เรือดำน้ำจีน… ฝันดีหรือร้าย ที่ (กำลังจะ) กลายเป็นจริง?

บทความพิเศษ : มนัส

เรือดำน้ำจีน… ฝันดีหรือร้าย ที่ (กำลังจะ) กลายเป็นจริง?

มหากาพย์ 2 ปี กับการผลักดัน

ภายหลังจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. พร้อมกับการสงวนท่าทีของตะวันตก

ประเทศจีนที่กำลังมีปัญหากับหลายประเทศที่อยู่รายรอบประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาพื้นที่ทางทะเลในทะเลจีนใต้ “หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands)” ที่ยังไม่มีทีท่าจะตกลงกันได้โดยง่าย

และมีแนวโน้มที่จะซับซ้อนและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต

จึงรีบอาศัยจังหวะเข้ามาแสดงความเห็นอกเห็นใจรัฐบาล คสช. ซึ่งอยู่ระหว่างภาวะต้องการมิตร เพื่อที่จะได้มีพื้นที่แผ่อิทธิพลลงมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สอดรับกับรัฐบาล คสช. ที่ต้องการมิตรเพื่อดำรงความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดการ “เปลี่ยนขั้ว” ในหลายด้าน

ซึ่งสิ่งแรกๆ ที่ง่ายที่สุดและเห็นได้ชัดเจนที่สุดในการดำเนินการก็คือกองทัพ เพราะอย่างไรเสียก็เป็น “เด็กในคาถา” ของรัฐบาลทหารที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว

เริ่มตั้งแต่กองทัพบกเองที่ “จำต้อง” จัดซื้อรถถังแบบ VT4/MBT3000 จำนวน 28 คัน ทั้งที่เคยได้รับบทเรียนจากรถถังแบบ T69 ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือในการ “ซื้อใจ” สร้างความสัมพันธ์กับจีนมาแล้วครั้งสงครามเวียดนาม

โดยล่าสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้ออกมายืนยันการจัดหาระยะที่ 2 จนครบ 49 คัน

แต่หากถามว่าผู้ใช้คือเหล่าทหารม้ารู้สึกอย่างไรในคราวนี้ ก็แอบถามกันได้ แต่ก็คงไม่กล้าตอบเสียงดังมากนัก

สำหรับในส่วนของกองทัพอากาศเองก็ “จำต้อง” จัดหาระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศแบบ KS-1C มาเช่นเดียวกัน

แต่ “หางเลข” ที่หนักที่สุดเห็นจะได้แก่กองทัพเรือที่จำต้องมอบความฝันอันยาวนานเกือบ 70 ปี ให้กลายเป็นเครื่องบรรณาการแก่ “มหาอำนาจ” ในภูมิภาค

เพราะเรือดำน้ำเป็นความฝันอันยาวนานของกองทัพเรือ ตั้งแต่เรือดำน้ำชุดแรกคือชุดเรือหลวงมัจฉานุที่ต้องปลดระวางประจำการไปเมื่อปี 2494 ซึ่งทางกองทัพเรือก็ได้พยายามที่จะจัดหาเรือดำน้ำมาทดแทนหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จด้วยเหตุผลทั้งการขาดความเข้าใจในด้านเหตุผลความจำเป็น และเหตุผลทางการเมือง

มาจนครั้งนี้แม้ด้วยเงื่อนไขการเมืองภายในประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ดูจะเอื้อให้การจัดหามีแววที่จะเป็นจริงได้

แต่ก็ดูเหมือนว่า “เหตุผลความจำเป็น” ในการที่กองทัพเรือต้องมีเรือดำน้ำได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเดินหมากทางการเมืองระหว่างประเทศไม่ต่างจากการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร

ทั้งที่สำหรับทหารเรือแล้ว เรือดำน้ำเป็นอาวุธระดับยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือจากฝ่ายตรงข้าม (ไม่ใช่เชื่อถือกันเอง)

มิฉะนั้นราคาของการป้องปรามที่ต้องจ่ายในการจัดหาและการบำรุงรักษาจำนวนมหาศาลก็จะสูญเปล่า

และกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งต่อไปอีกหลายสิบปี

นอกจากนั้น ภายใต้ท่าที “จริงใจและเห็นอกเห็นใจทหารเรือ” จาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แน่นอนว่ามีอะไรมากกว่าความต้องการให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำ…

เรือดำน้ำที่ดีที่สุด…

กับอุปาทานหมู่ของสังคมไทย

เรื่องน่าแปลกที่สุดเรื่องหนึ่งของ พ.ศ. นี้ คือเรือดำน้ำจีนได้กลายเป็นเรือดำน้ำที่ทรงประสิทธิภาพมีเขี้ยวเล็บน่าเชื่อถือที่สุดในบรรดาผู้เสนอแบบเรือดำน้ำที่เข้าร่วมการยื่นแบบแข่งขันจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เยอรมนี รัสเซีย และสวีเดน

ทั้งที่มีใครเคยเห็นสินค้าประเภทใดที่ใช้ตัวชูโรงว่า “มั่นใจได้กับมาตรฐานจีน” บ้าง?

ประเด็นที่น่าสนใจคือภาพที่กองทัพเรือเริ่มตั้งแต่ในยุคของ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ที่พยายามสร้างภาพของเรือดำน้ำจีนทั้งด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าที่ได้มาจำนวนทั้งสิ้น 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท

ในขณะที่ผู้เสนอแบบรายอื่นเสนอมาเพียง 2 ลำ ในวงเงินที่เท่ากัน (ทั้งที่ในเอกสารเสนอความต้องการของกองทัพเรือก็ระบุไว้เพียง 2 ลำ)

ซึ่งจริงๆ แล้วก็ต้องยอมรับความเป็นพ่อค้าของจีนที่รู้จุดอ่อนของคนไทยที่ชอบการลดแลกแจกแถม จนยอมมองข้ามประสิทธิภาพ และแม้แต่ “คุณสมบัติที่ต้องการจริงๆ” ไปได้

โดยการเสนอระบบเพิ่มเติมที่ผู้ผลิตรายอื่นอาจไม่ได้ให้มา (เพราะไม่อยู่ในเอกสารเสนอความต้องการ)

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สร้างมาเพื่อให้ชนะเงื่อนไขในการขายบนกระดาษมิใช่เพื่อใช้งานได้อย่างแท้จริง

เช่น ระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศภายนอก Air Independent Propulsion – AIP ที่ “มี” แต่ “ประสิทธิภาพต่ำ” จนไม่สามารถใช้งานได้จริง และอาวุธปล่อยนำวิถีซึ่งไม่ใช่อาวุธหลักของเรือดำน้ำ (อาวุธหลักของเรือดำน้ำคือตอร์ปิโด)

เพราะแม้จะมีระยะยิงไกลกว่าแต่มีปัญหาด้านการได้มาซึ่งข้อมูลเป้าและเป็นการเปิดเผยตัวเองซึ่งขัดกับหลักการปฏิบัติการของเรือดำน้ำที่ต้องดำรงการซ่อนพราง

ซึ่งทั้ง 2 ระบบ ไม่ใช่ระบบหลักของเรือดำน้ำที่จำเป็น แต่เป็น “อ็อปชั่นเสริม” ในขณะที่ประสิทธิภาพโดยทั่วไปของระบบหลักที่มีความจำเป็นกลับด้อยกว่าผู้ผลิตรายอื่นเกือบทุกระบบ ทั้งระบบตรวจจับ ระบบอาวุธ ที่อยู่คนละยุคกับเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานปัจจุบัน

รวมทั้งระบบความปลอดภัยซึ่งใช้วิธีการที่ล้าสมัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เรียกว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วโอกาสที่จะหนีออกจากเรือได้อย่างปลอดภัยมีน้อยมากจนกล่าวได้ว่าไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล

นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวของกองทัพเรือเองก็ยังสร้างความรู้สึกว่าจีนได้มอบสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าผู้ผลิตรายอื่น

เช่น จำนวนลูกอาวุธ หรือการฝึก ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ผลิตรายอื่นก็ได้มอบสิ่งที่มีความจำเป็นต่างๆ เหล่านี้มาไม่น้อยกว่า หรืออาจมากกว่าจีนด้วยซ้ำ

เช่น การระบุว่าผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ ส่งมอบเฉพาะเรือเปล่าแต่ไม่มีลูกอาวุธทั้งที่จริงแล้วผู้ผลิตบางรายนำเสนอตอร์ปิโดซึ่งเป็นอาวุธหลักต่อลำครบตามอัตรารบซึ่งมีจำนวนมากกว่าตอร์ปิโดที่เรือดำน้ำจีนส่งมอบเสียอีก แต่รายละเอียดดังกล่าวกลับถูกบิดเบือน

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือที่เป็นระดับนายพลเรือเกือบหมดที่ถึงแม้ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานจะทราบดีถึงประสิทธิภาพของอาวุธจีนจากเรือผิวน้ำที่กองทัพเรือได้จัดหามาที่บางชุดจำเป็นต้องถูกอัพเกรดทดแทนด้วยระบบจากตะวันตกแบบยกระบบเพื่อให้สามารถใช้การได้

หรือบางลำที่เกินเยียวยาก็ถูกใช้ในภารกิจที่ไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพของเรือรบตามแบบ เช่น นำไปใช้ในการตรวจประมง เป็นต้น

แต่ก็ต้องโอนอ่อนยอมตามนโยบายเบื้องบน แม้จะทราบว่าเรือดำน้ำนั้นต้องมีความปลอดภัยที่สูงกว่าเรือผิวน้ำโดยไม่สามารถจะทำการซ่อมทำแบบ “จำกัด-พอออกเรือได้”

รวมทั้งหากต้องการใช้เรือดำน้ำในลักษณะการป้องปราม ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือยิ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ

โดยความเชื่อถือนั้นมิได้หมายความว่าเชื่อถือชื่นชมกันเองภายในกองทัพ แต่ต้องสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และความยำเกรงให้แก่ประเทศที่อาจเกิดความขัดแย้งได้จนหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางเรือในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ซึ่งคำถามก็คือประเทศต่างๆ เหล่านั้นจะ “ยำเกรง” ประสิทธิภาพของเรือดำน้ำจีนลำนี้มากน้อยเพียงใด

เพราะประเทศรอบบ้านของเราส่วนใหญ่ก็ต่างมีความรู้และประสบการณ์ในการใช้เรือดำน้ำมานาน ย่อมรู้ว่าอะไรคือความจริง และอะไรคือคำโฆษณา…

ความที่รู้ทั้งรู้แต่ยอมให้เกิดนี้เป็นเพราะหากแสดงความไม่เห็นด้วยก็ย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าของตน รวมทั้งกว่าจะเห็นผลความเสียหายที่เกิดขึ้นก็คงเกษียณอายุราชการไปเรียบร้อยแล้ว

นี่เองทำให้ภาพและท่าทีของผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือออกไปในทางสนับสนุนการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนจนทำให้คนทั้งในกองทัพเรือและประชาชนภายนอกกองทัพเรือที่สนับสนุนให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำส่วนใหญ่มองว่าจะเป็นเรือดำน้ำจากประเทศอะไรก็สามารถทำงานได้เหมือนกัน สอดคล้องกับยุทธวิธี “ของถูกและดี” ของฝ่ายจีน (และกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นคนไทย)

ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกองทัพเรือที่ดูเหมือนเป็นเด็กว่าง่ายจนกลายเป็นการเฉือนเนื้อตัวเอง?

ล็อกสเป๊กแบบเปิดเผย?

สั่งไว้แล้ว…งานนี้ต้อง “จีน”เท่านั้น

ล่าสุดกองทัพเรือได้ประกาศการจัดซื้อจัดจ้างการต่อเรือเรือดำน้ำชั้น S26T ลงในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางของกองทัพเรือ พร้อมกับอ้างหลักการ “ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล”

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในปี 2557 กองทัพเรือได้พยายามคัดเลือกเรือดำน้ำจากบริษัทผู้ผลิตจาก 6 ประเทศ แต่ด้วยแรงผลักดันจากภายนอกกองทัพเรือทำให้เรือดำน้ำจีนได้รับการคัดเลือกในที่สุด

ชนะผู้ผลิตเรือดำน้ำที่มีประสบการณ์ยาวนาน และแพร่หลายทั่วโลกอย่างขาดลอย

จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในเว็บไซต์เทคโนโลยีทางทหาร เช่น thaiarmedforce.com หรือสำนักข่าวที่นำเสนอข่าวในแนวค้นหาความจริงเช่น สำนักข่าวอิศรา (อ่าน “แฉปม “ฮั้ว”?…ทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน S26T” – http://www.isranews.org/isranews-article/item/48703-s26t.html) เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการ “Set Zero” ในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ กองทัพเรือจึงได้เลือกหนทางการจัดซื้อจัดจ้างแบบระบุยี่ห้อ ซึ่งก็เหมือนกับจะเลือกซื้อรถยนต์สักคันแต่บอกว่าจะเอารุ่นไหนตั้งแต่ต้น

ส่วนการเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยกับผู้ผลิตรายอื่นก็ไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป

คำถามคือด้วยวิธีการดังกล่าวนี้กองทัพเรือจะได้เรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า คุ้มราคา มาใช้ในราชการจริงหรือ?

กองทัพเรือหลังการลงนาม

ในสัญญาซื้อเรือดำน้ำจีน…

แม้ว่าการมีเรือดำน้ำจะเป็นความฝันและก้าวการพัฒนากองทัพที่สำคัญ แต่โครงการดังกล่าวก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากทั้งในขั้นตอนการจัดหาและการบำรุงรักษาให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ที่ผ่านมากองทัพเรือจึงต้องขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากทางรัฐบาลเพื่อมิให้กระทบต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ ของกองทัพเรือ ซึ่งรวมถึงการจัดหายุทโธปกรณ์ในมิติอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นเช่นกัน

แต่ครั้งนี้กองทัพเรือ (จำต้อง?) จัดหาเรือดำน้ำด้วยงบประมาณปกติของกองทัพเรือเองซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นๆ อย่างแน่นอน

เช่น โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำที่ 2 เป็นต้น หรือแม้แต่การบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้สามารถใช้ในราชการได้

บทเรียนของอายุการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือที่เคยจัดหาจากจีนนั้นเป็นหัวข้อที่รู้กันโดยทั่วไป ซึ่งเรือดำน้ำเป็นยานรบที่ต้องการความปลอดภัยสูง ไม่สามารถออกปฏิบัติการได้หากไม่ผ่านการตรวจสอบความพร้อมอย่างเต็มร้อยในลักษณะเดียวกับอากาศยานที่จะไม่สามารถขึ้นบินได้หากไม่ผ่านการตรวจสอบ

ดังนั้น หากกองทัพเรือได้เรือดำน้ำที่สร้างมาอย่างแค่เพียง “พร้อมเพื่อขาย” หรือ “ชนะเจ้าอื่นได้ด้วยกระดาษโฆษณา” อย่างที่เคยปรากฏมาเหมือนเรือผิวน้ำหลายชุดจากจีน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเราจะเห็นภาพกองเรือดำน้ำที่จอดแน่นิ่งกับท่าเรือ ไม่สามารถออกปฏิบัติงานได้จริง และทุกอย่างก็จะสูญเปล่า กองเรือดำน้ำไม่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์การป้องปรามได้

แต่กองทัพเรือต้องเสียงบประมาณในการบำรุงรักษาอันมหาศาล

หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกับดักอันหายนะของกองทัพเรือไปอีก 30 ปี ในฐานะของ “เหยื่อ” ทางการเมืองทั้งภายนอกและภายในกองทัพเรือเอง

และทำลายความฝันของกองทัพเรือที่จะมีเรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติการของกองทัพเรือไปอีกแสนนาน

ประเทศไทยจะต้องก้าวเดินแบบจับแพะชนแกะและผลประโยชน์ทับซ้อนแบบนี้ไปอีกนานเท่าใด?