวว่า การศึกษามีผลต่อการเมือง การเมืองมีผลต่อการศึกษา ถ้าจะทำให้การศึกษาดี ต้องปลดล็อกการเมืองก่อน เพิ่มพื้นที่ให้ครูเข้ามา โละระบบอำนาจนิยมแบบรวมศูนย์ออกไป ให้ครูที่ตั้งใจจริงเข้ามาในระบบ ซึ่งข้อเรียกร้องที่กลุ่มจะทวงคืนคือ

1.ครู 2.ชีวิต 3.ความฝัน 4.ความเป็นคน

 

เมื่อถามถึงอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่มีหน้าตาเป็นอย่างไร สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งกล่าวว่า จริงๆ อนาคตต่อไปจะเป็นเช่นไรเราไม่รู้ แต่เรากำลังปูทางเพื่ออนาคตอยู่ แต่ที่ทุกคนต้องการจริงๆ คือ พื้นที่ว่างๆ เปิดพื้นที่เสรีให้คนถกเถียง พัฒนาประเทศด้วยกัน ไม่มีทหารมารัฐประหาร ไม่มีนายทุนผูกขาด ไม่มีอะไรเข้าแทรกแซง นี่คือพื้นที่ที่เราต้องการ ตอนนี้เราต้องการพื้นเสรีภาพ คิดเพื่อขับเคลื่อนไทย

อย่างไรก็ตาม แม้นักเรียน-นักศึกษามีเจตนาและจุดมุ่งหมาย ก็มักถูกอีกฝ่ายไล่กลับไปเรียนหนังสือเพราะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ แต่สำหรับกลุ่มเกียมอุดมฯ พวกเขากล่าวว่า บอกให้เราไปเรียนหนังสือ แต่ต้องถามว่าเรียนภายใต้ระบบนี้น่ะหรือ เรามักได้ยินว่า เข้าโรงเรียนแล้วก็ทำตามกฎไป ถ้าไม่อยากทำจะเข้าทำไม

แต่กฎมีข้อห้ามไม่ให้เปลี่ยนกฎหรือเปล่า เพราะกฎเป็นสิ่งที่คนกำหนดร่วมกันเพื่อปกครอง เมื่อเกิดขึ้นกับคนแต่สังคมเปลี่ยนตลอด อะไรที่ไม่ทันสมัย ล้าหลัง เราควรเปลี่ยนได้เพื่อตามโลกให้ทัน

นักเรียนอีกคนกล่าวว่า สมมุติต่อให้เป็นนักเรียนเรียนดี ได้โอลิมปิกวิชาการ แต่ต้องเข้ามาในระบบราชการ ทำงานเหมือนเดิม ไม่ได้ใช้ความสามารถของเรา ถามว่าเราจะเรียนไปทำไมในเมื่อระบบยังเป็นเหมือนเดิม

การเรียกร้องเพื่ออนาคต เราทำได้ ในเมื่ออนาคตกำลังย่ำแย่ เราจะไปหวังถึงอนาคตทำไม เรามาเปลี่ยนปัจจุบันเลยดีกว่า

ปูทางอนาคตให้สดใสไปด้วยกัน