ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ : 4 เดือน “พิธา” หัวขบวนก้าวไกล ท้าพิสูจน์ฝีมือ เลือกตั้งซ่อมปากน้ำ ไม่หลีกทาง “คณะก้าวหน้า” ในสนามท้องถิ่น

“ก้าวไกล” ภายใต้การนำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประกาศปักหมุดชิงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร – ชิงเก้าอี้ผู้ว่าเสาชิงช้า

เป็นแอ๊กชั่นแรกๆ ที่ “ก้าวไกล” ของ “พิธา” ประกาศลุยการเมือง นอกจากเปิดฟลอร์ ปะ ฉะ ดะ บนเวทีอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร

แค่เปิดตัวลุยท้องถิ่นก็มี “สุทธิชัย วีรกุลสุนทร” อดีตสมาชิกสภา กทม. 5 สมัย อดีตสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ย้ายเข้ามาอยู่ใต้ชายคา

หลังปล่อยให้ “คณะก้าวหน้า” ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” คณะการเมืองคู่ขนานก้าวไกลเดินเครื่องโชว์ฟอร์มประกาศปักธงลงการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศไปก่อน ทั้งก้าวไกล-ก้าวหน้า เดินเกมคู่ขนาน ร่วมกันเดิน-แยกกันตี หัวเมืองต่างจังหวัด และเมืองหลวง เปิดเกมรุกใหม่ทั้งการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น

โดยเฉพาะสนามท้องถิ่น กทม.ที่ต้องเจอคู่ต่อสู้อย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่ดึง ส.ก.ค่ายประชาธิปัตย์ไปอยู่มากมาย และยังมีเพื่อไทยที่จะเอาจริงในสนามท้องถิ่นเมืองหลวงด้วย

ยังรวมถึง “การถือธงนำ” เลือกตั้งซ่อมเขต 5 สมุทรปราการ ที่อาจจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แข่งกับคู่ปรับจากพรรคพลังประชารัฐ และพันธมิตรร่วมฝ่ายค้านจากเพื่อไทย

ทั้ง 2 งานบนบ่าของ “พิธา” ไม่ใช่งานง่าย หากถามความพร้อมในการนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค รับบทหนัก-เหนื่อย คุม ส.ส. 54 ชีวิตในสภา แถมเพิ่งพ้นโปร 4 เดือนกับตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาหมาดๆ เขาบอกพร้อมเต็มที่ ไม่ได้มาเล่นๆ

 

“ผมเข้าการเมืองครั้งแรกคือช่วงเหตุการณ์สึนามิ การมีวิกฤตครั้งนั้นทำให้ผมสนใจว่าการบริหารเอกชนทำให้มีกำไรก็เพียงพอ แต่การบริหารภาครัฐไม่ได้ง่าย ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ได้ ทำให้ธุรกิจมีกำไร เคยอยู่ทำเนียบรัฐบาล อยู่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน ไปเรียนการเมืองการปกครองจากสหรัฐอเมริกามาเพื่อวันนี้ เข้ามาถึงวันนี้พร้อมทุกอย่างไม่ว่าเป็น ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพราะไม่ได้มาเล่นๆ”

“ไม่ใช่คุยกับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพียง 20 นาทีแล้วมา แต่ 20 นาทีก่อนที่จะเข้ามาเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ มันคือ 20 ปีที่ได้เตรียมตัวมาให้คนไทยเท่าเทียมกันและเท่าทันโลก”

ย้อนกลับไป 21 กุมภาพันธ์ พลันที่ “อนาคตใหม่” กลายเป็น “อดีต” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค “ธนาธร” มอบเข็ม “อนาคตใหม่” ส่งต่อให้ “พิธา” สานต่อภารกิจการเมือง จากวันนั้นถึงวันนี้ อะไรคืออุปสรรคการเมืองในการนำ “ก้าวไกล” ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า “พิธา” ตอบว่า “เป็นเรื่องของเวลา”

“เราสู้กันเต็มที่แต่มีเวลาจำกัด แน่นอนว่าต้องมีการลองผิดลองถูก ทำอย่างไรที่เอาบทเรียนมาปรับโครงสร้างพรรค กระจายวิธีคิดของพรรคให้สมาชิกมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้พรรคเข้มแข็งได้โดยไม่พึ่งทุนใหญ่ ให้คนมาสมัครเป็นสมาชิกและช่วยบริจาคให้พรรคขับเคลื่อนได้โดยไม่ต้องออกนโยบายเอื้อใคร นโยบายพวกนี้ต้องใช้เวลาอยู่แล้ว แต่เป็นความยากที่เป็นความง่ายไปในตัว เพราะเชื่อว่าเวลายังอยู่ข้างพวกเรา สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศตามอุดมการณ์และเป้าหมายที่เราทำ”

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้นสมัยที่ยังเป็น “อนาคตใหม่” มักเดิมพันการเมืองแบบ “เสี่ยงเป็นเสี่ยง-ตายเป็นตาย” สิ่งที่เป็น “บทเรียน” ก้าวไกลจะไม่ทำซ้ำ ไม่ให้ชอกช้ำเหมือน “อนาคตใหม่” คืออะไร “พิธา” ตอบว่า “ไม่มี”

จะเรียกว่าความผิดที่ไม่ทำซ้ำไม่ได้ จะบอกว่าทำอย่างนั้นผิดก็ไม่ได้เพราะมันเป็นบริบท ณ ตอนนั้น แต่ ณ บริบทตอนนี้อยู่ที่กฎหมายเลือกตั้ง อยู่ที่คนใช้อำนาจ ถ้าย้อนกลับไปเป็นอนาคตใหม่เหมือนเดิม ผมก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีอะไรการันตีว่าคุณไม่ทำแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ แล้วไม่โดนอีกแบบหนึ่ง

“ดังนั้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ 2 ปี ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องไม่ทำแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ ในหัว…ไม่มี มีแต่สิ่งที่พัฒนาต่อไป เช่น บริหารโครงสร้างพรรคให้ตอบโจทย์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ประชาชน พัฒนาบุคลากรของพรรคให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ ทำอย่างไรใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้มาก ให้ ส.ส.เข้าถึงประชาชนได้ดีกว่าเดิม อภิปรายดีกว่าเดิม ล้างกฎหมายที่ล้าหลังออกไป สร้างกฎหมายที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาได้ ทั้งเรื่องสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม”

 

“พิธา” ขอปักธงการเมืองสไตล์ต้นตำรับ “อนาคตใหม่”

“ธงของอดีตอนาคตใหม่ก็คือธงของก้าวไกล เป็นธงที่เราคิดมาด้วยกัน คือปฏิรูปกองทัพ ทลายทุนผูกขาด กระจายอำนาจ ปักธงความคิดประชาธิปไตย เป็นเสาหลักที่สำคัญกว่ารัฐบาลจะพูด ถ้ารัฐบาลจะพูดเกษตรแปลงใหญ่จะทำได้อย่างไร ถ้าไม่กระจายที่ดิน บอกว่าทำท่องเที่ยวคุณภาพ แต่จะทำอย่างไรถ้างบประมาณไม่สอดคล้อง จะทำอย่างไรถ้าไม่ปฏิรูปรัฐราชการรวมศูนย์ ทั้งหมดเขย่าประเทศนี้ที่ระดับโครงสร้าง ไม่ใช่โครงการระดับผิวเผินหรือทำการตลาดเล็กๆ น้อยๆ”

แต่ทั้งหมดไม่ได้อยู่ใต้เงาใต้ร่มของ “คณะก้าวหน้า” แม้ตัวตนจะคล้ายกันมาก

“เพียงแต่ใส่เสื้อผ้าไม่เหมือนกัน นั่งรถคนละคัน เราก็ทำงานในสภาให้เข้มแข็งให้ดีที่สุด หน้าที่ของสภาคือ แก้ไขปัญหาประชาชนผ่านระบบ ส.ส. และระบบกรรมาธิการ จำเป็นต้องแก้กฎหมายในฐานะนิติบัญญัติ ทำ พ.ร.บ.แรงงาน ปฏิรูปการเกณฑ์ทหาร ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ทำกฎหมายสุราก้าวหน้า ให้สุราชุมชนมีพื้นที่ทำมาหากิน เป็นฝ่ายค้านตัวจริงที่เข้มแข็ง ไม่เคยโหวตให้ในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เราอภิปรายอย่างไรก็โหวตอย่างนั้น”

 

“พิธา” ขอพิสูจน์ฝีมือนำพรรค เริ่มจากเลือกตั้งซ่อมเขต 5 สมุทรปราการ

“จะแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดว่าพร้อมเลือกตั้ง ส่วนนโยบายใหม่ๆ คือ สวัสดิการรัฐที่เหมาะสม ระบบ digital government ที่ตอบโจทย์ความมั่นคงใหม่ รัฐเปิดเผย ระบบฐานภาษีใหม่ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตอนที่เป็นอดีตอนาคตใหม่อาจพูดไม่ชัด แต่ตอนนี้ต้องพูดให้ชัดขึ้น ที่สำคัญคือการกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะตั้งใจทำงานระดับ ส.ส.และท้องถิ่น ถ้าอำนาจไปอยู่ท้องถิ่นจริงๆ สามารถตอบโจทย์คนที่แก้ปัญหาได้”

“เมื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราก็พร้อมส่งคนมาแข่ง รวมถึงระดับ ส.ก. ตราบใดที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะต้องลงเลือกตั้งท้องถิ่นที่ตอบโจทย์นโยบายของพรรค ที่กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเห็นว่าคือยุทธศาสตร์ของพรรค”

ยุทธศาสตร์เลือกตั้งท้องถิ่นหลบหลีกให้กัน เหมือนกรณี “เพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ” หรือไม่ เขาตอบปิดท้ายว่า

“ก้าวไกลไม่ได้หลีกทางให้คณะก้าวหน้า ผมตอบแทนคณะก้าวหน้าไม่ได้ แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำพรรคก้าวไกล พร้อมลงเลือกตั้งท้องถิ่น ในระดับที่กรรมการบริหารพรรคก็มีการปรึกษาหารือกัน ในการใช้ทรัพยากรอย่างไร สามารถพลิกและเป็นความหวังของคนแต่ละพื้นที่ได้ เลือกตั้ง กทม.เราได้คะแนน ป๊อปปูลาร์โหวตเป็นอันดับหนึ่ง และได้ ส.ส.ก็มาก ได้อันดับสองก็เยอะ เราต้องสู้เต็มที่”

“พรรคก้าวหน้ามีจุดยืนของเราเอง มียุทธศาสตร์ของเราเอง ไม่ให้ใครมาเป็นตัวอย่างหรือครอบงำเราได้”