คุยกับ “พล.อ.สมศักดิ์” เลขาฯ “สมช.” เปรียบ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “เจอร์เก้น คล็อปป์” โค้ชเก่ง คุมผู้เล่น ชนะโควิด-19

การขยายระยะเวลาการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกไปอีก 1 เดือน ตามมาด้วยคำถามใหญ่ “มีนัยทางการเมือง”

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) “หนังหน้าไฟ” ตึกไทยคู่ฟ้า ตอบเสียดแทงใจคีย์แมนขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม ถึงความจำเป็น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศเป็น “ศูนย์” ติดต่อกัน

“มีหรือไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผมแทบจะไม่เห็นว่ากระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วๆ ไปที่ประกอบอาชีพโดยสุจริต หาเช้ากินค่ำ สุจริตชนเลย (เน้นเสียง)”

“ตัวเลขที่ดีในวันนี้ เพราะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ทำให้เราคุมสถานการณ์ได้อยู่หมัด การผ่อนคลายสุดๆ มากขนาดนี้แล้วจะไปรังเกียจรังงอนอะไรมันนักหนา”

“พล.อ.สมศักดิ์” บอกว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ-กลยุทธ์ คือ 1.การกดไม่ให้ยอดผู้ติดเชื้อ-ยอดผู้เสียชีวิตเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข

2.การตัดสินใจที่เฉียบขาดของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างทันท่วงทีก่อนจะระบาดจนควบคุมไม่ได้ 3.ทีมงาน และ 4.ความร่วมมือของประชาชน

“ถ้ากลยุทธ์เปลี่ยน กฎหมายอาจจะเปลี่ยน ต้องถามหมอ ต้องถามกระทรวงสาธารณสุข ว่า เราจะเปลี่ยนกลยุทธ์หรือไม่ เราจะยอมให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นถึงระดับไหนที่พอควบคุมได้ ตอบลำบากว่าระดับไหนที่เรากังวล”

พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีประโยชน์หลายอย่าง 1.ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ รวดเร็วขึ้นแน่นอน และไปในทิศทางเดียวกัน 2.ควบคุมการเข้า-ออกราชอาณาจักร ป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกประเทศ 3.รวมศูนย์พลเรือน ตำรวจ ทหารได้

“ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน State Quarantine จะอาศัยอำนาจอะไรกักตัว 14 วัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานมีประสิทธิภาพเพราะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

“ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1.ใครจะจ่ายค่าโรงแรม (State quarantine และ Local quarantine) รัฐจ่ายให้ทั้งหมด ติดเชื้อรักษาฟรี ค่าตรวจไม่คิดแม้แต่บาทเดียว ถึงที่พัก 14 วัน อยู่ฟรี-กินฟรี ถ้าป่วยเอาไปรักษาฟรีด้วย รัฐจ่ายทุกอย่าง”

“เราไม่ต้องการรักษาตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศให้เป็นศูนย์ตลอดเวลา เป็นเพียงผลพลอยได้ที่ดี แต่จุดหมายคือ การควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อที่สาธารณสุขยอมรับได้ จนกว่าเราจะมีวัคซีน จนกว่าโรคนี้จะหายไปจากมวลมนุษยชาติ”

พล.อ.สมศักดิ์รับว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต้องแลกมาด้วยการสูญเสีย-ทุ่มทรัพยากรจำนวนมาก มี “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ที่ต้องจ่ายเพื่อรักษาชีวิตประชาชน

“อย่างไรก็ตาม การหวังพึ่งการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปริมาณมากเหมือนเมื่อก่อนคงไม่มีใครมา และตัวเราเองก็ไม่อาจจะพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมาในช่วง 3 ปีที่แล้ว”

ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจโลกก็ใช่ว่าจะดี การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ สงครามการค้าก็แย่อยู่แล้ว โควิด-19 มาซ้ำเติมให้แย่ยิ่งขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากัน ใครจะมีพลังอำนาจในประเทศของตัวเองให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า

“การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะหวังให้โต 4-5% เป็นไปไม่ได้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จีดีพีหดตัว ติดลบทุกประเทศ ขึ้นอยู่จะมากหรือน้อย แล้วแต่ประเทศไหนจะปรับตัวได้เร็วกว่ากัน”

“เราโชคดีที่อยู่ในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวในประเทศเราก็มี ท่องเที่ยวกันเองในประเทศก็ได้อยู่ อาจจะไม่อู้ฟู่เหมือนแต่ก่อน แต่ก็พออยู่กันได้”

“ผมคิดว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่เราวางไว้ วางอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้จะยิ่งชัดขึ้นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่ถูกต้องจริงๆ คือ การพึ่งพาตัวเอง”

พล.อ.สมศักดิ์เชื่อว่า การ “เปิดประเทศ” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป คนในประเทศยอมหรือไม่ ยอมแลกกับเศรษฐกิจที่อาจจะไม่เหมือนเดิมด้วยซ้ำ ผมคิดว่า เศรษฐกิจจะไม่กลับไปสู่เมื่อก่อนได้อีกแล้ว เพราะวิถีชีวิตใหม่ (new normal) เกิดขึ้นแล้ว

การไปมาหาสู่ไม่มากเท่าเดิม ต่อให้เปิด เราต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง วิถีชีวิตใหม่กำลังก้าวเข้ามา ต้องปรับตัวให้อยู่กับมัน เปิดหรือไม่เปิดไม่ใช่ประเด็น ประเด็น คือ ธรรมชาติของโลกจะเป็นอย่างนั้น

กลยุทธ์ของยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นตัวชี้ว่า เราจะปรับตัวขนาดนั้น เราจะปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาติไหม จุดมุ่งหมายปลายทางของยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้เปลี่ยน แต่ระหว่างทางต้องเปลี่ยน เปลี่ยนกลยุทธ์บางอย่าง

“โควิด-19 อาจจะกระทบยุทธศาสตร์ชาติบางตัว แต่ไม่ได้กระทบจนเราเสียขบวน เพราะยุทธศาสตร์ชาติใหญ่ยืดหยุ่นพอสมควร แต่แน่นอนต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน เพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ แต่สิ่งที่มีอยู่เดิมไม่ใช่ไร้ค่า

“ยุทธศาสตร์ชาติต่อไปต้องทบทวน ที่มีผลบังคับในช่วง 5 ปีนี้ ในช่วง 5 ปีต่อไป 10 ปีต่อไป อาจต้องปรับ แต่ไม่ได้ปรับมากแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเรื่องเหล่านี้ได้ถูกคาดการณ์ไปบ้างแล้ว เพียงแต่เราไม่คิดว่าจะกระทบรุนแรงทั่วโลกขนาดนี้”

“เลขาฯ สมช.” ปฏิเสธว่า “มีธง” ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน – ปัจจัยทางการเมือง “ผมกล้ายืนยันไม่มีนัยทางการเมือง”

“ไม่เห็นจะเกี่ยวกันตรงไหน นักการเมืองเคลื่อนไหวปกติ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ปกติ ผมก็ไม่เห็นว่า เราไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปลด หรือบังคับทิศทางการโจมตีรัฐบาล ไม่เคยเห็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจับใครที่เคลื่อนไหวทางการเมือง”

“พล.อ.สมศักดิ์” แฟนตัวยง “หงส์แดง” คว้าแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษในรอบ 30 ปี เปรียบ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็น “เจอร์เก้น คล็อปป์” ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล

“ผมคิดว่าท่านนายกฯ เอาอยู่ ก็เหมือนทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล มีโค้ชที่เก่ง แม้ในทีมจะมีตัวผู้เล่นคนเดิมๆ อาจจะซื้อตัวมาเสริมทีมบ้าง ถ้าไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ผมยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาโควิด-19 ได้อยู่หมัดหรือไม่”

วันนี้จึงได้เห็นขุนพลเศรษฐกิจ-นักการเมืองอาชีพหน้าเดิมในสมัยทักษิณ ชินวัตร รอบตัว พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตขุนพลเศรษฐกิจทักษิณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เขายอมรับว่า ไม่ว่า “โค้ช” จะเก่งกาจแค่ไหน ถ้าไม่สามารถ “วางระบบ” ให้กับทีมฟุตบอลได้ สุดท้ายจะไม่สามารถ “รักษาแชมป์” ได้สำเร็จได้ตลอดไป เหมือนกับ “ผีแดง” สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด หลัง “เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” วางมือ