1 ปี เหตุดักทำร้าย “จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์” การสร้างความกลัวกดเสียงผู้เห็นต่างยังคงอยู่

เมื่อ 28 มิถุนายน ปีที่แล้ว “สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์” หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมทางการเมืองที่ทำการเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกดักรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสบริเวณใบหน้าและดวงตา โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ปกปิดใบหน้าด้วยหมวกกันน็อก 4 คน บริเวณหน้าปากซอยพระยาสุเรนทร์ ซอย 2 ย่านมีนบุรี

เป็นการดักทำร้ายครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สิรวิชญ์ถูกชายฉกรรจ์ 5 คนรุมทำร้ายและใช้ไม้ทุบตี หลังจัดกิจกรรมเรียกร้องให้ ส.ว.งดออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

เหตุดักรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสครั้งนั้น ทำให้สิรวิชญ์ต้องพักรักษาตัวนานเป็นเดือน แม้จะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ตาข้างขวาไม่สามารถมองเห็นได้ชัดอีก และยังทำให้เสียโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาโทที่อินเดียอีกด้วย

ผ่านมา 1 ปี สิรวิชญ์กลับไม่ใช่คนสุดท้ายที่เผชิญกับการคุกคามจากอำนาจซ่อนเร้นอันโหดร้าย การอุ้มหาย “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” กลางเมืองหลวงของกัมพูชา กระแสข่าว 4 บุคคลที่เห็นต่างกับรัฐบาลตกเป็นเป้าหมาย หรือการคุกคามนักกิจกรรมที่จัดรำลึก 88 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475

ยิ่งสะท้อนการมีอยู่ของความกลัวเพื่อสยบผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในประเทศนี้

 

ปัจจุบันนิวยังคงทำงานรับจ้างเป็นผู้ช่วยวิจัยเป็นระยะๆ พร้อมกับช่วยงานที่บ้านซึ่งเปิดร้านอาหารอยู่แถวตลาดมีนบุรี แต่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เหมือนกับหลายภาคส่วนด้วย ขณะที่กิจกรรมการเมืองก็เว้นระยะห่างมาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่ก็ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และยังคงหาโอกาสไปเรียนต่อที่ต่างประเทศอยู่

นิวเล่าถึงสภาพร่างกายหลังเหตุอุกอาจที่ผ่านมา 1 ปีว่า ภาพรวมแม้จะดี แต่ที่เสียไปเลยคือ ดวงตาข้างขวา จอประสาทตาเสีย ทำให้มองเห็นไม่เหมือนเดิมแล้ว แม้ยังดีกว่าตาบอด แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนการใช้สายตามองไปมาก กระนั้นร่างกายก็ปรับตัวกับการมองเห็นแบบนี้แล้ว

ส่วนบริเวณอื่นของร่างกาย ก็กลับมาฟื้นตัว ด้วยความที่อายุยังน้อย ร่างกายก็ฟื้นเร็ว

แม้ร่างกายนิวจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ ช่วงพักฟื้นกลับทำให้เสียโอกาสไปเรียนต่อด้วย แต่นิวก็ยังคงแน่วแน่กับเส้นทางนี้

“ผมตั้งเป้าไว้แล้ว ที่จะหาทางศึกษาต่อ อย่างน้อยในระดับปริญญาโท ทำให้ตอนนี้ยังไม่เลือกทิศทางในการประกอบอาชีพที่ชัดเจน จึงเน้นที่เตรียมตัวไปศึกษาต่อเป็นหลัก”

ตลอดการบริหารของรัฐบาล คสช. นิวออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเรียนปริญญาตรี จนทำให้ตกเป็นเป้าหมายจาก คสช. ถูกจับไม่ว่ากรณีคดีจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ คดีฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวที่ตกลงไว้กับ คสช. คดีจัดกิจกรรมติดโพสต์อิทบนสกายวอล์ก คดีชุมนุมขับไล่ กกต. จนมาร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งก็ถูกตั้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมในหลายกรณี

นอกจากการถูกตั้งข้อหาแล้ว นิวยังต้องเผชิญการคุกคามในรูปแบบการสอดแนม ติดตาม แวะเวียนหาเจ้าตัวและครอบครัวถึงบ้าน ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของครอบครัว แม้จะไม่มีท่าทีรุนแรง แต่การมาถึงตัวสำหรับนิวก็เป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง

ก่อนที่นิวจะถูกดักรุมทำร้ายซึ่งรุนแรงที่สุด ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2559 นิวเคยถูกทหารในเครื่องแบบพร้อมปกปิดใบหน้าจำนวน 8 คน อุ้มขึ้นรถหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บริเวณประตูเชียงราก ต่อหน้าผู้คนที่สัญจรไปมาและมีภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกไว้ ซึ่งกระทำกับนิวโดยไม่มีแม้แต่หมายจับหรือแจ้งสถานที่คุมตัว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว

นิวเผยภาวะในตอนนี้ว่า เป็นธรรมดาในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญ อย่างวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งผมและนักเคลื่อนไหวหลายคนต่างถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคง ซึ่งตรงนี้เป็นของตำรวจ แต่ฝั่งทหารไม่ค่อยเห็นแล้ว แต่ลับหลังเราไม่รู้ว่าติดตามมากขนาดไหน อย่างปีที่แล้ว มาในรูปแบบที่ไม่รู้ สังเกตไม่ได้ หลังจาก คสช.สิ้นสุดลง ต้องยอมรับว่า เราคาดเดาการทำงานของฝ่ายความมั่นคงได้ยาก ก่อนหน้านี้ เรารู้เพราะเห็นติดตาม แต่ตอนนี้ไม่แล้ว หรืออาจมีการสะกดรอยตาม เพียงแต่ทำให้แนบเนียนมากขึ้น

ถือเป็นความเสี่ยงระดับหนึ่งเลย

 

นิวยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีดักรุมทำร้ายว่า ล่าสุดตำรวจส่งเรื่องให้ทางอัยการแล้ว แต่ตำรวจก็ไม่สามารถติดตามตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ ตำรวจบอกแบบนี้ตลอด

ทั้งๆ ที่บริเวณที่เกิดเหตุ มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่หลายจุด หรือตำรวจในท้องที่สามารถจับคดีสำคัญๆ ได้ตลอด แต่กับคดีผม กลับบอกว่ายังติดตามไม่ได้

หลายคนจึงคาดเดาได้ว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำของคนมีสี ไม่ใช่นักเลงหัวไม้หรือชาวบ้านด่าตีกัน

 

หลังจากกรณีนิวแล้ว ตลอดรัฐบาลปัจจุบันก็เกิดเหตุคุกคามถึงขั้นรุนแรงที่สุด อย่างกรณีอุ้มหายวันเฉลิม หรือกระแสข่าวผู้ต่อต้านรัฐบาลถูกหมายหัวจากผู้มีอำนาจ เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ รังสิมันต์ ปิยรัฐ จงเทพ และอานนท์ นำภา

นิวมองภาวะคุกคามลักษณะดังกล่าวว่า แม้เราจะพ้นสภาวะภายใต้รัฐบาล คสช. แต่การปฏิบัติในลักษณะคุกคามได้เปลี่ยนแปลงเป็นกระทำโดยอ้อมมากขึ้น ด้วยการข่มขู่ ข่มขวัญ ทำจริงหรือเปล่าไม่รู้ ก็สร้างความหวาดผวามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำเอง อาจมีแบ็กใหญ่ พอเกิดเรื่อง ก็เอาเรื่องเอาความไม่ได้ อย่างหลายกรณีที่เกิดขึ้น

นี่เป็นการสร้างความกลัวทางอ้อมแล้ว เหมือนกำลังส่งสัญญาณให้กับคนในสังคมว่า ถ้าคุณคิดจะเคลื่อนไหว คุณต้องได้รับบทเรียนราคาแพง สำหรับผมเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราพูดหรือแสดงออกไม่ได้เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญเลย กลับกลายเป็นสิ่งอันตราย เพราะบางคนที่ต้องการสร้างความกลัวให้กับสังคมโดยรวม

เปลี่ยนการใช้กำลังทหารควบคุม ก็ใช้ทางอ้อมผ่านกลุ่มคนในเครื่องแบบที่ถอดเครื่องแบบแล้วออกมาทำก็ได้

และในสภาวะรัฐบาลนี้ที่กระชับอำนาจมากขึ้น ก็ต้องมีการข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามให้เคลื่อนไหวยากขึ้น ในทิศทางที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้

 

ทั้งนี้ นิวคาดว่า จะเกิดการข่มขู่คุกคามแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะได้เป็นวิธีการกึ่งสำเร็จรูปไปแล้ว จะใช้ทหารเข้าควบคุมตัวแบบเดิมไม่ได้แล้ว และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไทยขึ้นชื่อในการมีซุ้มนักเลงหรือมือปืน

หลังห่างหายมานาน พวกเขาก็เอากลับมาใช้จัดการนักเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง