บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / เยาวชน ‘ปลดแอก’ เยาวชน ‘หยาบคาย’ (หรือเปล่า?)

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เยาวชน ‘ปลดแอก’

เยาวชน ‘หยาบคาย’ (หรือเปล่า?)

 

ดูเหมือนจะสบโอกาสในการกลับมาก่อม็อบประท้วงรัฐบาลพอดี สำหรับกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” รวมทั้งเครือข่ายในชื่อต่างๆ หลังจากเกิดกรณีทหารอียิปต์ที่เข้ามาประเทศไทยแล้วฝ่าฝืนกฎ ไม่ยอมกักตัว แต่แอบหนีออกไปเดินห้างในจังหวัดระยอง สร้างความปั่นป่วนโกลาหลไปทั่ว

ที่จริงคนกลุ่มนี้เริ่มประท้วงรัฐบาลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่เมื่อไวรัสโควิดระบาดและรัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินและเคอร์ฟิว การประท้วงก็ต้องหยุดไป ก่อนจะได้โอกาสกลับมาประท้วงครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การประท้วงครั้งนี้ ดูเหมือนเตรียมการเป็นขั้นตอนมาอย่างดี เริ่มจากผู้ชาย 2 คนไปหยอดหัวเชื้อ ด้วยการไปถือป้ายประท้วงนายกรัฐมนตรีซึ่งลงพื้นที่ระยองเพื่อบรรเทาความรู้สึกคุกรุ่นของประชาชน

แต่ป้ายที่ชายสองคนชูขึ้นนี้ ข้อความหยาบคาย โดยเฉพาะหนึ่งในนั้นที่ใช้คำว่า “ไอ้สั…”

ทำให้ตำรวจเข้ามาควบคุมตัวออกไปจากพื้นที่ ซึ่งเจ้าตัวขัดขืนทำให้เกิดการต่อสู้กันและเกิดการฟกช้ำ ชายทั้งสองคนอ้างว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แค่อยากจะมาถามนายกฯ ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร และอ้างว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ

ก่อนจะปั่นกระแสในโลกโซเชียลด้วยการติดแฮชแท็ก “ตำรวจระยองอุ้มประชาชน”

 

ชายทั้งสองคนนี้อ้างว่ารัฐบาลไม่ควรปิดกั้นคนที่เห็นต่างและเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมกับย้ำว่าแค่อยากมาถามนายกฯ เฉยๆ ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร

แต่สองคนนี้แยกแยะไม่ออกว่า อะไรคือการเห็นต่าง อะไรคือการด่าและดูหมิ่นซึ่งหน้า การชูป้ายว่า “การ์ดตก…พ่องงงง” กับ “อยู่ต่อไปก็ฉิ…หาย ลาออกไปไอ้สั…” ไม่ใช่การแสดงความเห็นต่าง และก็ไม่ใช่การอยากไปถามอย่างที่อ้าง แต่มันคือการด่าคนอื่นอย่างหยาบคาย

แล้วถามหน่อยจะมีนายกฯ คนไหนอยากเดินไปคุยกับเยาวชนที่ชูป้ายด่าเขาว่า ไอ้สั… เพราะท่าทีของคุณไม่ได้แสดงออกถึงความต้องการเจรจาอย่างมีเหตุผล

แค่การใช้วิจารณญาณพื้นๆ เพื่อแยกแยะว่า อะไรคือการด่าอย่างหยาบคาย อะไรคือการเจรจาอย่างใช้เหตุผลแบบคนมีอารยะ สองคนนี่ยังทำไม่ได้เลย จึงน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพและมีหัวใจประชาธิปไตยได้อย่างไร

ผู้ชายสองคนนี้ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ตั้งแต่ด่าคนอื่นว่า ไอ้สั…แล้ว เพราะนั่นหมายถึงคุณไม่ให้เกียรติคนอื่น ด้อยค่าคนอื่น ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกคุณและผู้ที่สนับสนุนคุณเรียกร้องจากคนอื่นมาตลอด

 

ภาพชัดเจนอันหนึ่งที่สังคมได้เห็นจากม็อบเยาวชนกลุ่มนี้มาโดยตลอดก็คือ “ความหยาบคาย” เห็นได้จากข้อความบนป้ายในระหว่างการชุมนุม จนไม่น่าเชื่อคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง จะสามารถใช้คำหยาบ-ต่ำได้ในระดับ “ซูเปอร์หยาบคาย” ยิ่งกว่าชาวบ้านร้านตลาดหลายเท่าตัว จนหลายคนส่ายหน้าว่านี่หรือคืออนาคตของชาติ

ว่าไปแล้วความหยาบคายอาจเป็น “วิถีปกติใหม่” ของเด็กพวกนี้ไปแล้ว เพราะในเมื่อเริ่มต้นหยาบคายในโลกโซเชียลไปแล้ว เมื่อลงท้องถนนบนโลกแห่งความจริงพวกเขาก็เกิดความเคยชิน นำความหยาบคายนั้นมาใช้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสาวกของพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ หรือพรรคที่ละเมอว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย

คนหยาบคาย ไม่มีทางจะเป็นผู้นำทางไปสู่ประชาธิปไตย เพราะมันสะท้อนว่าพวกเขาเป็นคนจิตใจหยาบกระด้าง ขาดความอดกลั้นต่อคนอื่น ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล มีแนวโน้มจะชอบใช้กำลังมากกว่าสมอง ท้ายสุดเมื่อมีอำนาจก็มีแนวโน้มจะข่มเหงรังแกคนอื่น

ความน่าขำแบบหัวเราะไม่ออก ก็คือในขณะที่ม็อบเหล่านี้เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ไม่ปิดกั้นคนเห็นต่าง แต่พวกเขาก็ประจานความไม่รู้ประชาธิปไตยของตัวเองด้วยการยกพวกไปกดดันถึงหน้ากองทัพบก หลังจากรองโฆษกหญิงกองทัพบกได้โพสต์แสดงความเห็นว่าเป็นม็อบมุ้งมิ้ง ซึ่งสุภาพกว่าคำว่า ไอ้สั…หลายขุม

ที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่าก็คือ อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ไปคารวะเชิดชู ผู้ชายสองคนนี้ว่ากล้าหาญพร้อมกับรับประกันว่า คำว่า ไอ้สั…ไม่ใช่คำหยาบคาย

น่าผิดหวังที่คนรุ่นใหม่ที่เคยสัญญาว่าจะเล่นการเมืองแบบใหม่ ไปส่งเสริมเด็กๆ ในทางที่ผิดเช่นนี้ เห็นการด่าคนอื่นอย่างหยาบคายเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสม

 

เห็นซีกฝ่ายค้านรวมทั้งองค์กรหน้าเดิมๆ โหนกระแสเข้าข้างเด็กหยาบคาย โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพที่จะทำได้ (ที่ชูป้ายด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย) ก็น่าตั้งคำถามว่า สมมุติวันนี้ นายกฯ ไม่ได้ชื่อประยุทธ์ แต่ชื่อยิ่งลักษณ์หรือธนาธร หากมีคนไปชูป้ายด่าแบบเดียวกัน คนที่ชูป้ายจะรอดจากการถูกม็อบเชียร์ยิ่งลักษณ์หรือธนาธรรุมสหบาทาได้ไหม

น่าจะเชื่อขนมกินได้เลยว่า คนชูป้ายจะยังไม่ทันถูกตำรวจรวบตัว แต่จะเจอศาลเตี้ยจากบาทาของม็อบเชียร์กระทืบน่วมไปเสียก่อน

น่าหดหู่ใจที่บรรดากลุ่มผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งนักการเมืองและพวกสิทธิมนุษยชนเลือกข้างทั้งหลาย ไม่เคยติงหรือให้สติเด็กเลยว่าการใช้คำหยาบคาย-ถ่อยแบบนั้นไม่เหมาะสมหากอยากเป็นนักประชาธิปไตย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความหยาบคาย หยาบกระด้างของเยาวชน (กลุ่มนั้น) ในวันนี้ ถูกปลูกฝังโดยนักการเมืองบางจำพวก อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน ที่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ พวกเขาสร้างค่านิยมแก่เยาวชนว่า ไม่มีใครมีบุญคุณกับเรา พ่อ-แม่ก็ไม่ได้มีบุญคุณกับเรา บรรพบุรุษที่สร้างชาติมาก็ไม่ได้มีบุญคุณอะไรกับเรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ต้องไหว้เพราะเป็นแค่คนทำงานรับเงินเดือน

ผลก็คือคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในเชิงพาณิชย์เท่านั้น คิดทุกอย่างในเชิงพาณิชย์ อารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ เช่น ความเอื้ออาทรต่อคนอื่นจะหายไป

ดังนั้น เราจึงได้เห็นเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย มีความหยาบกระด้าง ไร้มารยาทในสังคม เช่น เวลามีใครทำอะไรให้ อย่างกดลิฟต์รอ หรือเปิดประตูให้ พวกเขาจะไม่พูดขอบคุณ

หากแนวโน้มนี้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ในวงกว้าง สังคมจะไม่น่าอยู่ ไม่มีใครอยากทำอะไรเพื่อใคร หรือช่วยเหลือใคร เพราะคนจะรู้สึกว่าจะทำไปทำไม ในเมื่อไม่ได้รับอะไรแม้แต่คำขอบคุณ

ดังนั้น จึงมีคำถามว่า การประท้วงเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ (ตามที่กล่าวอ้างกันอยู่นี้) ที่ชัดเจนว่ามีนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เชิดชูความหยาบคายเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จะนำพาเราไปสู่ชีวิตและสังคมที่ดีขึ้นจริงหรือ

อะไรก็ตามที่เริ่มต้นด้วยความหยาบคาย ใครก็ตามที่เชิดชูความหยาบคาย ผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมจะ “หยาบคาย” เหมือนปลูกมะเขือกิโลละ 15 บาท จะให้ออกผลมาเป็นทุเรียนหมอนทอง ราคากิโลกรัมละ 200 บาทย่อมเป็นไปไม่ได้