รายงานพิเศษ : ในวิกฤตโควิดระบาด เหตุเลือกปฏิบัติคนต่างศาสนา หนักหน่วง?

โรคระบาดโควิด-19 นอกจากเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบสาธารณสุขทั่วโลก ซึ่งหลายที่สามารถรับมือได้ แต่อีกหลายที่ก็เข้าสู่ภาวะวิกฤตสาธารณสุข

การระบาดใหญ่นี้ยังส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนทั้งในจีนและต่างแดน ที่ตกเป็นเหยื่อของอคติและความเกลียดชังทางเชื้อชาติ เพราะเชื้อโควิดมีจุดเริ่มการระบาดในเมืองอู่ฮั่นของจีน

ไม่เพียงแค่ประเด็นละเมิดจากความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ส่งผลรุนแรงในช่วงโควิด-19 แม้แต่การละเมิดและเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางศาสนาก็รุนแรงเช่นกัน

โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาที่ต่างจากประชากรส่วนใหญ่

ในวิกฤตการณ์ระบาดของโรค ในด้านหนึ่ง สังคมที่มีความหลากหลายร่วมมือกันฝ่าฟัน อีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีอีกหลายที่ยังคงเผชิญกับการบีบบังคับและแบ่งแยก

 

ปากีสถานเป็น 1 ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังต่อสู้กับการระบาด องค์กรคริสเตียนผู้ห่วงใยสากล หรือไอซีซี ได้เผยแพร่รายงานไม่นานมานี้ ระบุว่าผู้นำโบสถ์และนักเคลื่อนไหวในปากีสถานกำลังเผชิญความกดดันเมื่อศาสนาจารย์ของบางศาสนาและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ยื่นเงื่อนไขกับชาวคริสต์ว่าจะได้รับอาหารยังชีพในช่วงโควิด-19 แลกกับการเปลี่ยนมานับถือศาสนาของตน

ซึ่งชาวคริสต์ในปากีสถานกล่าวว่า ผู้นำของมุสลิมและองค์กรได้ใช้เหตุของวิกฤตโรคระบาดอย่างไม่ถูกต้อง มาลิดรอนสิทธิในการนับถือศาสนาของพวกเขา ซึ่งก็ถูกล่วงละเมิดอยู่แล้วในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาที่ต่างจากพวกตน

ไอซีซีระบุว่า นับตั้งแต่มาตรการล็อกดาวน์ในเดือนพฤษภาคม พบการกระทำในลักษณะดังกล่าวอย่างน้อย 4 กรณี ที่ชาวคริสต์ไม่ได้รับอาหารยังชีพเพราะอัตลักษณ์ทางศาสนา

ด้าน Aid to the Church in Need (ACN) องค์กรการกุศลทางศาสนาในอังกฤษ ได้ออกรายงานระบุว่า ผู้นำและเอ็นจีโอบางศาสนาในปากีสถานปฏิเสธให้อาหารยังชีพช่วงโควิดกับชาวคริสต์และผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงที่สุด

เซซิล เชน เชาวดรี ผู้อำนวยบริหารของคณะกรรมการความยุติธรรมและสันติภาพแห่งชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า องค์กรศาสนาหลายแห่งได้ออกมาประกาศแจ้งกับชาวคริสต์ไม่ต้องเข้ามารับอาหารหรือความช่วยเหลือฉุกเฉินอื่นๆ

อย่างเช่น ชาวคริสต์ร่วมร้อยครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านสันธะ คาลันในเขตปัญจาบ คาซูร์ ถูกกีดกันจากการรับปันส่วนอาหาร

 

ฟรีด้อม เฮาส์ องค์กรสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็ระบุถึงการลิดรอนกับคนต่างศาสนาโดยรัฐในช่วงระบาดใหญ่นี้ด้วยว่า เมื่อเปรียบกับช่วง “มฤตยูดำ” ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 14 ที่คร่าชีวิตชาวยุโรป 2 ใน 3 ชาวยิวต้องกลายเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง ถูกโยงในข่าวลือว่าเป็นต้นเหตุของการระบาด หรือวางยาพิษลงในบ่อน้ำจนทำให้ผู้ดื่มน้ำติดกาฬโรค จนชาวยิวจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของความกลัวและความเกลียดชังที่ฝังรากมานาน

พอมาถึงการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลบางประเทศที่มีปัญหาลิดรอนสิทธิและเลือกปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาก็ใช้วิกฤตนี้ สร้างภาพให้ชนกลุ่มน้อยเป็นแพะรับบาปว่าเป็นต้นเหตุของการระบาด

อย่างเช่นกรณีกัมพูชา มีชาวเขมรนับถือบางศาสนาต้องเผชิญการคุกคามจากเพื่อนบ้านที่นับถือศาสนาของคนส่วนใหญ่

หรือในซาอุดีอาระเบีย เขตปกครองที่มีผู้นับถือบางนิกายในซาอุดีอาระเบีย ต้องกลายเป็นเขตล็อกดาวน์ หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าได้กลับมาจากการแสวงบุญที่อิหร่าน

สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่นานาชาติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องหันมาให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะภัยต่อมนุษยชาติอย่างโรคระบาด ส่งผลกับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง

การให้ความช่วยเหลือให้ผ่านพ้นช่วงที่เลวร้าย ก็ต้องทั่วถึงทุกคนโดยไม่แบ่งเขาหรือเราเช่นกัน