ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล : พินิจประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ใน “ปากไก่และใบเรือ”

*สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ การแสวงหาห้วงเวลาแห่งการกำหนดตัวเอง สู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย ในผลงาน ปากไก่และใบเรือ (1)

ว่ากันว่านับจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจิตร ภูมิศักดิ์แล้ว ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นิธิ เอียวศรีวงศ์ คือหนึ่งในนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดของวงวิชาการไทย

ด้วยผลงานวิชาการที่ให้ข้อเสนอใหม่อันทรงพลังและบทบาทปัญญาชนสาธารณะ ทำให้ “อาจารย์นิธิ” ตามการเรียกของชุมชนวิชาการและสื่อ ได้กลายเป็นหัวข้อหรือวัตถุของการศึกษามาตลอด

โดยนับตั้งแต่ครึ่งหลังทศวรรษ 2520 ข้อเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับความคิดทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองของนิธิ ตลอดจนวิธีวิทยา “อย่างนิธิ” ได้ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ

และอาจกล่าวได้ว่า นักวิชาการอาวุโสคนสำคัญหลายท่านทั้งจากสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หรือกล่าวโดยรวมคือไทยศึกษา ต่างเคยมีบทสนทนาทางความคิดต่อผลงานของนิธิในระดับใดระดับหนึ่ง

เช่น ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, สุมาลี วีระวงศ์, เสฐียรพงษ์ วรรณปก, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ธงชัย วินิจจะกูล, เกษียร เตชะพีระ, สมเกียรติ วันทะนะ, ธเนศ วงศ์ยานนาวา, อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์, พรชัย คุ้มทวีพร, คริส เบเกอร์ (Chris Baker)

และในบรรดาบทวิเคราะห์งานเขียนของนิธิทั้งหลายนั้น หากย้อนขึ้นไปสู่ช่วงแรกเริ่ม

ก็คือบทความเรื่อง “สังคมไทย จากศักดินาสู่ทุนนิยม” ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในปี 2525

ซึ่งเป็นการนำความเรียงขนาดยาวเรื่อง “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” ที่นิธินำเสนอในปี 2525 เนื่องในวาระครบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์มาปริทรรศน์เปรียบเทียบกับบทวิเคราะห์ในผลงานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ

ขณะที่ในส่วนงานวิจัยและหนังสือเล่ม หากไม่นับวิทยานิพนธ์ทางนิเทศศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ศึกษารูปแบบภาษาและเทคนิคการนำเสนอของนิธิ ที่สำคัญควรกล่าวถึงก็เช่น โครงการวิจัยของจิราพร วิทยศักดิ์พันธ์ (2539) ไชยันต์ ไชยพร (2557) สายชล สัตยานุรักษ์ (2559) หนังสือของพิพัฒน์ พสุธารชาติ (2560) ตลอดจนหนังสือรวมบทความในวาระเกษียณอายุราชการของนิธิ เรื่อง “นิธิ ปราชญ์เจ๊กๆ” (2544) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม

โดยเฉพาะเล่มหลังนั้นได้รวมเอาทัศนะและบทสะท้อนของนักวิชาการปัญญาชนคนสำคัญที่มีต่อตัวตนและจุดยืนทางการเมืองและวิชาการของนิธิ

 

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ความสนใจที่มีต่อผลงานและวิธีคิดของนิธิได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างสำคัญ

อันเป็นผลจากปัจจัยสองประการ

ประการแรก คือความพยายามแสวงหาคำอธิบายวิกฤตการณ์ทางการเมืองของนักวิชาการสังคมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุนนิยม และปัญญาชนชั้นกลางซึ่งที่สุดได้ย้อนถอยกลับไปสู่ข้อเสนอที่นิธิเคยนำเสนอไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 2520

รวมถึงทัศนะและคำอธิบายของนิธิที่ปรากฏในคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ตลอดครึ่งหลังทศวรรษ 2540 ถึง 2550 ก็ได้รับความสนใจอย่างสูงในฐานะที่เป็นบทสะท้อนวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองเสื้อสีซึ่งถูกตีความในฐานะความขัดแย้งทางชนชั้น

ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่ง ก็คือการจัดพิมพ์หนังสือ ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์ วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ (2527) สู่ภาษาอังกฤษในปี 2548 และการพิมพ์ซ้ำหนังสือในภาคภาษาไทยเป็นครั้งที่ 4 (2555) ให้หลังการพิมพ์ครั้งที่ 3 กว่าหนึ่งรอบนักษัตร

ซึ่งในการพิมพ์ครั้งล่าสุดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้มีการรวมเอาความเรียงขนาดยาวเรื่อง “ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา” (2521) เข้าไว้ด้วยเช่นเดียวกับฉบับแปลภาษาอังกฤษ การจัดพิมพ์ปากไก่และใบเรือในบริบทวงวิชาการร่วมสมัยด้วยการยืนยันของสำนักพิมพ์ว่าหนังสือเล่มนี้คือหนึ่งในหลักหมายของไทยศึกษาเอื้อให้นักวิชาการรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจข้อเสนอในงานประวัติศาสตร์ยุคแรกของนิธิง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของคริส เบเกอร์ นักไทยศึกษาชาวอังกฤษคนสำคัญที่เคยกล่าวไว้ในงานสัมมนาเนื่องในวาระการจัดพิมพ์หนังสือปากไก่และใบเรือ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2555 ว่า ที่ผ่านมาวงวิชาการไทยไม่มีงานที่วิจารณ์งานชิ้นนี้ของนิธิทั้งเล่ม

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีงานวิชาการที่ศึกษาผลงานประวัติศาสตร์ของนิธิอย่างจริงจัง มีเพียงบทความจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก

ทำให้เขาตั้งคำถามว่า ผลงานชิ้นนี้ของนิธิซึ่งก็รวมถึงข้อเสนอของเขามีอิทธิพลสักเพียงใดต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ซึ่งเบเกอร์โน้มไปทางเห็นว่าคงมีไม่มากนัก (เบเกอร์ 2555)

 

แม้คำถามของเบเกอร์น่าสนใจยิ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนสนใจว่า ปากไก่และใบเรือซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความว่าด้วยประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ของนิธินั้นมีสถานะทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาเช่นไรในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่

(หรืออาจทดลองถามในเชิง what if ว่า ถ้าหากไม่มีหนังสือปากไก่และใบเรือ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยร่วมสมัยจะมีหน้าตาอย่างไร)

โดยเฉพาะชุดความคิดทางวิชาการที่อยู่เบื้องหลังการผลิตงานของนิธิในช่วงทศวรรษ 2520

เนื่องจากผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า หากพิจารณาบทความของเบเกอร์ (Baker 2006) ซึ่งเป็นงานเขียนสำคัญที่ทบทวนการตอบรับผลงานชิ้นนี้ในชุมชนวิชาการไทย ควบคู่กับบทความของวีรศักดิ์ กีรติวรนันท์ (2551) และหนังสือของพิพัฒน์ พสุธารชาติ (2560) แล้ว ปัญหาที่ผู้เขียนพบซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับที่พบในบทความ หนังสือ และงานวิจัยอื่นๆ ว่าด้วยนิธิ

นั่นคือต่างได้รับอิทธิพลการตีความตัวบท ปากไก่และใบเรือ จากบทความขนาดยาวในปี 2525 ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ซึ่งในเวลานั้นเป็นนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

กระทั่งอาจกล่าวได้ว่า บทความเรื่อง “สังคมไทย : จากศักดินาสู่ทุนนิยม” ของสมศักดิ์คือ “แนวทางหลัก” ที่วางกรอบการตีความมรรควิธีทางประวัติศาสตร์ของนิธิภายใต้กรอบคำอธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย

โดยสมศักดิ์ได้นำผลงานชิ้นนี้ของนิธิมาเปรียบคู่กับงานศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ โดย “สำนักฉัตรทิพย์” ถูกมองว่าให้ความสำคัญกับการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty) ในปี 2398 ในฐานะจุดเปลี่ยนของวิถีทางเศรษฐกิจ

ขณะที่นิธิที่ให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยภายใน” ที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงฯ

 

แนวทางการวิจารณ์ข้อเสนอในผลงานปากไก่และใบเรือ บนฐานของการจับคู่เปรียบเทียบกับ “สำนักฉัตรทิพย์” จึงปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ห้วงเวลาแรกที่ผลงานชิ้นนี้ปรากฏสู่สาธารณะ

และทำให้งานศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญายุคต้นกรุงฯ ของนิธิถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อโต้เถียงว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่ทุนนิยมของรัฐไทยที่นิยมถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการฝ่ายซ้ายและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยไม่ต้องสนใจมากนักว่าฉากหลังทางทฤษฎี กรอบความคิดเบื้องต้น และข้อเสนอของนิธินั้นยืนอยู่บนฐานทางวิชาการอะไร

อิทธิพลการตีความปากไก่และใบเรือของสมศักดิ์ในวัยหนุ่ม (ซึ่งในภายหลังสมศักดิ์เองยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นตนยังเข้าถึงตำราวิชาการภาษาอังกฤษได้น้อยมากเนื่องจากทักษะทางภาษา และแน่นอนว่าไม่สามารถเข้าถึงสำเนาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนิธิได้) ยังคงส่งผลสืบเนื่องมาถึงวันนี้

ดังเห็นได้จากการเน้นย้ำประเด็นนี้ในคำนำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันสำหรับปากไก่และใบเรือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4

ยิ่งกว่านั้น จากการที่นิธิได้รับการกล่าวขานในฐานะนักวิชาการกระฎุมพี-เสรีนิยม นักวิชาการเพื่อคนจน ไปจนถึงนักวิชาการเสื้อแดง ก็ส่งผลให้ข้อถกเถียงร่วมสมัยที่มีต่อปากไก่และใบเรือ มักพิจารณาข้อเสนอในตัวบทควบคู่ไปกับท่าทีทางวิชาการและอุดมการณ์ทางการเมืองของนิธิอย่างเลี่ยงได้ยาก

ดังที่งานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาความคิดของนิธิก็ดำเนินไปภายใต้สมมุติฐานเรื่องลักษณะนิสัยใจคอและอุปนิสัยอันโดดเด่นของนิธิเช่นเดียวกัน (สายชล 2559)

ขณะที่งานวิชาการบางกลุ่มก็ให้ความสำคัญกับการสืบค้นว่า นิธิได้แอบหยิบทฤษฎีสังคมศาสตร์ของนักคิดหรือนักปรัชญาชาวตะวันตกคนสำคัญคนใดเพื่อใช้เป็นกรอบในการเขียนประวัติศาสตร์ไทย

ซึ่งรายชื่อของนักคิดนักปรัชญาชาวตะวันตกเหล่านี้มีขอบเขตกว้างขวางนับแต่ นักประวัติศาสตร์สำนักอันนาลส์ (Annales School of History) เช่น Marc Bloch, นักปรัชญาอย่าง R.G. Collingwood, Hans-Georg Gadamer นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เช่น Max Weber หรือนักรัฐศาสตร์อย่าง Benedict Anderson (อุกฤษฏ์ 2528, วีรศักดิ์ 2551, ไชยันต์ 2557, พิพัฒน์ 2560) เป็นต้น

แม้ว่างานศึกษาเหล่านี้ค่อนข้างละเลยต่อการพิสูจน์ว่านิธิได้หยิบใช้หรือปรับแปลงแนวคิดของนักคิดเหล่านั้นในผลงานประวัติศาสตร์เล่มสำคัญของเขาเช่นไรอย่างเป็นรูปธรรม

กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ความพยายามที่จะทำความเข้าใจคำถามและวิธีการทางประวัติศาสตร์ของนิธิได้เคลื่อนมาถึงจุดที่พยายามจัดให้นิธิเป็นผลผลิตของวาทกรรมวิชาการสังคมศาสตร์ยุคสงครามเย็น