ศก.ฝืดกระตุ้นต่อมตุ๋นระบาดหนัก เมย..เดือนเดียวเสียหายแล้ว 2.4 พันล้าน! รัฐบาลปาดเหงื่อ-ไล่บี้ไม่ทัน

เรียกได้ว่าเดือนเมษายน นอกจากอากาศจะร้อนจับใจ จนใจคนร้อนรุ่มตามๆ กันแล้ว ยังเป็นเดือนแฉมหากาพย์ของเหล่ามิจฉาชีพก็ว่าได้

ไม่ว่าจะคดีที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายเป็นพันๆ คน ที่หวังจ่ายเงินเพียงหยิบมือ แต่วาดฝันจะไปพักหรู กินดี เที่ยวสบาย คดีเพื่อนเชื่อใจเพื่อน แต่สุดท้ายเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

คดีที่โจรที่ใช้ไหวพริบหยิบกระแสนิยมไมโล คิวบ์ หลอกให้เหยื่อโอนเงินซื้อเพียงชั่วข้ามคืนกวาดเงินไปราว 2 แสนบาทก็มีให้เห็น

หรืออย่างคดีล่าสุด อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง ใส่หน้ากากคนดีมีคุณธรรม หลอกบรรดาคนรู้จักที่ให้ความเคารพมาร่วมลงทุน สุดท้าย แม้อายุอาจารย์คนนี้จะแตะ 80 ปีแล้ว แต่ความโลภไม่เข้าใครออกใคร ลวงเงินไปราว 1.4 พันล้านบาท

ทำให้เฉพาะเมษายนเดือนเดียว มีคดีต้มตุ๋นหลอกลวงที่เป็นข่าวใหญ่โตมากถึง 8 คดี รวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 2.4 พันล้านบาท!!

ปัญหาหลอกลวง ต้มตุ๋น ชิงทรัพย์ ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง นับวันจะมีปรากฏในรายงานข่าวมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ข่าวขโมยแกงถุง ขโมยหมูสามชั้นที่เจ้าของวางไว้ที่ตะกร้ามอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นวิธีไม่สลับซับซ้อน

แต่ที่น่าสังเกต ในอดีตแทบไม่ปรากฏรายงานข่าวขโมยของประเภทนี้

ส่วนในระดับแอดวานซ์ กลยุทธ์ลูกเล่นล่อตา ล่อใจก็มีเงื่อนงำมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะผ่านรูปแบบธุรกิจต่างๆ ที่มาพร้อมแรงจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง เงินลงทุนต่ำ

ทำเอาหลายคนเมื่อได้ฟังแล้วก็ตาลุกวาวตกเป็นเหยื่อได้ง่ายมานักต่อนัก

เปิดฉากคดีแรกของเดือนเมษาร้อนระอุ อีกแค่ 2 วันจะถึงสงกรานต์ เกิดข่าวใหญ่ชิงพื้นที่ข่าวสงกรานต์ จากเหตุคดีซินแสโชกุน ในคืนวันที่ 11 เมษายน หลังมีกลุ่มคนไทยได้รับความเสียหายร่วม 2 พันคน เตรียมตัวเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่กลับไม่ได้ไปตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ นับเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกคดี ความเสียหายรวมกันกว่า 20 ล้านบาท

ห่างกันแค่เพียง 1 วัน คดีเก่ายังไม่ทันสืบความ มีผู้เสียหายจากคดีเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด แจ้งความกับดีเอสไอเอาผิดเพื่อนสมัยเรียนมาด้วยกันเพราะถูกหลอกให้ร่วมลงทุนในบริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด ดำเนินธุรกิจรับจองที่พักโรงแรม จ่ายผลตอบแทนสูงถึง 6-15% จ่ายปันผลทุก 15 วัน แต่จู่ๆ บอกสมาชิกว่าจะยุติกิจการโดยไม่จ่ายผลตอบแทนและหายตัวไปไม่สามารถติดต่อได้อีก มูลค่าความเสียหาย 250 ล้านบาท มีผู้เสียหาย 140 คน

ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ เกิดคดีหมอตุ๋นหมอ ทำเอาสังคมตะลึงเข้าไปอีก เมื่อแพทย์หลอกลวงเพื่อนร่วมวิชาชีพ อาทิ วิศวกร สจ๊วต อาจารย์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ทหาร ให้ร่วมลงทุนกับบริษัท วี สยาม เอเจนซี่ จำกัด ทำธุรกิจจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม แต่สุดท้าย ก็ส่งสัญญาณชิ่งหนีไปแล้ว ทิ้งความเจ็บปวดไว้กับเงินที่สูญเสียไปรวมกันกว่า 64 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้สืบความได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับคดีบริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด

หลังจากนั้นแค่ 3 วัน เกิดเหตุประชาชนถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนแชร์เหมืองทองคำจากบริษัท สูมาโกตา (ประเทศไทย) ให้ซื้อหุ้นร่วมทุนหุ้นละ 2,800 บาท รับผลตอบแทนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 200-300 บาท ถึงสัปดาห์ที่ 17 จะคืนทุนให้ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่มีใครได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ตำรวจคาดว่าจะมีผู้เสียหายราว 1 พันคน มูลค่าราว 500 ล้านบาท และวันเดียวกัน เกิดกรณีตุ๋นออนไลน์ หลอกประมูลซื้อทองคำผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ “รัชชุดา ทองแย้ม” มีผู้เสียหายคิดว่าจะได้ทองราคาถูกกว่าตลาดหลายพันบาทตกเป็นเหยื่อกว่า 100 ราย สูญเงินกว่า 60 ล้านบาท

ไล่ตามกันมาติดๆ กับอีก 1 คดี เมื่อชาวบ้านสุพรรณบุรี ถูกคนชื่ออุ๋ยหลอกให้ลงหุ้นขายครีม เพื่อนำไปผลิตเครื่องสำอาง อ้างว่ารายได้ดี ให้ผลตอบแทนสูงถึง 22% ทำให้คนมาร่วมกันลงทุนจำนวนมาก บางคนถึงกลับเอาบ้านเข้าไปจำนอง เพื่อเอาเงินมาลงทุน คดีนี้ แม้จะมีผู้เสียหายราว 20 ราย แต่มูลค่าความเสียหายคาดว่าจะแตะ 100 ล้านบาท

คดีที่มาเร็วเคลมเร็ว หนีไม่พ้นกระแสสังคมโซเชียลมีเดียให้ความสนใจขนมหวานอย่างไมโล คิวบ์ จนมีมิจฉาชีพใช้ไหวพริบที่มีอยู่ให้เข้ากับกระแส ตั้งเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า “ความทรงจำ” ประกาศโพสต์ขายไมโล คิวบ์ถูกกว่าท้องตลาด 1 ลัง หรือ 24 ถุง ขาย 6 พันกว่าบาท จากราคาปกติ 7.5-9 พัน คนแห่เข้ามาจองพร้อมโอนเงินให้เป็นจำนวนมาก เพียงแค่ชั่วข้ามคืนได้เงินมากถึง 2 แสนบาท ก่อนจะปิดเฟซบุ๊กหนี

อีกคดีที่ทำให้สังคมตะลึงไปตามๆ กัน โดยเฉพาะสังคมอาจารย์ เมื่ออดีตข้าราชการอาจารย์วัยเกษียณที่เป็นที่เคารพรักของเพื่อนอาจารย์ ลูกศิษย์ และเจ้าหน้าที่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ความเชื่อใจ ความศรัทธา หลอกกลุ่มคนเหล่านี้นำเงินไปลงทุนในสหกรณ์ลอตเตอรี่ รับประกันเงินปันผล 1% ต่อเดือน

มีผู้ไว้ใจร่วมลงทุนกว่า 160 ราย สูญเงินรวมกันกว่า 1.4 พันล้านบาท

เพียงระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนเต็ม คดีหลอกลวง ต้มตุ๋นผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มากถึง 8 คดี มูลค่าความเสียหาย 2.4 พันล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมคดีใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์คนไทยถูกคนไทยหลอกถี่ขึ้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจไม่ดี จนมิจฉาชีพออกล่าเหยื่อได้ง่ายเพราะภาวะเงินฝืดเชื่อว่าหลายคนต้องการมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด และแม้จะระวังมากขนาดไหน แต่รูปแบบการหลอกลวงมีพัฒนาการที่เนียนขึ้นตามเทคโนโลยีดิจิตอล

แม้แต่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังออกมายอมรับว่า ปัจจุบันลูกเล่นที่มากขึ้นของพวกกลุ่มมิจฉาชีพ จะเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ยอมรับว่าหลายกลยุทธ์รัฐบาลอาจตามไม่ทัน

อย่างคดีโชกุน ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ได้เห็นพัฒนาการของแก๊งมิจฉาชีพ ที่เริ่มเข้ามาหาช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากที่ผ่านมา จะเห็นปัญหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับสายการบิน บริษัททัวร์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทรวงจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบ เรียนรู้ถึงปัญหา ต้องก้าวให้ทัน หรือเหนือกว่าพวกมิจฉาชีพ

ด้าน นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวยอมรับเช่นกันว่า ปัญหาที่เกิดถี่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี ในแง่ของโจรก็ต้องเร่งหาเงินด้วยการใช้ช่องโหว่ต่างๆ ขณะที่คนทำงานสุจริตก็ต้องการเพิ่มรายได้ด้วยการให้เงินทำงาน เมื่อเห็นว่ามีข้อเสนอแนะไหนดี ดูแล้วน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ ก็คงไม่รีรอที่จะลงทุน ยิ่งมิจฉาชีพใช้วิธีตกเบ็ดล่อเหยื่อ ด้วยการให้ผลตอบแทนสูงในช่วงการเริ่มต้นก่อน ยิ่งทำให้เหยื่อตายใจและพร้อมทุ่มเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อผลตอบแทนก้อนใหญ่ขึ้น

สุดท้ายแล้ว คดีที่เกิดขึ้นถึง 8 ครั้งภายในระยะไม่ถึงเดือน จะเป็นบทเรียนดึงสติประชาชนกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนจะตัดสินใจนำเงินเก็บมาทั้งชีวิตทำธุรกรรมใดลงไป ก็คงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล

หากยังเป็นคนไทยที่นิสัยลืมง่าย เมื่อนั้นก็ดำเนินชีวิตบนเส้นทางความเสี่ยงอยู่เรื่อยไป