คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : มหายานเพื่อมหาชน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คุณอุษณีย์ นุชอนงค์ หรือพี่น้อง ซึ่งเป็นครูสอนภาวนาที่วัชรสิทธาเล่าให้ชาวสังฆะฟังว่า วันหนึ่งท่านไปเที่ยวที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ระหว่างเดินอยู่ก็เห็นพระพุทธรูปเล็กๆ จำนวนมาก

เมื่อเห็นก็เกิดความรู้สึกสะเทือนใจถึงขั้นร้องไห้ เพราะมีความคิดวาบขึ้นมาว่า คนโบราณคงได้สร้าง “พระแทนตัว” ในความหมายว่า พระพุทธรูปเหล่านั้นคือตัวเราเองที่มีความเป็นพุทธะอยู่แล้ว การสร้างพระแทนตัวจึงช่วยสะท้อนให้เห็นความใกล้ชิดระหว่างตัวเรากับสภาวะแห่งพุทธะที่เรามีอยู่อย่างบริบูรณ์

เรียกได้ว่าพระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราได้ใกล้ชิดความเป็นพุทธะในตัวเราเอง

นี่คือแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างพระแทนตัวซึ่งผมไม่ได้คิดมาก่อน เพราะมักคิดจากมุมวิชาการอยู่เสมอ

 

แล้วคุณอุษณีย์ก็นึกต่อว่า ทำไมในทุกวันนี้ พระพุทธรูปกลับทำให้เกิดความรู้สึกห่างเหินกับสภาวะแห่งพุทธะที่มีอยู่ในตัวเราเอง เรากราบไหว้พระพุทธรูปที่เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ภายนอก แล้วรู้สึกไปว่าพระพุทธะนั้นช่างอยู่ห่างกับเราเสียเหลือเกิน ท่านเป็นถึงอรหันต์สัมมาสัมพุทธผู้สูงส่งเกินเอื้อม ผู้นิพพานไปนานแล้วพระองค์นั้น

เราจึงทำได้เพียงกราบไหว้ระลึกถึงพุทธคุณ โดยไม่ได้รู้สึกว่า พระพุทธรูปช่วยให้เราตระหนักว่าพุทธคุณนั้นอยู่ในตัวเรา และเราพร้อมที่จะเป็นพุทธะองค์หนึ่งเช่นกัน

ผมฟังเรื่องนี้แล้วประทับใจ ประกอบกับเพิ่งได้รับฟังคำสอนเกี่ยวกับโพธิสัตว์ในมโนคติของมหายานอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยความรู้สึกถึงพื้นที่อันไพศาลของมหายานธรรมนี้เอง

จึงอยากจะมาส่งต่อความรู้สึกนี้กับท่านผู้อ่าน

 

เราเรียนและรู้สึกกันว่า มหายานเป็นความ “แตกแยก” ของหมู่สงฆ์ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปฐมสังคายนา

โดยกล่าวหากลุ่ม คณะสงฆ์มหาสังฆิกะ ว่าเป็นชนวนการแตกแยกดังกล่าว รวมทั้งการโจมตีว่ากลุ่มนี้ (ซึ่งว่ากันว่าเป็นต้นกำเนิดมหายาน) เป็นพวกที่ลดทอนพระวินัยลง (มีงานวิชาการที่กำลังจะคลอดของอาจารย์ชาญณรงค์ บุญหนุน ที่จะแสดงหลักฐานใหม่ว่า ที่จริงพวกที่เปลี่ยนแปลงพระวินัยไม่ใช่พวกมหาสังฆิกะอย่างที่เคยเข้าใจกันมาตลอด)

การเกิดขึ้นของมหายานในมิติทางประวัติศาสตร์นั้น เริ่มต้นในราวพุทธศตวรรษที่ห้า เราอาจทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของมหายานได้ในสามลักษณะ นอกเหนือจากอคติที่ว่ามหายานคือความถดถอยย่อหย่อนต่อพระวินัยดังที่เคยเชื่อกันมา

ที่จริงต้องกล่าวว่า มหายานเป็น “พัฒนาการ” ของพุทธศาสนาในอินเดียด้วยซ้ำ ก่อนที่พุทธธรรมจะเผยแผ่ออกไปในวัฒนธรรมอื่นๆ

 

อย่างแรก เป็นการเปลี่ยนแปลงจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมพุทธศาสนาเอง กล่าวคือ หลังจากพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นลงแล้วในช่วงระยะห้าร้อยปีแรก พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ในหลายแคว้น พระภิกษุเลิกการจาริกเร่ร่อนไปและใช้ชีวิตในอาราม มีข้าทาสบริวารและสั่งสมความมั่งคั่ง ความรู้และการปฏิบัติชั้นสูงถูกจำกัดไว้ในหมู่ภิกษุด้วยกัน

มหายานเกิดขึ้นจากการท้าทายสิ่งเหล่านี้ ฆราวาสตั้งคำถามถึงสถานภาพและการบรรลุธรรมของตน รวมทั้งสถานภาพของสตรี

สุดท้ายแล้ว มหายานได้แสดงให้เห็นว่า ฆราวาสทั้งชายและหญิงก็อาจบรรลุธรรมอย่างสูงสุด (คือบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ) จึงไม่ได้ไม่มีสถานภาพต่ำกว่าพระภิกษุ มิหนำซ้ำอาจยังประโยชน์ได้มากกว่าในบางกรณี

เราอาจเห็นความท้าทายนี้ได้ชัดในกรณีวิมลเกียรตินิทเทศสูตรของฝ่ายมหายาน ซึ่งวิมลเกียรติคหบดีแสดงธรรมโปรดพุทธสาวกที่เป็นพระภิกษุ หรือศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร ซึ่งสตรีเป็นผู้แสดงธรรม

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่ามหายานไม่เคารพพระภิกษุนะครับ เพียงแต่พยายามลบอคติที่มีต่อฆราวาสและสตรีที่ได้เคยสั่งสมกันมา

 

อย่างที่สอง ความเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์ กล่าวคือ ก่อนยุคมหายานเรากล่าวถึงพระโพธิสัตว์จากแง่มุมอดีตชาติของพระพุทธะเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ ก็มุ่งบำเพ็ญเพื่อจะบรรลุอรหันตผลเป็นหลัก มีน้อยที่มุ่งสู่พุทธภูมิ

แต่เมื่อถึงสมัยมหายาน พุทธธรรมมิอาจเป็นเพียงการปฏิบัติส่วนตนในอารามอีกต่อไป จึงเกิด “อุดมการณ์โพธิสัตว์” ขึ้น อุดมการณ์นี้เปลี่ยนรูปโฉมของพุทธศาสนาไปเลยทีเดียว

อุดมการณ์โพธิสัตว์คือ ความมุ่งมาดปรารถนาที่จะบรรลุเป็นพระพุทธะเพื่อฉุดช่วยสรรพสัตว์ให้ได้มากที่สุด การบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณมิใช่เพื่อละความทุกข์ส่วนตน แต่เพื่อนำพาสรรพสัตว์ทั้งหมดให้พ้นทุกข์ไปด้วย

กล่าวคือ เราต่างมีพุทธภาวะในตัวเองอยู่แล้ว การบรรลุพุทธะจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ผ่านเส้นทางโพธิสัตว์

ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นฆราวาสหรือนักบวช ชายหรือหญิง หรือมีสถานะทางสังคมอย่างไรก็สามารถเข้าถึงความเป็นโพธิสัตว์ได้ เพียงตั้งปณิธานที่จะฉุดช่วยสรรพสัตว์เท่านั้น

นอกจากบรรดาปุถุชนชาย-หญิงที่ปรารถนาจะช่วยผู้อื่นในฐานะโพธิสัตว์แล้ว มหายานยังมีตัวอย่างของ “มหาโพธิสัตว์” ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นคุณธรรมและเส้นทางที่ทุกคนจะก้าวเดินไป เช่น อวโลกิเตศวร มัญชุศรี ตารา เมตไตรยะ สมันตภัทร ฯลฯ

ในทางวิชาการ มหาโพธิสัตว์เหล่านี้ของมหายาน บางองค์ก็แปลงจากทวยเทพของฮินดู หรือสร้างบุคลิกลักษณะบางอย่างเพื่อตอบโต้ท้าทายเทพฮินดู

ผู้สมาทานอุดมการณ์แห่งโพธิสัตว์พึงตั้งจิตใจในอุดมคติสี่ข้อ คือ เราจักฉุดช่วยสรรพสัตว์ทั้งหมด เราจักละอกุศลกรรมทั้งหลาย พุทธธรรมอันมากมายเราจักเรียนรู้ให้สิ้น และเราจักบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

อุดมการณ์โพธิสัตว์นี่เป็นสิ่งที่งดงามมากนะครับ และอย่างที่ผมบอกไป มันได้เปลี่ยนรูปพุทธศาสนาไปโดยสิ้นเชิง เมื่อการเป็นโพธิสัตว์นั้นได้พลิกกลับตรรกะของศาสนาไปเป็นคนละขั้ว

ดังที่ท่านอาจารย์เขมานันทะเคยกล่าวไว้ว่า หากเราปฏิบัติในสาวกยาน ยิ่งเราใกล้นิพพานเท่าไหร่ แสดงว่าเราปฏิบัติถูกต้อง แต่ในมหายาน ยิ่งเรารู้สึกเราใกล้นิพพานเท่าไหร่ น่าจะไม่ใช่การปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะโพธิสัตว์ย่อมช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ไปก่อนตัวเอง โพธิสัตว์คือผู้ที่จะเข้า “ประตูนิพพาน” เป็นคนสุดท้าย

อีกทั้งโพธิสัตว์ย่อมไม่เข้าถึงสถานะแห่งความกลัวต่างๆ เช่น กลัวผู้คนติฉินนินทาด่าทอ กลัวการตกนรกภูมิ ดังนั้น หากเป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์แล้ว โพธิสัตว์ก็อาจละเมิดสิ่งที่ผู้คนในสังคมเห็นว่าดีก็ได้

 

ประการที่สาม มหายานได้พัฒนาความคิดทางปรัชญาที่ละเอียดไปกว่าเดิม เช่น แนวคิดเรื่องสุญญตา โพธิจิต ตรีกาย พุทธภาวะ พุทธเกษตร ฯลฯ ในทางหนึ่งแนวคิดเหล่านี้เกิดจากปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไป สถาบันสงฆ์กลายเป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ที่มีการโต้แย้งกับแนวคิดอื่นๆ ซึ่งต่างก็พัฒนาทฤษฎีของตัวไปด้วยเช่นกัน

แต่เดิมผมเคยเข้าใจว่า แนวคิดทางปรัชญาของมหายานเป็นเรื่องพัฒนาการเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่มาบัดนี้ผมเข้าใจใหม่ว่า แนวคิดทั้งหมดของมหายานสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ ในเส้นทางการปฏิบัติธรรมของเรา ต้องขอบคุณครูบาอาจารย์ที่ทำให้เข้าใจเรื่องนี้

ที่สำคัญ ความเป็นมหายานได้เปลี่ยนการใช้ “ความคิดตรึกตรอง” มาสู่ระดับของการใช้ “ความรู้สึก” คำสอนเรื่องศูนยตาและโพธิจิตที่ผนวกกับกรุณาหรือความรักนั้น รวมทั้งการตระหนักในความทุกข์ของสรรพสัตว์ เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ถูกพัฒนาให้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

โพธิสัตว์จึงเป็นเสมือนนักรบผู้อ่อนไหว มีความเศร้าลึกๆ ในใจเพราะเขาเปลือยเปล่าต่อทุกสภาวะและผู้คน ทว่ามุ่งมั่นในเวลาเดียวกัน

อาจารย์เรจินัลย์เรย์กล่าวว่า อุดมคติแบบโพธิสัตว์ในมหายานเหมือนการกอบทรายด้วยสองฝ่ามือ ไม่ว่าจะรัดกุมแค่ไหน ทรายก็ย่อมหลุดร่วงไปตามร่องมือและช่องว่างของนิ้ว ไม่มีทางที่เราจะช่วยสรรพสัตว์ได้ทั้งหมด แต่เราก็ไม่ย่อท้อ เราได้แต่ทำไปเรื่อยๆ

มีคำกล่าวว่า สรรพสัตว์มีมากมายดุจท้องฟ้า ดังนั้น หากพูดจริงๆ แล้ว การจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ แต่ทุกคนผู้ถือมหายานธรรมก็ยึดอุดมการณ์นี้ไว้มั่นคง เป็นดาวเหนือสุกสกาวนำทาง

ความเป็นมหายานจึงโรแมนติกยิ่งนัก สมคำขวัญ

มหายานเพื่อมหาชน